อาเซียนและสหรัฐฯ สัญญาที่จะร่วมกันดำเนินการเกี่ยวกับความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรือง

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2016.02.17
SEA-Sunnylands-1000 นายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และผู้นำอาเซียน ถ่ายรูปหมู่ร่วมกันหลังจบการประชุมสุดยอดอาเซียน-สหรัฐฯ สมัยพิเศษ ที่ซันนีแลนด์เอสเตท ในเมืองแรนโชมิราจ รัฐแคลิฟอร์เนีย วันที่ 16 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2559
เอเอฟพี

สหรัฐอเมริกาและประเทศสมาชิกอาเซียนปิดการประชุมสุดยอดระยะเวลาสองวัน โดยต่างมุ่งมั่นที่จะเพิ่มความมั่นคงทางทะเลและกิจกรรมทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้ และจำกัดการหลั่งไหลของกลุ่มติดอาวุธในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไปยังดินแดนภายใต้การควบคุมของรัฐอิสลามในตะวันออกกลาง

แถลงการณ์ร่วมที่ออกในตอนท้ายของการประชุมดังกล่าว ณ ซันนีแลนด์เอสเตท ที่งดงามสมบูรณ์แบบ ในรัฐแคลิฟอร์เนีย ดูเหมือนจะหมายถึงข้อพิพาทเหนือทะเลจีนใต้ ท่ามกลางความกลัวว่าจีนกำลังหมายมั่นที่จะควบคุมทรัพยากรสำคัญและเส้นทางการเดินเรือในภูมิภาคนั้น

สหรัฐฯ และสมาชิกทั้ง 10 ประเทศของสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (อาเซียน) ยืนยันความมุ่งมั่นที่จะ “ประกันความมั่นคงและความปลอดภัยทางทะเล รวมทั้งสิทธิของเสรีภาพในการเดินเรือและการบิน และการใช้ทะเลในด้านอื่น ๆ อย่างถูกต้องตามกฎหมาย และการค้าทางทะเลอย่างถูกต้องตามกฎหมายโดยไร้ข้อจำกัด” และ “ที่จะจัดการกับความท้าทายต่าง ๆ ร่วมกันในน่านน้ำทางทะเล”

เมื่อถูกถามก่อนหน้านี้ในวันนั้นว่า จะมีการออกแถลงการณ์ร่วมของการประชุมสุดยอดนี้เกี่ยวกับเรื่องทะเลจีนใต้หรือไม่ นายจอห์น แคร์รี่ รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐฯ ตอบอย่างหนักแน่น แม้แถลงการณ์นั้นจะไม่ได้เอ่ยถึงจีนหรือพูดชื่อทะเลดังกล่าวก็ตาม

"เราได้หารือถึงความจำเป็นที่จะต้องมีขั้นตอนที่เป็นรูปธรรมในทะเลจีนใต้ เพื่อลดความตึงเครียด รวมทั้งหยุดการถมทะเลต่อไป การก่อสร้างใหม่ ๆ และการส่งกำลังทหารไปประจำในบริเวณที่เป็นข้อพิพาทกันอยู่” นายบารัค โอบามา ประธานาธิบดีสหรัฐฯ บอกแก่ผู้สื่อข่าว หลังการประชุมสุดยอดครั้งนี้ ตามรายงานของสำนักข่าวรอยเตอร์

จีนและสี่ประเทศสมาชิกอาเซียน คือ มาเลเซีย บรูไน ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม ต่างก็อ้างสิทธิ์ในทะเลจีนใต้ ซึ่งสหรัฐฯ ต้องการให้มีการตกลงกันโดยสันติ

เรียกร้องให้ปกครองโดยรัฐบาลพลเรือนในประเทศไทย

การประชุมครั้งนี้ยังเน้นถึงความสำคัญของ “เศรษฐกิจที่มีพลวัต เปิด และมีการแข่งขัน” และการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวม ตลอดจนการทำให้ประชาธิปไตยมีความเข้มแข็งขึ้น ในภูมิภาคที่มีความแตกต่างอย่างมากทางเศรษฐกิจ และมีเสรีภาพทางการเมืองที่ขาดความสมดุล

"เรายังคงต้องการสนันสนุนให้ประเทศไทยกลับสู่การปกครองโดยรัฐบาลพลเรือน" นายบารัค โอบามา บอกในการแถลงข่าวหลังการประชุมครั้งนี้ ตามรายงานของสำนักข่าวเอเอฟพี

นายบารัค โอบามา ยังกล่าวด้วยว่า ที่ประชุมตกลงที่จะพยายามปฏิรูปเพื่อให้สมาชิกทั้งหมดของอาเซียนสามารถเข้าร่วมในความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก (TPP) ซึ่งเป็นสัญญาการค้าเสรีระหว่าง สหรัฐฯ บรูไน มาเลเซีย สิงคโปร์ เวียดนาม และอีกเจ็ดประเทศที่ไม่ได้เป็นสมาชิกของอาเซียน

สหรัฐฯ กล่าวว่า จะเปิดสำนักงานในกรุงจาการ์ตา กรุงเทพฯ และสิงคโปร์ โดยมีจุดประสงค์เฉพาะเพื่อเพิ่มความเกี่ยวข้องทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ในภูมิภาคนี้ ตามรายงานของสำนักข่าวเอเอฟพี

อาเซียนเป็นคู่ค้ารายใหญ่เป็นอันดับสี่ของสหรัฐฯ ที่กำลังแข่งขันกับจีน เพื่อให้มีอิทธิพลทางเศรษฐกิจในภูมิภาคนี้

การต่อต้านลัทธิหัวรุนแรง

“ปฏิญญาซันนีแลนด์” สัญญาว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะ “เป็นผู้นำเรื่องประเด็นระดับโลก เช่น การก่อการร้าย และลัทธิหัวรุนแรง” ตลอดจนในการต่อสู้กับการค้ามนุษย์ ยาเสพติด สัตว์ป่า และไม้ และการประมงด้วยวิธีที่ผิดกฎหมาย

ผู้นำประเทศอาเซียนตกลงที่จะใช้ข้อมูลจากตำรวจสากลให้ดีขึ้น เพื่อป้องกันไม่ให้กำลังต่อสู้ออกนอกประเทศ สำนักข่าวรอยเตอร์รายงาน

ชาวอินโดนีเซียและมาเลเซียหลายร้อยคนได้เดินทางไปยังซีเรียและอิรัก เพื่อร่วมกับรัฐอิสลามในการต่อสู้ เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีรายงานว่า ผู้นำของกลุ่มไอเอสได้รับการปฏิญาณความจงรักภักดีอย่างเป็นทางการจากกลุ่มติดอาวุธหลายกลุ่มในตอนใต้ของฟิลิปปินส์

ในการเปิดการประชุมสุดยอดดังกล่าวเมื่อวันจันทร์ นายบารัค โอบามา ได้อ้างถึงการโจมตีอย่างรุนแรงในเมืองหลวงของอินโดนีเซีย เมื่อเดือนที่แล้ว โดยกลุ่มติดอาวุธที่เชื่อมโยงกับกลุ่มไอเอส เขากล่าวว่า “การก่อการร้ายอย่างรุนแรงดังกล่าวทำให้เราต้องคอยตื่นตัว แลกเปลี่ยนข้อมูลกันมากขึ้น และร่วมมือกันปกป้องประชาชนของเรา”

นายบารัค โอบามา ได้ขอให้นายโจโกวี โดโด ประธานาธิบดีอินโดนีเซีย เป็นผู้นำการหารือเรื่องการต่อต้านลัทธิหัวรุนแรงและการก่อการร้าย ในการประชุมสุดยอดครั้งนี้

อินโดนีเซียได้รับเลือกให้นำการหารือในหัวข้อนี้ เพราะประเทศอื่นรู้สึกประทับใจกับนโยบายของอินโดนีเซีย ในการจัดการกับปัญหาดังกล่าว นางเร็ตโน มาร์ซูดี รัฐมนตรีกระทรวงการต่างประเทศของอินโดนีเซีย กล่าว

“วิธีที่ประธานาธิบดีอินโดนีเซียใช้ในการจัดการกับการโจมตีของผู้ก่อการร้ายเมื่อวันที่ 14 มกราคม เป็นที่ยกย่องโดย [ประชาคม] โลก” นางเร็ตโน กล่าวในแถลงการณ์ที่ออกโดยคณะรัฐมนตรีอินโดนีเซียเมื่อวันอาทิตย์

ยังอีกไกล

การประชุมครั้งนี้ในเมืองแรนโชมิราจ รัฐแคลิฟอร์เนีย เป็นการประชุมครั้งแรกที่จัดขึ้นในสหรัฐฯ ระหว่างผู้นำอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ และประธานาธิบดีสหรัฐฯ นับแต่ที่ทั้งสองฝ่ายเริ่มความสัมพันธ์ทางการทูตเมื่อสี่ทศวรรษที่แล้ว

นายบารัค โอบามา ซึ่งอยู่ในตำแหน่งประธานาธิบดีเป็นปีสุดท้าย พูดเกี่ยวกับการที่อาเซียนเป็นหัวใจสำคัญของกลยุทธ์ของเขาในการทำให้เกิดการ “ปรับสมดุล” เชิงยุทธศาสตร์ หรือที่เรียกว่า การปักหมุดในเอเชีย ในนโยบายต่างประเทศของสหรัฐฯ

การประชุมสุดยอดครั้งนี้มีนายนาจิบ ราซัค นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย และ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีไทย เข้าร่วมด้วย

การประชุมนี้เกิดขึ้นท่ามกลางคำวิพากษ์วิจารณ์จากนักเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนว่า สหรัฐฯ เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมผู้นำอาเซียนที่มีประวัติไม่น่าไว้ใจด้านสิทธิมนุษยชนและประชาธิปไตย

เวียดนามและลาวเป็นประเทศที่มีการปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์พรรคเดียว ขณะที่นายฮุนเซน นายกรัฐมนตรีเขมร ซึ่งอยู่ในตำแหน่งมานานกว่าสามทศวรรษแล้ว เป็นผู้กุมอำนาจการปกครองทั้งหมดในประเทศ

ไทยอยู่ภายใต้การปกครองของรัฐบาลทหาร ซึ่งเข้ายึดอำนาจเมื่อสองปีที่แล้ว ส่วนมาเลเซีย ประเทศเพื่อนบ้าน รัฐบาลของนายนาจิบได้ถูกโจมตีกรณีเรื่องอื้อฉาวทางการเงินที่เกี่ยวข้องกับกองทุนการลงทุนของรัฐ 1MDB ซึ่งเขาเป็นประธานคณะกรรมที่ปรึกษา

ผู้ประท้วงหลายร้อยคนจากกลุ่มเคลื่อนไหวเพื่อสิทธิมนุษยชนและกลุ่มอื่น ๆ ได้มาชุมนุมกันนอกสถานที่ประชุมครั้งนี้ เพื่อชี้ให้เห็นถึงการละเมิดสิทธิที่เกิดขึ้นในภูมิภาคนี้ และการต่อต้าน TPP

ซูซาน ไรซ์ ที่ปรึกษาฝ่ายความมั่นคงแห่งชาติของสหรัฐฯ ได้กล่าวถึงประเด็นนี้ในการบรรยายสรุปแก่ผู้สื่อข่าวที่ซันนีแลนด์ ก่อนเปิดการประชุมเมื่อวันจันทร์

“เราตระหนักเป็นอย่างดีว่า สมาชิกอาเซียนบางประเทศที่เป็นหุ้นส่วนของเรายังต้องพัฒนาอีกมากในเรื่องสิทธิมนุษยชน” ซูซาน ไรซ์ บอกแก่ผู้สื่อข่าว ตามบันทึกที่เปิดเผยโดยทำเนียบขาว

“แต่สหรัฐอเมริกาจะยังคงยืนหยัดเพื่อสิทธิของทุกคนต่อไป” เธอกล่าว โดยเสริมว่า ในระหว่างการประชุมนี้ ประธานาธิบดีโอบามาจะ “เน้นถึงความสำคัญของธรรมาภิบาล หลักนิติธรรม สิทธิมนุษยชน และประชาสังคมที่เข้มแข็ง และสถาบันที่มีความสามารถและรับผิดชอบ”

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง