ครม. ขยายเวลาขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติถึง 15 พ.ค. 66

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2023.02.07
กรุงเทพฯ
ครม. ขยายเวลาขึ้นทะเบียนแรงงานข้ามชาติถึง 15 พ.ค. 66 แรงงานข้ามชาติเดินทางกลับที่พักหลังเลิกงาน โดยรถสองแถว ในจังหวัดสมุทรสาคร วันที่ 4 มกราคม 2564
เอพี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในวันอังคารนี้ ให้ขยายระยะเวลาการขึ้นทะเบียนขออนุญาตทำงานของแรงงานข้ามชาติ เมียนมา กัมพูชา ลาว และเวียดนาม ถึงวันที่ 15 พฤษภาคม 2566 จากเดิมที่กำหนดให้ขึ้นก่อนวันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2566 หลังจากพบว่า ตั้งแต่เดือนกรกฎาคม 2565 มีแรงงานมาขึ้นทะเบียนเพียง 4 แสนกว่าราย และคาดว่ายังเหลืออีก 2 ล้านกว่ารายที่ยังไม่ขึ้นทะเบียน

น.ส. ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยในการแถลงข่าวหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้ขยายเวลาขึ้นทะเบียนขออนุญาตทำงานของแรงงานข้ามชาติ เพื่อช่วยเหลือนายจ้างที่ต้องการแรงงาน เพื่อดำเนินกิจการหลังการระบาดของโควิด-19

“เห็นชอบแนวทางการบริหารจัดการทำงานของคนต่างด้าวหลังวันที่ 13 ก.พ. 66 ซึ่งเป็นการขยายระยะเวลาให้คนต่างด้าวตามมติ ครม. วันที่ 5 ก.ค. 65 ซึ่งประกอบด้วยแรงงาน 4 สัญชาติได้แก่ เมียนมา ลาว กัมพูชา และเวียดนาม ซึ่งได้รับอนุญาตให้ทำงานถึงวันที่ 13 ก.พ. 66 ให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเพื่อทำงานถึงวันที่ 15 พ.ค. 66 และให้ยกเว้นการเปรียบเทียบปรับการอยู่ในราชอาณาจักรเกินระยะเวลาถึงวันดังกล่าว” น.ส. ไตรศุลี กล่าว

น.ส. ไตรศุลี ระบุว่า มติในครั้งนี้ เพื่อขยายระยะเวลาการดำเนินการออกเอกสารรับรองของบุคคล (Certificate of Identity: CI) ของทางการเมียนมาในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดสมุทรสาคร สมุทรปราการ ระนอง และชลบุรี เนื่องจากปัจจุบัน มีแรงงานเมียนมาประมาณ 300,000 คน อยู่ระหว่างการทำเอกสาร CI ขณะที่สำหรับ ลาว และกัมพูชา หากประสงค์จะจัดเก็บข้อมูลเพื่อออกเอกสารประจำตัว ให้มีหนังสือผ่านช่องทางการทูตและสามารถดำเนินการได้ไปพลางก่อน โดยดำเนินการได้ถึง 13 พ.ค. 66 เช่นกัน

“ทั้งนี้ เมื่อคนต่างด้าวยื่นเอกสารครบถ้วนตามกำหนดแล้ว ให้สามารถอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและทำงานถึง วันที่ 13 ก.พ. 67 หรือ 13 ก.พ. 68 แล้วแต่กรณี… ความจำเป็นที่ต้องมีการออกแนวทางการบริหารจัดการทำงานของคนต่างด้าวดังกล่าวนี้ เนื่องจากคนต่างด้าวที่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรให้ทำงานตามมติ ครม. วันที่ 5 ก.ค. 65 จำนวน 2,425,901 คน ปรากฎว่า ล่าสุดได้มีการยื่นขอต่ออายุและชำระค่าธรรมเนียมแล้ว 403,062 คน และยังไม่ดำเนินการยื่นคำขอ 2,022,839 คน เนื่องด้วยเอกสารหลักฐานยังไม่ครบถ้วน”​ น.ส. ไตรศุลี กล่าว

ทั้งนี้ แรงงานที่ขออนุญาตทำงานตามมติ ครม. วันที่ 5 ก.ค. 65 สามารถแบ่งเป็น แรงงานที่ได้รับอนุญาตทำงานถูกกฎหมาย 1,719,231 คน และแรงงานที่ไม่ได้รับการอนุญาตอย่างถูกกฎหมาย แต่ได้รับการผ่อนผันให้ทำงาน 706,670 คน ตามมติ ครม. ได้กำหนดว่า หากคนต่างด้าวทั้ง 2 กลุ่ม ประสงค์จะทำงานต่อจะต้องยื่นคำขอต่ออายุใบอนุญาตทำงาน และชำระค่าธรรมเนียมภายในวันที่ 13 ก.พ. 66

หลังจากนี้ ครม. ได้มอบหมายให้ กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงแรงงาน ออกประกาศหรือระเบียบในส่วนที่เกี่ยวข้อง กระทรวงสาธารณสุข กรมการแพทย์ และสำนักแพทย์ กรุงเทพมหานครปรับปรุงขั้นตอนการขยายประกันสุขภาพให้คนต่างด้าว ให้สามารถซื้อประกันสุขภาพของกระทรวงสาธารณสุขได้อย่างทั่วถึงและสะดวก สำนักงานตำรวจแห่งชาติ โดยสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ดำเนินการจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคลของคนต่างด้าว

นักสิทธิฯ ชี้ค่าดำเนินการแพง เปิดช่องเจ้าหน้าที่รีดไถแรงงาน

น.ส. ปฏิมา ตั้งปรัชญากูล ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) เปิดเผยกับเบนาร์นิวส์ว่า สภาพการค้ามนุษย์ หรือการเอาเปรียบแรงงานในปัจจุบัน เปลี่ยนรูปแบบจากเดิมที่เป็นการกักขังโดยเจ้าหน้าที่รัฐ ไปสู่การหาผลประโยชน์จากแรงงานที่เข้าเมืองผิดกฎหมาย หรือไม่มีใบอนุญาตทำงาน ซึ่งกระทรวงต่าง ๆ ควรเร่งหาทางแก้ไข

“ช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา สถานการณ์โควิดระบาด และการสู้รบในพม่า ทำให้มีแรงงานจำนวนมาก พยายามเข้ามาในไทยอย่างไม่ถูกกฎหมาย เพราะต้องการทำงาน และมีชีวิตที่ดี แต่ก็ต้องตกเป็นเหยื่อการถูกหาประโยชน์จากเจ้าหน้าที่รัฐ หรือถูกรีดไถจากตำรวจ ปัญหาสำคัญคือ ขั้นตอนทางเอกสารที่ยุ่งยาก และมีค่าใช้จ่ายแพง ทำให้นายจ้าง หรือตัวแรงงานไม่ได้ขึ้นทะเบียนถูกต้อง ทำให้เป็นช่องให้ถูกเอาเปรียบเป็นประจำ”​ น.ส. ปฏิมา กล่าว

“สิ่งที่รัฐต้องทำคือ ช่วยให้การขึ้นทะเบียนทำได้ง่าย เพราะยังไงประเทศเราก็ต้องการแรงงานจำนวนมาก ควรเอาเขามาขึ้นทะเบียนให้ถูกกฎหมายให้หมด ระบบการขึ้นทะเบียนต้องมีประสิทธิภาพ กระทรวงแรงงาน และมหาดไทยจำเป็นต้องเข้ามาช่วยเหลือให้แรงงานสามารถเข้าถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน” น.ส. ปฏิมา กล่าวเพิ่มเติม

ในปี 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ค่าใช้จ่ายในการขึ้นทะเบียนขออนุญาตทำงานของแรงงานข้ามชาติอย่างถูกกฎหมาย อยู่ระหว่าง ​​9,700 - 26,720 บาท ซึ่งตัวเลขดังกล่าว นักสิทธิแรงงานมองว่าสูงเกินกว่าที่แรงงานหรือนายจ้างจะรับไหว

“ความยุ่งยากเรื่องเอกสารและความล่าช้า โดยเฉพาะยังไม่แน่ใจท่าทีของฝั่งเมียนมา ซึ่งปัจจุบันเป็นรัฐบาลทหารจะเป็นอย่างไร เรื่องค่าใช้จ่ายการดำเนินการ 2 หมื่นกว่าบาท ถือว่ายังสูงอยู่ คิดว่าถ้าอยู่ในระดับ 1.5 หมื่นแรงงานน่าจะพอรับได้” นายสมพงษ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการ LPN กล่าวกับเบนาร์นิวส์

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน 

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง

ความคิดเห็น

คุณโซ่
May 07, 2023 11:24 AM

หมายถึงจะขึ้นทะเบียนทำใบอนุญาตทำงานให้แรงงานเถื่อนเดือนนี้ใช่ไหมครับ

Keng
May 16, 2023 10:45 PM

เรียน ฝ่ายทรัพยากรบุคคล
รับปรึกษาด้านการนำแรงงานต่างด้าว พม่า . ลาว . กัมพูชา นำเข้ามาทำงานในไทยอย่างถูกต้องในระบบ MOU ด้วยทีมงานมือชีพ ที่มีประสบการ์ณมากกว่า 10 ปี ได้นำเข้าแรงงานมาแล้วไม่น้อยกว่า 10,000 คน / ปี ดำเนินการทั้งแบบ ซัพคอนแทค และ ส่งขาดครับ มีการรับประกันเปลี่ยนแรงงานฟรี ไม่ว่าแรงงานจะ หนี หาย หรือไม่สามารถทำงานได้ จะนำมาเปลี่ยนคืนไห้ โดยไม่เสียค่าใช่จ่ายใดๆทั้งสิ้น หากท่านผู้ประกอบการท่านใดสนใจ ทางเรายินดีให้คำปรึกษา หรือส่งรายละเอียดสวัสดิ์การณ์ของแรงงานและรูปหน้างานของโรงงานท่านมาได้ที่ selectedtradings@gmail.comอยู่ที่ ผู้ว่าจ้าง กับทาง บริษัท ฯ ตกลงกัน พร้อมกับมีหนังสือสัญญารับรองความมั่นใจให้กับทางนายจ้างทุกท่าน หากสนใจโทรติดต่อมาที่ คุณเก่ง 09 - 4662 - 4409 หรือ LINE : selectedtrading ได้ทุกวันครับ หรือติดตามข่าวสารได้ทาง https://www.facebook.com/profile.php?id=100007315486199

https://www.nanasupplier.com/selectedtrading/p-197032%20--disable-http2%20--disable-update
อัพเดทอย่างต่อเนื่อง หากนายจ้างท่านใดสนใจติดต่อด่วน อย่าลืมโทรมาสอบถามข้อมูลนะครับ ทุกวันไม่เว้นวันหยุดราการ ขอบคุณครับ ( ขั้นต่ำ 15 คน ) นะครับ
*รับดำเนินการสำหรับแรงงานที่อยู่มาแล้ว 4 ปี 6 ปี
**พิเศษสำหรับนายจ้างที่ต้องการแบบซัพ ฯ ตั้งแต่ 30 คนขึ้นไปไม่มีค่าใช้จ่ายครับ (ในส่วนของการสรรหาแรงงาน)
***หมายเหตุ : ทุกการดำเนินงานมีช่วงเวลา ในการดำเนินงาน หากต้องการใช้แรงงานอย่างเร่งด่วน !! วางแผนจองแรงงานจะดีกว่านะครับ เพราะการนำเข้ามาอย่างถูกหมายโดยไม่เป็นภาระให้กับนายจ้าง