ช่วยเราด้วย!
โฆษกกระทรวงการต่างประเทศไทย เปิดเผยในวันจันทร์นี้ว่า มีแรงงานไทยในอิสราเอลเสียชีวิตจากภัยการสู้รบแล้ว 12 ราย แต่ไม่ได้ระบุถึงชะตากรรมของตัวประกันที่ถูกกลุ่มหัวรุนแรงฮามาสจับไป ขณะที่กระทรวงแรงงานได้ให้เจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ไปแจ้งข่าวกับครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบและให้ความช่วยเหลือ
นางกาญจนา ภัทรโชค อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ แถลงข่าวที่กระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า กระทรวงการต่างประเทศกำลังติดตามสถานการณ์สู้รบในประเทศอิสราเอลอย่างใกล้ชิด ซึ่งเจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงเทลอาวีฟ เองก็ต้องเข้าไปหลบในหลุมหลบภัยเป็นระยะเช่นกัน
“ในแง่ผู้เสียชีวิต สถานทูตแจ้งมาว่าได้รับแจ้งจากนายจ้างตอนนี้เพิ่มเติมเบ็ดเสร็จแล้ว 12 ราย ในเรื่องรายชื่ออะไรต่าง ๆ เราไม่อยากเปิดออกไปตามสื่อก่อนที่ญาติพี่น้องเขาจะได้รับทราบหรือได้รับการติดต่อ เกรงว่าจะตระหนกตกใจ” นางกาญจนา กล่าว
“สถานะผู้บาดเจ็บ 9 ที่ได้แจ้งไปแล้วก่อนหน้านี้ ก็ได้รับการดูแลในโรงพยาบาลเรียบร้อย รายที่ไม่ได้เข้าโรงพยาบาลก็เป็นรายที่บาดเจ็บเล็กน้อย การจับกุมเป็นตัวประกันตัวเลขที่เรามีอยู่ 11 คน” นางกาญจนา กล่าวเพิ่มเติมโดยไม่ได้ระบุถึงรายละเอียดของผู้ถูกลักพาตัวไป
ส่วนของการอพยพแรงงานนั้น นางกาญจนากล่าวว่า ณ วันที่ 8 ตุลาเวลาท้องถิ่น มีผู้แสดงความประสงค์ขอเดินทางกลับไทยแล้วเกือบ 1,500 คน และระบุว่ามีคนไทยที่อยู่บริเวณฉนวนกาซาประมาณ 5 พันคน และประมาณ 3 หมื่นคน ทั่วทั้งอิสราเอล
รัฐบาลไทยได้เตรียมความพร้อมที่จะส่งเครื่องบิน C-130 ห้าลำ และแอร์บัส เอ-340 อีกหนึ่งลำ จากประเทศไทยไปรับคนไทยที่ประสงค์จะกลับประเทศ ซึ่งหากอิสราเอลเปิดน่านฟ้าเมื่อใดก็พร้อมดำเนินการในทันที
ในการประชุมสมาชิกวุฒิสภา ในวันที่ 9 ตุลาคมนี้ นายจักรพงษ์ แสงมณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นผู้ตอบกระทู้ถามแทนนายกรัฐมนตรี
"รัฐบาลขอให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องช่วยดูแลสันติภาพ ความปลอดภัย และอำนวยความสะดวกการปล่อยตัวชาวไทยที่ถูกจับกลุ่มออกมาอย่างปลอดภัย และรัฐบาลได้กำลังเจรจากับทางรัฐบาลปาเลสไตน์และอียิปต์ เพื่อช่วยคนไทยที่อยู่ที่นั่น"
"ในส่วนของการช่วยเหลือ เครื่องบินที่จะอพยพชาวไทยที่อยู่ในปาเลสไตน์ โดยการที่จำนวนแรงงานของเรามีถึง 30,000 คน การจัดการลำดับความสำคัญการจัดการขนส่งทุกอย่าง ตั้งแต่ภายในประเทศ เราก็มีการวางแผนกันไว้แล้วว่า ถ้าเกิดสนามบินที่อิสราเอล เราสามารถเอาเครื่องลงได้ เราก็จะเอาเครื่องลงที่นั่น แต่ถ้าเกิดไม่ได้ เราก็จะไปทางประเทศรอบ ๆ เช่น จอร์แดน หรือบาห์เรน"