การเก็บตัวช่วงโควิด ช่วยเสริมสร้างสัมพันธ์ในครอบครัว

มารียัม อัฮหมัด
2020.05.01
ปัตตานี
200501-TH-COVID-ramadan-1000.jpg นายสะอารี บาหะโร พ่อหม้ายลูกห้า นั่งพร้อมหน้ากับลูก ๆ บนกระท่อม ในหมู่ที่ 5 ต.บาโร๊ะ อ.ยะหา จ.ยะลา วันที่ 30 เมษายน 2563
เบนาร์นิวส์

การเกิดวิกฤติโควิดที่ทับซ้อนกับเดือนรอมฎอนที่ศักดิ์สิทธิ์ ไม่ได้เป็นเรื่องเลวร้ายไปเสียทั้งหมด สำหรับนายมะฆอซี อาบู ช่างไฟฟ้าในยะลา ที่ต้องหยุดงาน และเดินทางกลับบ้านมาถือศีลอดอยู่กับครอบครัวของพ่อแม่ ในปัตตานี ท่ามกลางการระบาดของโควิดที่มีผู้ติดเชื้อเกือบสามพันคน

“ก็ถือเป็นบรรยากาศที่ดี ถือเป็นโอกาสที่คนในครอบครัวจะมีกิจกรรมดี ๆ ร่วมกันทั้งเดือนรอมฎอนอย่างที่ไม่เคยเกิดขึ้น น้อยมากที่ทุกคนจะสามารถทำละหมาดกันภายในครอบครัวแบบนี้ แต่ปีนี้ถือเป็นภาคบังคับที่เราจะต้องทำที่บ้านร่วมกันกับสมาชิกครอบครัว ทำให้ทุกคนในครอบครัวมีความสัมพันธ์ที่แน่นขึ้น” นายมะฆอซี อาบู วัย 28 ปี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ที่บ้านพักของบิดามารดา

“ส่วนตัวผมมองว่าไม่ใช่ปัญหาหรือเป็นวิกฤติเลวร้ายทั้งหมด แต่เชื่อว่า ในวิกฤติที่เกิดขึ้นย่อมมีโอกาสที่ดีอยู่ มันไม่ได้เลวร้ายทั้งหมด” นายมะฆอซี กล่าวเพิ่มเติม พร้อมกับกล่าวอีกว่า ในตอนกลางวันเขาจะถือศีลอด ช่วยแม่ซักผ้า ไปซื้อของที่ตลาดเมื่อแม่ต้องการ และจะใช้เวลาว่าง ในเวลากลางวันอ่านอัลกุรอ่าน เมื่อถึงเวลากลางคืนเขาจะนำละหมาดตะรอเวียะฮ์ เพราะเขาเรียนศาสนาจบชั้น 10 ในโรงเรียนปอเนาะ อำเภอยะหริ่ง จังหวัดปัตตานี จึงมีความสามารถนำละหมาดให้กับคนในครอบครัวได้

นับตั้งแต่พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในประเทศไทยครั้งแรก ซึ่งเป็นนักท่องเที่ยวชาวจีนจากอู่ฮั่น จุดกำเนิดเชื้อโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ เมื่อวันที่ 13 มกราคมนี้ จนถึงล่าสุดมีผู้ติดเชื้อ 2,960 ราย ตาย 54 ราย และรักษาจนหายแล้ว 2,719 คน ซึ่งทางการได้ประกาศภาวะฉุกเฉิน มีการบังคับใช้เคอร์ฟิว และการปิดธุรกิจกิจการบางส่วน จนทำให้ประชาชนจำนวนมากตกงานราว 7 ล้านคน และประชาชนในสามจังหวัดชายแดนใต้ที่โดยส่วนใหญ่ยากจนอยู่แล้ว ได้รับผลกระทบหนักขึ้นไปอีก

นอกจากนั้น รัฐบาลยังประกาศให้งดการทำกิจกรรมทางศาสนาที่มัสยิดมาตั้งแต่ก่อนเดือนรอมฎอน ส่วนในบางหมู่บ้านที่มีผู้ได้รับเชื้อ ทางการท้องถิ่นยังได้ปิดการเข้าออกพื้นที่อีกด้วย ทำให้บรรยากาศยามค่ำคืนหลังจากละศีลอดของพี่น้องชาวไทย ศาสนาอิสลามในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ จากที่เคยคึกคักกลับเป็นไปอย่างเงียบเหงา เพราะพี่น้องประชาชนส่วนใหญ่ต่างเก็บตัวอยู่ในบ้าน

อย่างไรก็ตาม นางสือนะ อาแด อายุ 39 ปี พี่สะใภ้ของนายมะฆอซี กล่าวว่า ตนโชคดีที่น้องชายของสามีนำละหมาดตะรอเวียะฮ์ได้ ขณะที่มัสยิดงดจัดกิจกรรม

“จริงอยู่ บรรยากาศไม่เหมือนกันกับที่เราละหมาดที่มัสยิด แต่รู้สึกว่าแบบนี้ก็อบอุ่นดี เป็นกิจกรรมที่เราทำกันกับคนในครอบครัว พวกเราโชคดีที่น้องชาย สามารถเป็นผู้นำละหมาดได้” นางสือนะ ที่ปกติกรีดยางและรับจ้างทั่วไปอยู่ในตำบลกาตอง อ.ยะหา จ.ยะลา กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

“เราต้องอดทนเมื่อเราเจอบททดสอบร่วมกัน คนทั้งโลกต่างเจอเหมือนกันกับเราทุกคน และไม่เว้นศาสนา เพศ วัย ต่างร่วมชะตาเดียวกันหมด แต่เราต้องอดทนยิ่งกว่า โดยเฉพาะในเดือนนี้ ซึ่งเป็นเดือนแห่งการกอบโกยผลบุญ”

นายมะฆอซี อาบู นำแม่และพี่สะใภ้ละหมาดตะรอเวียะฮ์ ที่บ้านเกิด ในจังหวัดปัตตานี วันที่ 30 เมษายน 2563 (เบนาร์นิวส์)
นายมะฆอซี อาบู นำแม่และพี่สะใภ้ละหมาดตะรอเวียะฮ์ ที่บ้านเกิด ในจังหวัดปัตตานี วันที่ 30 เมษายน 2563 (เบนาร์นิวส์)

เด็กนักเรียนหยุดเล่น เน้นศึกษาอัลกุรอาน

ด.ญ.ฟาเดีย สุหลง วัย 13 ปี ที่ต้องกำพร้าพ่อจากสถานการณ์ความไม่สงบในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ตั้งแต่เมื่ออายุได้เพียง 12 วัน กล่าวว่า ในปีนี้ตนเองและเพื่อน ๆ งดเล่น ไม่เหมือนอย่างเช่นปีที่ผ่านมา โดยตั้งใจว่าจะทำให้ดีกว่าเดิมด้วยการศึกษาคัมภีร์อัลกุรอ่านกับเพื่อน ๆ ในอำเภอยะหา จังหวัดยะลา

“หนูอยากทำให้การถือศีลอดปีนี้ ดีกว่าปีที่ผ่านมา เพื่อตัวเราและเพื่อคนอื่น โดยเฉพาะช่วงสถานการณ์โควิด-19 กำลังระบาด จึงคุยกับเพื่อน ๆ 4-5 คน มาร่วมอ่านอัลกุรอ่าน เราใช้เวลาครึ่งชั่วโมงตรงนี้ ทำสิ่งดี ๆ พวกเราตั้งใจจะทำแบบนี้ไปเรื่อย ๆ จนถึงจบรอมฎอน” ด.ญ.ฟาเดีย กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ ซึ่งรัฐบาลประกาศปิดโรงเรียนหยุดการเรียนการสอนระยะยาว จนถึงเดือนกรกฎาคม

ฟาเดีย บอกว่า ในการถือศีลอดแต่ละวัน จะเริ่มด้วยการตื่นขึ้นมากินข้าวในตอน 03.30 น. จะนอนหลังจากละหมาดซุฮ์รีเสร็จหลัง 05.00 น. แล้วจะตื่นอีกครั้งตอน 09.30 น. ซึ่งเพื่อน ๆ ก็มาหาที่บ้าน เล่นกันนิดหน่อย จนได้ยินเสียงอาซานก็จะละหมาดซุฮ์รี ละหมาดเสร็จ ก็จะมานั่งอ่านอัลกุรอ่าน

“ใครที่ผ่านได้แล้วก็จะสอนคนที่อ่านไม่ค่อยได้ บางครั้งเราจะอ่านบทที่ทุกคนอ่านคล่องและร่วมอ่านประสานเสียง ก็รู้สึกสนุกที่สำคัญได้บุญดีกว่าที่จะละหมาดเสร็จแล้วไปเล่นเลย” ฟาเดียกล่าว

“ประมาณ 14.00 น. พวกเราก็จะอ่านเสร็จ ถ้าเห็นผู้ใหญ่เขาทำครัว พวกเราก็จะไปช่วย หั่นผัก ล้างผัก ล้างจาน สนุกดี ตอนนี้ก็รอละศีลอด แล้วเวลาที่เสียไปวันนี้ของการถือศีลอดมีคุณค่ามาก พวกเราทุกคนดีใจที่ได้ทำสิ่งดี ๆ เพื่อตัวเองและเพื่อคนอื่น เราจะอยู่บ้านเพื่อลดการติดเชื้อโควิด-19”

รอมฎอนนี้ .. สำหรับบางครอบครัวแทบไม่มีจะกิน

สำหรับนายสะอารี บาหะโร พ่อเลี้ยงเดี่ยวลูกห้า วัย 45 ปี แล้ว โควิด-19 ได้ซ้ำเติมความเดือดร้อนให้กับตนที่มีความยากจนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ให้หนักหนาสาหัสขึ้นไปอีก จนแทบไม่มีอาหารจะกิน ซึ่งตนเองลงทะเบียนขอเงินเยียวยาจากรัฐบาลแล้ว แต่ไม่ได้

“ผมมีอาชีพรับจ้างทั่วไป ใครให้ทำอะไรก็จะทำ เพื่อให้ลูกได้มีข้าวกิน ตอนนี้โควิด-19 ระบาด ไม่มีใครจ้างงานเลย ไปรับจ้างแถวนอกหมู่บ้านก็ไม่ได้ ยิ่งทำให้เราเดือดร้อนหนัก” นายสะอารี ซึ่งตกพุ่มหม้าย เมื่อภรรยาเสียชีวิตหลังคลอดลูกคนเล็กเมื่อ 9 เดือนก่อน กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

นายสะอารี อาศัยอยู่ในกระท่อม ไม่มีบ้านเลขที่ กว้าง 2 เมตร ยาว 6 เมตร ในพื้นที่หมู่ที่ 5 ต.บาโร๊ะ อ.ยะหา จ.ยะลา ทำขึ้นจากเศษไม้ที่เพื่อนบ้านและญาติ ๆ ให้มา เป็นทั้งที่นอน ครัว ที่เล่นของลูก ๆ ซึ่งคนเล็กอายุเก้าเดือน คนโตอายุ 10 ขวบ ส่วนห้องน้ำอาศัยของเพื่อนบ้านหรือบ้านพี่สาว แล้วแต่บ้านไหนจะว่าง

“ผมพยายามปลอบพวกเขาทุกครั้ง เมื่อไม่มีอะไรให้เขากิน ดีที่สุดตอนนี้ ก็คือข้าวต้ม ลูกก็ร้องไห้บ้างเพราะเขาหิว กินไม่อิ่ม สุด ๆ เลย ไม่เคยเป็นขนาดนี้ ปกติไม่มี ๆ ก็ยังมีข้าวกิน แต่ตอนนี้งานไม่มี เงินก็ไม่มี ข้าวก็ไม่มี” นายสะอารี กล่าว

แม้แต่ยามรอมฎอนที่ปกติเพื่อนบ้านจะแจกจ่ายอาหารทานกัน เมื่อละศีลอดในแต่ละวัน ทว่าในปีนี้แทบทุกครอบครัว ต่างได้รับผลกระทบ ทำให้มีการแจกจ่ายอาหารน้อยลง

นายอับดุลเราะมัน ลือแบเตะ สารวัตรกำนัน ต.บาโร๊ะ และประธานศูนย์ยุติธรรมชุมชน ต.บาโร๊ะ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ ว่า ตนเองในฐานะผู้นำในชุมชนก็ไม่สามารถทำอะไรได้มากไปกว่าการประสานงานและประชาสัมพันธ์ ให้คนอื่นเขาได้รับทราบถึงความเดือดร้อนและผลกระทบของชาวบ้าน เพราะงบประมาณก็ไม่มี ขณะที่ลูกบ้านส่วนใหญ่ไม่ได้เงินเยียวยา 5 พันต่อเดือน

“ผมแอบร้องไห้คนเดียวตลอด ท้อกับสิ่งที่เกิดขึ้น แต่ก็พยายามบอกตัวเองเสมอว่า เราต้องอดทนเพื่อลูก” นายสะอารี กล่าวด้วยความสะเทือนใจ

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง