ซูเพิร์บ ครีเอชั่น เริ่มย้ายฐานผลิตออกจากปัตตานี หลังรัฐอุดหนุนค่าขนส่งไม่ได้

มารียัม อัฮหมัด
2020.10.05
ปัตตานี
201005-TH-CH-deepsouth-worker.1000.jpg พนักงานโรงงาน ซูเพิร์บ ครีเอชั่น เฟอร์นิเจอร์ วัดแพทเทิร์นหนังหุ้มโซฟา ในโรงงานชั่วคราวของบริษัทฯ ขณะที่เริ่มมีการย้ายอุปกรณ์บางส่วนออกไปยังนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง จังหวัดชลบุรี วันที่ 2 ตุลาคม 2563
เบนาร์นิวส์

ในวันจันทร์นี้ นายสุเมธ สุขพันธ์โพธาราม กรรมการบริษัท ซูเพิร์บ ครีเอชั่น เฟอร์นิเจอร์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ทางบริษัทฯ ได้เริ่มย้ายฐานการผลิตเฟอร์นิเจอร์ จากอำเภอหนองจิก ปัตตานี ไปยังนิคมอุตสาหกรรมแหลมฉบัง ในจังหวัดชลบุรี เพราะทางศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไม่สามารถชดเชยค่าขนส่งให้กับทางบริษัทได้ ประกอบกับพื้นที่กว่า 200 ไร่ ที่บริษัทฯ ซื้อไว้หลังศูนย์ฝึกอบรมและโรงงานชั่วคราว เพื่อการขยายโรงงาน ในอำเภอหนองจิกนั้น เป็นพื้นที่โซนสีเขียว สำหรับที่อยู่อาศัย ไม่สามารถดำเนินการต่อได้

ทั้งนี้ บริษัท ซูเพิร์บ ครีเอชั่น เฟอร์นิเจอร์ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งมีสำนักงานชั่วคราวตั้งอยู่ที่อาคารดอนบอสโก เลขที่ 141 ต.บางเขา อ.หนองจิก จ.ปัตตานี เป็นการร่วมลงทุนของนักธุรกิจไทย และ ซูเพิร์บ ครีเอชั่น ลิมิตเต็ด ซึ่งเป็นบริษัทผลิตเฟอร์นิเจอร์หนัง ที่มีฐานการผลิต ในเมืองเซินเจิ้น มาตั้งแต่ ปี พ.ศ. 2543 โดยบริษัท ซูเพิร์บ ครีเอชั่น เฟอร์นิเจอร์ ในปัตตานี ได้เปิดดำเนินการอย่างเป็นทางการ เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. 2562 มีมูลค่าการลงทุนเบื้องต้น 350 ล้านบาท มีพนักงานราว 200 คน และได้ส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐอเมริกา ประมาณ 7,000 ชิ้น หรือ 200 ตู้คอนเทนเนอร์แล้ว โดยใช้วัสดุนำเข้าจากบราซิล และมีแผนใช้วัสดุในพื้นที่ เช่น ไม้ยางพารา เมื่อมีการขยายโรงงานจริง

นายสุเมธ กล่าวว่า ในก่อนหน้านี้ ทางโรงงานได้มาลงทุนในอำเภอหนองจิก แทนการตั้งโรงงานในพื้นที่ระเบียงอุตสาหกรรมตะวันออก (อีอีซี) เพราะได้รับคำเชิญชวนของทาง ศอ.บต. โดยทาง ศอ.บต. ได้รับปากว่าจะช่วยดำเนินการขอทางรัฐให้อุดหนุนส่วนต่างค่าขนส่ง 500 เหรียญ หรือประมาณ 15,000 บาท ต่อหนึ่งตู้คอนเทนเนอร์ แต่ทาง ศอ.บต. ไม่สามารถทำตามคำสัญญาได้ ซึ่งทางบริษัทฯ ขาดทุนในภาพรวมแล้ว 400 ล้านบาท

“เราตั้งใจย้ายฐานการผลิตจากเซินเจิ้น ประเทศจีน มาที่ปัตตานี เพราะอยากให้เกิดการจ้างงานในพื้นที่ มากกว่า 3,000 คน อย่างที่เคยเล่า สามปีแรก เราจะใช้ศูนย์ฝึกอาชีพ ดอน บอสโก เป็นที่ตั้งของโรงงานชั่วคราว จากนั้นได้ซื้อที่ดิน 211 ไร่ อยู่ด้านหลัง เพื่อสร้างโรงงานเอง แต่ยังติดปัญหาสร้างไม่ได้ เพราะผังเมืองพื้นที่ตรงนั้นเป็นสีเขียว ขณะที่ค่าส่วนต่าง 500 เหรียญ ซึ่งหนึ่งปี เราส่งเฟอร์นิเจอร์ เมดอินปัตตานีไปสหรัฐ แล้ว 200 ตู้ 7,000 ชิ้นแล้ว เวลาผ่านไปเป็นปี เรายังไม่ได้รับค่าส่วนต่างเลย เรายังไม่สามารถขยายโรงงานได้ แล้วเงินที่ออฟฟิสเสียไปแล้ว 400 กว่าล้านบาท ก็ไม่รู้จะพูดยังไง” นายสุเมธ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

ทั้งนี้ นายสุเมธ กล่าวว่า ทางบริษัทฯ ได้รับการเชิญจากอดีตแม่ทัพภาคที่ 4 และทาง ศอ.บต. โดยมีนายชนธัญ แสงพุ่ม หรือ ดร.เจ๋ง รองเลขาธิการ ศอ.บต. เป็นผู้ทำหนังสือขอให้ทางรัฐบาลอนุมัติเงินอุดหนุนส่วนต่างค่าขนส่งตั้งแต่ต้นปี 2562

“เราแจ้งไปยัง ศอ.บต. ว่า เรามาไม่ได้เพราะค่าขนส่งแพงกว่าไปอยู่ที่อีอีซี แต่ถ้าเกิดคุณสนับสนุนค่าส่วนต่างก็พอไหว ขอแค่นี้ ศอ.บต. ทำหนังสือไปยังนายกรัฐมนตรี และวันที่ 5 มีนาคม 2562  มีหนังสือจากนายกรัฐมนตรี มีพลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เซ็นเห็นชอบ...  หลังจากมีการทำบันทึกจากหลายฝ่าย ทางเรามีความเชื่อมั่น นายกรัฐมนตรี เซ็นอนุมัติ ศอ.บต. เสนอเรื่องไป กอ.รมน. ช่วยเต็มที่มาตลอด เราก็มั่นใจรีบดำเนินการทั้งหมดทันที” นายสุเมธกล่าว

อย่างไรก็ตาม หลังจากเริ่มส่งออกผลิตภัณฑ์ไปได้สี่ถึงห้าเดือน หลังจากเปิดสายการผลิตอย่างเป็นทางเมื่อเดือนธันวาคม 2562 ทางภาครัฐไม่สามารถที่จะจ่ายเงินส่วนต่างค่าขนส่งได้ จวบจนปัจจุบันนี้ นายสุเมธ กล่าวเพิ่มเติม

นายสุเมธ อธิบายเพิ่มเติมว่า ในเรื่องของที่ดินเพื่อการขยายโรงงานกว่า 200 ไร่นั้น ตนเองได้พูดคุยกับผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี ซึ่งท่านได้รับปากว่า จะพิจารณาปรับผังเมืองให้เป็นพื้นที่สีม่วง เพื่ออนุญาตให้ตั้งโรงงานได้

ศอ.บต.แจง คลังตีกลับ-ชดเชยให้รูปแบบเงินสดไม่ได้

ในเรื่องนี้ นายชนธัญ แสงพุ่ม หรือ ดร.เจ๋ง เป็นผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวชี้แจงว่า ทาง ศอ.บต ได้พยายามให้ความช่วยเหลือในแต่ละเรื่องอย่างเต็มที่

“ตอนนี้จังหวัดปัตตานี ก็กำลังดำเนินการให้ แต่การปรับผังเมืองไม่ได้เสร็จภาย 3 เดือน 2-3 ปี เราก็ไม่รู้ว่าจะเสร็จหรือเปล่า” นายชนธัญ กล่าว

ส่วนเรื่องการอุดหนุนค่าขนส่งนั้น นายชนธัญ กล่าวว่า “เราส่งเรื่องไปที่กระทรวงการคลัง เพราะทาง ศอ.บต. เองไม่สามารถชดเชยด้วยตัวเองอยู่แล้ว การคลังตีเรื่องกลับมาว่า ชดเชยให้รูปแบบเงินสดไม่ได้ ถ้าให้บริษัทที่อยู่พื้นที่ทั้งหมดที่ใช้ระบบขนส่ง ถ้าเขาโวยขึ้นมาจะทำยังไง และกรรมาธิการเศรษฐกิจการเงินสภาผู้แทนราษฎรเรียกเรื่องเข้าไป เขาบอกว่าถ้า ศอ.บต. ดำเนินการเรื่องนี้ จะไปละเมิดกฎของการค้าอาเซียน”

อย่างไรก็ตาม นายสุเมธ กล่าวว่า ตนไม่ทราบเรื่องกฎการค้าอาเซียน แต่เมื่อทาง ศอ.บต. เสนอเรื่องไปยังนายกรัฐมนตรีแล้ว ก็ต้องปฏิบัติตามที่นายกฯ เห็นชอบ

“การทำผิดกฎการค้าอาเซียน อันนั้นเราไม่ทราบเรื่องของรัฐนะ ที่สำคัญคือ ศอ.บต. เสนอเรื่องไปให้นายกฯ อนุมัตินั้น ต้องปฏิบัติได้ ไม่อย่างนั้นจะเสนอผู้บังคับบัญชาสูงสุดได้อย่างไร เราก็มาตามคำเชิญ พื้นที่ภาคใต้เป็นพื้นที่พิเศษ ปัจจุบันจะผลิตอะไรส่งออกนั้น ต้นทุนทางการผลิตและขนส่งสูงกว่า ในทางปฏิบัติจริงนั้นภาคใต้ไม่มีทางสู้คนอื่นได้ และไม่มีใครมาลงทุน ไม่ทราบว่าจะกีดกันทางการค้าอย่างไร เราไม่ทราบถึงระเบียบของราชการ” นายสุเมธ กล่าว

ทั้งนี้ ในข้อเสนอของ ศอ.บต. ไปยังสำนักนายกรัฐมนตรีนั้น ได้ระบุถึงความจำเป็นของการอุดหนุนส่วนต่างให้กับภาคธุรกิจในภาคใต้ เช่น โรงงานซูเพิร์บ ครีเอชั่น เพราะค่าขนส่งในภูมิภาคนี้แพง เพราะไม่มีท่าเรือน้ำลึก โดยให้ช่วยเหลืออุดหนุน จนกว่าจะมีท่าเรือปัตตานี ท่าเรือเทพา หรือท่าเรือจะนะ โดยมาตรการพิเศษนี้จะช่วยแก้ไขปัญหาความรุนแรงในภาคใต้ได้อีกด้วย

“วันนี้ เราไม่ได้หยุดการช่วยเหลือ เราเจรจาขอขยายรถไฟนาประดู่ ให้เป็นสถานีขนส่ง เพื่อลดภาระให้ขนส่งทางรถไฟในราคาพิเศษ น่าจะเหลือ 100 เหรียญต่อตู้ เราเตรียมพัฒนาตรงนี้ 120 ล้าน” นายชนธัญ กล่าวเพิ่มเติม

ด้านนายมะสัมรี บินเจ๊ะมุ หนึ่งในแรงงานบริษัท ซูเพิร์บ ครีเอชั่น กล่าวว่า ตนและเพื่อนคนงานต่างมีความกังวลใจ

“วันนี้ ยังมาทำงานปกติ แต่พรุ่งนี้เราไม่รู้ว่าจะสามารถมาทำงานได้เหมือนวันนี้ไหม โรงงานกระทบแรงงาน 200 คน เดือดร้อน รวมทั้งครอบครัวอีก กังวลมากเรื่องที่โรงงานย้ายฐานผลิต” นายมะสัมรี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

นายสุเมธ กล่าวว่า ในเบื้องต้น จะคงการผลิตส่วนงานเย็บหนังไว้ที่ปัตตานี ซึ่งจะยังคงมีการจ้างงานประมาณ 20 คน หรือ หากต้องการ แรงงานสามารถติดตามไปทำงานที่โรงงานใหม่ ในจังหวัดชลบุรีได้

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง