ตำรวจรวบผัวเมียชาวจีนบอสใหญ่แก๊งอุ้มบุญข้ามชาติ

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2020.02.13
กรุงเทพ
200213-TH-surrogate-1000.jpg เจ้าหน้าที่ตำรวจทลายแก๊งอุ้มบุญข้ามชาติ จับกุม นายเจ้า หราน (เสื้อดำ) นายทุนจีน พร้อมภรรยา และแม่อุ้มบุญชาวไทยได้จากที่พักอาศัยหลายจุด ในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2563
กองบังคับการตำรวจมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ 904

ในวันนี้ เจ้าหน้าที่ตำรวจสนธิกำลังบุกทลายแก๊งอุ้มบุญข้ามชาติ จับกุมผู้ต้องหาชาวจีนพร้อมผู้ร่วมขบวนการได้ 9 ราย โดยมีการว่าจ้างหญิงไทยอุ้มบุญ และให้ไปคลอดที่ประเทศจีน

พล.ต.ต.ต่อศักดิ์ สุขวิมล รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ให้สัมภาษณ์กับสื่อมวลชนว่า ขบวนการดังกล่าวเป็นขบวนการอุ้มบุญข้ามชาติโดยมีนายทุนชาวจีนเป็นหัวหน้าขบวนการ ได้ว่าจ้างนายหน้าซึ่งเป็นคนไทย ชักชวนหญิงไทยให้มารับจ้างตั้งครรภ์แทน จากนั้นจะพาแม่อุ้มบุญไปปลูกฝังตัวอ่อนในประเทศลาวและกัมพูชา ก่อนจะฝากครรภ์และคลอดที่โรงพยาบาลในประเทศไทย

“เคสนี้ เจ้าหน้าที่มีการสืบสวนขบวนการนี้มาตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ก่อนวางแผนเข้าปฏิบัติการในวันนี้ ซึ่งถือว่าเป็นการทลายเครือข่ายองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ การค้ามนุษย์รูปแบบหนึ่ง” พล.ต.ต.ต่อศักดิ์ ระบุ

ในการปฏิบัติการดังกล่าว เจ้าหน้าที่ได้ทำการปิดล้อม ตรวจค้นสถานที่พักอาศัยจำนวน 10 จุด ในพื้นที่กรุงเทพฯ และต่างจังหวัด สามารถจับกุมผู้ต้องหาชาวจีน คือ นายเจ้า หราน (Mr. Ran Zhao) อายุ 37 ปี นายจ้างและเจ้าของทุน นางซู ยิงถิง (Miss Su Yingting) อายุ 48 ปี ภรรยาชาวจีน และผู้ร่วมขบวนการอีก 7 ราย รวมทั้งหมด 9 ราย ซึ่งเป็นผู้ต้องหาตามหมายจับศาลอาญา ลงวันที่ 16 มกราคม 2563 ในข้อหาสมคบกันตั้งแต่สองคนขึ้นไปเพื่อกระทำผิดร้ายแรงอันเกี่ยวข้องกับองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติ ร่วมกันดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทนเพื่อประโยชน์ทางการค้า และโฆษณาหรือไขข่าวให้แพร่หลายด้วยประการใด ๆ เกี่ยวกับการตั้งครรภ์แทนว่ามีหญิงที่ประสงค์จะเป็นผู้รับตั้งครรภ์แทนผู้อื่น หรือมีบุคคลที่ประสงค์จะให้หญิงอื่นเป็นผู้รับตั้งครรภ์แทน ไม่ว่าจะได้กระทำเพื่อประโยชน์ทางการค้าหรือไม่ก็ตาม

พล.ต.ต.ต่อศักดิ์ กล่าวต่อไปว่าผลการปฏิบัติการนอกจากการจับกุมผู้ต้องหาได้ 9 รายแล้ว ได้ตรวจยึดทรัพย์สินซึ่งอาจเป็นทรัพย์ที่แปรสภาพมาจากการฟอกเงินที่ได้จากการกระทำผิดโดยมีรถยนต์ 16 รายการ มูลค่าประมาณ 15 ล้านบาท และมีบ้านพักและบริษัทของผู้ต้องหา ย่านลาดพร้าว 2 หลัง มูลค่าประมาณ 20 ล้านบาท นอกจากนี้ยังพบว่ากลุ่มของผู้ต้องหามี ทรัพย์สินอื่นๆ ที่จะได้ตรวจสอบและตรวจยึดอีกว่า 100 ล้านบาท

จากการสืบสวนเบื้องต้นพบว่า ขบวนการฯ นี้น่าจะเริ่มทำมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2555 โดยจะมีขบวนการช่วยต่างชาติ มีนายหน้ามาติดต่อหญิงชาวไทยเพื่อรับจ้างอุ้มบุญ ซึ่งมีการฝังตัวอ่อน ฝากครรภ์และคลอดในประเทศไทย ต่อมาประเทศไทยประกาศใช้พระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 หรือกฎหมายอุ้มบุญ ขบวนการฯ นี้จึงมีการเปลี่ยนแผนการทำงาน โดยมีเส้นทางนำหญิงชาวไทยไปฝังตัวอ่อนที่ประเทศเพื่อนบ้าน แล้วนำกลับมาฝากครรภ์ที่ประเทศไทย และพาไปคลอดยังประเทศปลายทาง โดยตกลงราคากันตั้งแต่ 400,000 – 600,000 บาทต่อราย ขณะนี้ เจ้าหน้าที่ทราบว่ามีแม่อุ้มบุญประมาณ 30 คน กระจายอยู่ใน 5 จังหวัดของประเทศไทย

พล.ต.ต.วรวัฒน์ วัฒน์นครบัญชา ผู้บังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์ (ปคม.) กล่าวระหว่างการแถลงข่าวว่า มีบุคคลที่ถูกออกหมายจับทั้งสิ้น 10 คน แต่คนหนึ่งถูกควบคุมตัวไว้ที่ประเทศจีนแล้ว ขณะที่เจ้าหน้าที่ตำรวจจะได้สืบสวนขยายผลจากผู้ต้องหาที่จับได้วันนี้ทั้ง 9 คน เพื่อหาผู้ร่วมขบวนการ และให้ ปปง. ดำเนินการยึดทรัพย์ต่อไป

พล.ต.ต. วรวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ขณะนี้ผู้ต้องหาทั้งหมดถูกควบคุมตัวที่กองบังคับการปราบปรามการค้ามนุษย์เพื่อสอบสวนขยายผล บางคนยอมรับสารภาพ แต่บางคนยังปฏิเสธอยู่ อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่มีพยานหลักฐานสำคัญสามารถเอาผิดได้

“เราได้แม่อุ้มบุญจากเคสเดิม 7 คน และการตรวจค้นวันนี้พบแม่อุ้มบุญที่กำลังตั้งครรภ์ในบ้านผู้ต้องหาอีก 7 คน รวมถึงเราได้พบเด็กอายุ 22 วัน และอายุ 4 เดือน จำนวน 2 คนที่อยู่ในบ้านผู้ต้องหา ซึ่งยังไม่ทราบว่าพ่อแม่ที่แท้จริงเป็นใคร” พล.ต.ต.วรวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติม

ด้าน พ.ต.อ.มานะ กลีบสัตบุศย์ รองผู้บังคับการปคม. กล่าวเพิ่มเติมว่า การตรวจค้นในวันนี้ เจ้าหน้าที่พบเอกสารทางการแพทย์ที่เกี่ยวข้องที่จะได้นำไปขยายผลไปยังแม่อุ้มบุญที่เกี่ยวข้อง รวมถึงเด็กที่เดินทางไปยังต่างประเทศแล้ว ส่วนเด็กที่เจ้าหน้าที่พบที่ยังไม่ได้เดินทางไปต่างประเทศ เชื่อว่าอาจจะเกิดจากการระบาดของเชื้อไวรัส โดยเฉพาะบางเมืองที่เป็นจุดหมายปลายทางพบว่ามีการปิดเมืองห้ามเข้าออก

ด้านนายธเรศ กรัษนัยรวิวงศ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข แถลงต่อสื่อมวลชน กรณีการจับกุมขบวนการดังกล่าวว่า จากการตรวจสอบเบื้องต้นพบว่า มีสถานพยาบาลที่เกี่ยวข้องในขบวนการนี้ 9 แห่ง ซึ่งเป็นทั้งโรงพยาบาลและคลินิก ทั้งในกรุงเทพมหานครและต่างจังหวัด ซึ่งจะต้องตรวจสอบข้อเท็จจริงต่อไป

“การอุ้มบุญที่ถูกต้องตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยในการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 จะต้องเป็นคู่สามีภรรยาชาวไทยที่จดทะเบียนถูกต้องตามกฎหมาย หรือหากคนใดคนหนึ่งเป็นต่างชาติต้องจดทะเบียนสมรสไม่น้อยกว่า 3 ปี ซึ่งสาระสำคัญการอุ้มบุญต้องเป็นเครือญาติ ไม่มีการว่าจ้าง ห้ามเลือกเพศ และเมื่อมีเด็กออกมา ห้ามปฏิเสธเด็กที่เกิดออกมา” นายธเรศระบุ

อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ระบุด้วยว่า ที่ผ่านมามีเคสอุ้มบุญจำนวน 317 เคส ที่ได้รับอนุญาตให้มีการอุ้มบุญอย่างถูกกฎหมาย และมีสถานพยาบาลที่ได้รับอนุญาตจำนวน 94 แห่ง กระจายอยู่ในกรุงเทพฯ และต่างจังหวัด

อย่างไรก็ดี เจ้าหน้าที่ได้ประสานให้กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์มานำตัวเด็กพร้อมพี่เลี้ยงไปดูแลที่บ้านพักเด็กกรุงเทพฯ ต่อไป

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง