ครม. ผ่อนปรนแรงงานต่างด้าวตามเอ็มโอยูอยู่ต่อได้ 2 เดือน

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2020.06.02
กรุงเทพฯ
200602-TH-COVID-migrant-workers-1000.jpg แรงงานชาวเมียนมา เดินทางไปยังสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่สอง เพื่อเดินทางต่อข้ามฝั่งไปยังเมืองเมียววดีในประเทศเมียนมา วันที่ 1 มิถุนายน 2563
เบนาร์นิวส์

ในวันอังคารนี้ คณะรัฐมนตรี มีมติเห็นชอบให้แรงงานต่างด้าวที่เดินทางเข้ามาทำงานตามเอ็มโอยูด้านแรงงาน (ปกติ) อยู่ต่อไปและทำงานในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวได้ จนถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2563 เพื่อลดปัญหาการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) และลดปัญหาการขาดแคลนแรงงาน

นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า ที่ประชุม ครม. มีมติเห็นชอบให้แรงงานต่างด้าวสัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา สามารถอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว และสามารถทำงานได้ ซึ่งจากเดิมจะสิ้นสุดการอนุญาตผ่อนปรนในสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้ (หลังการมีการต่ออายุมาครั้งหนึ่งเมื่อสิ้นสุดออายุวีซ่า ในเดือนมีนาคม)

“คณะรัฐมนตรีเห็นชอบผ่อนปรนให้แรงงานต่างด้าว สัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวและการทำงาน ตั้งแต่วันที่ 1 มิถุนายน ถึง 31 กรกฎาคม 2563 เพื่อลดความเสี่ยงการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือกลายเป็นแรงงานผิดกฎหมาย รวมทั้งช่วยบรรเทาปัญหาการขาดแคลนแรงงานของสถานประกอบการ เพื่อประโยชน์ในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลาย” นางนฤมล กล่าว

ทั้งนี้ แรงงานในส่วนนี้ เป็นแรงงานที่เดินทางเข้ามาทำงานโดยผ่านกระบวนการบันทึกความเข้าใจด้านแรงงานที่ประเทศไทย ได้เห็นชอบกับกัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม ในช่วงปี พ.ศ. 2558 เป็นต้นมา เพื่อการอนุญาตให้แรงงานเข้ามาทำงานในประเทศไทยโดยถูกกฎหมายอย่างเป็นระบบ เพิ่มเติมไปจากการนำเข้าแรงงานด้วยกฎหมายเดิม

นอกจากนี้ ในส่วนกลุ่มแรงงานที่เข้ามาทำงานด้วยกฎหมายเดิม หรือที่ทางการไทยเรียกใหม่ว่า MOU (กรณีพิเศษ) หรือผู้ที่เคยพิสูจน์สัญชาติ และถือบัตรชมพูอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวนั้น เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2563 ทาง ครม. ได้มีมติเห็นชอบให้ผ่อนผันให้แรงงานต่างด้าวและผู้ติดตามในกลุ่มนี้ อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวได้จนถึงวันที่ 30 พฤศจิกายน 2563 และให้ยกเว้นค่าเปรียบเทียบปรับการอยู่เกินกำหนด (Overstay)

ทั้งนี้ นางนฤมล ระบุว่า ประกาศฉบับเดิมของกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงแรงงาน ผ่อนผันให้คนต่างด้าว สัญชาติกัมพูชา ลาว และเมียนมา ตามเอ็มโอยูปกติ อยู่ในประเทศไทยได้จนถึงในวันที่ 31 พฤษภาคม 63 แต่ด้วยมาตรการป้องกันการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในประเทศไทยยังมีแนวโน้มที่จะใช้อยู่อีกระยะหนึ่ง กระทรวงแรงงานจึงได้ประชุมร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คือ สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง กองการต่างประเทศ สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทยและกรมการปกครอง เห็นควรให้ผ่อนปรนให้แรงงานต่างด้าว 2 กลุ่มเป้าหมาย คือ 1. แรงงานกัมพูชา ลาว และเมียนมา ที่ถือหนังสือเดินทางหรือเอกสารใช้แทนหนังสือเดินทาง และได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานไทย ภายใต้ MOU ด้านแรงงาน (เอ็มโอยูปกติ) และ 2. แรงงานกัมพูชาและเมียนมา ซึ่งถือบัตรผ่านแดนที่ได้รับอนุญาตให้เข้ามาทำงานในราชอาณาจักรตามมาตรา 64

แรงงานเมียนมากลับบ้านต่อเนื่อง

ในตอนสิ้นเดือนมีนาคม สถิติของกระทรวงแรงงาน ระบุว่า ประเทศไทยมีแรงงานต่างด้าวเมียนมา ลาว และกัมพูชา 2,814,481 คน ซึ่งเครือข่ายองค์กรด้านประชากรข้ามชาติ (MWG) ประเมินว่า มีแรงงานข้ามชาติมากกว่า 5 แสนราย ที่ถูกเลิกจ้าง หรือได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 ขณะที่ทางการประเทศเพื่อนบ้านได้รายงานการเดินทางกลับประชาชนของตนในจำนวนที่ใกล้เคียงกัน

ด้านมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) เชื่อว่า ยังมีแรงงานข้ามชาติเหลืออยู่ในประเทศไทยกว่าหนึ่งล้านคน

ในห้วงเวลานี้ ยังมีแรงงานต่างด้าวทยอยเดินทางกลับบ้านอย่างต่อเนื่อง โดยนายชัยพฤกติ์ เชียรธานรักษ์ นายอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เปิดเผยแก่เบนาร์นิวส์ว่า นับตั้งแต่ที่รัฐบาลไทยอนุญาตให้ชาวเมียนมาเดินทางกลับประเทศได้ มีคนเมียนมา เดินทางกลับประเทศผ่านทางอำเภอแม่สอดแล้วเกือบหนึ่งหมื่นคน

“มีแรงงานเมียนมาเดินทางกลับประเทศนับตั้งแต่มี พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ประมาณเกือบหมื่นคนแล้ว ตั้งแต่ ใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ เราเปิดแค่สะพานเดียว มีคนที่ลงทะเบียนกลับสามพันกว่าคน และที่ไม่ลงทะเบียนประมาณกว่าห้าพัน ดังนั้น น่าจะกลับแล้วประมาณเกือบหมื่นคน” นายชัยพฤกติ์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

ที่ด่านพรมแดนถาวรสะพานมิตรภาพไทย-เมียนมา แห่งที่ 2 ใน ต.ท่าสายลวด อ.แม่สอด จ.ตาก มีแรงงานต่างด้าวชาวเมียนมาจำนวนมากเดินทางกลับประเทศ

น.ส.อาโนวา ชาวเมืองย่างกุ้ง อายุ 24 ปี หนึ่งในแรงงานเมียนมาที่มารอกลับประเทศ เปิดเผยว่า ตัดสินใจเดินทางกลับ หลังจากทราบข่าวว่า ทางการไทยอนุญาตให้ข้ามแดนได้

“ฉันทำงานในกรุงเทพ ได้ 5-6 เดือน เป็นแม่บ้าน ทางการไทยอนุญาตเลยตัดสินกลับ พร้อมเพื่อนๆ ประมาณ 20 คน รู้ว่ากลับบ้านต้องถูกกักตัว กลับมาไทยก็ต้องถูกกักอีก ต้องเสียเวลาเหมือนว่างงานอีกนับเดือน ลำบากแน่นอนในช่วง 3-4 เดือนต่อไปนี้เป็นอย่างน้อย” น.ส.อาโนวา กล่าว

“สิ่งที่น่ากลัวที่สุดคือ ต้องระวังตัวเองจากโควิด กลับถึงบ้านน่าจะต้องใช้เงินที่เก็บมา 3-4 เดือน จากนั้นเงินหมดก็ไม่รู้จะเอาเงินที่ไหนมาใช้จ่าย ทั้งของตัวเองและครอบครัว ชีวิตวันนี้ ได้รับผลกระทบมากมาย” น.ส.อาโนวา กล่าวเพิ่มเติม

ด้าน นายเส่งเส่ง ชาวเมืองกอกาเรก อายุ 28 ปี ระบุว่า ตนเองเป็นแรงงานทำงานที่อำเภอมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร ตัดสินใจกลับบ้าน หลังจากที่ช่วงสงกรานต์ไม่สามารถกลับได้

“เดิมคิดจะกลับบ้านช่วงสงกรานต์ แต่ทางการไทยห้ามเดินทาง เข้า-ออก เพื่อป้องกันโควิด จึงต้องรอช่วงการคลายล็อค ถ้าเหตุการณ์ปกติก็จะกลับมาไทยเพื่อทำงานอีกครั้ง แต่ 2-3 เดือนข้างหน้า ผมและครอบครัวคงลำบากแน่ ๆ เพราะไม่รู้ว่าสถานการณ์โควิดจะหมดสิ้นจริง ๆ เมื่อไร” นายเส่งเส่ง กล่าว

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2563 ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ได้แจ้งให้แต่ละจังหวัดอำนวยความสะดวกให้แรงงานเมียนมาเดินทางกลับบ้านได้ โดยต้องลงทะเบียนล่วงหน้ากับสถานเอกอัครราชทูตเมียนมาประจำประเทศไทย และส่งรายชื่อให้จังหวัดชายแดน ซึ่งที่ผ่านมามีเพียงด่านชายแดนแม่สอด จังหวัดตาก และด่านชายแดนแม่สาย จังหวัดเชียงราย เท่านั้น ที่เปิดให้ชาวเมียนมาเดินทางกลับได้ สำหรับชายแเดนแม่สาย มีคนเดินทางกลับแล้วกว่า 100 ราย ตามการเปิดเผยของ นายประสงค์ หล้าอ่อน นายอำเภอแม่สาย

มารียัม อัฮหมัด ร่วมรายงานข่าวนี้

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง