นายกฯ ไทย-จีน วางเป้าหมายการค้าทวิภาคี 4.5 ล้านล้านบาท ในปี 64

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และ วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2019.04.26
กรุงเทพฯ
190426-TH-CH-obor-1000.jpg พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ นายสี จิ้น ผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน จับมือยินดี ในงานการหารือร่วมกัน ณ มหาศาลาประชาชน กรุงปักกิ่ง วันที่ 26 เมษายน 2562
เอเอฟพี

ในวันศุกร์นี้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้หารือร่วมกับนายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน และนายสี จิ้น ผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยได้ตกลงที่จะร่วมมือทางการค้า เพื่อหวังสร้างมูลค่าธุรกิจร่วมกัน 4.5 ล้านล้านบาท (140,000 ล้านดอลล่าร์) ภายในปี 2564 โดยพลเอกประยุทธ์ ระบุว่า ยินดีที่ไทยได้เป็นส่วนหนึ่งของเส้นทางสายไหมใหม่

พลเอกประยุทธ์ ได้เดินทางถึงประเทศจีน เมื่อตอนเช้าของวันศุกร์นี้ โดยได้กล่าวสุนทรพจน์ต่อที่ประชุมข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง ครั้งที่สอง ซึ่งพลเอกประยุทธ์ เข้าร่วมประชุมระหว่างวันที่ 26-27 เมษายน 2562 จากนั้น ได้พบปะหารือกับนายกรัฐมนตรีของจีน ในช่วงกลางวัน ก่อนที่จะหารือทวิภาคีกับนายสี จิ้น ผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน ณ มหาศาลาประชาชน กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน ในตอนค่ำ

พลโทวีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งเดินทางไปในคณะของพลเอกประยุทธ์ เปิดเผยว่า ทั้งสองฝ่ายได้หารือถึงความสัมพันธ์ทวิภาคี โดยผู้นำไทยและจีน ต่างยินดีที่ทั้งสองประเทศ มีความสัมพันธ์ที่ราบรื่นและใกล้ชิดกันมาอย่างยาวนาน พร้อมทั้งเน้นย้ำความร่วมมือทางเศรษฐกิจ

“ความร่วมมือด้านเศรษฐกิจ ทั้งสองฝ่ายต่างมองว่า ไทยและจีนยังมีศักยภาพในการพัฒนาความร่วมมือด้านเศรษฐกิจได้อีกมาก เพื่อบรรลุเป้าหมายการค้าทวิภาคีที่ตั้งไว้ที่ 140,000 ล้านดอลลาร์ (ประมาณ 4.5 ล้านล้านบาท) ในปี 2564” พลโทวีรชน กล่าวในแถลงการณ์ หลังจาก นายกรัฐมนตรีไทย เสร็จสิ้นการหารือกับนายกรัฐมนตรีจีน และระบุเพิ่มเติมว่า ทั้งสองฝ่ายยังเห็นพ้องกันว่า ความร่วมมือ 3 ฝ่าย (ไทย-จีน-ญี่ปุ่น) ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จะเป็นกลจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยและภูมิภาค

ตามตัวเลขกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ จีนมีมูลค่าการค้ากับไทย 80.1 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในปี 2561 เพิ่มขึ้นจากปีก่อนร้อยละ 8.7 โดยสินค้าส่งออกหลักของไทย ได้แก่ เม็ดพลาสติก ผลิตภัณฑ์ยาง เคมีภัณฑ์ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ และยางพารา เป็นต้น ส่วนสินค้านำเข้าหลักของไทยจากจีน ได้แก่ เครื่องจักรไฟฟ้า เครื่องจักรกล เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เคมีภัณฑ์ และเครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ

“ทั้งสองฝ่ายต่างย้ำเจตนารมณ์ที่จะผลักดันความสัมพันธ์ไทย-จีน และความร่วมมือเชิงหุ้นส่วนยุทธศาสตร์ที่รอบด้านให้เป็นรูปธรรม โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจและความเชื่อมโยงที่จะสอดคล้องกับ Thailand 4.0 และ BRI และขอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องของทั้งสองฝ่ายร่วมกันทำงานอย่างแข็งขันต่อไป ทั้งนี้เชื่อมั่นว่าความเป็นหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจที่ใกล้ชิดไทย-จีน จะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภูมิภาคให้ก้าวหน้าต่อไป โดยพร้อมที่จะร่วมมือกันผลักดันให้บรรลุเป้าหมายการค้าไทย-จีนที่ตั้งไว้ใหม่ที่ 140,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ภายในปี 2564” รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวในแถลงการณ์หลังจากพลเอกประยุทธ์ เสร็จสิ้นการหารือกับประธานาธิบดีสี จิ้น ผิง

การประชุมเวทีข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (Belt and Road Forum for International Cooperation – BRF) ครั้งที่ 2 ระหว่างวันที่ 25-27 เมษายน 2562 จัดขึ้น ณ กรุงปักกิ่ง สาธารณรัฐประชาชนจีน โดยในครั้งนี้ มีหัวข้อคือ ความร่วมมือสายแถบและเส้นทาง: สร้างอนาคตใหม่ที่สดใสไปด้วยกัน (Belt and Road Cooperation: Shaping a Brighter Shared Future) ซึ่งมีผู้นำจาก 38 ประเทศ เข้าร่วม และจะมีการรับรองแถลงการณ์ร่วมของการประชุมผู้นำโต๊ะกลม (Leaders’ Roundtable) ในวันเสาร์นี้

One Belt One Road - เส้นทางและสายแถบ

ยุทธศาสตร์ One Belt One Road คือ ความพยายามของประเทศจีนที่จะสร้าง “เส้นทางสายไหมยุคใหม่” ที่จะเชื่อมโยงโครงข่ายการคมนาคมขนส่งและสาธารณูปโภคดิจิตัล กับเครือข่ายกว่า 60 ประเทศ ในทวีปเอเชีย แอฟริกา และยุโรป ซึ่งมีประชากรรวมกันประมาณ 4,400 ล้านคน มากกว่าครึ่งหนึ่งของโลก และมีสัดส่วน GDP ร้อยละ 40 ของโลก

อย่างไรก็ตาม มีรายงานข่าวว่าหลายประเทศซึ่งทำโครงการร่วมกับจีน และผิดนัดชำระหนี้ จะถูกรัฐบาลจีนพยายามยึดอสังหาริมทรัพย์ทดแทนหนี้ หรือบีบให้ทำสัญญาที่ไม่เป็นธรรม เช่น สื่อศรีลังการายงานว่า ท่าเรือฮัมบันโตตา ที่ประเทศศรีลังกากู้ยืมทุนสร้างจากจีนและสร้างโดยบริษัทจีน มูลค่า 34,000 ล้านบาท แต่เนื่องจากท่าเรือไม่ประสบความสำเร็จ ทำให้ศรีลังกา ต้องหาเงินมาใช้หนี้ และถูกบีบให้ลงนามในข้อตกลงที่จะให้จีนถือหุ้นท่าเรือดังกล่าวเพื่อหักหนี้บางส่วน โดยจีนถือหุ้นถึง 80 เปอร์เซ็นต์ และสื่อในเคนยา รายงานว่า จีนอาจจะยึดท่าเรือมอมบาซาของเคนยาเพื่อชดใช้หนี้ประมาณ 2,229 ล้านดอลลาร์ ที่บริษัทการรถไฟเคนยากู้ยืมมาจากธนาคาร Exim Bank ของจีน

อย่างไรก็ตาม นายสี จิ้นผิง ประธานาธิบดีจีน หลีกเลี่ยงที่จะกล่าวถึงเรื่องหนี้ ในการประชุมข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (BRF) ครั้งที่ 2 นี้ แต่สัญญาว่าจะดำเนินการโครงการให้มีระดับคุณภาพที่สูง รวมทั้งเรื่องสิ่งแวดล้อม ตามรายงานของสำนักข่าวเอพี

สำหรับไทย โครงการที่สำคัญใน OBOR คือ โครงการรถไฟความเร็วสูง 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ที่ไทยและจีน ได้ลงนาม “กรอบความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยและรัฐบาล แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนว่าด้วยการกระชับความร่วมมือในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทางรถไฟ ภายใต้กรอบยุทธศาสตร์ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานการคมนาคมขนส่งของประเทศไทย พ.ศ. 2558-2565” เมื่อปี 2559

รัฐบาลไทยได้อนุมัติโครงการสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูงเฟสที่หนึ่งไปแล้ว เป็นเส้นทางจากกรุงเทพถึงนครราชสีมา ระยะทาง 253 กิโลเมตร ซึ่งพลเอกประยุทธ์ และผู้แทนจากสาธารณรัฐประชาชนจีน ได้ทำพิธีวางศิลาฤกษ์ไปเมื่อเดือนธันวาคม 2560 เพื่อดำเนินการก่อสร้างเส้นทางระยะ 3.5 กิโลเมตรโดยกรมทางหลวง และส่วนอื่นๆ ของเฟสที่หนึ่ง อยู่ระหว่างการหาผู้รับเหมาก่อสร้าง ขณะที่เฟสที่สองจากนครราชสีมาไปยังหนองคายนั้นยังไม่มีการดำเนินการ ทั้งนี้ ทั้งสองเฟสมีมูลค่ารวม 179,412 ล้านบาท ซึ่งพลเอกประยุทธ์ ย้ำว่ารัฐบาลไทยจะใช้แหล่งเงินทุนในประเทศ ในขณะที่นักวิชาการแสดงความกังวลต่อความใกล้ชิดของสองประเทศ

ไทยอาจถูกจีนครอบงำจากการมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดจีน

ผศ.ดร.ดุลยภาค ปรีชารัชช สาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า มีความเป็นไปได้ที่ไทยจะถูกจีนครอบงำทางนโยบาย หากร่วมมือกับจีนในโครงการต่างๆ มากเกินไป

“การร่วมมือกับจีนมากๆ ย่อมมีความเสี่ยงอยู่แล้วที่จะทำให้นโยบายต่างประเทศ ป้องกันประเทศ และเศรษฐกิจของไทย ตกอยู่ใต้การกำกับชี้นำของจีน หากแต่ประวัติศาสตร์การทูตและแนวนโยบายต่างประเทศไทยที่ผ่านมา ยังคงตอกย้ำให้เห็นถึงความพยายามถ่วงดุลอำนาจ ดังนั้น อเมริกา หรือ มหาอำนาจอื่นๆ จะยังคงมีบทบาทในการถ่วงดุลกับจีนอยู่ ฉะนั้น จึงไม่ได้หมายความว่า จีนจะเข้ามาแทนที่สหรัฐหรือกลายเป็นยักษ์ใหญ่ที่ครอบงำรัฐไทยแบบรวดเร็ว” ผศ.ดร.ดุลยภาค กล่าว

ผศ.ดร.ดุลยภาค ชี้ว่า ความสัมพันธ์ไทย-จีน ล่าสุด ถูกตกลงให้มีลักษณะเป็น comprehensive partner ที่ครอบคลุมความร่วมมือหลากหลายมิติ โดยมีพลังภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitics) ใต้กรอบเส้นทางและสายแถบเป็นตัวกำกับ สิ่งนี้ จึงทำให้น่าวิเคราะห์ต่อว่า ในอนาคต อิทธิพลของจีนบนความสัมพันธ์กับไทย จะเทียบชั้นได้กับพันธมิตรเชิงกลยุทธ์ (Strategic Alliance) ที่ไทยมีกับสหรัฐ ได้มากน้อยแค่ไหน รวมถึง สหรัฐจะมีขนาดของภูมิรัฐศาสตร์ในการชนหรือยันกับ OBOR ของจีนได้ดีแค่ไหน อย่างไร สิ่งนี้ ต่างหากที่เป็นความท้าทายหลักในความสัมพันธ์ไตรภาคี จีน สหรัฐ ไทย ในบริบทการเมืองเอเชียแปซิฟิก

“ให้ลองจับตาทางรถไฟจีน ลาว ที่จะมาโยงกับทางรถไฟความเร็วสูงสายอีสานที่พ่วงเส้นกรุงเทพ-โคราชในอนาคต รวมถึงแนวคิดขุดคลองไทย และการเชื่อมโยง (connectivity) ทางเศรษฐกิจ โลจิสติกส์ ระหว่างฮ่องกง มาเก๊า จูไห่ กับอ่าวตังเกี๋ยในเวียดนาม การขยายข่ายโลจิสติกส์จีนในรัฐชาติพันธุ์และแม่น้ำอิระวดีในพม่า ตลอดจนการปัดฝุ่นเส้นทางรถไฟจีนในมาเลเซีย และคาบสมุทรมลายู สิ่งต่างๆ เหล่านี้ จะก่อผลกระทบต่อ geopolitical change ของรัฐไทยในอนาคตอันใกล้” ผศ.ดร.ดุลยภาค ระบุ

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง