ประเทศสมาชิกลุ่มแม่น้ำโขงเรียกร้องให้ปรับปรุงการจัดการทั่วลุ่มน้ำโขง

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2021.06.30
กรุงเทพฯ
ประเทศสมาชิกลุ่มแม่น้ำโขงเรียกร้องให้ปรับปรุงการจัดการทั่วลุ่มน้ำโขง คนเหวี่ยงแหจับปลา จากริมลำน้ำโขง อ.สังคม จ.หนองคาย วันที่ 7 กุมภาพันธ์ 2563
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์

สำนักงานเลขาธิการ คณะกรรมาธิการลุ่มแม่น้ำโขง ได้เรียกร้องในวันพุธนี้ ให้ประเทศสมาชิกและคู่เจรจา แลกเปลี่ยนข้อมูลและสารสนเทศในวงกว้างขึ้น หลังจากที่พบว่ามีการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำในช่วงตอนบนของแม่น้ำโขงสายประธาน และระดับน้ำในทะเลสาบเขมร ประเทศกัมพูชา มีระดับต่ำลง ตามรายงานสถานการณ์ในห้วงเวลาเดือนพฤศจิกายนปีที่ผ่านมาถึงเดือนพฤษภาคม 2564

สำนักงานเลขาธิการ คณะกรรมาธิการลุ่มแม่น้ำโขง (Mekong River Commission - MRC) ได้เปิดเผยรายงานสถานการณ์ในห้วงเวลาดังกล่าวในวันพุธนี้ โดยระบุว่า รายงานดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนประเทศภาคีสมาชิกของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงและประเทศคู่เจรจา ในการแบ่งปันข้อมูลการดำเนินงานและการปฏิบัติการของเขื่อน เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ดียิ่งขึ้นเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการไหลในแม่น้ำโขงสายประธานในปัจจุบัน และเพื่อปกป้องผลกระทบต่อประชาชนริมน้ำโขง

“เพื่อประโยชน์ในการจัดการลุ่มน้ำที่ดีขึ้น และว่าด้วยความร่วมมือตามหลักความเชื่อถือที่ดีต่อกัน ประเทศภาคีสมาชิกและประเทศจีน ควรมีการแจ้งและแบ่งปันข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสำคัญในการดำเนินโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำที่แต่ละฝ่ายได้วางแผนไว้ ให้แก่สำนักงานเลขาธิการ คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงได้รับทราบ ซึ่งนี่ถือเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างยิ่ง เนื่องจากการดำเนินการดังกล่าวอาจส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้นและลดลงอย่างผิดปกติ” นายอัน พิช ฮัดดา ประธานกรรมการบริหาร เอ็มอาร์ซี กล่าว

ในเรื่องนี้ นางสาวอ้อมบุญ ทิพย์สุนา นายกสมาคมเครือข่ายสภาองค์กรชุมชนลุ่มน้ำโขง 7 จังหวัดภาคอีสาน กล่าวว่า ครั้งนี้เป็นครั้งแรกที่เอ็มอาร์ซีมีการแถลงการณ์ถึงสาเหตุผลกระทบต่อลำน้ำโขงอย่างชัดเจน

“เอ็มอาร์ซีควรทำหน้าที่นี้นานแล้ว ควรมีความชัดเจนนานแล้ว โดยเฉพาะในปีสองปีที่ผ่านมา พี่น้องที่ได้รับผลกระทบเรื่องการเปลี่ยนแปลงแม่น้ำโขงนั้นมีมากโดยเฉพาะในภาคอีสาน ที่มันเป็นประเด็นทั้งเขื่อนจีนและเขื่อนไซยะบุรี ถึงประเทศสมาชิกเอ็มอาร์ซีทั้งสี่ประเทศต้องหารือเรื่องที่ต้องหาคนรับผิดชอบหากการจัดการน้ำของรัฐใดรัฐหนึ่งมีผลกระทบต่อประเทศอื่น และแสดงออกมาให้เป็นรูปธรรม” นางสาวอ้อมบุญ กล่าวกับเบนาร์นิวส์

เบนาร์นิวส์ ไม่สามารถติดต่อขอความคิดเห็นจาก ดร. สมเกียรติ ประจำวงษ์ เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ ได้ในวันพุธนี้

รายงานฉบับดังกล่าว ได้ประเมินสภาพอุตุ-อุทกวิทยา ระหว่างช่วงฤดูแล้งของปี 2563-2564 ครอบคลุมช่วงเวลาระหว่างเดือนพฤศจิกายน 2563 ถึงเดือนพฤษภาคม 2564 ซึ่งแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของระดับน้ำในช่วงตอนบนของแม่น้ำโขงสายประธาน ในสปป.ลาว และประเทศไทย รวมถึงปริมาณน้ำในทะเลสาบเขมร ในประเทศกัมพูชา

รายงานยังระบุว่า แม้ปริมาณฝนในเดือนเมษายนถึงพฤษภาคม มีปริมาณสูงสุดเป็นประวัติการณ์ในรอบ 18 ปีที่ผ่านมาของช่วงเวลาเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริเวณตอนกลางของลุ่มน้ำโขงตอนล่างของประเทศไทยและกัมพูชาตอนเหนือ แต่โดยรวมแล้วปริมาณการไหลไม่ได้เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ

รายงานระบุว่า การเปลี่ยนแปลงระดับน้ำอย่างรวดเร็วซึ่งส่งผลต่อรูปแบบการไหล เป็นผลมาจากการดำเนินงานของโครงการเขื่อนไฟฟ้าพลังน้ำในแม่น้ำโขงตอนบน ซึ่งยังคงดำเนินต่อไปในปี 2564 ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว อาจส่งผลกระทบต่อการเดินเรือ ระบบนิเวศของแม่น้ำ และเสถียรภาพของริมฝั่งแม่น้ำ ซึ่งอาจจำเป็นต้องมีการศึกษาเพิ่มเติมเพื่อระบุประเภทและขอบเขตของผลกระทบ

ปริมาณการไหลในแม่น้ำโขงที่ลดลงในช่วงฤดูฝน ปี 2562 และ 2563 ส่งผลให้เกิดการลดลงของกระแสน้ำไหลย้อนกลับ และพื้นที่น้ำท่วมตามฤดูกาลของทะเลสาบเขมรในกัมพูชา ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการดำรงชีวิตของประชากรส่วนใหญ่ที่อาศัยในพื้นที่ทะเลสาบเขมร ปรากฏการณ์ดังกล่าวก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบต่อการทำการเกษตร ความสมดุลของระบบนิเวศ การลดลงของการเคลื่อนตัวและการขนส่งของตะกอนที่อุดมด้วยสารอาหาร รวมถึงปริมาณการจับปลาในครัวเรือนที่ลดลง ในพื้นที่ทะเลสาบเขมร

นอกจากนั้น ในรายงานนี้ยังได้แนะนำให้ทำการศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับรูปแบบการเปลี่ยนแปลงระดับน้ำโดยใช้สถานีตรวจสอบน้ำเชียงกก ใน สปป.ลาว ซึ่งติดตั้งใหม่ที่บริเวณต้นน้ำของเชียงแสน และสถานีบ้านปากฮุ่งบริเวณท้ายน้ำของเขื่อนไซยะบุรี ซึ่งตั้งอยู่ใน สปป.ลาว

ทั้งยังชี้ให้เห็นว่าการศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับการจัดการปริมาณเก็บกักน้ำในลุ่มน้ำทั้งหมดอย่างจริงจัง อาจนำไปสู่การดำเนินงานร่วมกันที่ดีขึ้นของประเทศภาคีสมาชิก ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นต่อชุมชนริมน้ำ

สำหรับแนวโน้มในฤดูฝนปี 2564 นั้น รายงานดังกล่าวได้ อ้างอิงข้อมูลจาก NOAA และ European Center for Medium-Range Weather Forecasts ซึ่งระบุว่า มีฝนตกมากกว่าปกติในเดือนมิถุนายน เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันในปี 2562 และ 2563 แต่มีการคาดการณ์ว่าจะมีสภาวะแห้งแล้งกว่าปกติในเดือนกรกฎาคมและสิงหาคม ในบางส่วนของลุ่มน้ำ ขณะที่ในพื้นที่ของประเทศกัมพูชา ที่ราบสูงตอนกลางของเวียดนาม และภาคใต้ของ สปป. ลาว อาจมีปริมาณฝนน้อยกว่าปกติในช่วงเดือนกรกฎาคม

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง