การแข่งวิ่งฮาล์ฟมาราธอน สร้างความคึกคักแก่ปัตตานี ในรอบ 2 ปี วิกฤตโควิด

ปัตตานีไม่อยู่ในกลุ่มจังหวัดเสี่ยงโควิด นักวิ่งจึงเข้าร่วมจำนวนมาก
ยศธร ไตรยศ
2021.03.22
ปัตตานี
PataniRun1.jpg

ผู้เข้าแข่งขันวิ่งทะลุเฟรม ขณะอบอุ่นร่างกายในช่วงรุ่งสาง เพื่อเตรียมพร้อมก่อนการปล่อยตัวของนักวิ่งในประเภท Fun Run จังหวัดปัตตานี วันที่ 21 มีนาคม 2564 (ยศธร ไตรยศ/เบนาร์นิวส์)

PataniRun2.jpg

หญิงสาวมุสลิมจับกลุ่มพูดคุยกันก่อนการวิ่งจะเริ่มขึ้น เป็นภาพที่เป็นเอกลักษณ์ของงานวิ่งที่ปัตตานี ที่ประชาชนส่วนใหญ่เป็นมุสลิม ทั้งการแข่งขันครั้งนี้ มีหญิงมุสลิมเข้าร่วมเป็นจำนวนมาก วันที่ 21 มีนาคม 2564 (ยศธร ไตรยศ/เบนาร์นิวส์)

PataniRun3.jpg

นักวิ่งต่างพากันถ่ายภาพเป็นที่ระลึกหลังเข้าเส้นชัย โดยผู้จัดงานได้เตรียมช่างภาพ เพื่อเก็บบรรยากาศความประทับใจตลอดทั้งงาน จังหวัดปัตตานี วันที่ 21 มีนาคม 2564 (ยศธร ไตรยศ/เบนาร์นิวส์)

PataniRun4.jpg

บรรยากาศสองข้างทางตกแต่งด้วยป้ายข้อความ ลูกโป่งหลากสี และเสียงกองเชียร์ปลุกใจตลอดเส้นทางวิ่ง จังหวัดปัตตานี วันที่ 21 มีนาคม 2564 (ยศธร ไตรยศ/เบนาร์นิวส์)

PataniRun5.jpg

กองเชียร์ในชุดแฟนซี เป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยสร้างสีสันให้งานวิ่งตั้งแต่เริ่มต้นจนจบงาน จังหวัดปัตตานี วันที่ 21 มีนาคม 2564 (ยศธร ไตรยศ/เบนาร์นิวส์)

PataniRun6.jpg

ผู้ปกครองจำนวนมากต่างนำบุตรหลานมาร่วมวิ่ง Fun Run ที่เป็นระยะที่ได้รับความนิยมมากที่สุดสำหรับผู้เริ่มต้นวิ่ง และวิ่งเพื่อสุขภาพ วันที่ 21 มีนาคม 2564 (ยศธร ไตรยศ/เบนาร์นิวส์)

PataniRun7.jpg

กลุ่มนักกิจกรรมสังคมเข้าร่วมแข่งขันวิ่งระยะ Fun Run 6 กิโลเมตร พร้อมถือภาพเชิงสัญลักษณ์เรียกร้องตลอดเส้นทาง ให้ปล่อยนักกิจกรรมการเมืองที่ถูกคุมขังด้วยมาตรา 112 วันที่ 21 มีนาคม 2564 (ยศธร ไตรยศ/เบนาร์นิวส์)

PataniRun8.jpg

กลุ่มนักวิ่งเสื้อสีเหลือง หรือผู้เข้าแข่งขันในระยะฮาล์ฟมาราธอน ขณะวิ่งเข้าโค้งสุดท้ายก่อนเข้าเส้นชัย จังหวัดปัตตานี วันที่ 21 มีนาคม 2564 (ยศธร ไตรยศ/เบนาร์นิวส์)

PataniRun9.jpg

บรรยากาศก่อนเข้าเส้นชัย ทีมงานผู้จัดรอให้การต้อนรับ บริการน้ำดื่ม และมอบเหรียญรางวัลในซอง เมื่อนักวิ่งเข้าเส้นชัย โดยไม่มีพิธีการมอบตามมาตรการป้องกันโควิด-19 วันที่ 21 มีนาคม 2564 (ยศธร ไตรยศ/เบนาร์นิวส์)

PataniRun10.jpg

กองเชียร์แฟนซีเต้นสร้างบรรยากาศอยู่บริเวณหน้าเวทีการแสดงดนตรีที่ได้รับการสนับสนุนจาก กองสันทนาการของกองทัพบก ในพื้นที่จังหวัดปัตตานี วันที่ 21 มีนาคม 2564 (ยศธร ไตรยศ/เบนาร์นิวส์)

วิ่งทะลุเฟรม หรือ Tist Run ชื่อของงานวิ่งที่มีระยะไกลที่สุด คือ ระยะฮาล์ฟมาราธอน ได้จัดขึ้นเมื่อวันอาทิตย์ ที่จังหวัดปัตตานี ในพื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ที่มีประชากรส่วนใหญ่เป็นชาวมุสลิม พื้นที่ที่มีสถานการณ์ความไม่สงบตลอดช่วงระยะเวลา 17 ปีที่ผ่านมา

การจัดงานวิ่งในจังหวัดปัตตานีเกิดขึ้นไม่บ่อยครั้ง เนื่องจากเหตุผลสำคัญเรื่องการดูแลความปลอดภัย ทำให้จำนวนผู้เข้าร่วมในการแข่งขันแต่ละครั้งไม่มากนัก ส่วนมากเป็นคนในพื้นที่ที่ต้องเข้มงวดมากกว่าพื้นที่อื่น โดยเฉพาะหลังจากสถานการณ์โควิด-19 ตลอดกว่าหนึ่งปีที่ผ่านมา ไม่เคยมีการจัดการแข่งขันวิ่งหรือกีฬารายการใหญ่ในพื้นที่เลย จึงเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้การแข่งขันวิ่งทะลุเฟรมครั้งนี้ ได้รับการตอบรับและจับตามองจากนักวิ่งทั้งในและนอกพื้นที่อย่างคึกคัก

โดยมีอีกเหตุผลหนึ่งคือ ปัตตานีไม่อยู่ในบัญชีรายชื่อกลุ่มจังหวัดเฝ้าระวังเป็นพิเศษของกระทรวงสาธารณสุข ยิ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ดึงดูดนักวิ่งจากพื้นที่ใกล้เคียงที่รอคอยการแข่งขัน พากันเดินทางมาเข้าร่วม หลังจากห่างหายไปนานเนื่องจากสถานการณ์โควิด

วิ่งทะลุเฟรมครั้งนี้ เป็นครั้งที่ 2 ซึ่งครั้งแรกจัดขึ้นเมื่อเดือนมีนาคม ปี 2562 โดยคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี แม้ผู้จัดงานจะไม่เปิดเผยตัวเลขของจำนวนนักวิ่งอย่างเป็นทางการในปีนี้ แต่จากการลงทะเบียนและผู้เข้าร่วมจริงจำนวนมาก ในการแข่งขันทั้งในระดับฮาล์ฟมาราธอน 21.1 กิโลเมตร มินิมาราธอน 10.5 กิโลเมตร และระยะ Fun Run 6 กิโลเมตร คาดว่ามีผู้ร่วมงานวิ่งไม่ต่ำกว่า 2,000 คน นับว่าเป็นจำนวนสูงมาก สำหรับรายการแข่งวิ่งในพื้นที่ที่มีปัญหาความขัดแย้งและความรุนแรงอย่างจังหวัดปัตตานี

ทุกวันนี้ คนหันมาสนใจการออกกำลังกายมากขึ้น ในปัตตานีเองก็มีสถานที่ออกกำลังกายอยู่หลายที่ สวนสาธารณะต่าง ๆ ก็ทำทางสำหรับวิ่งไว้โดยเฉพาะ ผู้หญิงเราก็หันมาวิ่งกันเยอะ ความเป็นมุสลิมไม่ได้เป็นอุปสรรคอะไร แค่ดูแลการแต่งกายของเราให้ดีก็พอนูรีดา หรือกะดา หนึ่งในผู้ร่วมวิ่งกล่าว

ส่วน ลัดดาวัลย์ (สงวนนามสกุล) เล่าว่า “พี่เป็นคนหาดใหญ่ ปกติก็ชอบวิ่งอยู่แล้ว ช่วงนี้งานวิ่งจัดกันน้อยมาก เราก็ซ้อมของเรามานาน ก็อยากลงแข่งบ้างธรรมดา แล้วปัตตานีก็ถือว่าไม่ไกล ที่ผ่านมาข่าวความรุนแรงอะไรก็ลดลงไปเยอะ ก็เลยสมัครมาวิ่ง

การแข่งขันวิ่งจบไปด้วยบรรยากาศแห่งความประทับใจ หลายคนพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า จะกลับมาอีกในครั้งหน้า เนื่องจากประทับใจเส้นทางการวิ่งที่ผ่านสถานที่สำคัญของตัวเมืองปัตตานี และบรรยากาศริมทะเลที่สงบ ซึ่งหาได้ยากจากที่อื่น เป็นสิ่งที่ทำให้เขาประทับใจ ขณะที่ภาพของหญิงมุสลิมคลุมฮิญาบมาวิ่ง กลายเป็นภาพเอกลักษณ์สำหรับงานวิ่งที่ปัตตานีไปแล้ว

ขณะเดียวกันการจัดการแข่งขันวิ่งครั้งนี้ ยังส่งผลให้เศรษฐกิจในเมืองปัตตานีกลับมาคึกคักอย่างเห็นได้ชัด ตลอดช่วงสุดสัปดาห์ของการจัดงาน โรงแรมที่ขึ้นชื่อของจังหวัดถูกจองล่วงหน้าจนเต็ม เช่นเดียวกับหลาย ๆ โรงแรมที่เคยเงียบเหงา ก็คราคร่ำไปด้วยนักเดินทางต่างถิ่นอย่างเห็นได้ชัด ร้านค้า และร้านอาหารเต็มไปด้วยผู้คน ถนนยามค่ำคืนกลับมามีชีวิตชีวา

การนำแนวทางในการใช้กีฬาเปิดทางสู่การท่องเที่ยวในพื้นที่ อาจเป็นคำตอบหนึ่งของการพัฒนาเศรษฐกิจการท่องเที่ยวของจังหวัดชายแดนใต้ก็เป็นได้

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง