กก.คุ้มครองสิทธิฯ ใต้ : ไม่พบการทำร้ายร่างกาย-อุบัติเหตุ กับนายอับดุลเลาะ

มารียัม อัฮหมัด
2019.07.31
ปัตตานี
190730-TH-humantrafficking-1000.jpg นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ขณะรับการรักษาอาการสมองบวม ในโรงพยาบาลค่ายอิงคยุทธบริหาร วันที่ 21 กรกฎาคม 2562
มารียัม อัฮหมัด/เบนาร์นิวส์

ในวันพุธนี้ คณะกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แถลงถึงความคืบหน้าในการตรวจสอบข้อเท็จจริง กรณีนายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ผู้ต้องสงสัยคดีความมั่นคง หมดสติขณะถูกควบคุมตัวภายในหน่วยซักถามของทหารเมื่อสัปดาห์ก่อนว่า ไม่พบการทำร้ายร่างกายหรือการเกิดอุบัติเหตุ และยังจะต้องมีการหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติมต่อไป

นายแวดือราแม มะมิงจิ ประธานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดปัตตานี ผู้แทนคณะกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวว่า ทางคณะกรรมการคุ้มครองสิทธิมนุษยชน ในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ดำเนินการจัดประชุมเร่งด่วน ร่วมกับพลโทพรศักดิ์ พูลสวัสดิ์ แม่ทัพภาคที่ 4 และผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม ที่ผ่านมา เพื่อร่วมหามาตรการในการตรวจสอบข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าว และเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม 2562 ทางคณะกรรมการได้ดำเนินการจัดการประชุมเพื่อพิจารณาประเด็นดังกล่าวข้างต้นรวม 3 ครั้ง โดยได้มีการแบ่งมอบภารกิจให้อนุกรรมการไปพิจารณาแสวงหาข้อมูลเพิ่มเติมจากผู้ที่เกี่ยวข้องในทุก ๆ ด้าน ทั้งข้อมูลทางกายภาพ ข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ และการแพทย์ ตลอดจนข้อมูลจากพยานบุคคล ซึ่งสามารถสรุปผลได้ดังนี้

ประเด็นที่ 1 จากผลการตรวจสอบการแพทย์ทั้ง 3 โรงพยาบาลที่ให้การรักษา ไม่พบร่องรอยการถูกทำร้าย ไม่มีร่องรอยฟกช้ำ และไม่มีร่องรอยจากอุบัติเหตุ

ประเด็นที่ 2 อาการสมองบวมของผู้ป่วย ทางคณะกรรมการได้รวบรวมข้อเท็จจริงจากความเห็นของคณะแพทย์ที่ให้การรักษา สรุปว่า อาจเกิดขึ้นได้จาก (1) สมองได้รับการกระทบกระเทือนอย่างรุนแรง ซึ่งคณะแพทย์ได้ชันสูตรในขั้นต้นแล้ว ไม่พบร่องรอยการกระทบกระเทือนทางสมอง (2) อาจเกิดจากโรคหลอดเลือดโป่งพอง ซึ่งในชั้นนี้ คณะกรรมการยังไม่สามารถตรวจสอบสาเหตุอย่างละเอียดชัดเจนได้ เนื่องจากรายงานและการให้ถ้อยคำของแพทย์ผู้รักษาอาการผู้ป่วยระบุว่า อาการปัจจุบันของผู้ป่วยพบว่าเลือดในสมองไม่มีการไหลเวียน จึงไม่สามารถฉีดสีเข้าเส้นเลือดในสมอง เพื่อทำการเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ได้ ซึ่งในกรณีเช่นนี้ หากจะมีการตรวจสอบให้ชัดเจน สามารถทำได้เฉพาะในกรณีตรวจร่างกายผู้เสียชีวิต ซึ่งอาจทำได้ 2 กรณี คือ การผ่าพิสูจน์ และใช้เครื่องเอ็กซเรย์คอมพิวเตอร์ (3) ขาดอากาศหายใจหรือไม่มีออกซิเจนไปเลี้ยงสมอง ซึ่งอาจเกิดขึ้นได้ในหลายกรณี เช่น ผู้ป่วยอาจถูกผู้อื่นกระทำ หรือตัวผู้ป่วยหมดสติและมีภาวะปิดกั้นทางเดินหายใจ ไม่ได้รับการช่วยเหลือภายในระยะเวลาอันควร

และประเด็นที่ 3 รอยแผล 2 รอย ที่บริเวณข้อพับแขนขวาทางคณะกรรมการได้ดำเนินการตรวจสอบจากคณะแพทย์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว พบว่าเป็นร่องรอยที่เกิดจากการรักษาอาการบาดเจ็บของผู้ป่วย

“จากการสรุปข้อมูลข้างต้น ทางคณะกรรมการฯ เห็นว่าในประเด็นการลื่นล้มหรือการเกิดอุบัติเหตุไม่น่าจะเป็นไปได้ เพราะไม่ตรวจพบร่องรอยฟกช้ำ หรือร่องรอยการถูกทำร้ายแต่อย่างใด ในส่วนของประเด็นที่ว่าผู้ป่วยมีอาการสมองบวมจากสาเหตุใดนั้น คณะกรรมการยังต้องหาข้อมูลและข้อเท็จจริงเพิ่มเติมจากทุกภาคส่วนอย่างรอบด้านต่อไป” นายแวดือราแม กล่าว

นายอับดุลเลาะ อีซอมูซอ ถูกควบคุมตัวเนื่องจากการซัดทอดของ นายอิบรอเฮง มะเซ็ง ผู้ก่อการร้ายระดับแกนนำ ที่ถูกควบคุมตัว เมื่อวันที่ 20 มิถุนายน 2562 ว่า นายอับดุลเลาะ ได้ช่วยเหลือสนับสนุนการก่อเหตุ ในพื้นที่อำเภอสายบุรี ปัตตานี หลายครั้ง เจ้าหน้าที่จึงได้เชิญตัวนายอัลดุลเลาะจากบ้านพัก ในพื้นที่ตำบลตะบิ้ง อำเภอสายบุรี เพื่อมาซักถาม โดยผู้นำท้องที่ ผู้นำศาสนา และภรรยา อยู่ในเหตุการณ์

นายอับดุลเลาะ หมดสติขณะถูกเจ้าหน้าที่ควบคุมตัวภายในหน่วยซักถาม หน่วยเฉพาะกิจกรมทหารพรานที่ 43 ค่ายอิงคยุทธบริหาร ตำบลบ่อทอง อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม  ที่ผ่านมา ซึ่งปัจจุบันยังคงพักรักษาตัวอยู่ที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์

กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติลาออก

ในวันเดียวนี้ นางอังคณา นีละไพจิตร อดีตกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวว่า ตนได้ยื่นหนังสือลาออกตำแหน่ง เพราะคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ มีความเห็นไม่ให้ทำงานเกี่ยวกับเรื่องในภาคใต้

“เหตุผลที่ตัดสินใจลาออก เพราะทำงานยาก และช่วงหลังคณะกรรมการมีความเห็นไม่ให้ทำงานภาคใต้ ก็มีความรู้สึกว่าจะอยู่ไปทำไม การทำงานกับพื้นที่ภาคใต้มานาน 10 กว่าปี ทำให้มีความผูกพัน พอไม่ให้ทำมันก็เลยรู้สึกว่าไม่รู้จะอยู่ไปทำไม” นางอังคณา กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

นางอังคณา กล่าวว่า ตลอดที่ผ่านมา มีการร้องเรียนนับร้อยคำร้องในประเด็นผู้ถูกควบคุมตัวถูกจับ ถูกซ้อม โดยไม่มีบาดแผล ซึ่งคนที่มาร้องเรียนอ้างว่า ถูกถุงดำคลุมหัวบ้าง เอาน้ำสาดใส่หน้าบ้าง ซึ่งยากที่จะพิสูจน์

นอกจากนางอังคณาแล้ว นางเตือนใจ ดีเทศน์ ยังได้ลาออก เพราะบรรยากาศไม่เอื้ออำนวยต่อการทำงานเช่นกัน

พันเอก ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษกกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า ได้กล่าวแสดงความเสียดายต่อการลาออกของบุคคลทั้งสอง แต่คิดว่าสามารถทำงานกับคนใหม่ได้โดยไม่มีปัญหา

“กรณีของ กสม. สองท่านที่ลาออก ก็รู้สึกเสียดาย ส่วนตัวชื่นชมการทำงานของทั้งสองท่าน เพราะทั้งสองทำหน้าที่เป็นกรรมการสิทธิได้ดี และติดตามสถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้มานานอย่างต่อเนื่อง คนใหม่ที่จะเข้ามาก็คิดว่าคงทำงานได้ เพราะทหารกับ กสม.จะต้องทำงานร่วมกัน และคอยให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ในการตรวจสอบประเด็นต่างๆ อยู่แล้ว” พันเอกปราโมทย์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง