สหรัฐฯ เตรียมฝึกผสม ASEAN-U.S. Maritime Exercise ครั้งแรก

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และวิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2019.08.23
กรุงเทพฯ
190823-TH-cobra-exercise-800.jpg กองกำลังผสมไทย-สหรัฐ-สิงคโปร์ ฝึกยกพลขึ้นบกที่หาดยาว จังหวัดชลบุรี โดยมีเฮลิคอปเตอร์โจมตีแบบคอบร้า บินคุ้มกัน วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2562
ภิมุข รักขนาม/เบนาร์นิวส์

ท่ามกลางความตึงเครียดของปัญหาความขัดแย้ง ในทะเลจีนใต้ สหรัฐอเมริกาจะเปิดการฝึกผสมทางเรือพหุภาคีกับสิบชาติอาเซียน เป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ ในต้นเดือนกันยายนนี้ โดยจะมีการตั้งกองกำลังทางเรือเฉพาะกิจ เพื่อฝีกปฏิบัติการลาดตระเวนทางทะเลร่วมกัน ในการดำเนินการตามกฎหมายต่อเรือต้องสงสัยที่รุกล้ำน่านน้ำประเทศอาเซียน ตามแถลงของกองทัพเรือไทย

การฝึกผสมทางทะเลครั้งนี้ ใช้ชื่อรหัสว่า ASEAN-U.S. Maritime Exercise เป็นการฝึกผสมทางเรือในลักษณะพหุภาคี ที่จะจัดให้มีขึ้นเป็นเวลา 5 วัน ในระหว่างวันที่ 2 ถึง 6 กันยายน 2562 โดยมีวัตถุประสงค์ในการเสริมสร้างความร่วมมือในการรักษาความมั่นคงทางทะเลของกองทัพเรือชาติอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ กับกองทัพเรือสหรัฐอเมริกา ส่วนพิธีเปิดการฝึกจะมีขึ้นที่ฐานทัพเรือสัตหีบ

“การฝึกผสม ASEAN-U.S. Maritime Exercise เป็นการฝึกผสมทางเรือในลักษณะพหุภาคี ครั้งแรก ระหว่าง ทร. ในภูมิภาคอาเซียน และ ทร.สหรัฐฯ โดยมีวัตถุประสงค์การฝึก เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือในการรักษาความมั่นคงทางทะเล มุ่งเน้นการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดในทะเล โดยมีการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างกัน เสริมสร้างการตระหนักรู้และปฏิบัติงานร่วมกันระหว่างชาติต่าง ๆ ภายใต้ขอบเขตของกฎหมายระหว่างประเทศ และกฎหมายภายในของแต่ละประเทศ” ข้อความในเอกสารกองกิจการพลเรือนทหารเรือ ระบุ

หลังจากสิ้นสุดสงครามเวียดนาม ในวันที่ 30 เมษายน 2518 หลังจากทหารเวียดนามเหนือตีกรุงไซ่ง่อน เมืองหลวงของเวียดนามใต้แตก กองทัพสหรัฐได้ถอนตัวออกจากประเทศไทย และลดอิทธิพลในภูมิภาคเอเชียอาคเนย์ลงไปมาก จนกระทั่งสมาคมประชาชาติแห่งเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรืออาเซียน ได้ขยายสมาชิกจาก 6 ประเทศประชาธิปไตย เป็น 10 ประเทศ โดยมี สปป.ลาว กัมพูชา เวียดนาม และเมียนมา เข้าร่วมเป็นสมาชิกใหม่ ความสัมพันธ์ของสหรัฐกับกลุ่มประเทศสังคมนิยมเดิม จึงพัฒนาขึ้น ในขณะที่ประเทศสมาชิกสี่ชาติ คือ เวียดนาม ฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และบรูไน มีปัญหากับจีนเรื่องอาณาเขตทางทะเลในทะเลจีนใต้

และในวันที่ 22 สค. ตามเวลาในสหรัฐ กระทรวงการต่างประเทศสหรัฐ ได้กล่าวหาจีนว่า ได้ยกระดับความขัดแย้งในพื้นที่ทะเลจีนใต้ที่อุดมไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ โดยจีนได้เข้าไปขัดขวางการสำรวจน้ำมันและแก๊ส ในพื้นที่เศรษฐกิจพิเศษ 12 ไมล์ทะเลของเวียดนาม

ทั้งนี้ ในการฝึกครั้งนี้ มีกำลังที่เข้าร่วมการฝึกจากประเทศต่างๆ ทั้งสิ้น 11 ประเทศ ประกอบด้วยกองทัพเรือชาติสมาชิกอาเซียน ได้แก่ ไทย บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ เวียดนาม และ กองทัพเรือสหรัฐอเมริกา โดยจะมีการจัดตั้ง บก.กองกำลังเฉพาะกิจผสม (บก.CTF) บน ร.ล.กระบี่ โดยมี พล.ร.ต.สมพงษ์ นาคทอง ผู้บัญชาการกองเรือตรวจอ่าว กองเรือยุทธการ เป็นผู้บัญชาการกองกำลังเฉพาะกิจผสม และมี Capt. Matt Jerbi ผบ.กองเรือพิฆาตที่ 7 ทร.สหรัฐฯ (Destroyer Squadron 7) เป็นรองผู้บัญชาการกองกำลังเฉพาะกิจผสม และมีกำลังพล ทร.ชาติสมาชิกอาเซียน ปฏิบัติหน้าที่ใน บก.CTF ซึ่งทำหน้าที่ในส่วนปฏิบัติการทางเรือและอากาศยาน ส่วนติดตามสถานการณ์ทางทะเล และส่วนควบคุมการฝึก

โดยมีเรือเข้าร่วมการฝึก จำนวน 8 ลำ อากาศยาน จำนวน 2 เครื่อง ใช้พื้นที่การฝึกบริเวณช่องแคบมะละกา และพื้นที่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ของแหลมกาเมา ประเทศเวียดนาม

ในการฝีกผสมนั้น ได้จำลองสถานการณ์ว่า ตามข่าวสารจากการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างชาติสมาชิกอาเซียน และสหรัฐฯ จะมีเรือที่มีพฤติกรรมต้องสงสัยในการกระทำผิดกฎหมายในทะเล เดินทางเข้ามาในบริเวณน่านน้ำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งถือเป็นภัยคุกคามทางทะเลร่วมกัน ชาติสมาชิกอาเซียนและสหรัฐฯ จึงได้จัดตั้งกองกำลังทางเรือเฉพาะกิจ เพื่อปฏิบัติการลาดตระเวนทางทะเลร่วมกัน ในการค้นหา ตรวจสอบ และดำเนินการตามกฎหมายต่อเรือต้องสงสัยดังกล่าว

โดย ทร.สหรัฐฯ จะส่งเรือต้องสงสัยสมมติเข้าร่วมการฝึกฯ จำนวน 3 ลำ โดยเดินทางจากบริเวณช่องแคบมะละกา และจากบริเวณชายฝั่งประเทศเวียดนาม และทำการป้อนโจทย์ตามสถานการณ์การฝึกผ่านระบบสารสนเทศ (IFC’s Real Time Information-Sharing System : IRIS) และระบบ CENTRIX โดย บก.CTF จะติดตามภาพสถานการณ์ทางทะเล รวมทั้งประสานข้อมูลกับส่วนติดตามการฝึก ณ ศูนย์ Changi C2 Center สาธารณรัฐสิงคโปร์ ผ่านระบบดังกล่าว เพื่อตราทางเป้า และสั่งการให้กองกำลังเฉพาะกิจผสม การตรวจค้น และจับกุมเรือต้องสงสัยต่อไป

สำหรับประเทศไทย นอกจากการฝึกรบร่วมกับสหรัฐและพันธมิตร ในการฝึกขนาดใหญ่อย่างคอบร้าโกลด์แล้ว ยังได้ฝึกทางทะเลกับจีน ในรหัส Blue Strike มาตั้งแต่ ปี 2553 และยังมีการฝึกของกำลังทางอากาศร่วมกัน ในรหัส Blue Falcon อีกด้วย

การฝึกผสมของกองทัพเรือสหรัฐฯและอาเซียนจะมีขึ้นในอ่าวไทยอีกครั้ง เกือบหนึ่งปี หลังจากชาติสมาชิกอาเซียนและประเทศจีน ได้มีการฝึกผสมทางทะเลร่วมกันครั้งแรก ในเดือนตุลาคม 2561 ที่ฐานทัพเรือจ้านเจียง มณฑลกวางตุ้ง ประเทศจีน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง