ผู้แทนทูตอินโดฯ : อาเซียนไม่ให้ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาเข้าร่วมประชุมที่จะมีขึ้น

รอนนา เนอร์มาลา และไชลาจา นีลากันตัน
2021.10.15
จาการ์ตา และวอชิงตัน
ผู้แทนทูตอินโดฯ : อาเซียนไม่ให้ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมาเข้าร่วมประชุมที่จะมีขึ้น ผู้นำรัฐบาลทหารเมียนมา พล.อ. อาวุโส มิน ออง ลาย (ขวา) โบกมือในระหว่างการเปิดหน่วยยามชายฝั่งทหารชุดใหม่ ในกรุงย่างกุ้ง ประเทศเมียนมา วันที่ 6 ต.ค. 2564
เอเอฟพี

รัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตัดสินใจเมื่อวันศุกร์ ที่จะไม่ยอมให้หัวหน้ารัฐบาลทหารพม่า เข้าร่วมในการประชุมสุดยอดของอาเซียนที่กำลังจะมีขึ้น นักการทูตอินโดนีเซียคนหนึ่ง กล่าวถึงการตัดสินใจที่ไม่ธรรมดาครั้งนี้ของอาเซียน ที่มักจะถูกวิพากษ์วิจารณ์เสมอมาว่า ขาดความเด็ดขาดในการตัดสินใจต่อสถานการณ์ในเมียนมาหลังรัฐประหาร

รัฐมนตรีต่างประเทศของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันประกอบด้วย 10 ประเทศสมาชิก ได้ตัดสินใจเช่นนี้ในการประชุมออนไลน์วาระฉุกเฉิน หลังจากที่สัปดาห์นี้ รัฐบาลทหารของเมียนมาไม่ยอมทำตามข้อตกลง ในการให้ผู้แทนพิเศษของอาเซียนพบปะกับทุกฝ่ายในเมียนมา รวมถึงผู้นำฝ่ายค้านที่ถูกจำคุกอยู่ในขณะนี้

หลังการประชุมเมื่อวันศุกร์ นางเร็ตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีต่างประเทศของอินโดนีเซีย กล่าวว่า เมียนมา ซึ่งเป็นสมาชิกรายหนึ่งของอาเซียน ไม่มีความคืบหน้าในการดำเนินการตามฉันทามติห้าข้อของอาเซียน เพื่อนำประเทศกลับสู่เส้นทางสู่สันติภาพและประชาธิปไตย

“อินโดนีเซียเสนอ [ว่า] ไม่ควรยอมให้เจ้าหน้าที่ระดับการเมืองของเมียนมาเข้าร่วมในการประชุมสุดยอดต่าง ๆ จนกว่าเมียนมาจะฟื้นฟูระบอบประชาธิปไตยของประเทศ โดยใช้กระบวนการที่เปิดโอกาสให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วมด้วย” นางเร็ตโนกล่าว ในข้อความหนึ่งที่โพสต์บนทวิตเตอร์

เบนาร์นิวส์ได้สอบถามนายอาเดะ แพดโม ซาร์โวโน ผู้แทนการทูตของอินโดนีเซียประจำอาเซียน ว่าสมาชิกของอาเซียนได้ตัดสินใจที่จะไม่เชิญ พล.อ.อาวุโส มิน ออง ลาย หัวหน้ารัฐบาลทหารพม่า เข้าร่วมในการประชุมสุดยอดของอาเซียน ในวันที่ 26-28 ตุลาคม ใช่หรือไม่

เขาตอบว่า “อ่านทวีตของนางเร็ตโนสิ”

เบนาร์นิวส์ได้ถามนายอาเดะต่อไปอีกว่า บรรดาสมาชิกรายอื่น ๆ ของอาเซียนมีจุดยืนเดียวกันกับนางเร็ตโนหรือไม่

เขาตอบว่า “ใช่”

ไม่กี่ชั่วโมงก่อนหน้าที่บรรดารัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศสมาชิกอาเซียนจะเข้าร่วมประชุมออนไลน์วาระฉุกเฉินนี้ นายไซฟุดดิน อับดุลลาห์ รัฐมนตรีต่างประเทศของมาเลเซีย ได้เตือนว่า หากจำเป็น มาเลเซียจะกดดันเพื่อกันไม่ให้ พล.อ.อาวุโส มิน ออง ลาย เข้าร่วมการประชุมสุดยอดครั้งนี้

“มาเลเซียมีจุดยืนที่ชัดเจน และผมขอย้ำอีกครั้งว่า ถ้าไม่มีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญในการดำเนินการตามฉันทามติห้าข้อนั้นแล้ว ก็ไม่ควรเชิญหัวหน้ารัฐบาลทหารเมียนมาให้เข้าร่วมการประชุมสุดยอดของอาเซียนครั้งนี้” เขาบอกแก่ผู้สื่อข่าว

ผู้นำรัฐบาลทหารได้ยินยอมตามฉันทามติในการประชุม เมื่อเดือนเมษายน ณ กรุงจาการ์ตา ซึ่งจัดขึ้นเพื่อหารือเกี่ยวกับสถานการณ์ในเมียนมา หลังจากที่เขานำกองทัพก่อรัฐประหารโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในวันที่ 1 กุมภาพันธ์

พล.อ.อาวุโส มิน ออง ลาย ได้ทดสอบความอดทนของสมาชิกอาเซียนประเทศอื่น ๆ นับตั้งแต่ที่เขานำรัฐประหาร และนำตัวนางอองซาน ซูจี และผู้นำคนอื่น ๆ ของรัฐบาลสันนิบาตแห่งชาติเพื่อประชาธิปไตย ไปกักขังไว้ในเรือนจำ ในช่วงกว่าแปดเดือนนับแต่นั้นมา กองกำลังความมั่นคงของพม่าได้สังหารชีวิตผู้คนไปแล้วเกือบ 1,180 คน ส่วนใหญ่เป็นผู้ประท้วงต่อต้านรัฐประหาร

ในที่สุด อาเซียนก็ถูกบีบให้ตอบโต้อย่างเฉียบขาดที่สุดต่อรัฐบาลทหารเมียนมา อาเซียนไม่ได้ออกแถลงการณ์โดยทันที หลังการประชุมเมื่อวันศุกร์

เมื่อวันศุกร์ เว็บไซต์ข่าวหลายสำนัก ได้ยืนยันคำพูดของนายอาเดะ ผู้แทนการทูตของอินโดนีเซีย โดยอ้างแหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผยชื่อ บางสื่อกล่าวว่า นายวันนา หม่อง ลวิน รัฐมนตรีต่างประเทศที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลทหาร ได้เข้าร่วมการประชุมอาเซียนเมื่อวันศุกร์

บางสำนักข่าวได้อ้างแหล่งข่าวที่ไม่เปิดเผยชื่อเช่นกันว่า อาเซียนจะเชิญ “บุคคลที่ไม่เกี่ยวข้องกับการเมือง” ให้เป็นตัวแทนของเมียนมาในการประชุมนั้น

บรูไน ซึ่งปัจจุบันเป็นประธานหมุนเวียนของอาเซียน เป็นผู้เรียกร้องให้จัดการประชุมวาระฉุกเฉินครั้งนี้ขึ้น

เจ้าหน้าที่ของเมียนมาที่ได้รับการแต่งตั้งจากรัฐบาลทหาร ได้เข้าร่วมในการประชุมย่อยทั้งหมดของอาเซียนมาโดยตลอด นับตั้งแต่ที่เกิดรัฐประหารขึ้นจนถึงปัจจุบัน รัฐบาลทหารยังได้โพสต์ภาพถ่ายการประชุมอาเซียนทางออนไลน์เหล่านี้ลงบนสื่อและโซเชียลมีเดียของรัฐด้วย ทั้งหมดนี้ ก็เพื่อพยายามให้รัฐบาลทหารได้รับการยอมรับ

นักวิเคราะห์การเมืองและกลุ่มต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนกล่าวว่า การทำเช่นนั้นของอาเซียนเท่ากับเป็นการยอมรับรัฐบาลทหาร

ขาดความน่าเชื่อถือ

ด้วยเหตุผลนี้และความล่าช้ากว่าที่จะตกลงกันได้ ทำให้อาเซียนเกือบสูญเสียความน่าเชื่อถือไป

นายมาร์ตี นาตาเลกาวา อดีตรัฐมนตรีต่างประเทศของอินโดนีเซีย ให้สัมภาษณ์แก่หนังสือพิมพ์จาการ์ตาโพสต์ว่า นี่เป็น “ผลเสียจากความลังเลและความไม่เด็ดขาดของอาเซียนในสภาพแวดล้อมทางภูมิรัฐศาสตร์ที่ซับซ้อนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว”

การทำงานของอาเซียนอาศัยฉันทามติเป็นหลัก ซึ่งเป็นเหตุให้เหล่านักวิจารณ์เรียกอาเซียนว่า ไร้ประสิทธิภาพ นักการทูตบางคนในภูมิภาคนี้เคยกล่าวว่า บรูไน กัมพูชา ลาว ไทย ได้ยับยั้งการดำเนินการอย่างรุนแรงต่อรัฐบาลทหารเมียนมา

ซึ่งกว่าที่อาเซียนจะตกลงกันได้ว่า ใครจะเป็นผู้แทนพิเศษที่จะเดินทางไปยังเมียนมา ก็กินเวลากว่าหนึ่งร้อยวันเข้าไปแล้ว ในช่วงนั้น อาเซียนยังได้ผ่อนปรนมติของสหประชาชาติที่เรียกร้องให้มีการคว่ำบาตรทางอาวุธกับเมียนมาด้วย

ตลอดช่วงเวลาแห่งความลังเลนี้ กองกำลังความมั่นคงของพม่ายังคงยิงใส่และสังหารผู้ประท้วงต่อต้านการรัฐประหารต่อไป

เมื่อวันพฤหัสบดี นักวิเคราะห์สองท่านได้บอกแก่เบนาร์นิวส์ว่า พวกเขาไม่คิดเลยว่าประเทศสมาชิกอาเซียนจะตกลงกันไม่ยอมให้ พล.อ.อาวุโส มิน ออง ลาย เข้าร่วมการประชุมสุดยอดครั้งนี้ หรืออย่างน้อยก็ไม่เห็นด้วยเกี่ยวกับเรื่องนี้ในการประชุมวาระฉุกเฉินครั้งนี้

อย่างไรก็ตาม ได้ปรากฏชัดขึ้นในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาว่า มาเลเซีย อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ ไม่เห็นด้วยกับการยอมให้ผู้นำรัฐประหารของเมียนมาเข้าร่วมการประชุมสุดยอดครั้งนี้ เพราะเขาไม่ให้ความร่วมมือกับ นายเอรีวัน ยูซอฟ ผู้แทนพิเศษของอาเซียนที่เดินทางไปเมียนมา

ขณะเดียวกันเมื่อวันศุกร์ ประเทศต่าง ๆ รวมทั้งสหรัฐอเมริกาและสหราชอาณาจักรได้ออก “แถลงการณ์ร่วมว่าด้วยการสนับสนุนผู้แทนพิเศษของประธานอาเซียนเกี่ยวกับเมียนมา”

ประเทศเหล่านั้นกล่าวว่า ตน “มุ่งมั่นที่จะสนับสนุนความพยายามของผู้แทนพิเศษในการอำนวยความสะดวก เพื่อให้เมียนมาดำเนินการอย่างเต็มที่และเร่งด่วนตามฉันทามติห้าข้อ ซึ่งตกลงกันโดยผู้นำอาเซียนและผู้บัญชาการทหารสูงสุดของกองทัพเมียนมา”

โดยแถลงการณ์ระบุว่า “เราขอย้ำถึงการสนับสนุนวัตถุประสงค์ต่าง ๆ ของการเยือนของ นายเอรีวัน ยูซอฟ รวมถึงความตั้งใจของเขาที่จะพบกับทุกฝ่ายตามฉันทามติห้าข้อนั้น และขอเรียกร้องให้รัฐบาลทหารเมียนมาอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงให้แก่เขา เราขอย้ำถึงการสนับสนุนของเราต่อบทบาทของผู้แทนพิเศษนับแต่นี้ต่อไป และพร้อมที่จะสนับสนุนความพยายามของประธานอาเซียนทุกคน”

หลังจากที่ผ่านไปหลายเดือน การดำเนินการอย่างเด็ดขาดของอาเซียนในการตำหนิติเตียนรัฐบาลทหารเมียนมาอย่างรุนแรงที่สุด ก็ได้รับเสียงชื่นชมในโซเชียลมีเดีย

“สิ่งที่อาเซียนทำดูเหมือนจะเกินความคาดหมายของฉัน นี่เป็นพัฒนาการในทางที่ดีมาก สำหรับประชาชนชาวเมียนมา” นายมิซานูร์ เราะห์มาน กรรมาธิการของสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งบังกลาเทศ โพสต์บนทวิตเตอร์

กลุ่มอารยะขัดขืน ซึ่งนำโดยผู้มีความรู้ความเชี่ยวชาญในเมียนมา ขอขอบคุณอาเซียน

“คุณตัดสินใจถูกต้องแล้วที่จะไม่เชิญ มิน ออง ลาย หัวหน้ากบฏ เขาก่อกบฏต่อประเทศ และเขาเป็นผู้ก่อการร้าย” กลุ่มได้ทวีตข้อความดังกล่าว

“เขาไม่สมควรที่จะได้นั่งร่วมในการประชุมอาเซียน”

เตรีย ดิอานติ ในจาการ์ตา และฮาดี อัซมี ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ ร่วมรายงาน 

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง