ครม. อนุมัติเยียวยาโควิด-19 เพิ่มเติม 8.4 ล้านราย

วิลาวัลย์ วัชรศักดิ์เวช
2020.06.16
กรุงเทพฯ
200616-TH-COVID-agriculture-1000.jpg ชาวนาเก็บเกี่ยวข้าว ในแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 7 พฤศจิกายน 2562
เอเอฟพี

ในวันอังคารนี้ คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบให้เยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบอีกประมาณ 8.4 ล้านราย วงเงิน 2.4 หมื่นล้านบาท โดยกลุ่มเป้าหมายคือ กลุ่มที่ตกหล่นจากการเยียวยาในโครงการเราไม่ทิ้งกัน และโครงการช่วยเหลือเกษตรกร โดยจะเริ่มจ่ายเงินได้ภายในเดือนมิถุนายน 2563 นี้

น.ส.รัชดา ธนาดิเรก รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยแก่สื่อมวลชน หลังการประชุม ครม. ระบุว่า ที่ประชุมมีมติเห็นชอบ 4 โครงการช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชย

“ครม. อนุมัติช่วยเหลือเยียวยาแก่ประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ช่วยกลุ่มผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งเป็นกลุ่มใหม่ที่เพิ่มเติมขึ้น.. กลุ่มที่ลงทะเบียนโครงการเราไม่ทิ้งกันที่ลงทะเบียนไม่สำเร็จ.. กลุ่มผู้เปราะบาง.. และช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากโควิด.. อนุมัติตั้งแต่เดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม การจ่ายก็คือจะจ่ายให้ในเดือนมิถุนายน 2 เดือน กรกฎาคมก็จะตามมา” น.ส.รัชดา กล่าว

น.ส.รัชดา ระบุว่า 4 กลุ่ม ที่ครม.อนุมัติช่วยเหลือประกอบด้วย 1. ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ที่ไม่ได้รับความช่วยเหลือเยียวยาจากโครงการของภาครัฐ 1,164,222 คน เดือนละ 1,000 บาท ระยะเวลา 3 เดือน พฤษภาคม–กรกฎาคม 2563 วงเงินงบประมาณ 3.49 พันล้านบาท 2. ผู้ที่ลงทะเบียนไม่สำเร็จตามโครงการเราไม่ทิ้งกัน 302,160 คน ที่ตรวจสอบแล้วว่า ยังไม่เคยได้รับความช่วยเหลือ เยียวยา และชดเชย งบประมาณไม่เกิน 906 ล้านบาท ซึ่งสำนักงานเศรษฐกิจการคลังจะพิจารณากำหนดกลุ่มเป้าหมายและกลไกความช่วยเหลือให้ชัดเจน และส่งให้คณะกรรมการกลั่นกรองเงินกู้ฯ พิจารณาภายใน 1 เดือน

3. กลุ่มผู้เปราะบาง 6,781,881 คน ซึ่งเป็นผู้ที่ไม่ได้รับการเยียวยาจากมาตรการอื่นของรัฐ ประกอบด้วย 1.) เด็กจากครัวเรือนยากจน อายุตั้งแต่แรกเกิด-6 ปี 1,394,756 คน 2.) ผู้สูงอายุ 60 ปีขึ้นไป 4,056,596 คน และ 3.) ผู้พิการ 1,330,529 คน โดยจะจ่ายเงินเยียวยารายละ 1,000 บาทต่อเดือน เพิ่มเติมจากเงินอุดหนุนเดิมที่คนแต่ละกลุ่มได้อยู่แล้วเป็นเวลา 3 เดือน ระหว่างเดือนพฤษภาคม-กรกฎาคม 2563 งบประมาณ 2.03 หมื่นล้านบาท และ 4.) เกษตรกรที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19 คือ 1. เกษตรกรที่ด้อยโอกาส และยังไม่สามารถเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานด้านการเกษตร 137,093 ราย 2. ขยายเวลาการจ่ายเงินให้แก่เกษตรกร ที่ไม่สามารถขึ้นทะเบียนและปรับปรุงทะเบียนเกษตรได้อย่างสมบูรณ์ ภายในวันที่ 15 พฤษภาคม 2563 อีก 120,000 ราย โดยให้ลงทะเบียนให้เสร็จภายในวันที่ 15 กรกฎาคม 2563

ขณะเดียวกัน น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ได้เปิดเผยว่า กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้เสนอโครงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ภาคการท่องเที่ยว เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่ง ครม. อนุมัติ 3 โครงการในวันอังคารนี้

“โครงการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมภาคการท่องเที่ยว ก็นำเสนอเข้ามา โดยมี 3 โครงการ 1. โครงการกำลังใจ 2. โครงการเราไปเที่ยวกัน และ 3. โครงการเที่ยวปันสุข ใช้งบประมาณไปทั้งสิ้น 3 โครงการนี้  22,400 ล้านบาท” น.ส.ไตรศุลี กล่าว

น.ส.ไตรศุลี ระบุว่า โครงการทั้งหมดประกอบด้วย 1. โครงการกำลังใจ สำหรับเจ้าหน้าที่อาสาสมัครประจำหมู่บ้าน (อสม.) เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) 1.2 ล้านคน สนับสนุนไม่เกิน 2,000 บาทต่อคน แต่ต้องเดินทางกับบริษัทนำเที่ยวเท่านั้น และต้องเดินทางไม่น้อยกว่า 2 วัน 2. โครงการเราไปเที่ยวกัน เป็นค่าโรงแรมที่พักในลักษณะร่วมจ่าย 5 ล้านคืน สูงสุดไม่เกิน 3,000 บาทต่อคืน สำหรับประชาชนทั่วไป โดยช่วยจ่ายค่าห้องพัก 40% ต่อคืน และแจกเงินเที่ยว 600 บาทต่อคืนไม่เกิน 5 คืน ผ่านทางแอปพลิเคชันเป๋าตัง โดยต้องไม่เที่ยวในจังหวัดที่มีชื่อในทะเบียนบ้าน กรอบวงเงิน 1.8 หมื่นล้านบาท และ 3. โครงการเที่ยวปันสุข สนับสนุนการเดินทางไม่น้อยกว่า 2 ล้านคน โดยรัฐสนับสนุน 40% แต่ไม่เกิน 1,000 บาท ของบัตรโดยสารสายการบิน รถขนส่งไม่ประจำทาง และรถเช่า ทั้งยังมี โครงการเราไปเที่ยวกัน และเที่ยวปันสุข คือ หากจองห้องพักในโครงการเราไปเที่ยวด้วยกัน จะได้รับสิทธิ์จองบัตรโดยสารเครื่องบินไป-กลับ ในราคาไม่เกิน 2,500 บาท 1 สิทธิ์ โดยเริ่มโครงการตั้งแต่ 1 กรกฎาคม-31 ตุลาคม 2563

ก่อนหน้านี้ ครม. ได้อนุมัติเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แบ่งเป็น 2 โครงการหลัก ประกอบด้วย 1. โครงการเราไม่ทิ้งกันจ่ายเงินเยียวยา 15.1 ล้านราย วงเงิน 2.4 แสนล้านบาท และ 2. โครงการช่วยเหลือเกษตรกร 7.2 ล้านราย วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งเป็นการจ่ายเงิน 5 พันบาท ให้กับผู้ที่ผ่านการตรวจสอบสถานะเป็นเวลา 3 เดือน ทั้ง 2 โครงการ

ทั้งนี้ เมื่อต้นเดือนนี้ รัฐสภาได้มีมติเห็นชอบ พระราชกำหนด 3 ฉบับ ประกอบด้วย หนึ่ง พ.ร.ก.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหา เยียวยา และฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคม ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 พ.ศ. 2563 ในวงเงิน 1 ล้านล้านบาท ซึ่ง 6 แสนล้านบาท ใช้ในการสาธารณสุข และอีก 4 แสนล้านบาท ใช้เพื่อช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบโดยตรง

สอง พ.ร.ก. การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ผู้ประกอบการวิสาหกิจ ที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2563 วงเงิน 500,000 ล้านบาท และ สาม พ.ร.ก. การรักษาเสถียรภาพของระบบการเงินและความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ พ.ศ. 2563 วงเงิน 400,000 ล้านบาท ซึ่งเป็นส่วนของการให้อำนาจธนาคารแห่งประเทศไทยดำเนินการ

ในวันเดียวกัน พญ.พรรณประภา ยงค์ตระกูล ผู้ช่วยโฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เปิดเผยว่า ในวันอังคารที่ 16 มิถุนายน 2563 นี้ไม่มีผู้ติดเชื้อ และเสียชีวิตรายใหม่เพิ่ม ทำให้มีผู้ติดเชื้อสะสมคงที่ 3,135 ราย ผู้เสียชีวิตสะสมคงที่ 58 ราย หายป่วยเพิ่ม 6 ราย รวมหายป่วยแล้ว 2,993 ราย ยังมีผู้ป่วยที่รักษาอาการอยู่ในโรงพยาบาล 84 คน โดยเป็นการไม่พบผู้ป่วยติดเชื้อภายในประเทศเป็นวันที่ 22 แล้ว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง