รฟท. กลุ่มซีพีและพันธมิตร ลงนามร่วมทุนรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน

บุษบา ศิวะสมบูรณ์
2019.10.24
กรุงเทพฯ
191024-TH-suvarnabhumi-airport-800.jpg ผู้โดยสารตรวจสอบข้อมูลเที่ยวบิน ที่สนามบินนานาชาติสุวรรณภูมิ กรุงเทพฯ สนามบินที่โครงการรถไฟความเร็วสูงจะสร้างเชื่อมกับสนามบินอีกสองแห่ง ภาพวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2562
เอเอฟพี

ในวันพฤหัสบดีนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด และพันธมิตร ได้ลงนามในสัญญาร่วมทุนการก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสนามบินดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นสัญญาร่วมลงทุนแบบเอกชนร่วมกับภาครัฐ (Public-Private-Partnership หรือ PPP) ที่มีมูลค่าลงทุนประมาณ 224,544 ล้านบาท ระยะทางก่อสร้าง 220 กิโลเมตร โดยคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2566

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และนายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว. คมนาคม เป็นประธานและสักขีพยาน ในพิธีการเซ็นสัญญาระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย โดยนายวรวุฒิ มาลา รักษาการผู้ว่าการ รฟท. และกลุ่มบริษัทฯ ที่นำโดยนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นผู้ลงนามในพิธีเซ็นสัญญาที่ทำเนียบรัฐบาล

ตามข้อมูลของสำนักนายกรัฐมนตรี คาดว่าการก่อสร้างโครงการรถไฟ ที่สามารถทำความเร็วได้สูงสุด 250 กม./ชม. รวมสถานีรถไฟความเร็วสูง 9 สถานี โดยขบวนรถด่วนจากสถานีมักกะสัน ถึงท่าอากาศยานอู่ตะเภา ใช้เวลา 45 นาที จะแล้วเสร็จในเวลา 5 ปี ในปี 2566 ตามที่วางแผนไว้

เส้นทางรถไฟฟ้าความเร็วสูงดังกล่าว จะเชื่อมโยงสามสนามบินหลักๆ ของประเทศ คือ ดอนเมือง สุวรรณภูมิ และอู่ตะเภา ในจังหวัดระยอง ที่ยังเป็นเส้นทางเชื่อมโยงการคมนาคมขนส่งในพื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor – EEC) ซึ่งเป็นพื้นที่อุตสาหกรรมที่รัฐบาลได้ส่งเสริมให้นักลงทุนต่างชาติ โดยเฉพาะนักลงทุนจีนเข้ามาประกอบกิจการ

“โครงการนี้ เลือกการร่วมลงทุนภาครัฐ-เอกชน เพราะเป็นวิธีการลงทุนที่ลดการใช้งบประมาณรัฐ ... โครงการยังเป็นโครงการแรกที่จีนและญี่ปุ่นให้ความร่วมมือกับประเทศที่สาม ซึ่งทำให้โครงการนี้เป็นจุดเริ่มต้นของความร่วมมือยุคใหม่ในเอเชีย” นายคณิศ แสงสุพรรณ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก กล่าวรายงานต่อประธานในพิธี

ตามข้อตกลงในสัญญา รัฐบาลจะออกเงินอุดหนุนกว่า 119,425 ล้านบาท ส่วนภาคเอกชนลงทุนกว่า 117,227 ล้านบาท โดยให้เอกชนคู่สัญญาก่อสร้างโครงการ โอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินที่มีสาระสำคัญให้การรถไฟแห่งประเทศไทยทันที หลังจากการก่อสร้างโครงการเสร็จสิ้นลง ส่วนการพัฒนาพื้นที่เพื่อสนับสนุนการให้บริการรถไฟตามโครงการและการดำเนินกิจการทางพาณิชย์นั้น เอกชนคู่สัญญาจะโอนกรรมสิทธิ์ทรัพย์สินที่มีสาระสำคัญให้การรถไฟแห่งประเทศไทย เมื่อสิ้นสุดสัญญาพัฒนาพื้นที่ เพื่อสนับสนุนการบริการรถไฟของโครงการ หรือการมอบสิทธิการดำเนินการกิจการทางพาณิชย์ แล้วแต่กรณี

ทั้งนี้ กลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ ได้ก่อตั้ง บริษัท รถไฟความเร็วสูงสายตะวันออกเชื่อมสามสนามบิน จำกัด ขึ้นมาเพื่อดำเนินโครงการ และยังได้ร่วมมือกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ โดยกลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ ถือหุ้น 70 เปอร์เซ็นต์ ส่วนรายอื่นๆ เช่น China Railway Construction Corporation (CRCC) ถือหุ้น 10 เปอร์เซ็นต์ บมจ. ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ และ บมจ. ช.การช่าง ถือหุ้น 15 เปอร์เซ็นต์ บมจ. อิตาเลียนไทยดีเวล๊อปเม้นต์ ถือหุ้น 5 เปอร์เซ็นต์ ตามข้อมูลที่นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวแก่ The Bangkok Insight

นอกจากนี้ นายศุภชัย ยังกล่าวว่า ทางบริษัทฯ ยังได้รับการสนับสนุนจากธนาคารเพื่อความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุน (Japan Bank for International Cooperation – JBIC) และ ธนาคารเพื่อการพัฒนาประเทศจีน (China Development Bank) โดยจะมีการจ้าง 16,000 อัตรา ในขณะดำเนินโครงการก่อสร้าง ที่คาดว่าจะเริ่มขึ้นได้ภายในหนึ่งปีข้างหน้า

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง