พหุวัฒนธรรม : หนึ่งวันแห่งวิถีเมืองปัตตานี

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์ และมารียัม อัฮหมัด
2018.08.17
ปัตตานี
pattani1.jpg

ชาวมุสลิมขี่รถสามล้อมารับพระสงฆ์เพื่อออกบิณฑบาตทุกเช้า สะท้อนภาพพหุวัฒนธรรมของจังหวัดปัตตานีได้เป็นอย่างดี วันที่ 14 สิงหาคม 2561 (เบนาร์นิวส์)

pattani2.jpg

ชาวพุทธใส่บาตรพระสงฆ์ ขณะที่พลขับชาวมุสลิมคอยช่วยเหลือนำอาหารออกจากบาตร วันที่ 14 สิงหาคม 2561 (เบนาร์นิวส์)

pattani3.jpg

เจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงตั้งด่านกระจายทั่วเมือง เพื่อรักษาความปลอดภัยให้กับประชาชน วันที่ 14 สิงหาคม 2561 (เบนาร์นิวส์)

pattani4.jpg

หญิงชาวมุสลิมขายพวงมาลัยดอกไม้ เพื่อให้ชาวพุทธซื้อนำไปถวายพระ วันที่ 14 สิงหาคม 2561 (เบนาร์นิวส์)

pattani5.jpg

ร้านอาหารมุสลิม นอกจากเป็นที่รับประทานอาหาร ยังเป็นที่พบปะจิบน้ำชา และสนทนาร่วมกันของคนในชุมชน เมืองปัตตานี วันที่ 27 กรกฎาคม 2561 (เบนาร์นิวส์)

pattani6.jpg

หญิงชาวมุสลิมขายปลาแห้ง หนึ่งในสินค้าส่งออกหลักของจังหวัดปัตตานีซึ่งมีพื้นที่ติดทะเลอ่าวไทย วันที่ 24 กรกฎาคม 2561 (เบนาร์นิวส์)

pattani7.jpg

พ่อค้าชาวมุสลิมขนสะตอและทุเรียนขึ้นรถ โดยมีเจ้าหน้าที่ทหารซึ่งปฏิบัติหน้าที่รักษาความปลอดภัยอยู่บริเวณนั้นด้วย วันที่ 24 กรกฎาคม 2561 (เบนาร์นิวส์)

pattani8.jpg

คนขายขณะปรุงน้ำราดหน้า ที่ร้านราดหน้านำรส หนึ่งในร้านอาหารขึ้นชื่อของเมืองปัตตานี วันที่ 14 สิงหาคม 2561 (เบนาร์นิวส์)่่

pattani9.jpg

คั่วกลิ้งเนื้อรสจัด เมนูเอกลักษณ์ของภาคใต้ เป็นหนึ่งในอาหารที่คนนิยมรับประทาน วันที่ 13 สิงหาคม 2561 (เบนาร์นิวส์)

pattani10.jpg

ในทุกเช้า เรือหาปลาขนาดเล็กจะแล่นออกจากฝั่งเพื่อไปทำประมง อันเป็นหนึ่งในอาชีพหลักของคนปัตตานี วันที่ 14 สิงหาคม 2561 (เบนาร์นิวส์)

pattani11.jpg

ชาวประมงหว่านแหจับปลา ท่ามกลางเด็กนักเรียนที่เฝ้ามองอย่างสงสัยใคร่รู้ วันที่ 14 สิงหาคม 2561 (เบนาร์นิวส์)

pattani12.jpg

ชาวปัตตานีเดินเล่นชมอาทิตย์อัสดงบริเวณริมอ่าวปัตตานี หลังมหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี วันที่ 14 สิงหาคม 2561 (เบนาร์นิวส์)

แม้ว่า ปัตตานีจะเป็นหนึ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งเกิดสถานการณ์ความไม่สงบอยู่เนืองๆ จนต้องมีเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคงรักษาความปลอดภัยอย่างเข้มงวดตลอด 24 ชั่วโมง แต่ในอีกด้านหนึ่ง ปัตตานี เป็นเมืองพหุวัฒนธรรม ที่ชาวไทยพุทธ-มุสลิม และไทยจีน อาศัยอยู่ร่วมกันและใช้ชีวิตแบบถ้อยทีถ้อยอาศัย ด้วยกันอย่างลงตัว

ในเช้าตรู่ของทุกวัน ชาวพุทธบางจำนวนยืนรอตักบาตรพระสงฆ์สูงอายุรูปหนึ่ง ที่มารับบาตรโดยนั่งรถสามล้อถีบพ่วงที่มีคนขี่เป็นชายชาวมุสลิม เป็นภาพที่เจนตาแก่ผู้ที่ผ่านไปมาบนถนนบริเวณนั้น ในเมืองปัตตานี ซึ่งมีเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังความปลอดภัยเป็นระยะทั่วเมือง

พระวีระ จิตตธัมโม หรือ หลวงตาวีระ อายุ 75 ปี กล่าวว่า ปะจู เป็นเพื่อนรุ่นที่ 3 แล้ว ถัดจากแบเซ็ง หรือ นายอุเซ็ง แวหลง อายุ 79 ปี ปั่นจักรยานสามล้อรับส่งรุ่นแรก ต่อมา บังมะ หรือนายมะ แวหามะ อายุ 68 ปี รุ่นที่ 2 และ ล่าสุด ปะจู สาเมาะ อายุ 68 ปี

"มารับแบบนี้ทุกวัน เช้าๆ ละหมาดเสร็จก็จะกินกาแฟ ทำภารกิจส่วนตัวเสร็จ ก็จะถีบสามล้อมารับ คิดว่าเราต้องช่วยกัน รุ่นนี้ เป็นรุ่นที่ 3 แล้วคิดว่าจะทำไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะไม่ไหว พอไม่ไหวก็จะมีคนอื่นมารับแทน" นายปะจู สาเมาะ กล่าว

แม้คนไทยทั่วประเทศจะมองว่า จังหวัดชายแดนภาคใต้อันตรายและน่ากลัว แต่ผู้คนก็ยังสามารถใช้ชีวิตประจำวัน ยังคงออกจากบ้านมาเพื่อประกอบอาชีพ เข้าร้านเพื่อรับประทานอาหาร ออกมาจับจ่ายใช้สอยในตลาดเป็นปกติ ส่วนชาวประมงก็ยังคงหาปลา เด็กยังคงเล่นและอยากรู้อยากเห็นตามประสา ในเวลาเย็น ผู้คนยังออกมาเดินเล่นเหมือนกับจังหวัดอื่นๆ ในประเทศไทย

อาหารพื้นเมือง เช่น คั่วกลิ้ง ผัดสะตอ แกงเหลือง หรือข้าวยำ รวมทั้งอาหารทะเล เป็นสิ่งที่นักท่องเที่ยวมักเลือกลิ้มลอง เมื่อเดินทางมาเยือน อาหารเหล่านี้มักใช้วัตถุดิบที่สดใหม่ ส่วนประกอบที่หาได้ง่ายในท้องถิ่น และปรุงด้วยเครื่องเทศหลากหลายรสเผ็ดร้อน อันเป็นเอกลักษณ์ของอาหารภาคใต้

ปัตตานี เป็นหนึ่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ร่วมกับยะลา และนราธิวาส แต่เป็นจังหวัดเดียวที่ไม่มีอาณาเขตติดกับประเทศมาเลเซีย มีเนื้อที่ประมาณ 1,940 ตารางกิโลเมตร ประกอบด้วย 12 อำเภอ มีประชากรอาศัยอยู่ราว 7 แสนคน ในนั้นเป็นชาวมุสลิมกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ประชากรส่วนมากยังยึดอาชีพเกษตรกร และประมงเป็นอาชีพหลัก

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง