ศาลยกฟ้องนางหวู ยู่หัว ในคดีเข้าเมืองผิดกฎหมาย
2018.12.26
กรุงเทพฯ
ศาลแขวงปทุมวันได้พิพากษายกฟ้องนางหวู ยู่หัว ผู้ลี้ภัยทางการเมืองชาวจีน ในคดีเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย ในวันอังคารที่ผ่านมานี้ เพราะจำเลยมีหลักฐานการเข้าเมืองโดยถูกต้องตามกฎหมาย ตามคำกล่าวของทนายความมูลนิธิประชาชนเพื่อประชาชน
นางหวู ยู่หัว และนายหยาง ชง สองสามีภรรยาชาวจีน เป็นนักเคลื่อนไหวต่อต้านรัฐบาลจีน ซึ่งถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจีนหมายหัว เพราะทั้งสองร่วมชุมนุมประท้วงเรียกร้องการแสดงออกในเมืองกวางโจว เมื่อปี 2556
จากนั้น ได้เดินทางเข้ามาในประเทศไทย เมื่อวันที่ 28 มกราคม 2558 เพราะกลัวถูกทางการจีนจับกุมตัว หลังจากนางหวูได้ริเริ่มจัดตั้งกลุ่มเคลื่อนไหวเรียกร้องในเรื่องการหายตัวไปของนายเกา ซิชิง ทนายความสิทธิมนุษยชนชาวจีน
นายหยาง ชง ได้ให้การต่อศาลว่า ทั้งสองเดินทางโดยเครื่องบินที่สนามบินดอนเมือง และได้รับวีซ่านักท่องเที่ยวอนุญาตให้อยู่ในประเทศไทยเป็นเวลา 15 วัน ถึงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2558 แต่ทั้งคู่ยังคงอาศัยอยู่ในประเทศไทยเกินระยะเวลาที่ได้รับอนุญาต
“ศาลมีคำพิพากษาแล้ว ในวันที่ 25 ธันวาคม 2561 นี้ ตัดสินให้ยกฟ้อง เนื่องจากจำเลยถูกฟ้องในข้อหาเข้าเมืองโดยผิดกฎหมาย แต่พิสูจน์แล้วว่าเขาเข้าเมืองโดยมีเอกสารเดินทางถูกต้อง เป็นการฟ้องผิดข้อหา จึงให้ยกฟ้อง” น.ส.วริศรา รุ่งทอง ทนายความมูลนิธิประชาชนเพื่อประชาชน (People Serving People) กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
“เบื้องต้น ฝั่งทนายจำเลยจะไม่อุทธรณ์ ใกล้มีประเทศที่สามให้ถิ่นพักพิงแล้ว” ทนายความวริศรา ผู้ว่าความให้หวู ยู่หัว กล่าว
นายหยาง และนางหวู ถูกควบคุมตัวโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจสถานีตำรวจนครบาลลุมพินี เมื่อวันที่ 29 สิงหาคม 2561 หลังจากที่เจ้าหน้าที่สถานเอกอัครราชทูตนิวซีแลนด์ ประจำประเทศไทย ได้นำตัวทั้งคู่ไปส่งที่สถานีฯ โดยอ้างว่าทั้งสองได้สร้างความวุ่นวายที่สถานทูตฯ ร่วมกับเพื่อน ในขณะที่นายหยางกล่าวว่า พวกเขามีการเรียกร้องต่อสถานทูตเรื่องการขอลี้ภัย
เจ้าหน้าที่ตำรวจ สน.ลุมพินี ตรวจสอบเอกสารพบว่านายหยาง และนางหวู ไม่มีเอกสารยืนยันตัวตนใดๆ ยกเว้นเพียงเอกสารยืนยันสถานะผู้ลี้ภัยจากสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ที่ได้รับเมื่อปี 2560 จึงได้ดำเนินคดีในความผิดตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง
ในก่อนหน้านี้ นายหยาง ชง ผู้สามี ได้ถูกศาลฯ ตัดสินจำคุก 6 เดือน และปรับ 10,000 บาท เพราะมีความผิดตาม พ.ร.บ.คนเข้าเมือง ฐานอาศัยอยู่ในประเทศไทยเกินกว่าที่กฎหมายกำหนด อย่างไรก็ตาม ศาลได้ปล่อยตัวเพราะถูกขังมานานแล้ว และให้รอลงอาญาเป็นเวลา 1 ปี