ไทยเซ็นสัญญากับจีน ดำเนินโครงการรถไฟความเร็วสูงกรุงเทพฯ-โคราช
2020.10.28
กรุงเทพฯ
ในวันพุธนี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้เป็นประธานในพิธีลงนามสัญญาจ้างระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร (สัญญา 2.3) ตามโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทย และรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีนในการพัฒนาระบบรถไฟความเร็วสูง เพื่อเชื่อมโยงภูมิภาค เฟสที่หนึ่งของกรุงเทพมหานคร-หนองคาย
พล.อ.ประยุทธ์ เป็นประธานในพิธีการลงนามสัญญาจ้างฯ ณ ตึกภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล ในเวลา 15.00 น. ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย กับ บริษัท ไชน่า เรลเวย์ อินเตอร์เนชั่นแนล China Railway International Co. Ltd.) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ ดีไซน์ คอร์ปอเรชั่น (China Railway Design Corporation) โดยมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม พร้อมด้วย ผู้แทนรัฐบาลสาธารณรัฐประชาชนจีน ร่วมเป็นฐานะสักขีพยานโดยนายกฯ ระบุว่า ระบบรถไฟความเร็วสูงนี้จะเชื่อมโยงหัวใจของประชาชนไทย-จีน
“โครงการนี้นั้นเป็นโครงการสำคัญที่รัฐบาลไทยให้ความสำคัญเสมอมา เพราะเนื่องจากเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่จะช่วยเสริมสร้างการแข่งขันของประเทศ และกลไกในการพัฒนาประเทศและภูมิภาค โดยเฉพาะหัวเมืองหลักตามแนวเส้นทางรถไฟความเร็วสูง ซึ่งเราสามารถต่อยอด และพัฒนาเป็นศูนย์กลางของภูมิภาคในอนาคตได้” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
“เส้นทางนี้ยังเปรียบเสมือนสายใยที่เชื่อมโยงไทยกับจีนให้แน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้น รวมทั้ง แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นร่วมกันในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ และความรุ่งเรืองทางคมนาคม ตลอดจนส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างประชาชนกับประชาชนให้ครอบคลุมและกว้างไกลมากยิ่งขึ้น” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าวเพิ่มเติม
ด้านนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวว่า โครงการรถไฟความเร็วสูง เป็นโครงการที่มีความสำคัญที่การรถไฟได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่พัฒนาโครงการตั้งแต่เริ่มต้น
“ในวันนี้เป็นการลงนามในสัญญา 2.3 เพื่อดำเนินการงานวางระบบราง ระบบไฟฟ้า และระบบเครื่องกล และจัดหาขบวนรถไฟความเร็วสูง รวมทั้งงานฝึกอบรมบุคลากร เพื่อการเดินรถและซ่อมบำรุง วงเงิน 50,633 ล้านบาท” นายนิรุฒ กล่าวในพิธีลงนาม สัญญาที่ใช้ภาษาอังกฤษว่า The Trackwork, Electrical and Mechanical (E&M) System, EMU, and Training Contract
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ให้รายละเอียดเพิ่มเติมว่า โครงการนี้คาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2568
โครงการรถไฟความเร็วสูง “กรุงเทพฯ-นครราชสีมา” เป็นโครงการความร่วมมือระหว่างรัฐบาลไทยและจีน โดยไทยเป็นผู้จัดสรรงบประมาณก่อสร้างเองมูลค่า 179,412 ล้านบาท เส้นทางนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งของยุทธศาตร์เส้นทางและสายแถบ (One Belt, One Road) ของจีน โดยจะเชื่อมโยงกับเส้นทางรถไฟความเร็วสูงในประเทศลาว
สำนักงานปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า สัญญา 2.3 สัญญาจ้างระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล รวมทั้งจัดหาขบวนรถไฟและจัดฝึกอบรมบุคลากร คณะรัฐมนตรี (ครม.) เพิ่งอนุมัติเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2563 ให้เพิ่มกรอบวงเงินเพิ่มขึ้นจากเดิม 38,558.38 ล้านบาท เป็น 50,633.5 ล้านบาท โดยโครงการนี้ จีนได้ขอเปลี่ยนระบบรถไฟความเร็วสูง จากรุ่นเหอเสีย CRG2G (Hexie Hao) เป็นฟู่ซิ่งเฮ่า CR Series (Fuxing Hao) ซึ่งจีนระบุว่า ดีกว่าเดิม และจำเป็นต้องเพิ่มวงเงิน 2,500 ล้านบาท โดยไทยจะเป็นผู้ซื้อรถไฟ 6 ขบวน เป็นเงิน 7,010 ล้านบาท โดยจีนลดราคาให้จากขบวนละ 1,200 ล้านบาท เหลือ 1,166 ล้านบาท
รถไฟความเร็วสูงฟู่ซิ่งเฮ่า ผลิตโดยบริษัท ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น คอร์ปอเรชั่น (CRCC) ออกแบบให้มีอายุใช้งาน 30 ปี โดย 1 ขบวน มีตู้รถไฟ 8 ตู้ เป็นชั้นธุรกิจ 2 ตู้, ชั้นปกติ 4 ตู้, และชั้นปกติที่ไม่มีสิ่งอำนวยความสะดวก 1 ตู้ และตู้สำหรับรับประทานอาหาร 1 ตู้ มีจำนวนที่นั่งรวม 594 ที่นั่ง แยกเป็นชั้นธุรกิจ 96 ที่นั่ง และชั้นปกติ 498 ที่นั่ง รถไฟมีความเร็วสูงสุด 250 กิโลเมตร ต่อชั่วโมงใช้พลังงานไฟฟ้าในการขับเคลื่อน
ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย กล่าวเพิ่มเติมถึงโครงการรถไฟความเร็วสูงว่า จนถึงปัจจุบัน โดยได้ดำเนินการก่อสร้างงานโยธาแล้วเสร็จ 1 สัญญา คือ สัญญา 1.1 ช่วงกลางดง-ปางโศก ในส่วนที่ช่วงที่ 2 สีคิ้ว-กุดจิก 11 กิโลเมตร ก่อสร้างโดย บริษัท ซีวิลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด มีความคืบหน้าร้อยละ 42 มีสัญญาก่อสร้างอยู่ระหว่างเตรียมลงนาม 9 สัญญา อยู่ในระหว่างขั้นตอนการประกาศผลการประกวดราคา 2 สัญญา และอยู่ระหว่างการจัดเตรียมเอกสารประกวดราคาอีก 1 สัญญา
โดยหากโครงการรถไฟความเร็วสูง กรุงเทพฯ-หนองคาย นี้ก่อสร้างแล้วเสร็จ ระยะที่ 1 จะมีสถานีกรุงเทพฯ-ดอนเมือง-อยุธยา-สระบุรี-ปากช่อง-นครราชสีมา และระยะที่ 2 จะมี สถานีบัวใหญ่-บ้านไผ่-ขอนแก่น-อุดรธานี-หนองคาย ซึ่งจะเชื่อมต่อไปยังสถานีเวียงจันทน์ ของประเทศลาว
อนึ่ง ในการประชุมรัฐมนตรีคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจเมื่อปลายปีที่ผ่านมา นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวแก่ผู้สื่อข่าวว่า ในส่วนของสัญญา 2.3 นี้ จะใช้เงินกู้ในประเทศไทย โดยชำระเงินเป็นสกุลดอลล่าร์สหรัฐ ในสัดส่วน 85 เปอร์เซ็นต์ โดยทางธนาคารแห่งประเทศไทยแนะนำให้กำหนดอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้าได้ เพื่อป้องกันความเสี่ยง อิงตามรายงานของหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ
ส่วนโครงการระยะที่สอง ระหว่างโคราช-หนองคายนั้น ขณะนี้กำลังอยู่ในระหว่างการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน
ชาวอีสานเชื่อโครงการรถไฟความเร็วสูงจะลดอุบัติเหตุ และเพิ่มโอกาสธุรกิจ
นายยุพเทพ บุญฤทธิ์รักษา เจ้าของโรงเรียนแห่งหนึ่งในจังหวัดขอนแก่น เชื่อว่าการมีรถไฟความเร็วสูงเชื่อมโยงอีสาน-กรุงเทพฯ จะทำให้คนต่างจังหวัดมีโอกาสในการเดินทางมากขึ้น
“มันก็เป็นอีกทางเลือกนึงในการเดินทาง ก็ดี ถ้าราคาตั๋วใกล้เคียงกับเครื่องบินก็เป็นอีกทางเลือกที่ดี น่าจะลดอุบัติเหตุทางท้องถนนได้ด้วย เพราะเชื่อว่าประชากรอีสานเข้าไปทำงานในภาคกลางเยอะ น่าจะลดรถติดลงได้ด้วย เป็นทางเลือกที่ดี” นายยุพเทพ กล่าว
ขณะที่ นายภูริพงศ์ สุทธิโสภาพันธ์ เจ้าของธุรกิจส่วนตัว ในภาคอีสาน ระบุ การมีรถไฟความเร็วสูงน่าจะช่วยเพิ่มโอกาสให้กับเจ้าของธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก
“ถ้าราคาอยู่ระหว่างเครื่องบินกับรถทัวร์ ผมขึ้นแน่นอน ผมรู้สึกว่าการขึ้นรถไฟมันสะดวกกว่าเครื่องบิน ไม่ต้องไปเช็คอิน ไม่ต้องเผื่อเวลาล่วงหน้า ถ้าแพงกว่าเครื่องบิน ก็ไปเครื่องบิน .. คิดว่าน่าจะทำให้คนกรุงเทพฯ อยากมาอีสานมากขึ้น น่าจะกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะน่าจะเดินทางได้ง่ายขึ้น อาจจะมีคนอยากขนสินค้ามาขายมากขึ้น น่าจะทำให้ธุรกิจขนาดเล็กและขนาดกลางไปได้ดีขึ้น” นายภูริพงศ์ กล่าว
นนทรัฐ ไผ่เจริญ ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงานข่าว