ยูเอ็น : ประเทศเอเชียแปซิฟิกต้องฉีดวัคซีนต้านโควิด แก่แรงงานข้ามชาติทันที

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และภิมุข รักขนาม
2021.03.10
กรุงเทพฯ
ยูเอ็น : ประเทศเอเชียแปซิฟิกต้องฉีดวัคซีนต้านโควิด แก่แรงงานข้ามชาติทันที แรงงานข้ามชาติชาวเมียนมากับครอบครัว ในห้วงเวลาที่รัฐบาลไทยสั่งปิดตลาดกุ้ง เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดโควิด-19 ระลอกใหม่ ที่จังหวัดสมุทรสาคร วันที่ 26 มกราคม 2564
รอยเตอร์

ที่ประชุมเกี่ยวกับการโยกย้ายถิ่นในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ที่เริ่มต้นขึ้นในวันพุธนี้ กล่าวว่า แรงงานอพยพข้ามชาติ ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเป็นผู้ทำให้เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19 และต้องตกค้างอยู่ในประเทศต่าง ๆ ควรได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโดยด่วน เพราะแรงงานเหล่านี้มีบทบาทสำคัญกับการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของภูมิภาค

นางอาร์มิดา ซัลเซียะฮ์ อาลิสจะฮ์บานา เลขาธิการบริหาร คณะกรรมการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) กล่าวว่า แรงงานอพยพในภูมิภาคนี้ มีถึง 40 เปอร์เซ็นต์ของแรงงานอพยพย้ายถิ่นทั่วโลก ที่มีส่วนสำคัญในการสร้างเศรษฐกิจทั้งในและนอกภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แต่พวกเขาได้ผลกระทบอย่างรุนแรงมาก

“ผลกระทบ (ของโควิด) ต่อแรงงานนั้นมีความเสียหายหนักหน่วงมาก ด้วยธรรมชาติของการทำงาน แรงงานข้ามถิ่นต้องเผชิญกับความเสี่ยงในการติดเชื้อ ตกงาน และสูญเสียสภาพความเป็นอยู่ที่ดี ตกค้างตามชายแดน บ้างก็ถูกบังคับส่งกลับ ถูกแปลกแยก ถูกกล่าวโทษ รวมทั้งถูกเหยียดเชื้อชาติ” นางอาร์มิดา กล่าว

“แรงงานอพยพจะมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการฟื้นตัวของประเทศในระยะยาว และงานที่พวกเขาทำ จะต้องได้รับการยอมรับและเห็นคุณค่า พวกเขาจะต้องถูกรวมอยู่ในนโยบายโครงการฉีดวัคซีน... เราจะปลอดภัย ก็ต่อเมื่อทุกคนปลอดภัย” นางอาร์มิดากล่าว

ในการประชุมเกี่ยวกับการโยกย้ายถิ่นในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก ที่มีวัตถุประสงค์ในการทบทวนความคืบหน้า และความท้าทายในการดำเนินการ เรื่องข้อตกลงระหว่างประเทศเพื่อการโยกย้ายถิ่นฐานที่ปลอดภัย เป็นระเบียบ และปกติ (Global Compact for Safe, Orderly and Regular Migration in Asia and the Pacific – GCM) ที่ประเทศสมาชิกองค์กรสหประชาชาติได้ให้การสนับสนุนในปี พ.ศ. 2561 (ยังเป็นเอกสารที่ยังไม่มีข้อผูกพันธ์ทางกฎหมาย) ที่จะดำเนินไปจนถึงวันศุกร์นี้ นางอาร์มิดา ได้เสนอให้ที่ประชุมร่วมหาแนวทางบริหารจัดการในเรื่องนี้ เช่น การส่งเสริมสภาพความเป็นอยู่ของแรงงานข้ามถิ่นในภูมิภาค การฉีดวัคซีนโรคโควิด การหางานและจ่ายค่าแรงงานอย่างเหมาะสม การลดค่าธรรมเนียมในการโอนเงินของแรงงาน เป็นต้น

ในปี 2562 มีผู้อพยพย้ายถิ่นระหว่างประเทศเกือบ 65 ล้านคน ในภูมิภาคนี้ ตามรายงานของคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งเอเชียและแปซิฟิก (ESCAP) ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางที่ดึงดูดแรงงานย้ายถิ่น ในภูมิภาค จากประเทศเพื่อนบ้าน ได้แก่ เมียนมา กัมพูชา และลาว

ด้านนายดอน ปรมัตถ์วินัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ กล่าวว่า แรงงานข้ามชาติมีความสำคัญต่อเศรษฐกิจของภูมิภาค แต่โรคโควิดได้เพิ่มความอ่อนแอให้กับแรงงาน โดยเฉพาะการเผชิญสุปสรรคในการรับการบริการทางการแพทย์และประกันสังคม

“ที่เลวร้ายกว่านั้นคือ ในบางกรณี มีการให้ข้อมูลที่ผิด ๆ และให้ร้ายแรงงานข้ามชาติ ว่าเป็นภัยต่อสาธารณะและความมั่นคง เรื่องนี้ต้องมีการลงสัตยาบัน และต้องมีการแก้ไข” นายดอน กล่าว

เมื่อเดือนธันวาคมปีที่แล้ว พลเอก ประยุทธจันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขของไทยกล่าวว่า แรงงานข้ามชาติที่เข้ามาในประเทศอย่างผิดกฎหมายเป็นสาเหตุหนึ่งของการแพร่ระบาดเชื้อโควิด-19 ระลอกใหม่ หลังจากที่ ในเวลานั้น พบแรงงานหลายคนติดเชื้อโควิด-19 ที่ตลาดอาหารทะเล ในจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งเป็นตลาดอาหารทะเลที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย  

ประเทศไทยมีแรงงานข้ามชาติที่ถูกกฎหมายทั้งสิ้นประมาณ 2.2 ล้านคน

เบนาร์นิวส์ได้ติดต่อเจ้าหน้าที่สาธารณสุข จังหวัดสมุทรสาคร เพื่อสอบถามจำนวนแรงงานข้ามฃาติ ที่ได้รับการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโคโรนา ตั้งแต่เริ่มฉีดวัคซีนเมื่อปลายเดือนกุมภาพันธ์ แต่เจ้าหน้าที่ไม่มีข้อมูลดังกล่าว

จากข้อมูลทางการ ในวันพุธที่ผ่านมา จังหวัดสมุทรสาครได้รับวัคซีนซิโนแวค จำนวน 70,000 โดส และมีผู้ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว 33,621 คน

ไทยแจงฮิวแมนไรท์วอทช์ ส่งเมียนมา 8 คนกลับประเทศเป็นมาตรการปกติ

ในวันพุธนี้ หน่วยงานรัฐบาลไทยยืนยันการส่งตัวชาวเมียนมาและพระสงฆ์รวม 8 ราย กลับประเทศเมื่อวันที่ 7 มีนาคม 2564 ว่าเป็นการส่งกลับตามมาตรการปกติ ไม่ได้เป็นการขับไล่ ตามที่องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ออกแถลงการณ์ เรียกร้องให้ไทยยุติการเนรเทศผู้ลี้ภัยเมียนมากลับไป

ทั้งนี้ องค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ กล่าวในเอกสารข่าวโดยอ้างอิงถึงข้อมูลจากรายงานข่าวของสื่อมวลชนว่า ในช่วงดึกวันที่ 7 มีนาคม 2564 กองกำลังผาเมือง และเจ้าหน้าที่ตำรวจ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง อ.เชียงแสน จ.เชียงราย จับกุมตัว พระสงฆ์ 2 รูป ผู้ชาย 2 คน และผู้หญิง 4 คน ขณะกำลังเดินเท้าข้ามแม่น้ำรวก จาก จ.ท่าขี้เหล็ก เมียนมา มายังบ้านเวียงแก้ว หมู่ 5 ต.ศรีดอนมูล อ.เชียงแสน โดยหลังจากนั้นได้ทำการส่งทั้ง 8 คนกลับทางช่องทางเดิมทันที โดยระบุว่า เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 เพราะตรวจพบว่า 3 ใน 8 คน มีไข้สูง

ในวันพุธนี้ พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ งาทอง รองโฆษกกองทัพบก เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ผ่านโทรศัพท์ว่า การส่งกลับดังกล่าวเป็นนโยบายการป้องกันโควิด-19 ของไทย เป็นประการสำคัญ

“กรณีที่เจ้าหน้าที่ตรวจพบว่าเป็นการลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมายหรือไม่ผ่านการตรวจคัดกรองโรค เจ้าหน้าที่จะดำเนินการตามกฎหมายและมาตรการป้องกันโรคของไทย โดยจะดำเนินการให้กลับประเทศตามช่องทางที่ลักลอบเข้ามาหรือที่ตรวจจับได้ ซึ่งดำเนินการในลักษณะเดียวกันทุกแนวชายแดน เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดโควิด-19 เป็นสำคัญ” พ.อ.หญิง ศิริจันทร์ กล่าว

ขณะที่ พล.ต.ต.อาชยน ไกรทอง โฆษกสำนักงานตรวจคนเข้าเมือง ระบุว่า “ตม. ปฏิบัติตามการส่งกลับที่สถานกักกันของ ตม. ต้องปฏิบัติปกติ ซึ่งทางการเมียนมาจะสามารถไม่รับก็สามารถทำได้ แต่หากเขารับกลับก็ถือว่าเป็นเรื่องปกติ ตม. มีขั้นตอนการส่งกลับเป็นเรื่องปกติ คนที่เข้ามาถูกจับ ก็ต้องรอการส่งกลับตามขั้นตอนอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องระบุว่าเป็นเหตุผลใด ๆ”

ด้านนายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ กระทรวงการต่างประเทศ ในฐานะโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้ให้ข้อมูลผ่านทางเมสเสจว่า ยังไม่พบว่า มีผู้ขอลี้ภัยเป็นกลุ่มจากเมียนมา

“ถึงปัจจุบัน ยังไม่มีสิ่งบ่งชี้ว่ามีกลุ่มผู้ขอลี้ภัยเป็นกลุ่มใหญ่ ได้ข้ามแดนเข้ามาเพราะเหตุการณ์บ้านเมืองในประเทศเมียนมา... ที่ผ่านมา มีกลุ่มคนมากมายหลายกลุ่มที่ลักลอบเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ด้วยเหตุผลประการต่าง ๆ ซึ่งไม่จำเป็นว่าจะเป็นการหนีการสู้รบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับคนที่อยู่ห่างจากเมืองย่างกุ้ง” นายธานี กล่าว

“ขอให้สบายใจได้ว่า เราได้เตรียมการต่อสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ทำให้ต้องพิจารณาเหตุผลในการต้องข้ามแดนจากเมียนมาเข้ามา ตามที่เราเคยทำในอดีตบนพื้นฐานของมนุษยธรรม ที่พักพิงชั่วคราวสำหรับผู้ลี้ภัยทั้ง 9 แห่ง ที่มีชาวเมียนมาพักพิง 90,000 คน เป็นประจักษ์พยาน ในการที่เราให้ความช่วยเหลือผู้ตกทุกข์ได้ยาก” นายธานี กล่าวเพิ่มเติม

การเปิดเผยของเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทย สืบเนื่องจากองค์กรฮิวแมนไรท์วอทช์ ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้รัฐบาลไทยหยุดขับไล่ผู้อพยพ และให้การคุ้มครองผู้แสวงหาที่ลี้ภัยชาวเมียนมาที่ลักลอบหนีเข้ามาในประเทศไทย หลังมีการเผยแพร่ข่าวดังกล่าว

“เจ้าหน้าที่รัฐไทยควรหยุดการผลักดันคนเมียนมากลับประเทศ รัฐบาลไทยควรเร่งให้การช่วยเหลือปกป้องผู้แสวงหาการลี้ภัยเมียนมา ซึ่งหนีความรุนแรงมายังประเทศไทย รัฐบาลไทยควรช่วยเหลือให้พวกเขามีโอกาสได้รับสถานะผู้ลี้ภัยจากสหประชาชาติ มาตรการชายแดนของไทยควรสอดคล้องกับหลักสากลในการปกป้องผู้ลี้ภัย” นายบิล เฟรลิก ผู้อำนวยการฝ่ายสิทธิผู้ลี้ภัยและผู้อพยพ ฮิวแมนไรท์วอทช์ ระบุในแถลงการณ์

ทั้งนี้ สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ระบุตัวเลขในรายงานปี 2560 ว่า ประเทศไทยมีผู้ลี้ภัยในค่ายพักพิง 99,956 คน ผู้ลี้ภัยในเขตเมืองและผู้ขอลี้ภัย 6,589 คน และบุคคลไร้สัญชาติ 486,440 คน โดยในจำนวนผู้ลี้ภัยมีชาวเมียนมา 91,809 คน และจนถึงปัจจุบัน ประเทศไทยยังมิได้ลงนามภาคีในอนุสัญญาผู้ลี้ภัยปี ค.ศ. 1951 ของสหประชาชาติ

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง