ขบวนการค้าของเถื่อนและยาเสพติด สร้างความยุ่งยากในการแก้ปัญหาชายแดนใต้

ภิมุข รักขนาม และ รพี มามะ
2016.06.15
กรุงเทพฯ และ นราธิวาส
TH-south-violence-1000 ทหารพรานตรวจสถานที่เกิดเหตุระเบิดรถยนต์ของเจ้าหน้าที่ตำรวจ ในอำเภอระแงะ จังหวัดนราธิวาส ภาพเมื่อวันที่ 29 มีนาคม 2559
เอเอฟพี

กลุ่มอิทธิพลทำธุรกิจผิดกฎหมาย และเจ้าหน้าที่รัฐที่ทุจริตบางคน มีส่วนร่วมในการก่อความรุนแรงที่เกิดขึ้นในจังหวัดชายแดนภาคใต้ และได้ตักตวงผลประโยชน์จากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ จึงเป็นการยากที่จะหาทางแก้ไขความขัดแย้งระหว่างรัฐบาลไทย และกลุ่มแบ่งแยกดินแดนได้สำเร็จ ผู้สัมผัสกับเหตุการณ์ในพื้นที่กล่าวต่อเบนาร์นิวส์

นานกว่าทศวรรษแล้ว ที่เหตุรุนแรงในพื้นที่ของสามจังหวัดชายแดนใต้เกิดขึ้นแทบทุกวัน นับตั้งแต่ที่กลุ่มแบ่งแยกดินแดน ได้สร้างสถานการณ์มาตั้งแต่เดือนมกราคม 2547 จากสถิติที่ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้รวบรวมไว้ มีเหตุโจมตีด้วยอาวุธปืนหรือการใช้วัตถุระเบิด เกิดขึ้นแล้วไม่ต่ำกว่า 15,000 ครั้ง

โดยส่วนใหญ่ ตำรวจมักจะกล่าวโทษว่าเป็นฝีมือของกลุ่มแบ่งแยกดินแดน แต่กลุ่มกองกำลังต่างๆ ที่หลบซ่อนในที่มืด กลับไม่เคยออกมาแสดงความรับผิดชอบ หรือออกมาปฎิเสธ แต่อย่างใด

“ความซับซ้อนของปัญหาในภาคใต้ ไม่ปฏิเสธว่ามีกลุ่มแบ่งแยกดินแดนในพื้นที่ภาคใต้ มีอยู่มากด้วย” นายซากีย์ พิทักษ์คุมพล อาจารย์ประจำสถาบันสันติศึกษา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ได้กล่าวกับเบนาร์นิวส์ เมื่อเร็วๆนี้

อย่างไรก็ตาม อาจารย์ซากีย์กล่าวว่า นอกเหนือจากขบวนการแบ่งแยกดินแดนแล้ว ยังมีขบวนการค้ายาเสพติด สินค้าเถื่อน และกลุ่มอิทธิพล ที่คอยผสมโรงก่อเหตุรุนแรงอยู่ด้วย

“มีเรื่องของขบวนการค้าของเถื่อนที่เขาเสียผลประโยชน์ เขาจำเป็นต้องทำอะไรบางอย่างให้เข้าทาง รวมทั้งกลุ่มยาเสพติด และเรื่องส่วนตัว คือการผสมโรงกัน รวมทั้งเรื่องของกลุ่มอิทธิพลในพื้นที่” อาจารย์ซากีย์กล่าว

“ความซับซ้อนของปัญหาบางครั้งเกิดจากเรื่องส่วนตัว ไม่พอใจกันก็ใช้ระเบิด เมื่อเจ้าหน้าที่ทำคดีไม่ได้ ก็จะสรุปใส่ในเรื่องการแบ่งแยกดินแดน” อาจารย์ซากีย์กล่าวเพิ่มเติม

นอกจากการเป็นเส้นทางลักลอบส่งยาเสพติดผ่านไปยังประเทศมาเลเซียแล้ว พื้นที่สามจังหวัดชายแดนใต้ ยังเป็นทางผ่านของขบวนการนำพาชาวโรฮิงญาที่หลบหนีออกมาจากประเทศเมียนมา เพื่อไปหางานทำที่ประเทศมาเลเซียอีกด้วย

“และบางครั้งกลุ่มผลประโยชน์มักจะว่าจ้างสมาชิกในกลุ่มขบวนการแบ่งแยกดินแดนให้ไปเคลื่อนไหว เพื่อเบี่ยงเบนประเด็น” อาจารย์ซากีย์ บุตรชายของจุฬาราชมนตรี กล่าว

ดินแดนในจังหวัดปัตตานี ยะลา นราธิวาส และบางส่วนของสงขลา เคยเป็นดินแดนของชาวมลายูปัตตานี ที่ปกครองแบบรัฐสุลต่าน และถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทยโดยสมบูรณ์ เมื่อกว่าร้อยปีที่ผ่านมา ในปัจจุบัน มีประชากรในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ประมาณ 1.7 ล้านคน เป็นชาวมุสลิมมลายูปัตตานี หรือทางการไทยเรียกว่า ชาวไทยมุสลิม ประมาณ 80 เปอร์เซ็นต์

ศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ให้ข้อมูลว่า นับตั้งปี 2547 ที่กลุ่มแบ่งแยกดินแดนจุดชนวนความรุนแรงระลอกใหม่ ได้มีประชาชนทั้งชาวไทยพุทธและชาวไทยมุสลิม ทุกเพศทุกวัยกว่า 6,500 คน เสียชีวิตจากเหตุการณ์เหล่านี้

นายซากีย์ พิทักษ์คุมพล [เอื้อเฟื้อภาพโดย ซากีย์ พิทักษ์คุมพล]

การสร้างความหวาดกลัว

พลเอกสำเร็จ ศรีหร่าย (ปัจจุบันเกษียณราชการแล้ว) ที่ได้ลงไปปฏิบัติหน้าที่ในสามจังหวัดชายแดนใต้ ในห้วง ปี พ.ศ. 2548 จนถึง ปี พ.ศ. 2555 กล่าวว่า เหตุรุนแรงส่วนใหญ่ เป็นฝีมือของสมาชิกขบวนการบีอาร์เอ็น ซึ่งมีขีดความสามารถสูงกว่ากลุ่มอื่นๆ

“กลุ่มบีอาร์เอ็น อยากได้เขตการปกครองตนเอง ใช้กลวิธีโจมตี ใช้ศาสนาอิสลามมาเป็นเครื่องมือ อ้างว่าคนนอกศาสนารุกรานปัตตานี” พล.อ.สำเร็จ ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งรองแม่ กองทัพภาคที่สี่ ซึ่งมีหน้าที่ดูแลภาคใต้ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

“บีอาร์เอ็น มีการวางอำนาจซ้อนอำนาจรัฐ ตั้งแต่ระดับจังหวัด อำเภอ จนถึงในระดับหมู่บ้านหรืออาเจาะ มีการสั่งการจากระดับสูง โดยที่ระดับปฏิบัติการ ถูกแบ่งเป็นเซลย่อยรอรับคำสั่ง แต่ละเซลไม่รู้จักผู้สั่งการระดับสูง และแต่ละเซลไม่รู้จักกัน” พล.อ.สำเร็จ อธิบายถึงโครงสร้างของบีอาร์เอ็น

อย่างไรก็ตาม พล.อ.สำเร็จ กล่าวว่า มีขบวนการค้าของเถื่อนที่ผสมโรงสร้างความรุนแรงอยู่ด้วยจริง แต่เป็นเพียงส่วนน้อยเท่านั้น

“กลุ่มธุรกิจมืดต่างๆ จะใช้โจรเป็นคนลงมือก่อความวุ่นวาย ให้น่ากลัว” พล.อ.สำเร็จ กล่าว

“กลุ่มธุรกิจมืดอื่นๆ ถือเป็นแนวร่วม แต่ไม่ได้มีกองกำลังหลักของตัวเอง” พล.อ.สำเร็จ กล่าว และได้เพิ่มเติมว่า กลุ่มธุรกิจมืดหลายรายจ่ายส่วยให้เจ้าหน้าที่ที่มีพฤติกรรมคอร์รัปชัน

“ถ้าเจ้าหน้าที่ไม่เกี่ยวข้องคงทำไม่ได้ มีกลุ่มธุรกิจมืดหลายรายที่แจกจ่ายส่วยให้เจ้าหน้าที่” พล.อ.สำเร็จ กล่าวเพิ่มเติม

บุคคลผู้ใกล้ชิดขบวนการธุรกิจมืดในจังหวัดนราธิวาสรายหนึ่ง ได้กล่าวยืนยันว่า ข้อมูลเรื่องการค้าของเถื่อนต่างๆ และยาเสพติดนั้นมีมานานแล้ว โดยมีนักการเมืองท้องถิ่นและนักการเมืองระดับชาติบางรายหนุนหลัง

“มีการทำธุรกิจผิดกฎหมายที่ได้รับการสนับสนุนจากนักการเมืองระดับท้องถิ่นและระดับชาติบางคน ที่เห็นได้ชัดคือการค้ายาบ้า ตามหัวเมืองชายแดนสำคัญๆ เช่น สุไหงโกลก ด่านนอก และปาดังเบซาร์ ซึ่งเป็นสถานที่พักยาเสพติดฝั่งไทย ก่อนส่งต่อไปมาเลเซีย” แหล่งข่าวคนดังกล่าว กล่าวโดยขอสงวนนาม เพื่อความปลอดภัย

“คนในพื้นที่ที่อยู่ในเครือข่ายผู้มีอิทธิพล ส่วนใหญ่มีสองสัญชาติ สามารถหนีข้ามแดนไปได้ หากมีคดี” แหล่งข่าวรายดังกล่าว กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

“การจ้างการก่อความไม่สงบ จะช่วยเบี่ยงเบนความสนใจของเจ้าหน้าที่ให้ไปกังวลเรื่องความมั่นคง การป้องกันชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนแทน”

“มีทั้งคนดีและคนไม่ดีในทุกองค์กร”

พ.อ.ปราโมทย์ พรหมอินทร์ โฆษก กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า เหตุการณ์ปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้นั้น มีเพียงส่วนน้อยที่เกิดจากฝีมือของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบ

“ความรุนแรงโดยกลุ่มขบวนการก่อความไม่สงบในพื้นที่ ปัจจุบันมีแค่ 5 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น อีก 95 เปอร์เซ็นต์ ที่ซ้ำเติมสถานการณ์ ที่เราเรียกว่า ภัยแทรกซ้อน ผลประโยชน์เรื่องของยาเสพติด สิ่งผิดกฎหมาย  อิทธิพล น้ำมันเถื่อน การเมืองท้องถิ่น เรื่องส่วนตัว” พ.อ.ปราโมทย์ กล่าว

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่การบุกค้นแหล่งกบดานของผู้ก่อความไม่สงบในอำเภอหนองจิก ปัตตานี เมื่อต้นเดือนกุมภาพันธ์จนถึงปัจจุบัน ได้มีเหตุการณ์ระเบิดและลอบยิง จนผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 44 ราย

“เราไม่สามารถระบุได้ ว่ามีเจ้าหน้าที่เข้าไปเกี่ยวข้องด้วยหรือไม่มี ทุกองค์กร มีทั้งคนดีและคนไม่ดี แต่เรามีมาตรการ ถ้าหากพบว่ามีเจ้าหน้าที่เข้าไปเกี่ยวข้อง ก็จะมีโทษหนักกว่าประชาชนทั่วไป ทั้งกฎหมายอาญาและประมวลกฎหมายอาญาทหาร” พ.อ.ปราโมทย์กล่าว

พลโทมนัส คงแป้น นายทหารผู้ตกเป็นหนึ่งในจำเลยราว 90 คน ที่ถูกดำเนินคดีในข้อหาค้ามนุษย์ ในพื้นที่ภาคใต้ หลังจาก มีการกวาดล้างกลุ่มค้ามนุษย์ชาวโรฮิงญา เมื่อปีที่แล้ว

“หลายกรณีมีความเกี่ยวโยงของกลุ่มธุรกิจมืดและกับกลุ่มก่อสถานการณ์ เพราะใช้งานกลุ่มเดียวกัน จะใช้อาวุธปืนกระบอกเดียวกันในการก่อเหตุ” พ.อ.ปราโมทย์กล่าวเพิ่มเติม

“ปัญหาไม่มีวันจบสิ้น”

สิ่งที่อยู่เหนือกลุ่มอิทธิพลเถื่อนในพื้นที่ คือ กองกำลังระดับปฏิบัติการของกลุ่มแบ่งแยกดินแดนกลุ่มต่างๆ ที่มีอยู่ราว 9,000 คน อันเป็นตัวเลขที่ทางรัฐบาลไทย และ องค์กรมาราปาตานี (MARA Patani) ซึ่งเป็นองค์กรที่เกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มขบวนการต่างๆ ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อเจรจากับรัฐบาลไทยในกระบวนการ “พูดคุยเพื่อสันติสุข” ได้ประเมินไว้

การพูดคุยเพื่อสันติสุข ได้ยุติลงในเดือนเมษายน เนื่องจากรัฐบาลไทย ปฏิเสธที่จะเห็นชอบกับเอ็มโอยู (MOU) ที่ทางคณะอนุกรรมการทางเทคนิกร่วม ได้พยายามทำให้เป็นรูปเป็นร่างขึ้นมา ในระหว่างการเจรจานอกรอบก่อนหน้านั้นหลายครั้ง

ในขณะนั้น พลเอกอักษรา เกิดผล หัวหน้าคณะพูดคุยฯ ก็ไม่แน่ใจว่ามีสมาชิกในกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบใดบ้าง ที่ให้การสนับสนุนแนวทางสันติของมาราปาตานี

พล.อ.สำเร็จ ได้เสนอแนะว่า การจะเจรจาให้ประสบผลสำเร็จนั้น ควรจะต้องติดต่อพูดคุยกับผู้ควบคุมกำลังของฝ่ายผู้ก่อความไม่สงบ ที่มีตำแหน่งในระดับกลาง

“ต้องคุยกับคนในสามจังหวัดฯ ที่สามารถสั่งอาร์เคเคได้ ซึ่งเป็นคนที่มีตำแหน่งระดับกลางๆ ในสายบังคับบัญชา เพื่อให้ยุติเหตุการณ์รุนแรง” พล.อ.สำเร็จ กล่าว

ทางด้านนายเมธา เมฆารัฐ ประธานองค์กรมุสลิมเพื่อสันติ จังหวัดนราธิวาส กล่าวว่า สิ่งหนึ่งที่ขาดหายไป คือความตั้งใจของรัฐบาลในการที่แก้ไขปัญหาให้เสร็จสิ้น

“ปัญหาในสามจังหวัดชายแดนใต้ ฝังรากลึกมานาน และคงไม่มีวันหมดไป เพราะมีเบื้องหน้าเบื้องหลัง ผมเชื่อว่าเจ้าหน้าที่รู้ข้อมูลทั้งหมดดี แต่รัฐบาลดำเนินการอย่างไรบ้าง?” นายเมธา กล่าวทิ้งท้าย

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง