ศบค. ชุดเล็กเสนอต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ รองรับผ่อนปรนโควิด-19 ระยะ 5

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช และนนทรัฐ ไผ่เจริญ
2020.06.25
กรุงเทพฯ
200625-TH-COVID-emergency-law-tourism-1000.jpg พนักงานทำความสะอาดพื้นกระจกของดาดฟ้าชั้น 78 จุดชมวิวที่สูงที่สุด บนสกายวอล์ค อาคารคิงส์ พาวเวอร์ มหานคร ในกรุงเทพฯ วันที่ 16 มิถุนายน 2563
Photo: Benar

ในวันพฤหัสบดีนี้ ที่ประชุมศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ชุดเล็ก ซึ่งมี พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ เป็นประธานได้มีมติเห็นชอบเสนอให้ต่ออายุพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) ออกไปอีก 1 เดือน จากเดิมที่จะหมดอายุในวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ให้มีผลบังคับใช้จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 โดยอ้างว่า เพื่อรองรับการผ่อนปรนมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระยะที่ห้า

พล.อ.สมศักดิ์ รุ่งสิตา เลขาธิการ สมช. แถลงแก่สื่อมวลชนหลังการประชุม ศบค. ชุดเล็กในบ่ายวันนี้ ระบุว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้ต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกไป โดยคำนึงถึงเหตุผลด้านสาธารณสุขเป็นหลัก อย่างไรก็ตาม ข้อเสนอต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ  จะต้องผ่านความเห็นชอบของ ศบค. ชุดใหญ่ในวันจันทร์ และส่งต่อให้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาในวันอังคารหน้าเสียก่อน จึงจะประกาศใช้จริง

“บ่ายวันนี้มีการประชุมเรื่องความเหมาะสมในการขยายเวลาในการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉิน ก็มีการพูดคุยกันทุกมิติ หน่วยงานความมั่นคง ประชาคมข่าวกรอง หน่วยงานด้านสาธารณสุข หน่วยงานด้านกฎหมาย ก็มาประชุมกันแล้วก็เห็นพ้องต้องกันว่า ควรจะขยายเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินไปอีกหนึ่งเดือน กรกฎาคมทั้งเดือน เพราะกิจกรรมที่เราผ่อนคลายระยะที่ห้า เป็นกิจกรรมที่มีความล่อแหลมต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิดมากที่สุด” พล.อ.สมศักดิ์ กล่าว

“ถ้าเราไม่ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ จะต้องใช้กฎหมายไม่ต่ำกว่า 5 ฉบับ ซึ่งก็ยังไม่มั่นใจว่าจะมีประสิทธิภาพเท่าเกับ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หรือไม่"

"ยืนยันว่า เราใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ด้วยเหตุผลทางสาธารณสุขเป็นหลัก จะต่อไปอีกหนึ่งเดือนก็ด้วยเหตุผลเดิม ก็คือเหตุผลทางด้านสาธารณสุข… ไม่ได้มีนัยทางการเมืองเลย เมื่อวานนี้เป็นวันสำคัญแล้วก็มีการชุมนุมอยู่หลายจุด จะสังเกตว่าเจ้าหน้าที่ก็ไม่ได้ไปใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปห้ามปราม” พล.อ.สมศักดิ์ กล่าวเพิ่มเติม

ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวแก่สื่อมวลชนในวันเดียวกันว่า ถึงแม้จะผ่อนปรนมาตรการป้องกันโควิด-19 ระยะที่ห้า แต่ประชาชนทุกคนจำเป็นต้องดูแลตัวเองอย่างเข้มงวดต่อไป

“ทุกคนยังคงต้องเคร่งครัดเข้มงวดกับตัวเอง ทุกคนต้องดูแลตัวเอง ดูแลครอบครัว ดูแลคนอื่น ถ้าไม่ปฏิบัติตามกติกาของรัฐ… ถ้าผิดก็ปฏิบัติตามกฎหมาย การวิจัยพัฒนายา เราก็มีความก้าวหน้าตามลำดับ ก็ถือว่าเป็นประเทศที่มีความสำเร็จในชั้นต้น ก็ถือว่าเป็นความร่วมมือของคนในชาติ” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว

ทั้งนี้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ สำหรับป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ถูกประกาศใช้ครั้งแรก ในวันที่ 25 มีนาคม 2563 มีผลบังคับใช้ถึงวันที่ 30 เมษายน 2563 ก่อนที่ ครม. จะมีความเห็นชอบให้ต่ออายุ มีผลตั้งแต่วันที่ 1-31 พฤษภาคม 2563 และต่ออายุครั้งที่สอง มีผลตั้งแต่วันที่ 1-30 มิถุนายน 2563 และกำลังจะมีการต่อออกไปอีกครั้ง ให้มีผลบังคับใช้ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2563

สำหรับการผ่อนปรนมาตรการป้องกันโควิด-19 ระยะที่ห้า ศบค.จะอนุญาตให้เปิดสถานบันเทิง ผับ บาร์ รวมถึงอาบอบนวด แต่จำเป็นต้องปฏิบัติตามมาตรการป้องกันโรค เช่น ห้ามมีความแออัด วัดอุณหภูมิก่อนเข้าร้าน ห้ามให้บริการเป็นกลุ่มเกิน 5 คน แต่ละโต๊ะต้องห่างกันอย่างน้อย 2 เมตร หรือมีฉากกั้น งดการให้ผู้ใช้บริการร้องเพลงและเต้นรำ พนักงานต้องใส่หน้ากากและเฟซชีลด์ ร้านต้องใช้เมนูแบบกระดาษใช้ครั้งเดียวทิ้ง รวมถึงงดพนักงานนั่งดื่มร่วมกับลูกค้า

ด้านสมาชิกรัฐสภาอาเซียนเพื่อสิทธิมนุษยชน ได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึง นายกรัฐมนตรีเวียดนาม ในฐานะประธานกลุ่มอาเซียนในปีนี้ ให้พิจารณาเรื่องสิทธิมนุษยชนและการควบคุมโรควิด-19 ในระหว่างที่มีการประชุมอาเซียนซัมมิต ที่จะจัดให้มีขึ้นในวันที่ 26 มิถุนายน นี้

“ในขณะที่ภูมิภาคของเราควรได้รับการชื่นชมในเรื่องความสำเร็จในการป้องกันการแพร่ระบาดของไวรัส แต่โรคระบาดที่แพร่กระจายไปทั่วโลกนี้ ได้เปิดเผยให้เห็นถึงจุดอ่อน และความไม่เท่าเทียมกันของระบบการบริหาร ทั้งภูมิภาคล้มเหลวในการปกป้องผู้คนที่อยู่ในสภาวะอ่อนแอ โดยเฉพาะกลุ่มย้ายถิ่นและผู้อพยพ นอกจากนั้น ยังพบการเข้มงวดลิดรอนเสรีภาพในการแสดงออก และการใช้ถ้อยคำจงเกลียดจงชังกับผู้ด้อยโอกาส” ส่วนหนึ่งของจดหมายกล่าว

“อย่างไรก็ตาม การประชุมของผู้นำภูมิภาคภายใต้การนำของ ฯพณฯ ท่าน ในสัปดาห์นี้ เป็นโอกาสที่อาเซียนจะได้แสดงออกให้เห็นว่า อาเซียนสามารถเรียนรู้และเติบโตจากเหตุการณ์ที่ท้าทายครั้งนี้ด้วยการยืนยันว่า นับตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป ทั้งภูมิภาคจะมีนโยบายที่ครอบคลุมถึงทุกคน ในแง่ความเท่าเทียมกันทางสังคมออย่างยั่งยืน”

การเปิดรับชาวต่างชาติเฉพาะกลุ่ม

ในประเด็นการอนุญาตให้ชาวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทย ที่ประชุมคณะกรรมการโรคติดต่อแห่งชาติ ซึ่งมีนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบร่างระบบการเฝ้าระวังป้องกันและควบคุมโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จากผู้เดินทางเข้ามาในประเทศไทย ภายใต้ พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ

เบื้องต้น ร่างดังกล่าวจะอนุญาตการเดินทางเข้าประเทศแก่ 3 กลุ่มคือ กลุ่มแรก คณะทูต และคณะกงสุล กลุ่มที่ 2 คนไทยที่เดินทางกลับประเทศและเข้าสู่สถานที่กักกันของรัฐ และกลุ่มที่ 3 ชาวต่างชาติที่เข้ามาตามความจำเป็นด้านเศรษฐกิจและสังคม โดยการผ่อนปรนจะแบ่งเป็น 3 ระยะ ได้แก่ กลุ่มที่เข้ามาระยะสั้นและระยะยาว เช่น อาคันตุกะของรัฐบาล นักธุรกิจ ครู นักเรียน ระยะที่ 2 ผู้ป่วยที่เข้ามารับบริการด้านสุขภาพ และระยะที่ 3 นักท่องเที่ยว และแรงงาน โดยประเทศที่ไทยจะอนุญาตให้เดินทางเข้าประเทศ ต้องเป็นประเทศที่ควบคุมโรคได้ดี และมีความเสี่ยงต่ำ อาทิ นิวซีแลนด์ ออสเตรเลีย ญี่ปุ่น ไต้หวัน และบางเมืองของจีน จะมีความชัดเจนว่า จะมีมาตรการอย่างเป็นทางการอย่างไร หลังการประชุม ศบค. ในวันจันทร์นี้

ไทยคาดทราบผลทดลองวัคซีนโควิด-19 ในลิงเดือนหน้า

นายแพทย์นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า การทดลองวัคซีนโควิด-19 ในประเทศไทย ณ ปัจจุบัน ยังอยู่ในช่วงการทดลองในสัตว์ และคาดว่าระยะเวลาประมาณ 1 ปี-1 ปีครึ่ง จึงจะได้วัคซีนที่ใช้งานได้จริง

“วัคซีนของไทย ปัจจุบัน อยู่ในขั้นตอน การทดสอบในลิง ตอนนี้ วัคซีนในประเทศไทยอยู่ในขั้นการทดสอบกับสัตว์ทั้งหมด วัคซีนที่มีความคืบหน้าที่สุดเป็นการทดสอบของคณะแพทย์ฯ จุฬาฯ และกำลังรอผลการทดสอบ คาดว่าจะออกในประมาณเดือนหน้า ถ้าได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ก็จะมีการทดสอบในคน วางแผนไว้คือ ประมาณเดือนตุลาคม-พฤศจิกายน ซึ่งโดยปกติ กระบวนการทดลองวัคซีนจะมีระยะเวลาตั้งแต่ในสัตว์-คน ประมาณ 12-18 เดือน” นพ.นคร กล่าว

ทั้งนี้ ในวันนี้ พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล ผู้ช่วยโฆษก ศบค. แถลงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ในประเทศไทย ระบุว่า ไทยพบผู้ป่วยเพิ่ม 1 ราย เป็นนักศึกษาไทยอายุ 24 ปี ที่เดินทางกลับมาจากประเทศอียิปต์ เมื่อวันที่ 13 มิถุนายน 2563 ก่อนตรวจพบเชื้อในวันที่ 23 มิถุนายน 2563 ระหว่างกักตัวอยู่ในสถานกักกันโรคที่รัฐบาลจัดให้ ทำให้ปัจจุบัน ประเทศไทยมีผู้ป่วยสะสม 3,158 ราย รักษาหายแล้ว 3,038 ราย ยังรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาล 62 ราย มีผู้เสียชีวิตสะสม 58 ราย และถือเป็นวันที่ 31 แล้ว ที่ประเทศไทยไม่พบผู้ติดเชื้อภายในประเทศ

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง