จีนขึ้นแท่นขอลงทุนในไทยมูลค่าสูงสุด ในปี 2562

ภิมุข รักขนาม
2020.01.16
กรุงเทพฯ
200116-TH-CH-boi-investment-1000.jpg ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล (กลาง) รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง พูดเกี่ยวกับการลงทุนต่างชาติที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุน ในปี 2562 ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ แห่งประเทศไทย วันที่ 16 ม.ค. 2562
ภิมุข รักขนาม/เบนาร์นิวส์

ประเทศจีน ขึ้นแท่นอันดับหนึ่งในการขอรับการส่งเสริมการลงทุนของต่างชาติ ในปี 2562 หลังจากที่รั้งอันดับสามเมื่อปีก่อนหน้านั้น ซึ่งเจ้าหน้าที่ไทยระบุว่า จีนลงทุนในไทยมากขึ้น เพราะการย้ายฐานธุรกิจหลีกเลี่ยงความขัดแย้งการค้าสหรัฐ-จีน และการที่ไทยเริ่มลงทุนเชื่อมโครงการสายไหมยุคใหม่ของจีน

จากสถิติการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนของต่างชาติในปี 2562 ประเทศจีนขอรับการส่งเสริมการลงทุนเป็นมูลค่า 8.6 พันล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ 261,230 ล้านบาท) สูงสุดเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ โดยในปี 2561 จีนอยู่อันดับสามตามหลังสหรัฐอเมริกา และญี่ปุ่น ซึ่งสหรัฐลงทุนเป็นมูลค่า 333,955 ล้านบาท ญี่ปุ่น 74,416 ล้านบาท และจีน 55,475 ล้านบาท

“ประเทศจีน เป็นลงทุนต่างชาติที่ขอรับการสนับสนุนการลงทุนในประเทศไทยสูงเป็นอันดับหนึ่ง เป็นครั้งแรก” นางสาวดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) กล่าวแก่ผู้ฟังการแถลงข่าว เรื่องการลงทุนในประเทศไทย ที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศ แห่งประเทศไทย

ทั้งนี้ ญี่ปุ่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนมากเป็นอันดับสอง ที่ 2.4 พันล้านดอลล่าร์ (ประมาณ 72,900 ล้านบาท) ตามมาด้วยฮ่องกง ที่ 1.2 พันล้านดอลล่าร์ (36,443 ล้านบาท) สวิตเซอร์แลนด์ 0.8 พันล้านดอลล่าร์ (24,296 ล้านบาท) และไต้หวัน 0.7 พันล้านดอลล่าร์ (21,259  ล้านบาท) ส่วนแชมป์เก่า สหรัฐอเมริกา ไม่ติดในห้าอันดับแรก

ด้าน ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง กล่าวว่า การที่นักลงทุนจีนเข้ามาขอสนับสนุนการลงทุนเพิ่มขึ้นนั้น เพราะบางรายหาทางหลีกเลี่ยงผลกระทบความขัดแย้งทางการค้าของสหรัฐและจีน รวมทั้งการที่ไทยได้ลงทุนเชื่อมโยงกับโครงการริเริ่มสายแถบและเส้นทาง (One Belt, One Road) ซึ่งจะช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยให้ดีชึ้น หลังจากที่ซบเซามานับยี่สิบปี

“อีกสองสามปีข้างหน้าคงจะเป็นเวลาที่ดีในการดึงดูดนักธุรกิจต่างชาติมาลงทุนในไทย ด้วยเหตุเพราะประธานาธิบดีทรัมป์” ดร.กอบศักดิ์ กล่าว โดยหมายถึงการย้ายฐานธุรกิจของนักลงทุนจีน

“หลายๆ บริษัทชอบลงทุนในจีน ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ เขาไม่อยากย้ายออก แต่ด้วยเหตุสงครามการค้า เขาต้องหาตัวเลือกใหม่ๆ ซึ่งประเทศไทยเป็นหนึ่งนั้น พอเราเริ่มใส่ใจกับเรื่องนี้ (เส้นทางสายไหม) นักลงทุนจากเมืองจีนก็เริ่มมาลงทุนในประเทศไทยมากขึ้น ตอนนี้เมืองจีนเป็นเบอร์หนึ่งในประเทศไทยแล้ว” ดร.กอบศักดิ์ กล่าว

ทั้งนี้ เมื่อปีที่แล้ว มีนักลงทุนยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนจำนวน 1,624 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 756,100 ล้านบาท เกินเป้าหมายที่ตั้งไว้ 750,000 ล้านบาท ไปเล็กน้อย ส่วนยอดการยื่นขอลงทุนโดยตรงของต่างชาตินั้น อยู่ที่ประมาณ 506,000 ล้านบาท

นางสาวดวงใจ ยังกล่าวอีกว่า พื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) จะเป็นกลจักรสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ซึ่ง 59 เปอร์เซ็นต์ของมูลค่าการขอลงทุนโดยตรงของต่างประเทศ ไปลงที่นั่น

สำหรับ ปี 2563 นางสาวดวงใจ กล่าวว่า การลงทุนยังมีแนวโน้มที่ดี เนื่องจากบีโอไอได้ปรับปรุงมาตรการส่งเสริมการลงทุนหลายด้าน เพื่อเร่งรัดการลงทุน โดยเฉพาะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ ผ่านมาตรการ Thailand Plus ที่เพิ่มสิทธิประโยชน์ลดหย่อนภาษีเงินได้นิติบุคคล ร้อยละ 50 เป็นเวลา 5 ปี สำหรับโครงการที่ยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนภายในปี 2563 และมีการลงทุนจริง ไม่น้อยกว่า 1,000 ล้านบาท ภายในปี 2564 รวมทั้งได้ขยายเวลามาตรการส่งเสริมการลงทุน สำหรับวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม (SMEs) ที่ใช้อยู่เดิมจนถึงเดือนกุมภาพันธ์ 2563 เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการ ขนาดกลางและเล็ก ก่อนที่บีโอไอจะนำเสนอมาตรการ SMEs ที่ปรับปรุงใหม่ในการประชุมบอร์ดครั้งต่อไป

ทั้งนี้ ในการประชุมข้อริเริ่มสายแถบและเส้นทาง ครั้งที่สอง ระหว่างวันที่ 26-27 เมษายน 2562 พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้หารือร่วมกับ นายหลี่ เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีน และนายสี จิ้น ผิง ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐประชาชนจีน โดยได้ตกลงที่จะร่วมมือทางการค้า เพื่อหวังสร้างมูลค่าธุรกิจร่วมกัน 4.5 ล้านล้านบาท (148,000 ล้านดอลล่าร์) ภายในปี 2564

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง