ครม. เห็นชอบเพิ่มวงเงินรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-หนองคาย

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2020.09.29
กรุงเทพฯ
200929-TH-CH-Railway-1000.jpg พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรียืนข้างโมเดลรถไฟความเร็วสูง ในพิธีเปิดของความร่วมมือระหว่างไทย-จีน ในการพัฒนารถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-หนองคาย ในนครราชสีมา วันที่ 21 ธันวาคม 2560
รอยเตอร์

ในวันอังคารนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้เพิ่มกรอบวงเงินโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-หนองคาย ในส่วนสัญญาระบบราง ไฟฟ้า เครื่องกล จัดหาขบวนรถไฟ และการอบรมบุคลากร จาก 38,558.38 ล้านบาท เป็น 50,633.50 ล้านบาท เพราะมีการปรับปรุงการก่อสร้าง การบำรุงรักษา และเปลี่ยนขบวนรถ เป็นรุ่นที่ทันสมัยกว่ารุ่นเดิมที่ระบุไว้ในตอนแรก ที่ ครม. อนุมัติไว้เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2560

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยแก่สื่อมวลชน หลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า ครม. เห็นชอบการเพิ่มกรอบวงเงิน และร่างข้อตกลงสัญญาจ้างแล้ว รวมถึงมีการเปลี่ยนรุ่นรถไฟที่จะใช้ และรูปแบบการก่อสร้าง

“คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการปรับกรอบวงเงิน และร่างข้อตกลงการจ้างและสัญญาจ้างงานระบบราง ระบบไฟฟ้า และเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟ และจัดอบรมบุคลากรหรือเรียกว่า สัญญา 2.3 ฉบับสมบูรณ์ โครงการนี้เป็นความร่วมมือของรัฐบาลไทยกับรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน… ในการปรับสัดส่วนกรอบวงเงิน ครม. ก็เห็นชอบ สัญญา 2.3 เดิม ครม. อนุมัติไว้เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2560 จาก 38,558 ล้านบาท เป็น 50,633 ล้านบาท รวมภาษีมูลค่าเพิ่มร้อยละ 7 หรือเพิ่มขึ้นจำนวน 12,075.12 ล้านบาท” น.ส.ไตรศุลี กล่าว

น.ส.ไตรศุลี ระบุว่า กรอบวงเงินที่เพิ่มขึ้นประกอบด้วย 1. การย้ายขอบเขตงานของงานระบบรถไฟความเร็วสูงที่ซ้อนทับอยู่ในขอบเขตของงานโยธาเป็นเงิน 7,032.78 ล้านบาท ซึ่งเป็นงานจัดซื้อเครื่องจักรและอุปกรณ์บำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐาน (Infrastructure Maintenance) สิ่งอำนวยความสะดวกสำหรับขบวนรถไฟฟ้า (EMU Facility) โรงเชื่อมรางและกองเก็บ (Track Welding and Storage Base) และโรงกองเก็บราง (Long Track Storage Base) จึงได้ย้ายขอบเขตงานจากงานโยธาไปไว้ยังงานระบบไฟฟ้าและเครื่องกลฯ 2. การเปลี่ยนรุ่นขบวนรถ EMU จากรุ่น CRG2G (Hexie Hao) เป็น CR Series (Fuxing Hao) ซึ่งเป็นรถรุ่นใหม่ที่มีเทคโนโลยีและสมรรถนะที่ดีกว่า เป็นเงินเพิ่มขึ้น 2,530.38 ล้านบาท 3. การปรับเปลี่ยนทางแบบใช้หินโรยทาง (Ballasted Track) เป็นทางแบบไม่ใช้หินโรยทาง (Ballastless Track) ในทางวิ่งช่วงสถานีบางซื่อ-สถานีดอนเมือง ในสถานีอยุธยา สถานีสระบุรี สถานีปากช่อง สถานีนครราชสีมา และภายในอุโมงค์ เพื่อให้ง่ายต่อการซ่อมบำรุง ลดค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุงในอนาคต อีกทั้งยังรักษาภาพลักษณ์และทัศนียภาพ ตลอดจนมลภาวะต่าง ๆ ที่จะเกิดจากการซ่อมบำรุงทางในสถานี ซึ่งตั้งอยู่ในเขตเมืองและภายในอุโมงค์ คิดเป็นค่าใช้จ่ายการเปลี่ยนโครงสร้างทาง เป็นเงินทั้งสิ้น 2,227.57 ล้านบาท และ 4. ค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่ารับประกันผลงานจากความชำรุดบกพร่องจาก 1 ปี เป็น 2 ปี ตามระเบียบฯ ค่าดำเนินการต่าง ๆ และอื่น ๆ เป็นจำนวนเงิน 284.39 ล้านบาท

สาระสำคัญของร่างสัญญางานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร (สัญญา 2.3) มีดังนี้คือ เป็นสัญญาการจ้างรัฐวิสาหกิจ ซึ่งเป็นตัวแทนแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนที่มีประสบการณ์ตรง ด้านการพัฒนารถไฟความเร็วสูงที่ได้รับการรับรองคุณภาพและประสิทธิภาพจาก National Development and Reform Commission แห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน (CHINA RAILWAY INTERNATIONAL CO., LTD. และ CHINA RAILWAY DESIGN CORPORATION) มาเป็นผู้รับจ้างก่อสร้าง ติดตั้งงานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ระบบรถไฟความเร็วสูง จัดหาขบวนรถไฟ และฝึกอบรมบุคลากร ชื่อสัญญาภาษาอังกฤษว่า The Trackwork, Electrical and Mechanical (E&M) System, EMU, and Training Contract มีวงเงินของสัญญา 50,633.50 ล้านบาท

น.ส.ไตรศุลี เปิดเผยว่า ระยะเวลาเริ่มต้นของสัญญาแบ่งเป็น 3 ช่วง ได้แก่ 1. การเริ่มต้นงานออกแบบระบบรถไฟความเร็วสูง และออกแบบระบบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนออกแบบขบวนรถไฟ 2. การเริ่มต้นงานฝึกอบรมบุคลากรเพื่อการเดินรถและซ่อมบำรุง และการถ่ายทอดเทคโนโลยี และ 3. การเริ่มต้นงานก่อสร้าง ติดตั้งงานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล ระบบรถไฟความเร็วสูงที่เกี่ยวข้อง ระยะเวลาสิ้นสุดสัญญา 64 เดือน

ทั้งนี้ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา กรมทางหลวง กระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า การก่อสร้างโครงสร้างก่อนวางรางเส้นทางรถไฟความเร็วสูงไทย กรุงเทพฯ-หนองคาย ช่วงที่ 1 กลางดง-ปางอโศก ระยะทาง 3.5 กิโลเมตร ได้เสร็จสิ้นเรียบร้อยแล้ว คาดว่าจะสามารถส่งมอบงานให้กับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ดำเนินการต่อได้ภายในเดือนกันยายน 2563 นี้

“สำหรับโครงการก่อสร้างทางรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ช่วงที่ 1 กลางดง-ปางอโศก ใช้เวลาดำเนินการทั้งสิ้น 2 ปี 6 เดือน ซึ่งใช้เวลาในการก่อสร้างค่อนข้างมาก เนื่องจากต้องใช้กระบวนการทำงานของกรมทางหลวงเอง มาประยุกต์ให้เข้ากับกระบวนการทำงานของรถไฟความเร็วสูง โดยผู้ควบคุมงานจากประเทศจีน ได้ทำงานควบคู่กับการศึกษาและเรียนรู้ เพื่อให้สามารถใช้วัสดุภายในประเทศให้ได้มากที่สุด” นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย รองอธิบดีกรมทางหลวง เปิดเผยผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจของ กรมทางหลวง

ในปี 2560 นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เคยเปิดเผยในช่วงการเริ่มก่อสร้าง โครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน ว่าโครงการดังกล่าวช่วง กรุงเทพฯ-นครราชสีมา วงเงินลงทุน 179,000 ล้านบาท แบ่งเป็น 4 ช่วง โดยระยะช่วงแรกจากกลางดง-ปางอโศก 3.5 กิโลเมตร ช่วงที่สองจากปากช่อง-คลองขนานจิตร 11 กิโลเมตร ช่วงที่สาม จากแก่งคอย-โคราช 138.5 กิโลเมตร และช่วงสุดท้าย กรุงเทพฯ-แก่งคอย 133 กิโลเมตร ให้บริการ 6 สถานี ประกอบด้วย บางซื่อ ดอนเมือง อยุธยา ลพบุรี ปากช่อง นครราชสีมา ระยะแรกจะมีรถไฟให้บริการจำนวน 6 ขบวน บรรจุผู้โดยสารได้ 600 คนต่อขบวน หรือ 5,300 คนต่อวัน วิ่งโดยใช้ความเร็ว 250 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทำให้การเดินทางจากกรุงเทพฯ - นครราชสีมา ใช้เวลาเพียง 1 ชั่วโมง 17 นาที อัตราค่าโดยสารเบื้องต้นกำหนดไว้ที่ 80 บาท +1.8 บาทต่อกิโลเมตร หรือ 535 บาทต่อคน ในเส้นทาง กรุงเทพฯ - นครราชสีมา โดยคาดว่าจะสามารถเปิดให้ใช้บริการได้ภายในปี 2566

ปัจจุบัน ช่วงที่ 1 กลางดง-ปางอโศก ก่อสร้างโดยกรมทางหลวงเสร็จสิ้นแล้ว รอการส่งมอบ ช่วงที่ 2 สีคิ้ว-กุดจิก 11 กิโลเมตร ก่อสร้างโดย บริษัท ซีวิลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด อยู่ระหว่างการดำเนินการก่อสร้าง ขณะที่ 12 ช่วงที่เหลือมีการประมูลเแล้ว อยู่ระหว่างการรอเซ็นสัญญาก่อสร้างจริง

ส่วนโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-หนองคาย นั้น ในขณะนี้ กำลังอยู่ในระหว่างการทำประชาพิจารณ์ เพื่อสอบถามความคิดเห็น และรับฟังข้อชี้แนะจากชาวบ้านที่เส้นทางรถไฟความเร็วสูงผ่าน

นนทรัฐ ไผ่เจริญ ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง