นายกรัฐมนตรีมาเลเซียแก้ต่างการใช้นโยบายรุนแรงกับการก่อการร้าย

ฟาฮิรุล เอ็น. รามลี
2016.01.25
MY-IDC-NAJIB-620 นายนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย กล่าวถ้อยแถลงในงานประชุมนานาชาติว่าด้วยการลดแนวความคิดนิยมความรุนแรงและการปราบปรามแนวคิดลัทธิสุดโต่งหัวรุนแรง ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ เมื่อวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2559
เบนาร์นิวส์

นายนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีของมาเลเซีย กล่าวเมื่อวันจันทร์ว่า เขาจะไม่ขอโทษที่ใช้มาตรการเข้มงวดในการปราบปรามการก่อการร้าย เพราะภัยคุกคามจากกลุ่มรัฐอิสลาม (ไอเอส) เป็น “จริงมาก” และเขาจำเป็นต้องเห็นแก่ความปลอดภัยของประเทศเหนือสิ่งอื่นใดทั้งสิ้น

คำกล่าวของเขามีขึ้นสามวัน หลังจากที่เจ้าหน้าที่ตำรวจของมาเลเซียจับกุมตัวผู้ต้องสงสัยว่าเป็นสมาชิกกลุ่มไอเอสจำนวนเจ็ดคน ซึ่งถูกกล่าวหาว่าเชื่อมโยงกับผู้วางแผนการโจมตีในกรุงจาการ์ตา เมืองหลวงของอินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 14 ม.ค. อันเป็นผลให้มีพลเรือนเสียชีวิตจำนวนสี่คน และผู้โจมตีเสียชีวิตจำนวนสี่คน

"ข้าพเจ้าจะไม่ขอโทษ ข้าพเจ้าขอย้ำว่า จะไม่ขอโทษใด ๆ สำหรับการดำเนินการทุกอย่างเพื่อรักษาความปลอดภัย และสำหรับการให้การรักษาความปลอดภัยแก่ชาวมาเลเซียทั้งหมดและทุกคนทั่วโลกที่มาเยือนประเทศเรา เป็นงานสำคัญอันดับหนึ่งของข้าพเจ้า” นายนาจิบกล่าว ในการแถลงเปิดงานประชุมนานาชาติว่าด้วยการลดแนวคิดนิยมความรุนแรง และการปราบปรามแนวคิดลัทธิสุดโต่งหัวรุนแรงปี 2559 ในกรุงกัวลาลัมเปอร์

"ภัยคุกคามนี้เป็นจริงมาก และรัฐบาลของข้าพเจ้าเอาจริงเอาจังกับเรื่องนี้มาก” เขากล่าว

วิดีโอขู่

ขณะเปิดงานประชุมดังกล่าว เจ้าหน้าที่ตำรวจของมาเลเซียกล่าวว่า กลุ่มไอเอสได้โพสต์วิดีโอเตือนเกี่ยวกับการโจมตีในมาเลเซีย เพื่อแก้แค้นการที่สมาชิกและผู้สนับสนุมกลุ่มไอเอสถูกจับกุม

วิดีโอดังกล่าวเป็นภาษามาเลย์ และถูกเผยแพร่โดยหน่วยกาติบาห์ นูซันตารา (หน่วยต่อสู้ประจำหมู่เกาะมาเลย์) ซึ่งเป็นหน่วยของกลุ่มไอเอส ในมาเลเซีย ได้เตือนรัฐบาลมาเลเซียให้หยุดการดำเนินการต่อกลุ่มไอเอส และปล่อยตัวผู้ที่ถูกกักตัวไว้ ไม่เช่นนั้นแล้วจะ “ถูกแก้แค้น”

เป็นที่สงสัยกันว่า ผู้นำของหน่วยกาติบาห์ นูซันตารา อาจจะเป็น นายบาห์รัน นาอิม ซึ่งถูกระบุตัวว่าเป็นผู้วางแผนเบื้องหลังการระเบิดในกรุงจาการ์ตา และอยู่ในเมืองรักกา เมืองหลวงของกลุ่มไอเอสในประเทศซีเรีย

วิดีโอดังกล่าวเป็นภาพชาวมาเลเซียสองคนที่อยู่ในซีเรีย ซึ่งผู้บัญชาการตำรวจแห่งมาเลเซียระบุว่าชื่อ นายอับดุล ฮาลิด ดารี และนายโมห์ด นิซัม อารีฟิน กำลังพูดอยู่ใต้สัญลักษณ์ของกลุ่มไอเอส

“เจ้าหน้าที่ตำรวจกำลังใช้มาตรการเชิงรุกต่อไปในเรื่องที่เกี่ยวกับวิดีโอนั้น และจะเอาจริงกับเรื่องนี้” คาลิด อาบู เบการ์ กล่าว เมื่อพบกับผู้สื่อข่าวในระหว่างงานประชุมดังกล่าว

เบนาร์นิวส์เองไม่สามารถตรวจสอบยืนยันวิดีโอดังกล่าวได้

การกักขังโดยปราศจากการพิจารณาคดีในศาล

จนถึงปัจจุบัน มาเลเซีย ประเทศที่ประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ได้จับกุมตัวผู้ต้องสงสัยว่าเกี่ยวข้องกับกลุ่มไอเอส จำนวนกว่า 100 คนแล้ว สื่อในประเทศรายงานข่าวกรองที่ระบุว่า ชาวมาเลเซียจำนวนห้าสิบห้าคนมีส่วนเกี่ยวข้องกับกลุ่มไอเอสในอิรักและซีเรีย และ 17 คนจากจำนวนนี้ถูกสังหารแล้ว

นายนาจิบตอบโต้กลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชน ที่วิพากษ์วิจารณ์กฎหมายการรักษาความปลอดภัยที่เข้มงวดของเขา และเรียกกลุ่มเหล่านั้นว่า เป็นภัยคุกคามต่อเสรีภาพของพลเมือง

"แต่ขอให้ข้าพเจ้าบอกท่านดังนี้: ไม่มีเสรีภาพพลเมืองภายใต้ไอเอส และไม่มีที่กำบังสำหรับผู้ที่ต้องการก่อการร้าย วิธีที่ดีที่สุดในการคงไว้ซึ่งเสรีภาพพลเมืองคือ การประกันความปลอดภัยของประเทศเรา” เขาบอกแก่ที่ประชุม

ในปี 2555 นายนาจิบได้กำกับการยกเลิกกฎหมายที่รุนแรงว่าด้วยความมั่นคงภายใน ซึ่งรัฐบาลใช้เพื่อกักขังคนเป็นระยะเวลาไม่จำกัด โดยไม่ต้องมีการพิจารณาคดีในศาล แต่เมื่อปีที่แล้ว เขาได้นำกฎหมายที่เข้มงวดนั้นกลับมา โดยกล่าวว่ามีจุดประสงค์เพื่อต่อสู้กับการก่อการร้าย

บรรดากลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนต่างก็วิพากษ์วิจารณ์กฎหมายความผิดต่อความมั่นคง (มาตรการพิเศษ) หรือ SOSMA เนื่องจากกฎหมายฉบับนี้นำบทบัญญัติที่อนุญาตให้มีการกักตัวโดยไม่ต้องมีการพิจารณาคดีในศาล ขึ้นมาใช้ใหม่

กลุ่มเคลื่อนไหวเหล่านี้ยังวิพากษ์วิจารณ์รัฐบาล ที่ได้อนุมัติกฎหมายอีกฉบับหนึ่งเมื่อเดือนที่แล้ว ซึ่งให้อำนาจอย่างมากแก่สภาความมั่นคงแห่งชาติ ภายใต้การนำของนายนาจิบ

นายนาจิบประณามแนวคิดของกลุ่มไอเอสที่ต้องการสร้างรัฐอิสลามขึ้นมาว่า “ไม่มีอะไรเลยที่เป็นอิสลาม” โดยเสริมว่า คนส่วนใหญ่ที่รักความสงบในประเทศของเขา ปฏิเสธความรุนแรงของกลุ่มไอเอสอย่างเด็ดขาดเกี่ยวกับ “ระเบิด การบาดเจ็บ และการฆ่าตัดหัว”

นายกรัฐมนตรีของมาเลเซียยังแจกแจงถึงแผนการของมาเลเซีย ที่จะจัดตั้งศูนย์ต่อต้านการสื่อสารข้อความออนไลน์ระดับภูมิภาคขึ้น เพื่อต่อสู้กับการโฆษณาชวนเชื่อทางออนไลน์ของกลุ่มไอเอส

"[เ]ป็นสิ่งสำคัญยิ่งที่ผู้มีอำนาจทุกคน ไม่ว่าจะเป็นมุฟตี [ผู้นำศาสนาอิสลามของเรา] คณะกรรมการสื่อของเรา คนหนุ่มสาวของเราที่เก่งด้านเทคโนโลยีและที่สื่อสังคมเป็นส่วนหนึ่งที่ขาดไม่ได้ในชีวิต ต้องแน่ใจว่า ข้อความที่ศูนย์นี้ส่งออกไป มีความหนักแน่น โน้มน้าวใจ และเป็นจริง” เขากล่าว

เขากล่าวว่า ข้อความเหล่านั้นต้องหยุด “วิธีการที่ล่อใจและโน้มน้าวใจของกลุ่มติดอาวุธ” ได้

“ข้อความเหล่านั้นจะต้องระบุอย่างชัดเจนว่า เพราะเหตุใดพวกนั้น [ไอเอส] จึงผิด และเพราะเหตุใดชาวมุสลิมที่แท้จริง จึงไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับอุดมการณ์นี้ ที่เต็มไปด้วยความเกลียดชังและการทำลายล้าง”

แถลงการณ์ของรัฐบาลกล่าวว่า งานประชุมดังกล่าวซึ่งมีระยะเวลาสองวัน มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมความร่วมมือระหว่างบรรดาหน่วยงานความมั่นคงทั่วโลก ในโครงการเกี่ยวกับการลดแนวความคิดนิยมความรุนแรง

รัฐมนตรีและเจ้าหน้าที่ที่รับผิดชอบงานด้านการปราบปรามภัยคุกคามของกลุ่มติดอาวุธหัวรุนแรง จากสมาคมประชาชาติเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) และหุ้นส่วนทางยุทธศาสตร์ของอาเซียน คือ สหรัฐอเมริกา ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย บริเตน ซาอุดิอาระเบีย สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ญี่ปุ่น จีน และอิตาลี เข้าร่วมในงานประชุมดังกล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง