สภาพัฒน์ คาดจีดีพีไทยติดลบ 5-6 เปอร์เซ็นต์

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2020.05.18
กรุงเทพฯ
200518-TH-COVID-economy-1000.JPG ลูกค้ายืนเข้าแถวเว้นระยะห่าง เพื่อรอเข้าห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน หลังจากรัฐประกาศผ่อนปรนระยะสอง ให้เปิดห้างและกิจการอื่น ๆ ในช่วงการระบาดโรคโควิด-19 กรุงเทพฯ วันที่ 17 พฤษภาคม 2563
เอพี

ในวันจันทร์นี้ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยข้อมูลการประเมินสภาพเศรษฐกิจของประเทศไทยในปี 2563 โดยเชื่อว่า ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ติดลบ 5-6 เปอร์เซ็นต์ เนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) ซึ่งทำให้การส่งออกสินค้า และการท่องเที่ยวหดตัว

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการ สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงข้อมูลเศรษฐกิจของประเทศไทย โดยระบุว่า โควิด-19 เป็นปัจจัยหลักที่ทำให้ตัวเลขทางเศรษฐกิจของไทยเติบโตน้อยลง

“ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ ไตรมาสที่ 1/2563 ลดลงร้อยละ 1.8 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 1.5 ในไตรมาสที่ 4/2562 ปัจจัยหลักมาจากการลดลงของการส่งออกสินค้าและบริการ การลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน และการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคขั้นสุดท้ายของรัฐบาล ขณะที่การขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปี 2563 นี้ ประเมินว่าจะหดตัวอยู่ในกรอบ -5 ถึง -6% โดยมีค่าเฉลี่ยกลางที่ -5.5% เนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลให้เศรษฐกิจชะลอลง และกระทบปริมาณการค้าของโลก รวมถึงจำนวนนักท่องเที่ยวที่ลดลง” นายทศพร กล่าว

“คาดว่าเศรษฐกิจจะติดลบหนักที่สุดในไตรมาสสอง จากการแพร่ระบาดขอโควิด-19 เพราะทุกอย่างถูกล็อกดาวน์ เเต่หวังว่าเศรษฐกิจไทยจะกลับเข้าสู่ภาวะปกติได้ในไตรมาสสาม นักท่องเที่ยวต่างชาติน่าจะทยอยเดินทางเข้ามาในไทยได้ในไตรมาสสาม และสี่ เเละยังหวังว่าในปี 2564 จะมีวัคซีนโควิด-19 ออกมาจะช่วยให้โลกกลับมาเหมือนเดิมอีกครั้ง” นายทศพร กล่าวเพิ่มเติม

ทั้งนี้ สภาพัฒน์เปิดเผยข้อมูลว่า จีดีพีของปี 2561 มีตัวเลขที่ 4.2 เปอร​เซ็นต์ เงินเฟ้อ 1.1 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ ปี 2562 มีตัวเลขที่ 2.4 เปอร์เซ็นต์ เงินเฟ้อ 0.7 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่ปี 2563 คาดว่าจะมีตัวเลขติดลบ 5.5 เปอร์เซ็นต์ ขณะที่เงินเฟ้อ คาดว่าจะติดลบ 0.5-1.5 เปอร์​เซ็นต์​

โดยการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายของเอกชนชะลอตัวลง การผลิตภาคเกษตรลดลงต่อเนื่องร้อยละ 5.7 ภาคนอกเกษตรลดลงร้อยละ 1.4 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.0 ในไตรมาสที่ 4/2562 โดยการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมลดลงต่อเนื่องร้อยละ 2.7 เทียบกับการลดลงร้อยละ 2.2 ในไตรมาสก่อนหน้า ภาคบริการลดลงร้อยละ 1.1 เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 4.1 ในไตรมาสก่อน การบริการสาขาการขายส่ง การขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ สาขาข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร สาขาอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัว

การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายของเอกชนขยายตัวร้อยละ 3.0 ชะลอลงจากการขยายตัวร้อยละ 4.1 ขณะที่การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคขั้นสุดท้ายของรัฐบาล การลงทุนและการส่งออกและนำเข้าสินค้าและบริการ ลดลงร้อยละ 2.7 ร้อยละ 6.5 ร้อยละ 6.7 และร้อยละ 2.5 ตามลำดับ หลังปรับปัจจัยฤดูกาลออกแล้ว เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 1/2563 ลดลงร้อยละ 2.2 การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายของเอกชน ขยายตัวร้อยละ 3.0 ชะลอลงจากร้อยละ 4.1 ในไตรมาสที่ 4/2562

โดยการใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคขั้นสุดท้ายของเอกชนชะลอตัวลง การผลิตภาคเกษตรลดลงต่อเนื่องร้อยละ 5.7 ภาคนอกเกษตรลดลงร้อยละ 1.4 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.0 ในไตรมาสที่ 4/2562 โดยการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมลดลงต่อเนื่องร้อยละ 2.7 เทียบกับการลดลงร้อยละ 2.2 ในไตรมาสก่อนหน้า ภาคบริการลดลงร้อยละ 1.1 เทียบกับที่ขยายตัวร้อยละ 4.1 ในไตรมาสก่อน การบริการสาขาการขายส่ง การขายปลีก การซ่อมยานยนต์และจักรยานยนต์ สาขาข้อมูลข่าวสารและการสื่อสาร สาขาอสังหาริมทรัพย์ชะลอตัว

การลงทุนรวมลดลงร้อยละ 6.5 จากการขยายตัวร้อยละ 0.8 ในไตรมาสที่ 4/2562 โดยการลงทุนภาคเอกชนลดลงร้อยละ 5.5 เทียบกับการขยายตัวร้อยละ 2.6 ในไตรมาสก่อนหน้า ส่วนการลงทุนภาครัฐลดลงร้อยละ 9.3 เทียบกับการลดลงร้อยละ 5.1 ในไตรมาสก่อนหน้า เป็นผลจากการลงทุนด้านก่อสร้างลดลงร้อยละ 13.4 โดยเฉพาะการก่อสร้างรัฐบาลที่ได้รับผลกระทบจากความล่าช้าของกระบวนการ งบประมาณประจำปี 2563

ทั้งนี้ ก่อนหน้านี้ ธนาคารแห่งประเทศไทย ได้ออกรายงานเศรษฐกิจไทย ในเดือนมีนาคม 2563 โดยระบุว่า จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศ หดตัวรุนแรงที่ร้อยละ 76.4 จากระยะเดียวกันปีก่อน มูลค่าการส่งออกสินค้า หดตัวร้อยละ 2.2 จากระยะเดียวกันปีก่อน หากไม่รวมการส่งออกทองคำ มูลค่าการส่งออกหดตัวที่ร้อยละ 6.5 มูลค่าการนำเข้าสินค้ากลับมาขยายตัวร้อยละ 4.4 จากระยะเดียวกันปีก่อน และการใช้จ่ายภาครัฐที่ไม่รวมเงินโอน กลับมาขยายตัวจากระยะเดียวกันปีก่อน เป็นครั้งแรกในรอบ 5 เดือน

ทั้งนี้ นายอนุสรณ์ ธรรมใจ อดีตกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย และ อดีตกรรมการนโยบายและกำกับการบริหารหนี้สาธารณะ กระทรวงการคลังเปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า จีดีพีไทยไตรมาสสอง อาจติดลบมาก เพราะต้องพึ่งพานักท่องเที่ยวจีน ขณะที่จีนเองก็ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจเช่นกัน

“ภาพรวมของตลาดหุ้นทั่วโลกค่อนข้างทรงตัว แม้จะมีการกลับมาเปิดธุรกิจบ้างแล้ว แต่คนจำนวนมากกังวลว่าจะเกิดการระบาดรอบสอง โครงสร้างเศรษฐกิจไทยพึ่งพาจีนและการท่องเที่ยวมาก จะทำให้ติดลบหนักในไตรมาสสอง ซึ่งจีนติดลบ 6.8% ในไตรมาสแรก น่าห่วง โครงสร้างเศรษฐกิจไทยกระจุกตัวภาคการท่องเที่ยว สัดส่วนรายได้จากการท่องเที่ยว 12-13% ของจีดีพี สูงมาก” นายอนุสรณ์ ระบุ

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง