ศาลสั่งจำคุก 3 จำเลยระเบิดป่วนประชุม รมต. ต่างประเทศอาเซียน

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช และมารียัม อัฮหมัด
2023.07.03
กรุงเทพ และปัตตานี
ศาลสั่งจำคุก 3 จำเลยระเบิดป่วนประชุม รมต. ต่างประเทศอาเซียน เจ้าหน้าที่ตำรวจใช้เครื่องตรวจจับวัตถุระเบิดค้าหาวัตถุต้องสงสัยในแปลงดอกไม้ในพื้นที่ที่ถูกวางระเบิดแห่งหนึ่ง วันที่ 2 สิงหาคม 2562
ลิเลียน สุวรรณรัมภา/เอเอฟพี

ศาลอาญาพิพากษาให้จำคุกจำเลยสามคน เป็นเวลา 40 ถึง 50 ปี จากคดีวางระเบิดในพื้นที่กรุงเทพ รวมทั้งหน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ใกล้ที่ประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน ที่มีนักการทูตจากสหรัฐ จีน และอาเซียน ร่วมประชุมด้านความมั่นคง เมื่อสี่ปีก่อน 

ด้าน ทนายความของจำเลยระบุว่า ทุกคนให้การปฏิเสธตลอดข้อกล่าวหา และทนายความเตรียมยื่นอุทธรณ์สู้คดีต่อไป 

ศาลอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อ.2913/2562 ที่พนักงานอัยการคดีอาญา 6 เป็นโจทก์ยื่นฟ้องนายลูไอ แซแง อายุ 27 ปี, นายวิลดัน มะหา อายุ 33 ปี และนายมูฮัมหมัดอิลฮัม สะอิ อายุ 31 ปี เป็นจำเลยที่ 1-3 ในคดีที่เกี่ยวข้องกับการวางระเบิดหลายจุดในพื้นที่กรุงเทพ และนนทบุรีอีกหนึ่งแห่ง ในช่วงเดือนสิงหาคม ปี 2562 

“พิพากษาว่า จำเลยที่ 1 และ 2 มีความผิดฐานร่วมกันก่อการร้าย พยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน อั้งยี่ซ่องโจร และร่วมกันใช้วัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ ซึ่งเป็นบทหนักที่สุด ให้จำคุกตลอดชีวิต.... ลดโทษให้ 1 ใน 3 คงจำคุกจำเลยที่ 1,  2 คนละ 39 ปี 16 เดือน” ผู้พิพากษากล่าว และระบุว่าทั้งสองได้รับการลดโทษเพราะให้การเป็นประโยชน์ 

ศาลระบุว่า พยานและหลักฐานทำให้เชื่อว่า จำเลยทั้งสามประชุมวางแผนร่วมกันที่ประเทศมาเลเซีย โดยจำเลยที่ 1-2 มาวางระเบิดที่หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ก่อนที่จะไปซื้อตั๋วรถโดยสารเพื่อเดินทางไปยัง อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา เป็นการหลบหนี ส่วนจำเลยที่ 3 มีหน้าที่จัดหาวัตถุระเบิดแสวงเครื่องเพื่อใช้ก่อเหตุ และร่วมวางระเบิดที่หน้าสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม, กองบัญชาการกองทัพไทย และสถานีรถไฟฟ้าช่องนนทรี 

“พิพากษาจำเลยที่ 3 มีความผิดฐานร่วมกันก่อการร้าย พยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน อั้งยี่ซ่องโจร และร่วมกันใช้วัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตให้ได้ ให้ลงโทษทุกกรรม รวมจำคุก 164 ปี 72 เดือน 240 วัน โทษจำคุกทั้งสิ้นต้องไม่เกิน 50 ปี ดังนั้นให้จำคุกจำเลยที่ 3 เป็นเวลา 50 ปี” คำพิพากษาระบุ 

ในการฟังคำพิพากษา เมื่อเวลา 13.30 น.จำเลยทั้ง 3 คน ในชุดผู้ต้องขัง ถูกเจ้าหน้าที่กรมราชทัณฑ์ควบคุมตัวมายังฟ้องพิจารณาคดี คนทั้งหมดถูกใส่กุญแจมือและเท้า โดยมีญาติ และสื่อมวลชนร่วมสังเกตการณ์ หลังฟังคำพิพากษา ครอบครัวของจำเลยเข้าไปสวมกอดและร้องไห้กับจำเลยเป็นเวลาประมาณ 5 นาที 

นายกิจจา อาลีอิสเฮาะ รองประธานมูลนิธิศูนย์ทนายความมุสลิม และหัวหน้าทีมทนายความฝ่ายจำเลย เปิดเผยว่า หลังมีคำพิพากษาจำเลยทั้งหมดจะถูกย้ายจากเรือนจำพิเศษกรุงเทพฯ ไปควบคุมตัวที่เรือนจำคลองเปรม 

“ศาลแทบจะไม่ได้หยิบยกในคำให้การหรือเอกสารจากฝั่งจำเลยเลย ตั้งแต่คดีวางระเบิดหน้าป้ายสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ถามว่ามีภาพกล้องวงจรปิดไหนบ้างที่ชัดเจนว่าเป็นจำเลยที่ 1 ที่ 2 ก็ไม่มี จำเลยก็ให้การปฏิเสธว่าไม่ใช่ตัวจำเลย” นายกิจจา กล่าว 

“ศาลได้หยิบยกเรื่องการประมวลของพนักงานสอบสวน ไล่ตั้งแต่จุดลงรถทัวร์ มาโน่น นี่ นั่น จนศาลเชื่อว่าเป็นบุคคลเดียวกัน แม้ว่าจะมีการเปลี่ยนเสื้อผ้าต่าง ๆ เราจะศึกษาคำพิพากษา ปรึกษากันในทีม เพื่ออุทธรณ์ต่อไป” นายกิจจา กล่าวเพิ่มเติม 

หลังฟังคำพิพากษา มารดาของหนึ่งในจำเลย (สงวนชื่อและนามสกุลด้วยเหตุผลความปลอดภัย) ระบุว่า “ขอสู้ต่อ ส่วนรายละเอียด อยู่ระหว่างปรึกษาทนายอยู่” 

ด้าน น.ส. พรเพ็ญ คงขจรเกียรติ ผู้อำนวยการมูลนิธิผสานวัฒนธรรม เปิดเผยกับเบนาร์นิวส์ว่า ผลการตัดสินออกมาไม่ตรงตามที่คาดหวัง โดยระบุว่า จำเลยถูกควบคุมด้วยกฎหมายพิเศษ 30 วันโดยไม่มีสิทธิพบทนาย แต่ศาลกลับใช้ถ้อยคำในระหว่างนั้นมาเป็นหลักฐาน 

“น่าผิดหวังที่คำให้การของจำเลยต่อศาลที่ว่าถูกซ้อมบังคับให้สารภาพ ศาลไม่ได้หยิบยกคำให้การนั้นของจำเลยมาพิจารณาเลย มีผู้ถูกออกหมายจับอย่างน้อย 4 คนในคดีนี้ เสียชีวิตนอกระบบกฎหมาย ก่อนมีคำพิพากษา” น.ส. พรเพ็ญ กล่าว

ด้านเจ้าหน้าที่ตำรวจ เชื่อว่าจำเลยทั้ง 3 คน และพวก ได้แบ่งหน้าที่ประกอบวัตถุระเบิดแสวงเครื่องใส่กระป๋องมันฝรั่ง และกระป๋องผลไม้ นำไปวางตามตามจุดต่าง ๆ กระทั่งมีการจับกุมตัว จำเลยที่ 1-2 ได้ในวันที่ 13 สิงหาคม 2562 และ จับกุมจำเลยที่ 3 ในวันที่ 2 กันยายน 2562 ซึ่งจำเลยทั้งหมดถูกควบคุมตัวที่เรือนจำพิเศษกรุงเทพ และไม่ได้รับการประกันตัว กระทั่งมีคำพิพากษาในวันจันทร์นี้ 

คดีนี้ สืบเนื่องจากเกิดการวางระเบิดในหลายพื้นที่ทั้งในกรุงเทพ และนนทบุรี เช่น หน้าสำนักงานตำรวจแห่งชาติ, กองบัญชาการกองทัพไทย ศูนย์ราชการ ถนนแจ้งวัฒนะ, ใกล้อาคารคิง เพาเวอร์ มหานคร, สถานี รถไฟฟ้าช่องนนทรี และในซอยพระราม 9 แยก 57/1  ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียน 2019 ที่โรงแรมเซ็นทาราแกรนด์ กรุงเทพ 

หลังเกิดเหตุ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ในขณะนั้น กล่าวแก่สื่อมวลชนว่า คนร้ายต้องการป่วนการประชุมอาเซียน ส่วนเจ้าหน้าที่ระบุว่า ขบวนการบีอาร์เอ็นต้องการสร้างสถานการณ์เพื่อเรียกร้องความสนใจต่อปัญหาสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ที่ปะทุขึ้นมาอีกครั้งเมื่อปี 2547 และดำเนินมาอย่างยาวนาน

 

นนทรัฐ ไผ่เจริญ ร่วมรายงาน

 

 

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง