ศบค. เผยพบผู้ป่วยโควิด-19 ชาวโรฮิงญา 18 ราย ที่ห้องกักสะเดา

มารียัม อัฮหมัด
2020.05.04
ปัตตานี
200504-TH-COVID-deepsouth-1000.jpg ผู้ขับขี่จักรยานยนต์ได้รับการตรวจวัดอุณหภูมิที่จุดตรวจคัดกรอง ระหว่างเดือนรอมฎอนที่ประชาชนชาวมุสลิมทำการถือศีลอด ท่ามกลางการแพร่ระบาดของโควิด-19 ในจังหวัดยะลา วันที่ 27 เมษายน 2563
รอยเตอร์

ในวันจันทร์นี้ ทั่วประเทศพบผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนา สายพันธุ์ใหม่ 2019 (COVID-19) เพิ่ม 18 ราย โดยทั้งหมดเป็นผู้ต้องกักชาวโรฮิงญา ในสถานควบคุมคนต่างด้าว สำนักงานตรวจคนเข้าเมืองอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา เบื้องต้น รายที่มีอาการปอดบวมจะถูกส่งตัวไปรักษายังโรงพยาบาลหาดใหญ่ ขณะที่รายที่อาการไม่หนักจะยังอยู่ในศูนย์กักที่ดัดแปลงเป็นโรงพยาบาลสนาม และแยกคนที่ไม่ติดเชื้อออก

นายจารุวัฒน์ เกลี้ยงเกลา ผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า จังหวัดสงขลาได้ส่งทีมแพทย์คัดกรองโรคโควิด-19 เชิงรุกเข้าตรวจโรคชาวต่างชาติ 28 ราย ที่ถูกควบคุมตัวที่สถานควบคุมคนต่างด้าว อำเภอสะเดา ทำให้พบผู้ติดเชื้อจำนวนหนึ่ง

“พบชาวโรฮิงญาติดเชื้อไวรัสโควิด-19 จำนวน 18 ราย ในจำนวนนี้เป็นผู้หญิง 17 ราย อยู่ในช่วงอายุ 19-20 ปี และเด็กชายอายุ 10 ขวบ 1 ราย ซึ่งถูกควบคุมตัวพร้อมแม่ แต่แม่ไม่ติดเชื้อ ทีมแพทย์ได้เข้าไปเอ็กซเรย์เพื่อดูอาการในระบบทางเดินหายใจ และการทำงานของปอด หากพบว่า มีปอดบวมจะส่งไปรักษาที่โรงพยาบาลหาดใหญ่ ส่วนรายที่อาการไม่มากจะรักษาที่ศูนย์กักตัวฯ ที่ได้ปรับชั้น 2 เป็นโรงพยาบาลสนาม

และได้แยกตัวผู้ไม่พบเชื้อออกมาพักอีกห้อง พร้อมแยกการทำงานของเจ้าหน้าที่ไม่ให้ปะปนกันระหว่างอาคาร” นายจารุวัฒน์ กล่าว

ในวันเดียวกัน นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) เปิดเผยว่า ทั่วประเทศพบผู้ติดเชื้อรายใหม่ 18 ราย ซึ่งทั้งหมด เป็นผู้ต้องกักในห้องกักที่อำเภอสะเดา

“วันนี้พบผู้ป่วยรายใหม่ 18 ราย ทุกรายอยู่ในศูนย์กักกันที่จังหวัดสงขลา ที่สะเดา มีผู้ป่วยหายแล้ว 2,740 เพิ่มขึ้นวันนี้ หาย 1 ราย ทำให้ยอดสะสม 2,987 ไม่มีผู้เสียชีวิตเพิ่ม ก็เป็นข่าวดี… จังหวัดสงขลา มีคนของสงขลาเองติดเชื้อแค่ 44 ราย” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

ทั้งนี้ เบนาร์นิวส์พยายามติดต่อหา พ.ต.อ.มานะ นาคทั่ง รองผู้บังคับการกองบังคับการตรวจคนเข้าเมือง 6 รักษาการผู้กำกับการตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดสงขลา ซึ่งรับผิดชอบห้องกักอำเภอสะเดา เพื่อขอข้อมูลเพิ่มเติม แต่ไม่สามารถติดต่อได้

นพ.ทวีศิลป์ ยังได้ระบุอีกว่า ข่าวที่ว่าในจังหวัดยะลาพบผู้ติดเชื้อ 40 ราย จากข้อมูลการตรวจอีกครั้งพบว่า ยังไม่ยืนยันการติดเชื้อ

“การค้นหาเชิงรุกในชุมชน จังหวัดยะลา 18-24 เมษายน 2563 สำรวจ 3,277 ราย อำเภอเมืองยะลา 3 ยะหา 3 บันนังสตา 14 นอกนั้นตรวจกันเป็นหลายร้อยก็ไม่เจอ แล้วก็จาก 20 คนก็ไปเจาะลงว่ามีผู้ที่เกี่ยวข้องกับ 20 คนเท่าไหร่ พบว่า 671 คนที่เชื่อมโยงกับ 20 คนที่ผลตรวจยืนยัน

ในนั้นสัมผัสจริง ๆ 222 ราย ต้องตรวจหาเชื้อพบเชื้ออีก 6 ราย เป็นที่มาของการตรวจเพิ่ม 311 คน ที่มีข่าวว่ามาตรวจพบ 40 คน ยังไม่ได้เป็นทางการ มีการตรวจสอบกับกรมวิทย์ฯ ที่สงขลา ผลของวันนี้อย่างไม่เป็นทางการก็ออกมาว่า ไม่พบเลยทั้ง 40 ราย” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว

ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2563 องค์กรฟอร์ตี้ฟายไรต์ (Fortify Rights) ได้ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ประเทศไทยปล่อยตัวผู้ต้องกักตามห้องกักต่างๆ เพื่อความปลอดภัยด้านสุขภาพ หลังจากมีข่าวว่า ผู้ต้องกัก 42 คน ในห้องกักอำเภอสะเดา ติดเชื้อโควิด-19 และระบุว่า มีผู้ลี้ภัยทั่วประเทศไทยมากถึง 200 คน ที่ถูกกักอยู่ในสถานกักกัน 22 แห่ง ทั้งที่สำนักตรวจคนเข้าเมืองสะเดา และสถานกักกันอื่น ๆ ทั่วประเทศ

“การที่ยังคงกักตัวผู้ลี้ภัย และผู้อพยพ ไม่ได้น่าเป็นห่วงเฉพาะเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังน่าเป็นห่วงเรื่องสุขภาพด้วย ซึ่งในขณะที่ทั่วโลกภัยพิบัติด้านสุขภาพยังคงดำเนินไป หน่วยงานรัฐไทยควรจัดการกับจุดเสี่ยงการติดเชื้อโควิด-19 เช่น ห้องกักคนต่างชาติ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด” น.ส.เอมี สมิธ ผู้อำนวยการบริหารองค์กรฟอร์ตี้ฟายไรต์ ระบุในแถลงการณ์

ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 25 เมษายน 2563 นพ.ทวีศิลป์ ระบุว่า พบผู้ติดเชื้อโควิด-19 จำนวน 42 คน ที่เป็นผู้ต้องกักในห้องกักอำเภอสะเดา โดยแบ่งเป็น ชาวเมียนมา 34 คน เวียดนาม 3 คน มาเลเซีย 2 คน เยเมน 1 คน กัมพูชา 1 คน และอินเดีย 1 คน โดยทั้งหมดถูกแยกออกจากผู้ต้องกักรายอื่นๆ 73 คนแล้ว

ประชาชนผ่อนคลาย หลังรัฐบาลผ่อนปรนมาตรการโควิด-19

หลังจากที่ ศบค. ได้แถลงผ่อนปรนมาตรการควบคุมโควิด-19 โดย อนุญาตให้ 6 กิจกรรมและกิจการ สามารถกลับมาเปิดได้ ประกอบด้วย 1. ตลาด 2. ร้านจำหน่ายอาหาร ขนาดไม่เกิน 2 คูหา ร้านเครื่องดื่ม ขนมหวานไอศครีม ที่อยู่บริเวณนอกห้างสรรพสินค้า ร้านอาหารริมทางรถเข็น และหาบเร่ 3. กิจการค้าปลีกค้าส่ง แบ่งเป็นซุปเปอร์มาร์เก็ต ร้านสะดวกซื้อ บริเวณพื้นที่นั่ง หรือยืนรับประทาน รถเร่ขายสินค้าอุปโภคบริโภค ร้านค้าปลีก ร้านขายปลีกกิจการสื่อสารโทรคมนาคม 4. กีฬาสันทนาการ ในสวนสาธารณะ สนามกีฬากลางแจ้งที่เป็นการออกกำลังกาย ไม่ใช่การแข่งขัน สนามซ้อม 5. ร้านตัดผม ร้านเสริมสวย เฉพาะตัด สระ ไดร์ผม และ 6. อื่นๆ ร้านตัดขนสัตว์ ร้านฝากรับเลี้ยงสัตว์ รวมถึงการอนุญาตให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ โดยเริ่มอนุญาตตั้งแต่วันอาทิตย์ที่ 3 พฤษภาคม 2563 ทำให้ประชาชนจำนวนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบในช่วงที่ผ่านมา รู้สึกผ่อนคลายขึ้น

นายสมจิต สมใจ เจ้าของร้านขายอาหารและเบียร์สด อายุ 35 ปี ชาวจังหวัดขอนแก่น กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า รู้สึกดีที่รัฐบาลอนุญาตให้ขายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพราะเป็นรายได้หลักของร้าน แต่ถือว่า รายได้ก็ยังไม่ได้กลับมาเป็นปกติเช่นก่อนเกิดการระบาดของโควิด-19

“ผ่อนปรน ทำให้รู้สึกเหมือนนกที่ได้อยู่นอกกรง แต่ก็ยังบินไม่ได้ เข้าใจและเห็นใจรัฐที่ต้องมีมาตรการเข้มงวด แต่ก็คิดว่าควรจะเข้มตั้งแต่มีข่าวว่าต่างประเทศระบาด เพราะตัวเลขที่ออกมาก็เห็นว่า คนที่ติดเชื้อส่วนใหญ่มาจากต่างประเทศ ต่อไปก็อยากให้รัฐเข้มงวดจนกว่าโรคจะเลิกระบาด แต่ไม่เห็นด้วยอย่างมากในการที่ห้ามขายแอลกอฮอล์ เพราะไม่คิดว่า มันคือสาเหตุหลักของการระบาด ภาพที่คนไปรุมซื้อหลังผ่อนปรนก็ยิ่งทำให้แอลกอฮอล์เป็นผู้ร้ายอีกคิดว่า การให้ซื้อกลับบ้านเป็นทางออกที่วิน-วิน แม้จะทำให้รายได้หายไป 85 เปอร์เซ็นต์ก็ตาม” นายสมจิต กล่าว

น.ส.เกศนี (สงวนนามสกุล) พนักงานบริษัทเอกชน อายุ 36 ปี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า การผ่อนปรนของรัฐทำให้รู้สึกเครียดกับสถานการณ์ในช่วงการระบาดของโควิด-19 น้อยลง

“การผ่อนปรนเหมือนได้ชีวิตของตัวเองกลับมา เพราะที่ผ่านมารู้สึกอึดอัดมากๆ คิดถึงร้านตัดผม คิดถึงการออกกำลังกาย คิดถึงการไปกินอาหารที่ร้านอาหาร คิดถึงชาบู หมูกระทะ แต่อีกใจนึงก็กลัวการกลับมาระบาดอีกครั้งเป็นรอบที่ 2 ก็อยากให้ลุงตู่ใจแข็งอีกนิดนึงเพื่อให้สถานการณ์ดีขึ้นก่อนจึงจะผ่อนคลายอีก” น.ส.เกศนี ระบุ

ขณะที่ นายเชิด เหมอาทิตย์ เจ้าหน้าที่ระดับบริหารของบริษัทประกันแห่งหนึ่ง ชาวกรุงเทพ เปิดเผยว่า ยังไม่รู้สึกถึงความแตกต่างระหว่างมาตรการเข้มงวด และการผ่อนปรนของรัฐ เนื่องจากอาชีพที่ทำอยู่ยังไม่ได้รับผลกระทบมากนัก

“หลังผ่อนปรนรู้สึกเฉยๆ เพราะคิดว่าผลกระทบหนักๆ สำหรับกลุ่มอาชีพอย่างผม มันยังมาไม่ถึงตอนนี้ น่าจะอีกสัก 3-6 เดือน แต่อยากให้รัฐช่วยคลายล็อคหลายๆ อาชีพเพิ่มขึ้น ให้เงินมันหมุนในระบบเร็วๆ สร้างอาชีพเพิ่มมารองรับกลุ่มที่ตกงานหรือธุรกิจไม่สามารถกลับมาเปิดได้ในระยะแรกๆ นี้ ทำแบบสิงคโปร์ก็ได้ ที่จ้างคนมาคอยเตือนเรื่องโซเชียล ดิสแทนซิ่ง” นายเชิด กล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง