กกต. มีมติแจ้งความเอาผิดอาญาต่อธนาธรในคดีถือหุ้นวี-ลัคมีเดีย

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และวิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2020.03.11
กรุงเทพ
200311-TH-politics-1000.jpg นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ แถลงข่าวหลังศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์

ในวันพุธนี้ คณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้ออกเอกสารข่าว ระบุว่าจะดำเนินคดีเอาผิดทางอาญากับนายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ อดีตหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ในกรณีที่ นายธนาธรได้ ถือหุ้น บริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ซึ่งเคยเป็นบริษัทผลิตนิตยสาร ขณะสมัครเป็น ส.ส. ซึ่งขัดต่อรัฐธรรมนูญ และศาลรัฐธรรมนูญ ได้มีคำวินิจฉัยให้นายธนาธร พ้นจาก สภาพ ส.ส. มาแล้ว เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2562

สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ได้ออกเอกสารข่าวที่ 19/2563 ลงวันที่ 11 มีนาคม 2563 ระบุว่า กกต. จะยื่นหลักฐานเอาผิดทางอาญากับนายธนาธร ต่อพนักงานสอบสวน เนื่องจากเชื่อว่า นายธนาธรรู้ว่า ตนเองไม่มีคุณสมบัติที่จะสมัครลงรับเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ได้แต่ยังฝ่าฝืนกฎหมาย

“เมื่อวันที่ 10 มีนาคม 2563 คณะกรรมการการเลือกตั้ง ได้พิจารณาข้อเท็จจริง พยานหลักฐานและพฤติการณ์ในสำนวนการไต่สวน ประกอบคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญในเรื่องดังกล่าวข้างต้นแล้ว เห็นว่า นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ซึ่งประกอบกิจการสื่อมวลชน อยู่ในวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2562 โดยเป็นวันที่พรรคอนาคตใหม่ยื่นบัญชีรายชื่อผู้สมัครรับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรแบบบัญชีรายชื่อต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง อันเป็นลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้ง” เอกสารข่าว ระบุ

“โดย นายธนาธรฯ รู้อยู่แล้วว่า ตนไม่มีสิทธิมัครรับเลือกตั้ง เนื่องจากขาดคุณสมบัติหรือมีลักษณะต้องห้ามมิให้ใช้สิทธิสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ได้สมัครรับเลือกตั้งหรือทำหนังสือยินยอมให้พรรคการเมืองเสนอรายชื่อเพื่อสมัครรับเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ อันเป็นการฝ่าฝืนพระราชบัญญติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร พ.ศ.2561 มาตรา 151 จึงมีมติให้สำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งดำเนินการแจ้งความร้องทุกข์ต่อพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินคดีอาญาต่อไป” ตอนหนึ่งของเอกสารข่าว ระบุ

ทั้งนี้ หากนายธนาธร ถูกตัดสินว่าผิดจริง ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 1-10 ปี ปรับตั้งแต่ 2 หมื่น ถึง 2 แสนบาท และศาลอาจสั่งเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 20 ปีได้

เบนาร์นิวส์ สอบถามถึงการแจ้งความเอาผิดนายธนาธร ของ กกต. กับ พ.ต.อ.อำนาจ อินทรศวร ผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลทุ่งสองห้อง ซึ่งเป็นเจ้าของพื้นที่ที่ กกต.จะเดินทางไปแจ้งความดำเนินคดีกับนายธนาธร ได้รับคำตอบว่า ปัจจุบัน ยังไม่มีการดำเนินการแจ้งความ

เมื่อวันที่ 20 พฤศจิกายน 2562 ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยด้วยมติ 7 ต่อ 2 ว่า นายธนาธร ไม่มีคุณสมบัติที่จะลงรับสมัครเลือกตั้งเป็น ส.ส. จึงให้พ้นจากสมาชิกภาพ เพราะนายธนาธร เป็นผู้ถือหุ้นในบริษัท วี-ลัค มีเดีย จำกัด ต่อมาในวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีมติ 7 ต่อ 2 เสียง สั่งยุบพรรคอนาคตใหม่ เพราะการกู้เงินจากนายธนาธร อันเป็นการกระทำที่ขัดต่อ พ.ร.ป.พรรคการเมือง มาตรา 72 และได้ตัดสิทธิทางการเมืองของคณะกรรมการบริหารพรรค 16 คน เป็นเวลา 10 ปี

หลังจากการยุบพรรค ได้มีการประท้วงของนิสิต นักศึกษา นักเรียน และประชาชนทั่วไป ที่เรียกว่า “แฟลชม็อบ” ตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั่วประเทศ

นายธนาธร ได้กล่าวในการเสวนาที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ เมื่อวันศุกร์ที่แล้วว่า ตนได้ประกาศตั้งคณะอนาคตใหม่ หลังจากถูกยุบพรรค โดยจะเริ่มจากอดีตสมาชิกพรรคอนาคตใหม่หกพันคน และจะรวบรวมผู้คนจากทุกสาขาอาชีพและทุกวัย ที่มีอุดมการณ์ในการต่อสู้กับการปกครองของทหารและต้องการความเท่าเทียมกันมาร่วมคณะ

ส.ส. อนาคตใหม่ย้ายรังไปพรรคก้าวไกล

การยุบพรรคอนาคตใหม่ทำให้ ส.ส. 55 คน จากพรรคดังกล่าว ย้ายไปยังพรรคใหม่ คือ พรรคก้าวไกล โดยเมื่อวันอาทิตย์ที่ผ่านมา อดีต ส.ส. ของพรรคอนาคตใหม่ ได้ร่วมกันแถลงข่าว ณ ศูนย์ประสานงานฝั่งธนบุรี ของอดีตพรรคอนาคตใหม่ โดย นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ แกนนำพรรค ระบุว่า พรรคก้าวไกลจะยึดอุดมการณ์เดียวกับพรรคอนาคตใหม่

“ยืนยันกับพี่น้องประชาชนว่า อุดมการณ์แนวคิด ยังไม่เปลี่ยน แต่แน่นอนว่าการเดินทางก็ต้องเป็นตัวของเราเอง การตัดสินใจก็ต้องเป็นการตัดสินใจของพวกเราเอง” นายพิธา กล่าว

นักวิชาการเชื่อ ก้าวไกลจะได้รับการสนับสนุนเหมือนอนาคตใหม่

นายฐิติพล ภักดีวานิช คณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เชื่อว่า พรรคก้าวไกล ซึ่งอดีต ส.ส. พรรคอนาคตใหม่เตรียมย้ายไปอยู่นั้นจะได้รับความนิยมเช่นเดียวกับพรรคอนาคตใหม่ แม้จะไม่มีผู้นำพรรคซึ่งได้รับความนิยมเช่น นายธนาธร หรือนายปิยบุตร แสงกนกกุล อดีตหัวหน้า และเลขาธิการพรรคอนาคตใหม่

“พรรคก้าวไกล โอกาสทางการเมืองก็ยังมีถึงแม้ว่า บารมีทางการเมืองของพิธาไม่เท่าธนาธร แต่สิ่งที่เราคงปฏิเสธไม่ได้ คือ คงจะเห็นการทำงานร่วมกัน แม้ว่าทางกฎหมายต้องบอกว่า ทำไม่ได้ แต่การทำงานก็น่าจะส่งเสริมซึ่งกันและกัน โดยทางธนาธร และปิยบุตร ก็ประกาศการเคลื่อนไหวนอกสภา” นายฐิติพล กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

ด้าน ดร.พอล แชมเบอร์ส อาจารย์ประจำและที่ปรึกษาวิทยาลัยประชาคมอาเซียนศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร ให้ทรรศนะว่า แม้ว่านายพิธา จะเป็นตัวเลือกที่ดีในการเป็นหัวหน้า เพราะมีบุคลิกภาพ แต่มันไม่ใช่สิ่งที่สำคัญ

“ความเป็นจริงก็คือ โครงสร้างของ “ประชาธิปไตย” ของไทย นับตั้งแต่การเลือกตั้ง ปี 2562 นั้นเอื้ออำนวยประโยชน์ให้กับทหาร พรรคพลังประชารัฐ ก็นับเป็นพรรคตัวแทนทหารอย่างไม่เป็นทางการ” ดร.พอล แชมเบอร์ส กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

“พรรคก้าวไกลจะมีประสิทธิภาพก็ต่อเมื่อร่วมทำงานกับพรรคเพื่อไทย ในการเสนอกระทู้ในสภา ต้องเข้าประชุมทุกครั้ง และใช้ตำแหน่งในการวิจารณ์การทำงานของพรรคพลังประชารัฐที่เป็นของพลเอกประยุทธ์ พรรคก้าวไกลสามารถเป็นแขนขาทางสภาให้กับคณะอนาคตใหม่ของธนาธรได้” ดร.พอล แชมเบอร์ส กล่าวและระบุว่า “สิ่งสุดท้ายที่พลเอกประยุทธ์จะเลือกทำ คือการยุบสภา เมื่อดูจากความนิยมที่ตกลงอย่างรวดเร็ว การที่จะชนะการเลือกตั้งคงยากกว่าในปี 2562 พลเอกประยุทธ์อาจจะพยายามอยู่ให้ครบเทอม 4 ปี”

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง