นายกรัฐมนตรีเตรียมลงนามกับจีนและลาว สร้างสะพานเชื่อมทางรถไฟไทย-ลาว
2019.04.23
กรุงเทพฯ
พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา มีแผนที่จะเดินทางไปยังกรุงปักกิ่ง ประเทศจีน เพื่อเข้าร่วมการประชุมเวทีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Forum for International Cooperation – BRF) ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 26-27 เมษายน 2562 เพื่อแสดงการสนับสนุนโครงการ และจะมีการลงนามสามฝ่าย เพื่อสร้างสะพานเชื่อมเส้นทางเดินรถไฟจากไทยไปลาว ตามการเปิดเผยของรองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ
พลโท วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานประชาคมอาเซียน (ASEAN) พร้อมด้วยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม จะร่วมประชุมกับ ตัวแทน 38 ประเทศ เพื่อรับรองแถลงการณ์ร่วมของการประชุมผู้นำโต๊ะกลม (Leaders’ Roundtable)
“ประเด็นที่นายกรัฐมนตรีจะผลักดันในที่ประชุม หนึ่ง เน้นย้ำบทบาทไทยในฐานะประธานอาเซียนในการส่งเสริมความเชื่อมโยงในทุกมิติ และแสดงความพร้อมที่จะร่วมมือกับจีน เพื่อส่งเสริมความเชื่อมโยงในอนุภูมิภาคและภูมิภาค ผ่าน MPAC 2025 และ ACMECS Master Plan ซึ่งมีเป้าหมายเดียวกันกับ BRI” พลโทวีรชน ระบุ
พลโทวีรชน ระบุว่า นายกรัฐมนตรีจะผลักดัน การขยายความร่วมมือเพื่อส่งเสริมนโยบายประเทศไทย 4.0 นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่จะเชื่อมต่อกับระเบียงเศรษฐกิจในอนุภูมิภาค และการยกระดับสถานะไทยสู่การเป็นศูนย์กลางทางโลจิสติกส์ คมนาคม และการขนส่งของอาเซียน และเป็นประตูสู่อาเซียนของจีน และจะผลักดันให้จีนใช้ประโยชน์จากศักยภาพของ ACMECS ในการเป็นตัวเชื่อมจีนและอาเซียน และส่งเสริมความเชื่อมโยงอย่างไร้รอยต่อระหว่างกรอบความร่วมมือระหว่างมณฑลกวางตุ้ง-ฮ่องกง-มาเก๊า (Greater Bay Area - GBA) และกรอบความร่วมมือพื้นที่สามเหลี่ยมลุ่มแม่น้ำจูเจียง (Pan-Pearl River Delta - PPRD) กับ EEC
“นายกรัฐมนตรีจะได้พบปะหารือกับผู้นำระดับสูงของจีน ได้แก่ ประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง นายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อ เฉียง และ รองนายกรัฐมนตรีหาน เจิ้ง ด้วย โดยนายกรัฐมนตรีจะหารือถึงแนวทางการกระชับความสัมพันธ์ของทั้งสองประเทศ การสานต่อและผลักดันความร่วมมือทวิภาคี โดยเฉพาะความเชื่อมโยง ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจและดิจิทัล การพัฒนาเทคโนโลยีและนวัตกรรม รวมถึงความร่วมมือจีน-ญี่ปุ่น ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC)” พลโทวีรชน ระบุ
ทั้งนี้ นางสาวบุษฎี สันติพิทักษ์ อธิบดีกรมสารนิเทศและโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า การเดินทางไปเยือนจีนของพลเอกประยุทธ์ ในครั้งนี้ คาดหวังที่จะผลักดันความร่วมมือระหว่างจีนกับอาเซียน
“ในฐานะประธานอาเซียน ไทยพร้อมที่จะร่วมมือกับจีนในการส่งเสริมความเชื่อมโยงในภูมิภาค ไทยจะเสนอเรื่องการเชื่อมโยงกับแผนแม่บทของอาเซียน ในเรื่องการเชื่อมโยงรวมทั้ง ACMECS ซึ่งไทยเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์ร่วมกัน นอกจากนี้ การเชื่อมโยงกันยยังสนับสนุน EEC ของไทยให้เป็นกรอบการพัฒนา เป็นฐานการผลิตเพื่อเชื่อมโยง ประเทศไทยกับภูมิภาค นอกจากนี้ ไทยร่วมกับ สปป.ลาว และจีน จะลงนาม บันทึกข้อตกลงความร่วมมือ (MOC) ในเรื่องการสร้างสะพานรถไฟความเร็วสูงที่ชายแดนไทย-สปป.ลาวด้วย” นางสาวบุษฎี กล่าว
โครงการรถไฟไทย-จีน ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กม. เตรียมเริ่มโครงการ 30 เมษายน 2562 นี้
รัฐบาลไทยได้อนุมัติโครงการสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงเฟสที่หนึ่งไปแล้ว เป็นเส้นทางจากกรุงเทพถึงนครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร ซึ่งพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกัฐมนตรี และผู้แทนจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ทำพิธีวางศิลาฤกษ์ไปเมื่อเดือนธันวาคม 2560 ซึ่งมีระยะทาง 3.5 กิโลเมตร ส่วนเฟสที่สองจากนครราชสีมาไปยังหนองคายนั้น ยังไม่มีการดำเนินการ ทั้งนี้ทั้งสองเฟสมีมูลค่ารวม 179,412 ล้านบาท
นายปิยะดิษฐ์ อัศวศิริสุข กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีวิลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า บริษัทของตนเป็นบริษัทแรกที่ประมูลงานเป็นผู้รับเหมาในสัญญาการก่อสร้างงานโยธาที่ 2-1 ช่วงสีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กม. มูลค่า 3,114.98 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน กรุงเทพฯ-นครราชสีมา เบนาร์นิวส์ว่า โครงการจะเริ่มดำเนินการได้จริงในวันที่ 30 เมษายน 2562 นี้ หลังจากการรถไฟแห่งประเทศไทยอนุญาตให้เข้าพื้นที่
“ตอนนี้ เตรียมพร้อมที่จะเข้าพื้นที่ งาน 11 กิโลเมตร หลักๆ คือส่วนทางราบที่อยู่กับพื้นดิน 7 กิโลเมตร และยกระดับประมาณ 4 กิโลเมตร เราเซ็นสัญญาไปเมื่อปีที่แล้ว สัญญา 18 เดือน และรถไฟจะมอบให้เราเข้าพื้นที่ทำงานได้ 30 เมษายน แต่ก่อนหน้านี้เราได้มีการประสาน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องแบบแล้วก็บริษัทที่ปรึกษาที่เป็นคนจีน รวมทั้งการรถไฟ ตรวจเข้าพื้นที่ ก็ได้ดำเนินการไปแล้ว” นายปิยะดิษฐ์ กล่าว
นายปิยะดิษฐ์ ชี้แจงว่า ฝ่ายจีนเป็นผู้ออกแบบและคุมงาน ซึ่งมีวิธีการทำงานต่างจากที่คนไทยคุ้นเคย แต่ผู้รับเหมาเป็นบริษัทไทย หรือบริษัทร่วมทุนไทย ซึ่งจะจ้างงานคนไทยเป็นส่วนใหญ่ ในการทำงานมีอุปสรรคบ้างในด้านภาษา ส่วนในเฟสที่ 2 คาดว่าบริษัทไทยจะออกแบบและคุมงานได้เอง
“วิธีการทำงานของเขา ต่างจากสิ่งที่เราคุ้นชิน เพราะว่าวิธีการทำงานในประเทศจีนไม่เหมือนกับในไทย รวมถึงเรื่องวัสดุ แต่ว่าเราก็พยายามปรับเข้าหากัน รถไฟก็ส่งคนมาช่วยเป็นตัวกลางขึ้นด้วย เรื่องภาษาเป็นอุปสรรคอันนึง แต่ว่าเราก็มีล่ามที่ช่วยกันแปล ทำให้การประสานงานมากที่สุด” นายปิยะดิษฐ์กล่าว และอธิบายเพิ่มเติมว่า บริษัทใช้เงินทุนจากธนาคารของไทย และกำลังเตรียมดันบริษัทฯ เข้าตลาดหลักทรัพย์
จากสถิติของกระทรวงการคลัง ประเทศที่ไทยทำการค้าด้วยมากที่สุดในปีที่ผ่านมา คือ ประเทศจีน โดยมีมูลค่าการค้าระหว่างกันราว 2,510,462 ล้านบาท รองลงมาคือสหรัฐอเมริกา 1,852,236 ล้านบาท และญี่ปุ่น 1,408,407 บาท สินค้าส่งออกหลักของประเทศไทยในตลาดโลก คือ สินค้าเกษตรกรรม (กสิกรรม ปศุสัตว์ และประมง) ด้านจีนส่งออกสินค้ามายังประเทศไทย เป็นมูลค่า 1.5 ล้านล้านบาท โดยส่วนใหญ่เป็นวัตถุดิบ/สินค้าชั้นกลาง และสินค้าทุน
จากข้อมูลของธนาคารแห่งประเทศไทย ในปี 2560 นักลงทุนจากจีนได้เข้ามาลงโดยตรง เป็นมูลค่า 255.15 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยในช่วงสามสี่ปีที่ผ่านมา มีการลงทุนในกิจการขนส่งทางอากาศ กิจการผลิตยาง อะไหล่ ยังมีการลงทุนด้านอสังหาริมทรัพย์ การก่อสร้าง และโลจิสติกส์ ที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกด้วย