ประยุทธ์ชี้โควิด-19 อาจกระทบเศรษฐกิจถึง 9 เดือน

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และมารียัม อัฮหมัด
2020.05.05
กรุงเทพฯ และปัตตานี
200505-TH-COVID-economy-1000.JPG ผู้หญิงขณะขึ้นรถแท็กซี่ ในย่านเยาวราช ในกรุงเทพฯ หลังจากที่รัฐบาลเริ่มมีมาตรการผ่อนปรนให้บางกิจการสามารถเปิดได้ วันที่ 3 พฤษภาคม 2563
รอยเตอร์

ในวันอังคารนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยแก่สื่อมวลชนว่า การแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) อาจส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยยาวนานตั้งแต่ 6 เดือน หรืออาจถึง 9 เดือน

ส่วนหอการค้าไทยประเมินว่า อาจจะมีผู้ตกงานถึงสิบล้านคน หากยังมีการระบาดของโรคโควิด-19 นานหลายเดือน

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ในฐานะผู้อำนวยการ ศบค. กล่าวแก่สื่อมวลชน หลังประชุมคณะรัฐมนตรีที่ทำเนียบรัฐบาลว่า เศรษฐกิจไทยจะได้รับผลกระทบอย่างหนัก และยาวนาน

“เราคาดการณ์ว่าสถานการณ์ด้านเศรษฐกิจของเราจะมีผลกระทบไปนานพอสมควร คงไม่ใช่แค่ 3 เดือน อาจถึง 6 เดือน อาจถึง 9 เดือน อันนี้ก็ต้องเตรียมมาตรการไว้รองรับในโอกาสต่อไปด้วย แล้วในขณะเดียวกัน ผมก็ได้เน้นย้ำไปด้วยว่า ตอนเนี้ยอย่างที่เราค่อนข้างจะชินแล้วกับคำว่า นิวนอร์มอล ก็คือปกติแบบใหม่ คือให้ความสำคัญกับเรื่องสุขภาพ วิถีชีวิตของทุกคนต้องเปลี่ยนแปลงไป หลังสถานการณ์โควิด ได้มีการลดระดับความรุนแรงลงไปแล้ว เพราะฉะนั้นต้องมีการวางแผนลงไปด้วย” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ส่วนภาพเศรษฐกิจรวมของประเทศ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เปิดเผยว่า ได้ประมาณการขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจ (จีดีพี) ของประเทศไทย ประจำปี 2563 ว่าจะติดลบ 5.3% โดยเป็นการประเมินจากตัวเลขเศรษฐกิจช่วงเดือนกุมภาพันธ์ที่เริ่มได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ชัดเจน โดยคาดว่า ไตรมาส 2 จะเห็นการหดตัวลึกที่สุด จากนั้นจะหดตัวน้อยลงตามลำดับในไตรมาส 3 และ 4 หากสถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิด-19 สามารถควบคุมได้ และหากสามารถผลิตวัคซีนได้ภายในปีนี้ จะเห็นการฟื้นตัวแบบค่อยเป็นค่อยไป มีโอกาสกลับมาบวกได้ในปี 2564

พล.อ.ประยุทธ์ ยังได้ย้ำว่า จะให้โอกาสการบินไทยปรับโครงสร้างครั้งสุดท้าย หลังประสบปัญหาหนักช่วงโควิด-19 ระบาด โดยเปิดเผยว่า การบินไทยจำเป็นต้องปฏิรูปองค์กร เพื่อความอยู่รอด หลังจากได้รับผลกระทบอย่างหนักช่วงโควิด-19 ระบาดนี้ โดยระบุว่า ก่อนหน้านี้เคยให้การบินไทยปรับโครงสร้างมาแล้ว เมื่อ 5 ปีก่อน แต่ยังไม่สำเร็จ ถึงเวลาที่พนักงานการบินไทยจำเป็นต้องร่วมมือกัน เพื่อแก้ปัญหา

“เป็นเรื่องของรัฐวิสาหกิจที่เราต้องฟื้นฟูอยู่แล้ว อันนี้ถือเป็นโอกาสสุดท้ายที่เราจะดูแลตรงนี้ได้ไม่ให้มันแย่ไปกว่านี้ เพราะว่ามันค่อนข้างยากที่จะปรับทั้งในองค์กร บุคลากร ปรับทั้งโครงสร้างต่าง ๆ ทั้งหมด กรรมการ ในส่วนของผู้บริหารทั้งหมด ทุกคนต้องร่วมมือกันรวมความไปถึงสหภาพแรงงานทั้งหมด ถ้าท่านยังคงไม่ปฏิบัติตามแผนการฟื้นฟูนี้ มันก็จะเกิดปัญหา มันจะยิ่งลำบากไปกว่านี้”

โดยเมื่อวันที่ 30 มีนาคม 2563 นายณัฐพงศ์ สมิตอำไพพิศาล รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่สายการเงินและการบัญชี บริษัทการบินไทย จำกัด (มหาชน) ได้ แจ้งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่า บริษัทมีความจำเป็นต้องปรับลดเที่ยวบินประจำโดยทยอยยกเลิกเที่ยวบิน และะลดปริมาณการผลิตให้สอดคล้องกับจำนวนผู้โดยสารที่ลดลงมาอย่างต่อเนื่องในช่วงการระบาดของโควิด-19 โดยยกเลิกเที่ยวบินเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน-31 พฤษภาคม 63 จะส่งผลกระทบน้อยกว่าทำการบินต่อไป บริษัทจึงพิจารณาจอดเครื่องบินจำนวน 69 ลำ จาก 82 ลำ แต่ยังให้บริการขนส่งสินค้าบางเส้นทาง รวมทั้งจัดเที่ยวบินพิเศษ หากมีผู้โดยสายตกค้างจำนวนมาก และได้รับการติดต่อประสานงานจากหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง

ทั้งกระทรวงคมนาคม ยังได้เปิดเผยในช่วงกลางเดือนเมษายน 2563 ว่า ตั้งแต่เดือน มกราคม-มิถุนายน 2563 การบินไทยจะประสบปัญหาขาดทุนราว 18,038 ล้านบาท โดยสิ้นเดือนมิถุนายน 2563 บริษัทจะมีเงินสดติดลบมากถึง 7,839 ล้านบาท ทำให้เริ่มมีการพูดถึงการให้รัฐบาลออกมาตรการช่วยเหลือการบินไทย ซึ่งก่อนหน้านี้ การบินไทยเองได้ให้ พนักงานลาโดยไม่รับเงินเดือน เดือนละ 8 วัน ตั้งแต่วันนี้ถึง 30 มิถุนายน 2563 เพื่อลดค่าใช้จ่าย 30%

ในวันเดียวกัน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. เปิดเผยว่า สถานการณ์การระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยดีขึ้นมาก หลังพบตัวเลขผู้ติดเชื้อน้อยลงอย่างชัดเจน

“เพราะการใส่หน้ากากหรือเปล่าครับ ที่ทำให้ตัวเลขออกมาอยู่ที่การยืนยันผู้ป่วยรายใหม่เป็น 1 รายเท่านั้นเอง ทำให้ตัวเลขยืนยันยอดผู้ป่วยยืนยันสะสม 2,988 ราย หายป่วยเพิ่มขึ้น 7 ราย รวมเป็น 2,747 ราย ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่มเลย ผู้เสียชีวิตสะสม 54 ราย” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

ผู้หญิงเดินจูงเด็ก ๆ เดินผ่านสมาคมอิสลาม จังหวัดนราธิวาส เพื่อไปซื้ออาหารที่ตลาด ก่อนละศีลอด ในช่วงเดือนรอมฎอน จังหวัดนราธิวาส วันที่ 5 พฤษภาคม 2563 (เอเอฟพี)
ผู้หญิงเดินจูงเด็ก ๆ เดินผ่านสมาคมอิสลาม จังหวัดนราธิวาส เพื่อไปซื้ออาหารที่ตลาด ก่อนละศีลอด ในช่วงเดือนรอมฎอน จังหวัดนราธิวาส วันที่ 5 พฤษภาคม 2563 (เอเอฟพี)

สงขลาอนุญาตให้มัสยิดเปิดทำการละหมาดวันศุกร์ได้

ในสามจังหวัดชายแดนใต้ ในวันนี้ ผู้ว่าราชการจังหวัดได้ประชุมกับคณะกรรมการอิสลามจังหวัดต่าง ๆ ถึงการจะอนุญาตให้มัสยิดต่างๆ เปิดการละหมาดวันศุกร์อีกครั้ง หลังจากที่สำนักจุฬาราชมนตรี ได้ประกาศงดการละหมาดเป็นหมู่คณะ (ญะมาอะห์) และการละหมาดวันศุกร์ (ญุมอะฮ์) ที่มัสยิดเป็นการชั่วคราว ตั้งแต่วันที่ 27 มีนาคม 2563

โดยทางจังหวัดสงขลา เป็นเพียงจังหวัดเดียวที่ได้ประกาศอนุญาตให้ศาสนิกทำการละหมาดวันศุกร์ได้ เริ่มวันศุกร์ที่จะถึงนี้

"ได้สั่งการไปยังอำเภอต่าง ๆ ให้สนับสนุนมาตรการดังกล่าวด้วย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเครื่องตรวจวัดอุณหภูมิที่จะใช้ในการวัดอุณหภูมิผู้เข้าละหมาดทุกคน" นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวแก่ผู้สื่อข่าว

ทั้งนี้ นายศักดิ์กรียา บินแสละ ประธานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดสงขลา ได้ออกหนังสือถึงมัสยิดทั่วจังหวัดสงขลา หลังจากได้นำคณะร่วมหารือกับผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาเรียบร้อย ในวันนี้

"หนังสือได้ระบุว่า ได้หารือกับนายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลาผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลาที่ศาลากลางจังหวัด เกี่ยวกับการละหมาดวันศุกร์ตามประกาศจุฬาราชมนตรี ฉบับที่ 5 และ มีสรุปมัสยิดในสงขลาทุกพื้นที่ จะจัดให้มีการละหมาดวันศุกร์ ตั้งแต่วันศุกร์ที่ 8 พ.ค.นี้ เป็นต้นไป โดยให้มีการดำเนินการตามมาตรการของจุฬาราชมนตรีอย่างเข้มงวด" นายศักดิ์กรียา บินแสละ ประธานคณะกรรมการอิสลามจังหวัดสงขลา กล่าว

ส่วนจังหวัดยะลา นายชัยสิทธิ์ พานิชพงศ์ ผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในพื้นที่จังหวัดยะลา ยังมีการแพร่ระบาดอยู่ และพบผู้ติดเชื้อในพื้นที่เสี่ยง สถานการณ์ยังไม่ปกติ การเปิดให้มีการละหมาดวันศุกร์ ในช่วงนี้ อาจเกิดการแพร่ระบาดขยายในวงกว้างได้ จึงเลื่อนการอนุญาตไปก่อนอีกสองสัปดาห์ เช่นเดียวกับ ปัตตานีและนราธิวาส

ทั้งนี้ มัสยิดต้องการปฏิบัติ ต้องมีมาตรการที่เข้มข้น ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด มีการตั้งจุดล้างมือด้วยแอลกอฮอล์ เจลล้างมือ สวมหน้ากากอนามัย การเว้นระยะห่าง 1-2 เมตร ไม่รวมกลุ่มกันละหมาด เพื่อลดความแออัด เป็นต้น

ปัจจุบัน ทั่วโลกมีผู้ป่วยโควิด-19 รวม 3,640,835 คน มีผู้ติดเชื้ออย่างน้อยใน 187 ประเทศ มีผู้เสียชีวิต 255,096 คน รักษาหายแล้ว 1,186,730 คน ประเทศที่มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดอันดับต้น คือ สหรัฐอเมริกา อิตาลี อังกฤษ และสเปน ส่วนประเทศที่มีผู้ป่วยมากที่สุดในอันดับต้น คือ สหรัฐอเมริกา สเปน อิตาลี อังกฤษ โดยองค์การอนามัยโลกได้ประกาศให้การแพร่ระบาดของโควิด-19 อยู่ในขั้นโรคระบาดใหญ่ หรือ Pandemic

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช ในกรุงเทพฯ ร่วมรายงาน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง