รัฐบาลในภูมิภาควอนจีนและสหรัฐฯ คงความสงบ หลังแนนซี เพโลซี เยือนไต้หวัน
2022.08.03
วอชิงตัน
เมื่อวันพุธ รัฐบาลในประเทศเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เรียกร้องให้จีนและสหรัฐอเมริกา มหาอำนาจคู่แข่ง ยับยั้ง “การกระทำยั่วยุ” ที่อาจทวีความตึงเครียด โดยบอกว่า กำลังจับตามองสถานการณ์เกี่ยวกับไต้หวันอย่างใกล้ชิด ในระหว่างการเดินทางเยือนไต้หวันของ นางแนนซี เพโลซี ประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ซึ่งหลายคนไม่เห็นด้วย
เจ้าหน้าที่จากอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ ไทย และเวียดนาม ย้ำการสนับสนุนนโยบายจีนเดียว โดยยอมรับว่ารัฐบาลจีนเป็นรัฐบาลที่ถูกต้องรัฐบาลเดียวของจีน
สหรัฐอเมริกา ก็ถือนโยบายนี้ แต่รักษาความสัมพันธ์ใกล้ชิดอย่างไม่เป็นทางการกับไต้หวัน และมีหน้าที่ให้การสนับสนุนด้านการป้องกันประเทศของไต้หวัน รัฐบาลสหรัฐฯ ยอมรับคำกล่าวอ้างของจีนในอธิปไตยเหนือไต้หวันเท่านั้น แต่ไม่ได้ประกาศสนับสนุนคำกล่าวอ้างนั้น
กระทรวงการต่างประเทศของอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แสดงความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับ “การแข่งขันที่เพิ่มขึ้นระหว่างมหาอำนาจใหญ่” โดยไม่เอ่ยชื่อสหรัฐฯ และจีน
“หากจัดการไม่ดี อาจนำไปสู่ความขัดแย้งที่เปิดกว้าง และทำลายสันติภาพและเสถียรภาพ รวมถึง ช่องแคบของไต้หวัน” จาการ์ตากล่าวในแถลงการณ์ พร้อมเรียกร้องให้ทุกฝ่ายละเว้นจากการกระทำที่ยั่วยุที่อาจทำให้สถานการณ์แย่ลง”
“โลกกำลังต้องการสติปัญญาและความรับผิดชอบของผู้นำทุกคน เพื่อค้ำชูสันติภาพและเสถียรภาพเอาไว้” อินโดนีเซีย ซึ่งเผชิญกับความตึงเครียดทางอาณาเขตของตนเองกับจีน ในน่านน้ำรอบหมู่เกาะนาทูนา ที่อยู่ทางตะวันตกเฉียงใต้ของทะเลจีนใต้ กล่าว
ในกรุงเทพฯ กระทรวงการต่างประเทศของไทยแสดงความกังวลกับการเยือนไต้หวันของ นางแนนซี เพโลซี เช่นเดียวกัน
“ไทยไม่ประสงค์ที่จะเห็นการดำเนินการใด ๆ ที่จะเพิ่มความตึงเครียดและบั่นทอนสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค” นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ให้ความเห็น
“โดยหวังให้ฝ่ายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องจะใช้ความอดทนอดกลั้น และปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ และหลักการว่าด้วยการเคารพอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดน รวมทั้งแก้ไขปัญหาด้วยสันติวิธี”
ขณะที่เครื่องบินทหารที่ นางแนนซี เพโลซีใช้ในการเดินทางครั้งนี้ ลงจอดที่กรุงไทเปเมื่อเย็นวันอังคาร กองทัพปลดแอกประชาชนจีน (PLA) ได้ประกาศการซ้อมรบด้วยกระสุนจริงตามที่ต่าง ๆ หกแห่งรอบเกาะไต้หวัน บางแห่งทับซ้อนกับน่านน้ำอธิปไตยของไต้หวัน
นอกจากนี้ เครื่องบินทหารของจีน 21 ลำ รวมทั้งเครื่องบินขับไล่ J-16 จำนวน 10 ลำ และเครื่องบินลาดตระเวน 2 ลำ ยังได้บินเข้าสู่เขตพิสูจน์ทราบป้องกันทางอากาศ (ADIZ) ของไต้หวันด้วย
ขณะอยู่ในไทเป นางแนนซี เพโลซีได้ไปเยือนรัฐสภาของไต้หวัน ก่อนที่จะพบกับประธานาธิบดีไช่ อิงเหวิน ผู้ที่เรียกเธอว่า “เพื่อนที่ทุ่มเทมากที่สุดคนหนึ่งของไต้หวัน”
ในระหว่างการกล่าวแถลงสั้น ๆ หลังการพบปะกันนั้น นางแนนซี เพโลซี กล่าวยกย่องความเข้มแข็งและไม่ยอมแพ้ของไต้หวัน
“อเมริกายังคงมุ่งมั่นอย่างเด็ดเดี่ยวที่จะดำรงไว้ซึ่งประชาธิปไตยที่นี่ในไต้หวันและทั่วโลก” เธอกล่าว พร้อมเสริมว่าสหรัฐฯ “จะไม่ละทิ้งข้อผูกพันของเราที่มีต่อไต้หวัน”
นางเพโลซี เป็นเจ้าหน้าที่อาวุโสระดับสูงสุดของอเมริกาที่ได้ไปเยือนไต้หวัน ในรอบ 25 ปี ในช่วงหลายวันก่อนการมาเยือนของเธอ จีนได้ออกคำเตือนที่เข้มงวดเกี่ยวกับเรื่องนี้ โดยอ้างว่าการเดินทางครั้งนี้จะเป็นการรุกล้ำอำนาจอธิปไตยของจีน
ฟิลิปปินส์ ซึ่งได้เผชิญหน้ากับจีนในทะเลจีนใต้ และมีสนธิสัญญาร่วมว่าด้วยการป้องกันประเทศ กับสหรัฐฯ กล่าวว่า กำลังติดตามข่าวการเยือนไต้หวันของนางแนนซี เพโลซี เนื่องจากกังวลว่าอาจทำให้ความตึงเครียดกับจีนทวีความรุนแรงขึ้น คณะผู้แทนสหรัฐฯ ที่นำโดย นางแนนซี เพโลซีออกจากไต้หวันเมื่อเย็นวันพุธ เพื่อเดินทางต่อไปยังเกาหลีใต้
“กองทัพของเราและ DFA (กระทรวงการต่างประเทศ) ของเรา กำลังติดตามสถานการณ์นี้อย่างใกล้ชิด เช่นเดียวกับที่เราทำในสถานการณ์อื่น ๆ ที่คล้ายกัน” ทริกซี ครูซ-แองเจเลส โฆษกหญิงของประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ กล่าว
“สำหรับเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เราศึกษาปฏิกิริยาต่าง ๆ เราไม่สุ่มสี่สุ่มห้าแสดงปฏิกิริยาที่อาจส่งผลเสียต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ” เธอกล่าว และเน้นว่า “คำพูดที่ไม่ยั้งคิด” อาจกระทบความสัมพันธ์ระหว่างฟิลิปปินส์กับจีนได้
โฆษกหญิงกล่าวว่า นายหวง ซีเหลียน ผู้แทนของจีนประจำกรุงมะนิลา เตือนให้เจ้าหน้าที่ปฏิบัติตามนโยบายจีนเดียว
“มีเพียงจีนเดียวในโลกเท่านั้น ไต้หวันเป็นส่วนหนึ่งที่แยกออกไม่ได้ของอาณาเขตจีน” นายหวง ซีเหลียน กล่าวเมื่อวันอังคาร ก่อนหน้าการเยือนของ นางแนนซี เพโลซี
เขากล่าวว่า เขาหวังว่าฟิลิปปินส์จะ “จัดการอย่างรอบคอบกับปัญหาทั้งหมดที่เกี่ยวข้องกับไต้หวัน เพื่อให้มั่นใจถึงการพัฒนาอย่างมั่นคงและไม่เปลี่ยนแปลงของความสัมพันธ์ระหว่างจีนและฟิลิปปินส์”
ขณะเดียวกัน รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซียกล่าวว่า รัฐบาลมาเลเซียต้องการความมั่นใจเกี่ยวกับสันติภาพ เสถียรภาพ และความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคนี้ ขณะที่เจ้าหน้าที่รัฐบาลมาเลเซียพยายามที่จะรักษาความสัมพันธ์อันดีกับรัฐบาลจีนและสหรัฐฯ
“[เ]ราอยากให้ทุกคนที่เกี่ยวข้อง มองสถานการณ์และจัดการกับสถานการณ์นี้อย่างดีที่สุด เพราะเราสำนึกในคุณค่าและให้ความสำคัญมากแก่ทั้งสหรัฐฯ และจีน ทั้งด้านการค้าและเทคโนโลยีในภูมิภาคนี้ และต้องการเป็นมิตรกับทั้งสองประเทศ” นายไซฟุดดิน อับดุลเลาะฮ์ รัฐมนตรีต่างประเทศมาเลเซีย กล่าว
ผู้สนับสนุนจีนที่ออกมาประท้วง เหยียบรูปนางแนนซี เพโลซีประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐฯ ระหว่างการประท้วงนอกสถานกงสุลสหรัฐฯ ในฮ่องกง วันที่ 3 สิงหาคม 2565 (ปีเตอร์ พาร์ค/เอเอฟพี)
‘ยับยั้งชั่งใจอย่างที่สุด’
รัฐมนตรีต่างประเทศของประเทศสมาชิกสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ได้เตรียมแถลงการณ์เกี่ยวกับ “สถานการณ์ข้ามช่องแคบ” โดยแสดงความกังวลเช่นเดียวกัน และเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง “ใช้ความยับยั้งชั่งใจสูงสุด เว้นจากการกระทำยั่วยุ เพื่อยึดมั่นอย่างเคร่งครัดในหลักการว่าด้วยการไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น
“สติปัญญาและความรับผิดชอบของผู้นำทุกคนกำลังเป็นที่ต้องการอย่างยิ่งในโลกนี้ เพื่อค้ำชูระบบพหุภาคีและความเป็นหุ้นส่วน ความร่วมมือกัน การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และการแข่งขันที่ดี เพื่อเป้าหมายร่วมกันของเราในด้านสันติภาพ เสถียรภาพ ความมั่นคง และการพัฒนาอย่างยั่งยืนของทุกประเทศ”
ส่วนประเทศอื่น ๆ นั้น เจ้าหน้าที่ในกัมพูชา สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว เมียนมา และเวียดนาม ย้ำถึงการสนับสนุนนโยบายจีนเดียว ขณะเดียวกันก็เรียกร้องให้คำนึงถึงสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาค
“สปป.ลาว ขอย้ำถึงการสนับสนุนที่เรามีต่อนโยบายการรวมประเทศด้วยวิธีการสันติของรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน” ลาวโพสต์ข้อความนี้บนเฟซบุ๊ก
รัฐบาลทหารในเมียนมา ย้ำความเชื่อที่ว่า ไต้หวันเป็น “ส่วนหนึ่งที่สำคัญของสาธารณรัฐประชาชนจีน” ขณะเดียวกันก็แสดงความกังวลเกี่ยวกับการเยือนของนางแนนซี เพโลซี “ซึ่งทำให้ความตึงเครียดเกี่ยวกับช่องแคบไต้หวันทวีความรุนแรงขึ้น”
“เมียนมาเรียกร้องให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องลดความตึงเครียดลง ด้วยการเจรจาอย่างสร้างสรรค์และการต่อรองอย่างสันติ เพื่อสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน” รัฐบาลทหารเขียนในโพสต์เฟซบุ๊ก จีนกลายเป็นแหล่งการลงทุนต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดในเมียนมา นับตั้งแต่การถอนตัวของธุรกิจโลกตะวันตก หลังเกิดรัฐประหารเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2564
เหมือนเป็นทหารศึกแนวหน้า
ในภาคเหนือของประเทศไทย นักวิเคราะห์จากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ยกย่อง นางแนนซี เพโลซี ในขณะที่ตั้งข้อสงสัยในรายงานของสื่อบางฉบับ ที่บอกว่า การเยือนไต้หวันของเธออาจจุดชนวนให้เกิดสงครามเย็นครั้งใหม่
“คุณเพโลซีเนี่ย อาจเป็นหมุดหมายสำคัญของบุคคลที่สร้างแนวทางใหม่ ๆ ของการทำงานในภูมิภาคเอเชียของสหรัฐเลย อย่าลืมว่าเธอใหญ่เป็นลำดับที่ 3 รองจาก ไบเดน และกมลา แฮร์ริส ดังนั้นการไปเยือนไต้หวัน จึงมีนัยทางการเมืองมาก ๆ และสำคัญต่อความสัมพันธ์ระหว่างสหรัฐและภูมิภาคเอเชียตะวันออกในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้” ดร. เอียชา การ์ตี นักวิจัยด้านเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ “เธอเป็นทหารศึกคนแรกของสหรัฐที่ไปวางหมุดมายตามโลเคชันสำคัญของโลก"
“ได้อ่านบทวิเคราะห์หลายชิ้นในช่วงสองสามวันนี้ แปลกใจนิดหน่อยที่นักวิชาการที่ศึกษาเรื่องจีนหลายท่าน มองว่านี่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของสงครามเย็นครั้งใหม่” เขากล่าว “แต่คิดว่าตอนนี้สถานการณ์โลกยังไม่ปะทุถึงจุด ๆ นั้น คือโลกทั้งโลกอยู่ในช่วงฟื้นฟูเศรษฐกิจ และประเทศมหาอำนาจไม่สามารถฟื้นฟูตัวเอง พร้อมกับโดดเดี่ยวประเทศพาร์ทเนอร์ได้”
นานี ยูโซฟ ในกรุงวอชิงตัน, เตรีย ดิอานติ ในจาการ์ตา, เจสัน กูเตียเรซ ในมะนิลา, นนทรัฐ ไผ่เจริญ และวิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ คุณวุฒิ บุญฤกษ์ ในเชียงใหม่ ประเทศไทย, และทีมข่าวเรดิโอฟรีเอเชีย ร่วมรายงาน