ทางการไทยเร่งอพยพพลเมืองออกจากยูเครน

แรงงานอย่างน้อย 14 ราย ยังตกค้างในเมืองคาเคียฟใกล้พรมแดนรัสเซีย
นนทรัฐ ไผ่แจริญ
2022.02.28
กรุงเทพฯ
ทางการไทยเร่งอพยพพลเมืองออกจากยูเครน ชาวยูเครนกว่าสิบคน และชาวรัสเซียจำนวนหนึ่งได้ชุมนุมประท้วงที่หน้าสถานทูตรัสเซีย กรุงเทพฯ วันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565
สุนทร จงเจริญ/เบนาร์นิวส์

ทางการไทยเร่งอพยพพลเมืองไทยออกนอกประเทศยูเครนที่กำลังเผชิญกับการรุกรานทางทหารของรัสเซีย แต่ยังมีคนไทยอย่างน้อย 14 คน ที่ยังคงตกค้างในเมืองคาเคียฟ ใกล้พรมแดนรัสเซีย เจ้าหน้าที่สถานทูตไทย กล่าวในวันจันทร์นี้

ในตอนของวันจันทร์นี้ (ตามเวลาในประเทศไทย) สถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงวอร์ซอ รายงานว่า เมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา ทางสถานทูตไทยได้อพยพคนไทยออกมาจากพื้นที่เสี่ยงได้ 99 คน ซึ่งส่วนใหญ่ทำงานในสถานบริการอยู่ในกรุงเคียฟ เมืองหลวงของยูเครน โดยทั้งหมดได้เดินทางไปยังกรุงวอร์ซอ เมืองหลวงของประเทศโปแลนด์ และกรุงบูคาเรสต์ เมืองหลวงของประเทศโรมาเนีย เพื่อเดินทางโดยเครื่องบินกลับมาตุภูมิต่อไป

ทั้งนี้ สถานทูตไทยฯ ระบุว่า มีคนแรงงานไทยทำงานในประเทศยูเครน 255 คน ซึ่งในจำนวนนี้ มีอยู่ประมาณ 20 คนที่อาศัยเป็นครอบครัว

“ที่เราเป็นห่วงที่สุดตอนนี้ก็คือ คนไทยที่อยู่ที่คาเคียฟ สัก 14 คน ที่อยู่ติดชายแดนรัสเซียเลย สถานการณ์ก็ยังเอาออกมาไม่ได้” นายเชษฐพันธ์ มากสัมพันธ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงวอร์ซอ แถลงผ่านเฟซบุ๊กกระทรวงการต่างประเทศ ในเวลาห้าโมงเย็นของวันจันทร์นี้

“คาเคียฟ สถานการณ์แย่มาก ๆ ออกมาไม่ได้ เราก็ติดต่อคนไทยขอให้อยู่ในที่ตั้ง นายจ้างก็ยังดูแลอย่างใกล้ชิด คนไทยก็ยังปลอดภัยแน่นอน เราก็ยังภาวนาอยู่และอยากให้เป็นเช่นนั้นตลอดไป” นายเชษฐพันธ์ กล่าว และระบุว่า ยังไม่มีผู้ใดได้รับอันตราย

ทั้งนี้ เมื่อวันพฤหัสบดีที่แล้ว รัสเซียเริ่มปฏิบัติการโจมตียูเครนด้วยกองกำลังทางบกและทางอากาศ ส่งผลให้รัฐบาลไทยและประเทศต่าง ๆ ต้องอพยพพลเมืองของตน  และก่อนหน้าสงครามปะทุหนึ่งวัน กระทรวงการต่างประเทศของไทยได้วางแผนอพยพโดยใช้เมืองลวิฟ ซึ่งตั้งอยู่ในทางทิศตะวันตกของยูเครนเป็นศูนย์รวมการอพยพ

“ณ ขณะนี้ มีคนไทยทยอยมาเข้าพักที่ศูนย์ปฏิบัติการฯ เพิ่มเติมอีก 42 คน และมีคนไทยอีกประมาณ 10 คน ที่กำลังเดินทางมายังเมืองลวิฟ โดยสถานเอกอัครราชทูตฯ มีแผนจะนำคนไทยที่เข้าพักที่ศูนย์ปฏิบัติการฯ ทั้งหมดเดินทางเข้าประเทศโปแลนด์ในช่วงบ่ายของวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565” สถานทูตฯ กล่าวในรายงานความคืบหน้าในวันจันทร์นี้

ด้าน นางปิ๊ก กลางโนนเขียว อายุ 51 ปี ซึ่งทำงานในร้านนวดแห่งหนึ่งในเมืองเทอร์โนพิว (Ternopil) ใกล้เมืองลวิฟ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า ตนเองได้อพยพออกมาจากเมืองเทอร์โนพิวตั้งแต่เมื่อวานนี้

“เมื่อวานได้อพยพมาที่เมืองลวิฟ ถือว่าสถานการณ์ปลอดภัยแล้ว กำลังจะย้ายไปโปแลนด์ในช่วงเย็น ที่ลวิฟมีคนเยอะมาก พยายามขึ้นรถบัส รถไฟ หนี หิมะตกหนักขาวโพลนทั้งเมือง คนยูเครนจำนวนมากพยายามจะหนี มีการโห่ร้อง” นางปิ๊ก ซึ่งทำงานในยูเครนเป็นเวลา 4 ปีกล่าว

นายเชษฐพันธ์ มากสัมพันธ์ เอกอัครราชทูต ณ กรุงวอร์ซอ แถลงผ่านเฟซบุ๊กกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยว่า ทางสถานทูต ได้ติดต่อกับคนไทยที่นั่นและเปิดเป็นช่องทางติดต่อสื่อสารทางไลน์

ส่วนในประเทศไทย ในวันจันทร์นี้ ชาวยูเครนกว่าสิบคนได้ชุมนุมประท้วงที่หน้าสถานทูตรัสเซีย ขณะที่ชาวรัสเซียและยูเครนที่เดินทางมาท่องเที่ยวในภูเก็ต ราว 50 คนได้ร่วมกันเดินขบวนแสดงพลังต่อต้านสงคราม

นางสาวแนสเชีย (สงวนนามสกุล) ชาวยูเครนที่ได้มาร่วมชุมนุมประท้วงที่หน้าสถานทูตรัสเซีย กล่าวว่า ตนต้องการให้รัสเซียยุติการรุกรานโดยเร็ว

“เราต้องการให้ยุติสงคราม และขอให้ทหารรัสเซียกลับบ้าน อย่าเอาชีวิตมาทิ้งที่ยูเครน ตอนนี้ เพื่อนและครอบครัวของฉันก็ยังอยู่ในยูเครน ที่นั่นมีการสู้รบ โรงเรียน และโรงพยาบาลถูกยิง ถูกระเบิด พวกเขายังต้องหลบในหลุมหลบภัย” นางสาวแนสเชีย กล่าว

คนไทยเสียงแตก

ยูเครนแยกออกมาจากสหภาพโซเวียตรัสเซีย ซึ่งล่มสลายใน ค.ศ. 1991 ได้ทำลายอาวุธนิวเคลียร์ออกจากคลังแสงทั้งหมด แต่ประธานาธิบดียูเครน นายโวโลดีมีร์ เซเลนสกี ได้หันมาใกล้ชิดกับทางองค์การนาโต้มากขึ้น จนทำให้ประธานาธิบดีรัสเซีย นายวลาดิเมียร์ ปูติน ถือว่าเป็นภัยคุกคามต่อรัสเซีย

สำหรับชาวไทยแล้ว ได้มีความเห็นแตกต่างกันออกไปในเรื่องนี้ โดยบางคนได้ให้การสนับสนุนรัสเซีย รวมทั้งจีน

“ผมขอส่งกำลังใจให้ ฯพณฯ ประธานาธิบดี วลาดิเมียร์ ปูติน และกองทัพรัสเซียครับ ชื่นชมในภาวะผู้นำ ความกล้าหาญ เด็ดเดี่ยว เด็ดขาดของท่านมาตลอด ทั้งยังแสดงออกถึงความจริงใจ เป็นมิตรที่ดี ไม่เจ้าเล่ห์ต่อราชอาณาจักรไทยอย่างชัดเจนเชื่อถือได้ เช่นเดียวกับ ฯพณฯ ประธานาธิบดี สีจิ้นผิง” พล.ต. นพ. เหรียญทอง แน่นหนา โพสต์เฟซบุ๊กเมื่อวันที่ 25 กุมภาพันธ์ 2565

ด้าน นายรัศม์ ชาลีจันทร์ อดีตเอกอัครราชทูตไทย ประจำประเทศคาซัคสถาน และรองอธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ กล่าวกับเบนาร์นิวส์ว่า บางคนใช้อคติในการตัดสินความขัดแย้งครั้งนี้

“ผมไม่เข้าใจว่าทำไมคนไทยบางส่วนสนับสนุนรัสเซีย ซึ่งผมเห็นว่า อาจเป็นเพราะคนบางส่วนชอบระบบอำนาจนิยม เผด็จการ ก็เลยชอบรัสเซีย และเกลียดอเมริกา เพราะเชื่อว่าอเมริกาเป็นตัวแทนประเทศประชาธิปไตย... สถานการณ์นี้เป็นการใช้อคติส่วนตัวตัดสินสถานการณ์ ไม่ได้ใช้หลักการและเหตุผลตัดสินเหตุการณ์” นายรัศม์ กล่าว

สุนทร จงเจริญ ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง