รมว. ต่างประเทศสหรัฐ สื่อสัญญาณให้อาเซียน ต้าน “การขู่เข็ญของจีน”

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2019.08.01
กรุงเทพ
190801-TH-ASEAN-US-1000.jpg นายไมเคิล ปอมเปโอ รมว.ต่างประเทศ สหรัฐฯ ร่วมแถลงข่าวกับนายดอน ปรมัตถ์วินัย รมว.ต่างประเทศของไทย หลังการประชุมร่วมระหว่าง รัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-สหรัฐ วันที่ 1 สิงหาคม 2562
(นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์)

ในการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-สหรัฐอเมริกา ในวันพฤหัสบดีนี้  นายไมเคิล ปอมเปโอ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สหรัฐอเมริกา ได้เรียกร้องให้สมาชิกกลุ่มประเทศอาเซียนออกเสียงต่อต้านสิ่งที่นายไมเคิลเรียกว่า “การบังคับขู่เข็ญของประเทศจีน” ที่สืบเนื่องกับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในทะเลจีนใต้  ในขณะที่ได้เน้นย้ำว่าสหรัฐอเมริกาไม่ได้เรียกร้องให้ประเทศสมาชิกอาเซียน “เลือกข้าง” ระหว่างวอชิงตันกับปักกิ่งแต่อย่างใด

นายไมเคิล ได้ประชุมร่วมกับสมาชิกกลุ่มประเทศอาเซียน ในตอนบ่ายของวันนี้  ซึ่งนายไมเคิลได้มีถ้อยแถลงที่ได้เน้นย้ำถึงความเป็นกลาง และการเคารพในอำนาจอธิปไตย ในท่ามกลางข้อขัดแย้งทางการค้าและการเดินทะเลระหว่างสหรัฐและจีน

“ดูก่อนนะ เราไม่เคยเรียกร้องให้ชาติใดๆ ในย่านอินโด-แปซิฟิกเลือกเข้าข้างระหว่างประเทศใด มันไม่ได้เป็นเรื่องการที่ฝ่ายหนึ่งเสียและฝ่ายหนึ่งได้ไป  ผลประโยชน์ของเราผสมกลมกลืนกับผลประโยชน์ของท่าน ในขณะที่ผลประโยชน์ของท่านก็เป็นของเราเช่นเดียวกัน” นายไมเคิลกล่าว

นายไมเคิล กล่าวว่า ตนได้สื่อข้อความถึงชาติสมาชิกกลุ่มอาเซียนให้ “ส่งเสียงต้านการบังคับขู่เข็ญของจีนในพื้นที่ทะเลจีนใต้”

สมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือกลุ่มอาเซียน ก่อตั้งในปี 2510  เป็นการรวมตัวของประเทศในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ที่เน้นเรื่องเศรษฐกิจและสังคม ในขณะที่ชาติมหาอำนาจอย่างประเทศจีน มีปัญหาข้อพิพาทเรื่องอาณาเขตทางทะเลในทะเลจีนใต้ที่คาดว่ามีน้ำมันดิบมากมาย กับประเทศสมาชิกกลุ่มอาเซียนบางประเทศ ได้แก่ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และบรูไน จนทำให้เกิดความตึงเครียดขึ้นในภูมิภาค โดยที่สหรัฐอเมริกาได้พยายามรักษาสิทธิการเดินทะเลและการเดินอากาศโดยเสรีในและเหนือน่านน้ำแห่งนี้ด้วย ในขณะที่อาเซียนเองพยายามสร้างสมดุลระหว่างสองมหาอำนาจ

หลังเสร็จสิ้นการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน-สหรัฐ ในวันนี้  นายไมเคิล และนายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ได้แถลงข่าวร่วมกัน โดยนายไมเคิล ได้ตอบคำถามผู้สื่อข่าวเรื่องความพยายามในการแก้ไขปัญหาทะเลจีนใต้และเรื่องเกาหลีเหนือ

นายไมเคิล กล่าวว่า ได้พบปะกับนายหวัง อี้ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศจีนในวันนี้ด้วย

“การพบปะกับรัฐมนตรีจีน เป็นไปอย่างมีความเป็นมืออาชีพเหมือนเช่นเคย เราต่างมีวัตถุประสงค์เดียวกันว่าจะทำให้ความสัมพันธ์ของสองประเทศประสบผลสำเร็จ ซึ่งในขณะที่เราอยู่ที่กรุงเทพนี้ เรายังได้สรุปเรื่องการเจรจาการค้าด้วย” นายไมเคิล กล่าว

“เราทำงานร่วมกันหลายด้าน แต่เราค่อนข้างสงวนท่าทีในเรื่องที่ว่าเราหวังว่าจีนจะปฏิบัติตนในทางที่แตกต่างไปจากที่กำลังกระทำอยู่ในปัจจุบัน เราคุยกันในหลายเรื่องเช่นกัน” นายไมเคิล กล่าวเพิ่มเติม และกล่าวระบุอีกว่า ตนไม่มีโอกาสได้พูดคุยกับเกาหลีเหนือ ซึ่งมีข้อขัดแย้งกับสหรัฐเรื่องการผลิตอาวุธนิวเคลียร์

ทั้งนี้ กระทรวงการต่างประเทศของไทย ระบุว่า นายรี ยง โฮ รัฐมตรีต่างประเทศเกาหลีเหนือ ได้ยกเลิกการเดินทางมาร่วมประชุมในครั้งนี้

การประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน 2019  ซึ่งไทยเป็นเจ้าภาพครั้งนี้ จัดขึ้นที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ กรุงเทพฯ โดยมีรัฐมนตรีการต่างจากประเทศสมาชิก 10 ประเทศ และจากประเทศคู่เจรจา เช่น จีน สหรัฐอเมริกา รัสเซีย เกาหลีใต้ ออสเตรเลีย และอื่นๆ อีก 21 ประเทศ เข้าร่วมการประชุมซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 กรกฎาคม - 3 สิงหาคม 2562 โดยเปิดงานอย่างเป็นทางการในวันพุธที่ผ่านมานี้

โดยเมื่อวันพุธนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ประจำปี 2562 โดยกล่าวว่า อาเซียนจะเน้นการพัฒนาร่วมกันของประเทศสมาชิก และประเทศพันธมิตรอื่นๆ เพื่อตอบคำถามว่าจะสามารถสร้างประชาคมที่เติบโตอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ท่ามกลางความท้าทายในภูมิภาคและในโลกได้อย่างไร

“เรากลับมาที่สถานที่ก่อตั้งอาเซียนอีกครั้งหนึ่ง นั่นคือกรุงเทพฯ ประเทศไทย เพื่อต่อเติมความมุ่งมั่นที่จะสร้างประชาคมอาเซียนของเรา... ภายใต้แนวคิดหลักของเราคือ ร่วมมือ ร่วมใจ ก้าวไกล ยั่งยืน และเพื่อจะตอบคำถามสำคัญว่า เราจะสร้างประชาคมที่เติบโตอย่างมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน ท่ามกลางความท้าทายที่เผชิญอยู่ในภูมิภาคและในโลกของเราได้อย่างไร” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศของไทย กล่าวในการเปิดประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน อาเซียนได้รับแนวทางปฏิบัติตามเอกสารสำคัญ ASEAN Outlook On the Indo-Pacific เพื่อนำมาเป็นกรอบการปฏิบัติในการมีปฏิสัมพันธ์กับประเทศรอบมหาสมุทรอินเดียและแปซิฟิก ซึ่งได้พูดคุยกันถึงการที่ว่าจะทำอย่างไร เพื่อช่วยเปลี่ยนความขัดแย้งให้กลายเป็นความร่วมมือกัน โดยถือหลักปฏิบัติของอาเซียนในการไม่แทรกแซงกิจการของประเทศอื่น

“ความท้าทายที่เราเผชิญคือ โลก และธรรมชาติ ที่เรียกร้องการร่วมมือในการแก้ปัญหา เพื่อปกป้องชีวิต และความเป็นอยู่ที่ดีของประชาชน… เราควรเลือกที่จะขยายส่วนแบ่งที่พวกเรามีร่วมกันทางด้านการค้า และการพาณิชย์… การพัฒนาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศสมาชิก และพันธมิตรอื่นๆ คือ แนวทางที่จะร่วมกันพัฒนาอย่างยั่งยืน” นายดอน กล่าวเพิ่มเติม

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง