อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ประณามรัสเซียบุกยูเครน

ประเทศอื่นในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่แสดงท่าทีที่ชัดเจน
รอนนา เนอร์มาลา, เทรีย ดิอานติ และไชลาจา นีลากันตัน
2022.02.24
จาการ์ตา และวอชิงตัน
อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ประณามรัสเซียบุกยูเครน หน่วยรักษาชายแดนแห่งรัฐยูเครนถูกปืนใหญ่ยิงถล่มได้รับความเสียหาย ในอาณาเขตเมืองเคียฟ ประเทศยูเครน วันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2565
เอกสารแจกจากหน่วยข่าวของหน่วยรักษาชายแดนแห่งรัฐยูเครน/รอยเตอร์

สิงคโปร์และอินโดนีเซียประณามรัสเซียที่ละเมิดบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน หลังจากที่รัสเซียบุกยูเครน อดีตสาธารณรัฐโซเวียต แต่ประเทศส่วนใหญ่ที่เหลือในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้นิ่งเฉยต่อเหตุการณ์นี้

เช้าวันพฤหัสบดี กองกำลังรัสเซียได้บุกเข้าไปในยูเครน นายโจเซฟ บอเรลล์ หัวหน้าฝ่ายการต่างประเทศของสหภาพยุโรป เขียนบนทวิตเตอร์ว่า “เป็นช่วงเวลาที่มืดมนที่สุดของยุโรป นับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่สอง”

สำนักข่าวรอยเตอร์รายงานว่า ขีปนาวุธได้ถล่มเป้าหมายต่าง ๆ ในยูเครน ขณะที่ขบวนกองทหารเคลื่อนตัวข้ามพรมแดนทั้งสามด้าน สำนักข่าวเอพีรายงานว่า ทหารยูเครนอย่างน้อย 40 นาย ถูกสังหารเมื่อวันพฤหัสบดี

สิงคโปร์กล่าวว่า รู้สึก “เป็นวิตกอย่างยิ่ง” เมื่อได้ฟังคำประกาศของรัสเซียถึงสิ่งที่รัสเซียเรียกว่า “ปฏิบัติการพิเศษทางทหาร” ในภูมิภาคดอนบาสของยูเครน

“สิงคโปร์ขอประณามอย่างรุนแรงต่อการบุกรุกโดยปราศจากการสาเหตุใด ๆ ที่กระทำต่อประเทศอธิปไตย ไม่ว่าจะอ้างเหตุผลใดก็ตาม เราขอย้ำว่าจะต้องเคารพอธิปไตย เอกราช และบูรณภาพแห่งดินแดนของยูเครน” กระทรวงการต่างประเทศของสิงคโปร์กล่าวในแถลงการณ์

“เราหวังว่าการดำเนินการทางทหารจะยุติลงทันที และขอเรียกร้องให้ระงับข้อพิพาทโดยสันติ โดยปฏิบัติตามกฎบัตรสหประชาชาติและกฎหมายระหว่างประเทศ”

กระทรวงการต่างประเทศของอินโดนีเซียกล่าวในแถลงการณ์ว่า อินโดนีเซียวิตกเกี่ยวกับ “การขัดแย้งด้วยการใช้อาวุธที่ทวีความรุนแรงขึ้นในยูเครน” เนื่องจากเป็นอันตรายต่อผู้คนและสันติภาพในภูมิภาคเอเชีย

“ขอยืนยันว่าต้องปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศและกฎบัตรสหประชาชาติว่าด้วยบูรณภาพแห่งดินแดนของประเทศ และขอประณามการกระทำใดก็ตามที่เห็นได้ชัดว่าเป็นการละเมิดอาณาเขตและอธิปไตยของประเทศหนึ่ง ๆ” นายเตกู ไฟซัสยาห์ โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ อ่านในแถลงการณ์

ประธานาธิบดีโจโก “โจโกวี” วีโดโด โพสต์บนทวิตเตอร์ โดยไม่เอ่ยถึงรัสเซียหรือยูเครนว่า “หยุดสงครามเสีย สงครามนำความทุกข์ยากมาสู่มนุษยชาติ และทำให้ทั้งโลกตกอยู่ในอันตราย”

ทูตยูเครนประจำอินโดนีเซียเรียกร้องให้อินโดนีเซีย ประเทศที่ใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่เป็นอันดับสามของโลก แสดงท่าทีและคำพูดที่แข็งกร้าวกว่านี้

“[เ]รายังคาดหวังให้อินโดนีเซีย (เช่นเดียวกับประเทศอื่น ๆ ในโลก) ใช้มาตรการคว่ำบาตรกับรัสเซีย ตลอดจนตำหนิติเตียนและประณามการรุกรานของรัสเซีย” นายวาซิล ฮาเมียนิน ทูตยูเครน กล่าวเมื่อวันพฤหัสบดี ในกรุงจาการ์ตา

“ผมคิดว่าถ้าอินโดนีเซียพูดออกมา ไม่มีใคร ไม่มีประเทศไหน ไม่มีภูมิภาคไหน ไม่มีผู้นำคนไหนในโลกที่จะกล้าเพิกเฉยต่อคำพูดของอินโดนีเซีย”

ปัจจุบัน อินโดนีเซียเป็นประธาน G20 ซึ่งเป็นกลุ่มที่ประกอบด้วย 19 ประเทศที่มีเศรษฐกิจขนาดใหญ่ที่สุดของโลก และสหภาพยุโรป นี่ทำให้อินโดนีเซียตกอยู่ในฐานะลำบากที่จะแสดงท่าทีเกี่ยวกับการรุกรานยูเครนของรัสเซีย นักวิเคราะห์รายหนึ่งบอกกับเบนาร์นิวส์

อินโดนีเซีย “จะงดออกความคิดเห็น เพราะเราต้องการให้ G20 ดำเนินไปด้วยดี” นายเตกู เรซัสยาห์ อาจารย์วิชาการเมืองระหว่างประเทศที่มหาวิทยาลัยปัดจัดจารัน ในเมืองบันดุง บอกกับเบนาร์นิวส์

“การประชุม G20 ในบาหลีจะมีผู้นำจากสหรัฐฯ รัสเซีย และสหภาพยุโรปเข้าร่วม ดังนั้น อินโดนีเซียจึงต้องออกแถลงการณ์ที่จะไม่ถูกตีความว่าเป็นการเข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง... ในฐานะประธาน G20 อินโดนีเซียมีฐานะที่สำคัญยิ่ง แต่ก็เกิดอาการกลืนไม่เข้าคายไม่ออกด้วย”

เราไม่ยุ่งเกี่ยว

ขณะเดียวกัน สมาชิกประเทศอื่นของสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) มีปฏิกิริยาที่อ่อนกว่า คงเป็นเพราะหลักการของอาเซียนว่าด้วยการไม่แทรกแซงกิจการภายในของประเทศอื่น

นายอิสมาอิล ซาบรี ยาค็อบ นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย กล่าวในงานแถลงข่าวเมื่อวันพฤหัสบดีว่า เขารู้สึกเสียใจกับ “เหตุการณ์ที่เพิ่งเกิดขึ้นในยูเครน”

“ในฐานะองค์กรของประเทศเสรี อาเซียนเห็นพ้องต้องกันว่าเราจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับปัญหาของต่างประเทศ” เขากล่าวในงานแถลงข่าวขณะกำลังเยือนประเทศกัมพูชา

“ฮุน เซน นายกรัฐมนตรี [กัมพูชา] ยังเห็นด้วยว่า เราจะไม่ออกแถลงการณ์ใด ๆ เว้นเสียแต่ว่าบรรดาสมาชิกอาเซียนจะหารือกันถึงเรื่องนี้และลงมติเป็นเอกฉันท์”

ฟิลิปปินส์กล่าวว่า สิ่งที่ฟิลิปปินส์เป็นห่วงมากคือความปลอดภัยของชาวฟิลิปปินส์ในยูเครน ขณะที่ไทยกล่าววว่า กำลังติดตามเหตุการณ์ในยูเครน “ด้วยความเป็นห่วงยิ่ง”

เรดิโอฟรีเอเชีย (RFA) หน่วยงานต้นสังกัดของเบนาร์นิวส์ รายงานว่า เวียดนาม สมาชิกรายหนึ่งของอาเซียน และเป็นประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ใกล้ชิดที่สุดกับรัสเซีย ยังคงนิ่งเฉย และไม่แสดงความเห็นที่มีนัยยะใด นอกจากเรียกร้องให้ยับยั้งชั่งใจตามสูตรสำเร็จทั่วไป

อย่างไรก็ตาม สื่อเวียดนามกำลังรายงานสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในยูเครน โดยไม่เข้าข้างรัสเซียอย่างที่เคย ซึ่งแตกต่างไปจากที่เคยเป็นมา เรดิโอฟรีเอเชียกล่าว รัสเซียเป็นคู่ค้าด้านอาวุธที่สำคัญที่สุดของเวียดนาม และเป็นผู้จัดหาอาวุธและยุทโธปกรณ์รายสำคัญให้แก่กองทัพเวียดนาม

ส่วนอาเซียน ก็ยังไม่ได้ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับเหตุการณ์ในยูเครน แม้สำนักข่าวรอยเตอร์จะได้เห็นเอกสารที่เรียกกันว่า เป็นแถลงการณ์ฉบับร่างของอาเซียนก็ตาม ข้อความในฉบับร่างนั้นระบุว่า สถานการณ์ต้องพบ “ทางออกอย่างสันติตามกฎหมายระหว่างประเทศและกฎบัตรสหประชาชาติ”

อดีตและผลกระทบที่จะเกิดในอนาคต

บทวิเคราะห์ของนายแซคคารี อบูซา ที่เขียนให้แก่เบนาร์นิวส์ในวันอังคารที่ผ่านมา กล่าวว่า แม้จะน่าแปลกใจที่เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ไม่ได้มีท่าทีตอบสนองอย่างหนักในเรื่องนี้ แต่ก็ไม่ใช่สิ่งที่ไม่เคยปรากฏมาก่อน นายอบูซาได้ยกตัวอย่างกรณีที่รัสเซียบุกไครเมียเมื่อปี 2557 ว่า

“เหตุผลเดียวที่ดึงเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ให้เข้ามายุ่งเกี่ยวกับสถานการณ์นั้นคือ การที่เครื่องบินของมาเลเซียแอร์ไลน์ เที่ยวบินที่ 17 ถูกขีปนาวุธจากพื้นสู่อากาศ BUK ที่ผลิตโดยรัสเซีย ยิงตกเมื่อวันที่ 17 กรกฎาคม พ.ศ. 2557 และคร่าชีวิตผู้โดยสารและลูกเรือทั้งหมด 298 คน” แซคคารี อบูซา อาจารย์ประจำเนชั่นแนล วอร์ คอลเลจ (National War College) ในกรุงวอชิงตันดีซี เขียนในบทความ

กระนั้นก็ตาม ในตอนนั้นก็มี “ไม่กี่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่ต้องการจะเผชิญหน้ารัสเซียเรื่องเครื่อง MH-17 ที่ถูกยิงตก” เขากล่าว

บทความของนายอบูซายังกล่าวอีกว่า ส่วนเหตุผลที่ไม่กระตือรือร้นที่จะติดตามเป็นเพราะว่ารัสเซียอยู่ไกลจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจหรือการเมืองกับภูมิภาคนี้เพียงเล็กน้อย

อีกทั้งนายอบูซา ยังกล่าวแย้งต่อว่า แต่ประเทศในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ควรมีจุดยืนที่แข็งกร้าวกว่านี้

“[นี่] ทำให้เกิดแบบอย่างที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายอย่างร้ายแรงมาก โดยเฉพาะสำหรับประเทศที่ไม่เกรงกลัวใครอย่างจีน ซึ่งได้พยายามผลักดันซ้ำแล้วซ้ำเล่าให้มีการตีความกฎหมายระหว่างประเทศอย่างที่ตนต้องการ ที่เห็นได้ชัดที่สุดคือ กรณีพิพาททะเลจีนใต้”

ประเทศในเอเชียทั้งหกประเทศอ้างสิทธิ์เหนืออาณาเขตหรือเขตแดนทางทะเลในทะเลจีนใต้ ซึ่งทับซ้อนกับการอ้างสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ทั้งหมดของจีน แม้อินโดนีเซียจะไม่ถือว่าตนเองเป็นภาคีในข้อพิพาททะเลจีนใต้ แต่จีนก็อ้างสิทธิ์ทางประวัติศาสตร์ในส่วนต่าง ๆ ของทะเลจีนใต้ที่ทับซ้อนกับเขตเศรษฐกิจจำเพาะของอินโดนีเซีย

จีนไม่เคยยอมรับคำตัดสินของศาลอนุญาโตตุลาการถาวร ในกรุงเฮก ซึ่งกล่าวว่า “การอ้างสิทธิ์ทางประวัติศาสตร์” ของจีนต่อการขยายอาณาบริเวณในทะเลจีนใต้นั้น ขาดมูลฐานทางกฎหมาย

เมื่อไม่นานมานี้ เรือของจีนได้รุกล้ำเข้าไปในเขตเศรษฐกิจจำเพาะของอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ และมาเลเซีย ในทะเลจีนใต้ ซึ่งนับเป็นการคุกคามเสถียรภาพในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และวิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ, สุกัญญา ลิงเก็น และมุซลิซา มุสตาฟา ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ และ เจฟฟรีย์ ไมเต็ม และ บาซิลิโอ เซเป ในกรุงมะนิลา ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง