ครม. มีมติต่อ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ถึงสิ้นเดือน มิ.ย. 63

นนทรัฐ ไผ่เจริญ และวิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2020.05.26
กรุงเทพฯ
2020-05-24-TH-COVID-extend-emergency-1000.JPG ภาพถนนข้าวสารที่เคยคึกคักมักจะเต็มไปด้วยนักท่องเที่ยว ยังคงเงียบเหงาร้างผู้คน ในห้วงการระบาดของโรคโควิด-19 ในกรุงเทพฯ วันที่ 22 พฤษภาคม 2563
รอยเตอร์

ในวันอังคารนี้ คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบให้ต่ออายุพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) เพื่อควบคุมสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 จากเดิมที่จะหมดอายุวันที่ 31 พฤษภาคม 2563 ให้มีอายุถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2563 ซึ่งโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรีระบุว่า การต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ คำนึงถึงเหตุผลด้านสาธารณสุขเป็นหลัก แต่ฝ่ายค้านเชื่อว่าเป็นเหตุผลทางการเมือง

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยต่อสื่อมวลชนที่ทำเนียบรัฐบาล หลังการประชุมคณะรัฐมนตรีว่า นายกรัฐมนตรี ยืนยันว่า การต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เพื่อความเป็นเอกภาพในการทำงาน

“วันนี้ ได้มีมติเห็นชอบตามที่ สมช. (สภาความมั่นคงแห่งชาติ) เสนอให้ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกไปอีก 1 เดือน ก็จะเริ่มตั้งแต่ 1 มิถุนายน ไปสิ้นสุด 30 มิถุนายนนี้ โดยมาตรการผ่อนปรนระยะที่ 3-4 จะมีความชัดเจนมากขึ้น หลังการประชุม ศบค. (ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019) ศุกร์นี้” นางนฤมล ระบุ

“ท่านนายกฯ ฝากคำตอบมาว่า ตั้งแต่เริ่มนำ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มาใช้ จนถึงทุกครั้งที่มีการพิจารณาต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ได้คำนึงถึงเหตุผลด้านสาธารณสุขเป็นหลัก ไม่เคยคำนึงถึงเหตุผลทางการเมือง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ยังจำเป็นในการบูรณาการการทำงานร่วมกันให้มีเอกภาพ ให้มีความรวดเร็ว แล้วก็มีประสิทธิภาพ เราไม่สามารถใช้เพียง พ.ร.บ.โรคติดต่อฯ เท่านั้น มาเป็นเครื่องมือเดียวในการแก้ปัญหาได้” นางนฤมล กล่าว

นางนฤมล ระบุว่า รัฐบาลทราบดีว่าการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ มีผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชน จึงกำลังพิจารณาว่าจะผ่อนปรนมาตรการป้องกันการติดต่อของโควิด-19 อย่างไร ซึ่งคาดว่า การผ่อนปรนระยะที่ 3-4 จะมีขึ้นในเดือนมิถุนายน 2563 โดยจะมีรายละเอียดเกี่ยวกับการผ่อนปรนเพิ่มเติมหลังจากการประชุม ศบค. ในวันศุกร์ที่ 29 พฤษภาคม 2563 นี้

สำหรับสถานการณ์โควิดในวันนี้นั้น นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. ระบุว่า ยังคงพบผู้ติดเชื้อใหม่ 3 ราย โดยทั้งหมดเป็นผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศ มีผู้ป่วยสะสม 3,045 ราย รายแรกเป็นผู้หญิงไทยอายุ 51 ปี เป็นพนักงานนวดกลับมาจากประเทศรัสเซีย กลับมาถึงเมืองไทยวันที่ 12 พฤษภาคม อีก 2 ราย เป็นชายไทยอายุ 45 ปี กลับมาจากประเทศคูเวต วันที่ 24 พฤษภาคม และวันนี้ ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 23 พฤษภาคม 2563 ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อ 3 ราย วันที่ 24 พฤษภาคม 2563 ไม่พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม วันที่ 25 พฤษภาคม 2563 พบผู้ติดเชื้อเพิ่ม 2 ราย และเสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย ทำให้มียอดผู้เสียชีวิตสะสมปัจจุบันอยู่ที่ 57 ราย

นายกฯ แถลงผลการพบปะกับสมาคมภาคธุรกิจ

ในตอนค่ำวันนี้ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้แถลงทางโทรทัศน์ ถึงการหาทางช่วยเหลือภาคธุรกิจ หลังจากที่ได้ใช้เวลาสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมาเพื่อพบปะกับสมาคมภาคธุรกิจว่า จะสั่งการในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐให้ซื้อหาจากผู้ประกอบการขนาดกลาง ขนาดย่อม และผู้ประกอบการเล็กๆ ในท้องถิ่นต่างๆ

“วันนี้ ผมขอรายงาน ผลที่ได้จากการไปพบปะหารือกับสมาคมภาคธุรกิจต่าง ๆ มีหลายอย่างที่ผมได้สั่งการให้เกิดขึ้นแล้ว และอีกหลายอย่างที่ผมตัดสินใจแล้วว่า จะผลักดันให้เกิดขึ้น อย่างแรก ผมได้สั่งการในเรื่องการจัดซื้อจัดจ้างของหน่วยงานภาครัฐ ตั้งแต่นี้เป็นต้นไป จะเป็นนโยบายกำหนดโควต้าของงบประมาณจัดซื้อจัดจ้างที่ตั้งไว้แล้ว ต้องไปซื้อสินค้าหรือใช้บริการจากผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม รวมไปถึงผู้ประกอบการเล็ก ๆ ในท้องถิ่นต่าง ๆ” พลเอกประยุทธ์ กล่าว

ทั้งนี้ นายกฯ กล่าวว่า แม้ว่าการควบคุมโรคจะประสบผลดี แต่ยังมีอีกหนึ่งวิกฤตที่อยู่ตรงหน้า นั่นคือ วิกฤตในเรื่องของการขาดรายได้ หาเลี้ยงปากท้องของพี่น้องประชาชน

ฝ่าค้านไม่เห็นด้วยกับการต่ออายุ พรก.ฉุกเฉิน

ในวันนี้ นายอนุสรณ์ เอี่ยมสะอาด โฆษกพรรคเพื่อไทย ได้กล่าวว่า ทางพรรคไม่เห็นด้วยกับการต่อ พรก.ฉุกเฉิน ขณะที่ตัวเลขผู้ป่วยลดลงแล้ว

“ขอตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการกระชับอำนาจ และเป็นการใช้อำนาจอย่างฟุ่มเฟือย ซึ่งทำให้ประชาชนนั้นเสียประโยชน์นะครับ ถ้าเราจะไปดูแนวทางของการออกมาตรการต่างๆ ของรัฐบาลต่อการแก้ปัญหาการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 มีความผิดพลาดตลอดระยะเวลารายทาง” นายอนุสรณ์กล่าว

“มีประชาชนในมากกว่า 50 จังหวัด อยู่ในพื้นที่ที่เรียกว่า ปลอดเชื้อ ย้อนกลับไป 14 วัน มากกว่า 50 จังหวัด ไม่มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ และในภาพรวมของส่วนกลาง ประเทศพบผู้ติดเชื้อบางวัน 1-2-3 ราย เป็น 0 ก็เป็นมาแล้วหลายครั้ง แต่ก็เอาสถิตินี้มาขังคนไทย 67 ล้านคน จึงตั้งข้อสังเกตว่า สิ่งที่รัฐบาลทำคือ การหลบหลังโควิด เพื่อปกปิดการทำงานที่ล้มเหลว”

ส่วนเมื่อวานนี้ คณะกรรมการรณรงค์เพื่อประชาธิปไตย (ครป.) แถลงไม่เห็นด้วยกับการต่ออายุ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกไป เนื่องจากเชื่อว่า เหตุผลที่ตัวเลขผู้ติดเชื้อลดลง มาจากการทำงานหนักของหน่วยงานสาธารณสุข มิใช่ผลโดยตรงจาก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

“ครป. ขอเสนอให้รัฐบาลหยุดขยาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ออกไป เนื่องจากการขยายเวลา พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไม่มีความเหมาะสมและจำเป็นอีกต่อไป สถานการณ์ปัจจุบันประเทศไทยควบคุมโควิดได้เป็นอย่างดี และเงื่อนไขหลักไม่ได้เกิดมาจากการใช้อำนาจใน พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่มาจากความแข็งแกร่งของฝ่ายสาธารณสุข ทั้งจากการรักษาของแพทย์และพยาบาล การป้องกัน และความร่วมมือจากอาสาสมัครสาธารณสุขหมู่บ้านทั่วประเทศ อีกด้านหนึ่งมาจากวัฒนธรรมความร่วมมือของภาคประชาชนเป็นหลัก” นายพิชาย รัตนดิลก ณ ภูเก็ต ประธาน ครป. กล่าว

ด้าน นายดอน หอมมณี ชาวเชียงใหม่ อายุ 38 ปี อาชีพนักวิจัย เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า หากเป็นไปได้รัฐบาลควรยกเลิก พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ แต่หากสถานการณ์การระบาดแย่ลง ก็อาจจะกลับมาใช้อีกได้ในอนาคต

“แต่ควรเจอกันครึ่งทาง นายกฯ ทำสัญญาประชาคมกับประชาชนทางโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจ บอกว่าถ้าวันไหนตัวเลขผู้ติดเชื้อแตะหลักร้อยจะประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉินฯ ใหม่อีกครั้ง... มันได้ภาพที่ดีทั้งทางการเมือง และในระดับนานาชาติ ถ้าสถานการณ์ดี ก็ยกเลิกอีกวนๆ ไป และต้องทำให้มันดี ๆ ให้คนไทยคุ้นชิน ให้คนไทยรับรู้ด้วยตัวเองว่า พ.ร.ก.ฉุกเฉินนี้มันดี ไม่ได้เหมือนกับที่เอ็นจีโอกลัวไปเอง” นายดอน กล่าวเพิ่มเติม

รัฐช่วยกลุ่มคนเปราะบาง

ในวันเดียวกัน น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แถลงข่าวภายหลังการประชุม ครม. ว่า ครม.เห็นชอบในหลักการผลการพิจารณาของคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ตาม พ.ร.ก. 1 ล้านล้านบาท มาตรการการช่วยเหลือเยียวยากลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ของกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์

โดยกลุ่มเปราะบางแบ่งเป็น 3 กลุ่ม รวม 13 ล้านคน คือ กลุ่มเด็กแรกเกิดถึง 6 ปี จากครัวเรือนที่มีความยากจน 1.45 ล้านคน, กลุ่มผู้สูงอายุ 9.66 ล้านคน และกลุ่มคนพิการ 2 ล้านคน ซึ่งรัฐบาลจะจ่ายเงินเยียวยาให้คนละ 1,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2563 โดยเป็นการจ่ายเพิ่มจากเงินอุดหนุนที่ทั้ง 3 กลุ่มได้รับอยู่แล้ว คือ เงินอุดหนุนเพื่อเลี้ยงดูเด็กแรกเกิด เบี้ยยังชีพผู้สูงอายุ และเบี้ยความพิการ

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง