รัฐบาลสนใจทำแลนด์บริดจ์ด้ามขวานกระตุ้นเศรษฐกิจ

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2020.09.08
กรุงเทพฯ
200908-TH-prayuth-1000.jpeg พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถ้อยแถลงต่อสภาสังคมเอเชีย ในระหว่างการประชุมสมัชชาสหประชาชาติ สมัยสามัญ ในนครนิวยอร์ค วันที่ 25 กันยายน 2563
เอพี

ในวันอังคารนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวแก่สื่อมวลชนว่า รัฐบาลเตรียมวางแผนกระตุ้นเศรษฐกิจที่ตกต่ำด้วยโครงการสะพานเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงทะเลอันดามันและอ่าวไทย (Land Bridge) ขณะที่ พล.ต.ทรงกลด ทิพย์รัตน์ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการขุดคลองไทย เสนอข้อมูลการศึกษาโครงการว่า การขุดคลองไทยมีความเหมาะสมมากกว่าแลนด์บริดจ์

หลังเสร็จสิ้นการประชุมคณะรัฐมนตรีในวันนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา กล่าวแก่สื่อมวลชนที่ทำเนียบรัฐบาลว่า รัฐบาลต้องหาแนวทางปรับโครงสร้างเศรษฐกิจที่พึ่งพาการส่งออกและการท่องเที่ยวด้วยการศึกษาการดำเนินโครงการขนาดใหญ่ในจังหวัดภาคใต้ นอกเหนือจากการทำโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (อีอีซี) ที่ดำเนินมาห้าปีแล้ว และเชื่อว่าช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในอนาคตได้

“เรากำลังดูว่าเราจะเชื่อมการไปมาทั้งสองฝั่ง ตะวันออก-ตะวันตกได้อย่างไร ควรจะมีไหม ศึกษาในเรื่องของแลนด์บริดจ์อะไรทำนองนี้ กำลังให้แนวทางไปศึกษากันอยู่ ผมคิดว่าก็จะช่วยเรื่องเศรษฐกิจระยะยาวได้ในโอกาสต่อไป การขนส่งข้ามฝั่งตะวันตกตะวันออก อ่าวไทยอันดามัน ท่าเรือต่าง ๆ ก็ต้องพัฒนาทั้งหมด อันนั้นอยู่ในยุทธศาสตร์ชาติที่ต้องเดินต่อไป ขั้นตอนการศึกษาการลงทุนเหล่านี้ จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจระยะยาว” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ทั้งนี้ โครงการสะพานเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงทะเลอันดามันและอ่าวไทย (Land Bridge) คือ โครงการที่จะสร้างถนนมอเตอร์เวย์คู่กับรถไฟทางคู่ เชื่อมจังหวัดชุมพร-ระนอง โดยกรมทางหลวงจะดำเนินการศึกษาจากกองทุนมอเตอร์เวย์ และการรถไฟแห่งประเทศไทยจะทำการศึกษาการก่อสร้างรถไฟทางคู่สายใหม่ โดยทั้งสองโครงการจะใช้เส้นทางชุมพร-ระนอง ระยะทาง 120 กม. เชื่อมท่าเรือจากฝั่งอ่าวไทยถึงทะเลอันดามัน โดยวางแผนจะให้การศึกษาแล้วเสร็จ ภายในปี 2565 เพื่อเสนอต่อรัฐบาล

ทั้งนี้ เมื่อเดือนกรกฎาคม 2563 นี้ นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้กล่าวใน งานเสวนา “ลงทุน 2020 ฟื้นฟูเศรษฐกิจ สร้างชาติ สร้างงาน” ว่า รัฐบาลจะดำเนินการศึกษาแลนด์บริดจ์แทนการทำคลองไทย เนื่องจากเชื่อว่าคุ้มค่ากว่า และนายกรัฐมนตรีอนุมัติงบประมาณสำหรับทำการศึกษาแล้ว

“เรื่องขุดคอคอดกระ สำหรับความเห็นผม ผมว่าในโลกปัจจุบัน ไม่น่าจะเหมาะสมเท่าไหร่สำหรับไทย เพราะว่าระดับน้ำทะเลฝั่งอันดามัน และอ่าวไทยไม่เท่ากัน เมื่อไม่เท่ากันสิ่งที่ต้องทำ คือ เวลาเรือวิ่งเข้าไปในคลอง ต้องมีจุดพัก เพื่อปรับระดับน้ำ ซึ่งตรงนั้นจะใช้เวลานานเพราะใช้พื้นที่มาก ถ้าเราขุดคอคอดกระ ผมว่าไม่เกิดแน่นอน เพราะพี่น้องประชาชนคงต่อต้าน” นายศักดิ์สยามกล่าว

“ถ้าเราสร้างท่าเรือน้ำลึกที่ จ.ชุมพร และ ที่ จ.ระนอง ซึ่งมีระบบขนถ่ายสินค้าที่เป็นระบบออโตเมชั่น แล้วใช้แลนด์บริดจ์ โดยทำรถไฟทางคู่ แล้วมีมอเตอร์เวย์อยู่ด้านข้าง และอาจจะทำถนนโลคัลโรดอยู่ข้าง ๆ มอเตอร์เวย์ เชื่อมท่าเรือน้ำลึกฝั่งอันดามันกับอ่าวไทย ซึ่งมีระยะทาง 120 กม. รถไฟจะใช้เวลาวิ่งไม่เกิน 2 ชั่วโมง เชื่อว่าเราจะไปตัดเวลาขนส่งลงได้ 2 วันครึ่ง” นายศักดิ์สยามกล่าวเพิ่มเติม

คณะอนุกรรมาธิการศึกษาการขุดคลองไทยเห็นต่าง

อย่างไรก็ตาม พล.ต.ทรงกลด ทิพย์รัตน์ ส.ส.พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะอนุกรรมาธิการศึกษาการขุดคลองไทย ชี้ว่า หลังจากได้ทำการศึกษาความเป็นไปได้ในการขุดคลองไทยนั้น เชื่อว่ามีความคุ้มค่าและเหมาะสมกว่าโครงการแลนด์บริดจ์ โดยเตรียมลงพื้นที่ถามความคิดเห็นประชาชนเกี่ยวกับโครงการคลองไทยในสองจังหวัด ที่ยังไม่ได้สอบถาม และจะส่งให้สภาผู้แทนราษฎรลงมติเห็นชอบ เพื่อเสนอให้รัฐบาลพิจารณา

“คลองไทย การศึกษาในส่วนของ กมธ. เรียบร้อยแล้ว อยู่ในขั้นตอนการขอมติ กมธ. ในการลงพื้นที่สอบถามความคิดเห็นประชาชน สงขลา และพัทลุงก่อน เพราะกระบี่ ตรัง และนครศรีธรรมราช เห็นด้วยแล้ว คลองไทยจะเป็นเส้นทางขนส่งที่สำคัญ เรือประมง 45,000 ลำ สามารถไป-มา ได้สะดวกรวดเร็ว ประหยัดค่าใช้จ่าย สามารถให้เรือผ่าน 300-350 ลำ/วัน และรองรับเรือใหญ่ขนาด 350,000-500,000 ตันได้ เราจะทำระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ด้วย ไม่ใช่แค่ให้เรือผ่าน แต่เราจะมีธุรกิจแบบที่สิงคโปร์มีอย่างไร เราก็มีอย่างนั้น” พล.ต.ทรงกลด กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ทางโทรศัพท์

พล.ต.ทรงกลด กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน กมธ. เสนอแนวคลอง 9A ซึ่ง ส.ว. ชุดปี 2548 เคยศึกษาไว้แล้ว แต่ยังได้ศึกษาเพิ่มเรื่องระเบียงเศรษฐกิจ โดยเกิดคลองไทยก่อน

“คลองไทยยังไงเราก็ยั้งไม่อยู่แล้ว ถึงแม้ใครจะพูดเรื่องแลนด์บริดจ์ แต่แลนด์บริดจ์มันใช้ไม่ได้ เพราะการขนตู้คอนเทนเนอร์ขึ้นจากเรือไปรถ รถไปลงเรือ ค่าใช้จ่ายเคยมาก ครั้งนึงภาคใต้เคยทำมาแล้ว ไม่ประสบความสำเร็จ การขุดคลองไทยน่าจะสร้างรายได้ให้ประเทศไม่ต่ำกว่าปีละ 4 ล้านล้านบาท” พล.ต.ทรงกลด กล่าว

โครงการขุดคลองไทย 9A กำหนดระยะทาง 135 กิโลเมตร เริ่มจากทิศตะวันตก ฝั่งอันดามัน พื้นที่ปากคลองไทยจะอยู่บริเวณเกาะลันตา จ.กระบี่ และ ปางเมง อ.สิเกา จ.ตรัง และแนวคลองไทยจะผ่าน อ.วังวิเศษ อ.ห้วยยอด อ.รัษฎา และเข้าเขต จ.นครศรีธรรมราช อ.ทุ่งสง อ.ชะอวด ผ่านเข้าเขตจังหวัดพัทลุง อ.ป่าพะยอม อ.ควนขนุน ทะเลน้อย ซึ่งเป็นพื้นที่ชุ่มน้ำ และตัดออกทะเลอ่าวไทย ทิศตะวันออก ที่คลองแดน อ.ระโนด จ.สงขลา รวม 8 อำเภอ 24 ตำบล 94 หมู่บ้าน เคยมีการประเมินว่า ต้องอพยพประชาชนราว 6.3 หมื่นคน แนว 9A เรือที่จะวิ่งไปยังช่องแคบมะละกา จะลดระยะทางได้ 1,000-1,400 กิโลเมตร หรือ 2-3 วัน ซึ่งเรือขนาดใหญ่มีค่าใช้จ่าย วันละ 300 ล้านบาท

โครงการขุดคลองไทย 9A กำหนดระยะทาง 135 กิโลเมตร เริ่มจากฝั่งอันดามัน ทิศตะวันตก และตัดออกทะเลอ่าวไทย ทิศตะวันออก โดยผ่านห้าจังหวัด จาก กระบี่ ตรัง นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา - แหล่งข้อมูล สมาคมคลองไทยเพื่อการศึกษาและพัฒนา และคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาการขุดคลองไทย (แผนที่ : เบนาร์นิวส์)
โครงการขุดคลองไทย 9A กำหนดระยะทาง 135 กิโลเมตร เริ่มจากฝั่งอันดามัน ทิศตะวันตก และตัดออกทะเลอ่าวไทย ทิศตะวันออก โดยผ่านห้าจังหวัด จาก กระบี่ ตรัง นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา - แหล่งข้อมูล สมาคมคลองไทยเพื่อการศึกษาและพัฒนา และคณะอนุกรรมาธิการพิจารณาศึกษาการขุดคลองไทย (แผนที่ : เบนาร์นิวส์)

พล.ต.ทรงกลด ระบุถึงสิ่งที่ต้องดำเนินการต่อไปว่า ตนคาดว่าจะมีการลงพื้นที่ถามความคิดเห็นประชาชนในสองจังหวัดที่เหลือ ในสองอาทิตย์ข้างหน้า เพื่อนำข้อมูลมาเพิ่มเติมลงในเอกสาร จากนั้น กมธ. จะนำเอกสารส่งสภา เพื่อให้ ส.ส. ซักถาม จึงค่อยส่งให้รัฐบาลพิจารณา โดยรัฐบาลต้องให้ความเห็นใน 60 วัน

“ก่อนหน้านี้ อนุ กมธ. 3 คน กับ ส.ส. อีก 20 กว่าคน เคยเข้าพบนายกรัฐมนตรีแล้ว ท่านก็ไม่ได้ว่าอะไร บอกแต่ว่าฝากให้ศึกษาด้วย และให้ทำเพื่อชาติ” พล.ต.ทรงกลด กล่าว

ชาวบ้านบางส่วนคัดค้าน โครงการแลนด์บริดจ์ หรือ สะพานเศรษฐกิจ

ก่อนหน้านี้ ในเดือนมีนาคม 2560 ประชาชนกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับโครงการแลนด์บริดจ์ได้จัดกิจกรรม เดินเท้าเป็นระยะทางกว่า 101 กม. จาก อ.รัตภูมิ จ.สงขลา ไปยัง จ.สตูล เพื่อคัดค้านเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นโครงการสะพานเศรษฐกิจที่เชื่อมโยงทะเลอันดามัน และอ่าวไทย หรือ แลนด์บริดจ์ เนื่องจากกลัวว่าโครงการดังกล่าว จะทำให้เกิดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อม เนื่องจากเชื่อว่าโครงการจะทำให้เกิดคลังน้ำมัน ท่อส่งน้ำมัน ท่อส่งก๊าซ โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา และสายส่งไฟฟ้าแรงสูงที่จะผ่านป่าอนุรักษ์ผาดำ

ขณะที่ก่อนหน้านั้น ในปี 2556 อาสาสมัครเครือข่ายติดตามแผนพัฒนาจังหวัดสงขลา-สตูล ก็เคยจัดกิจกรรมเดินด้วยรักษ์พิทักษ์ชายหาดปากบารา จ.สตูล-สวนกง จ.สงขลา ระยะทาง 220 กิโลเมตร เพื่อเผยแพร่ข้อมูลและผลกระทบจากโครงการสะพานเชื่อมเศรษฐกิจ พื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย เนื่องจากเชื่อว่า หากมีโครงการดังกล่าว จะเกิดการย้ายนิคมอุตสาหกรรมจากภาคตะวันออกมาอยู่ในพื้นที่ภาคใต้ และสร้างผลกระทบต่อพื้นที่

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง