การต่อสู้เพื่อแบ่งแยกดินแดน ก่อให้เกิดเด็กกำพร้ากว่าหกพันคน
2015.12.24
แก้ไขข้อมูล 1:15 p.m. ET 2015-12-28
นับตั้งแต่ขบวนการแบ่งแยกดินแดนสามจังหวัดชายแดนใต้ เริ่มปฏิบัติการใช้ความรุนแรงด้วยการปล้นปืนค่ายปิเหล็ง ในจังหวัดนราธิวาส เมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 เป็นต้นมา และได้ก่อความรุนแรงอย่างไม่แยกแยะ จนถึงปัจจุบันนี้ ได้ทำให้มีเด็กกำพร้าแล้ว 6,000 คน และมีหญิงหม้ายอีกราวสามพันกว่าคน
“ความไม่สงบที่เกิดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 10 กว่าปี ส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของพี่น้องประชาชนในพื้นที่ในทุกด้านทุกกลุ่ม ไม่แบ่งศาสนา เพศ วัย ทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคม การศึกษา ขนบธรรมเนียมประเพณี ซึ่งพบยอดผู้เสียชีวิต และที่ได้รับบาดเจ็บ ที่สำคัญคือ มีหญิงหม้ายเกิดขึ้น 3,000 กว่าคน และมีเด็กกำพร้ามากกว่า 6,000 คน” นางรอชิดะห์ ปูซู ประธานเครือข่ายผู้หญิงแสวงหาสันติภาพ สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
เด็กหญิงฟาเดีย สุหลง ปัจจุบันอายุแปดขวบ ต้องสูญเสียพ่อไปเมื่อตนอายุเพียงสิบสามวันเท่านั้น ส่วนพี่ชาย ด.ช.ฟาเดล สุหลง ที่ปัจจุบันอายุ 11 ขวบ ในขณะนั้น เพิ่งมีอายุได้สิบเจ็ดเดือน
“หนูไม่รู้จักพ่อจริงๆ เลย ยายจะเอารูปพ่อมาให้ดู ยายบอกว่าพ่อตายเพราะถูกยิง ตั้งแต่หนูอายุ 13 วัน ตอนไปซื้อเนื้อวัวให้แม่กิน แล้วพ่อถูกยิงตาย ส่วนแม่จะเจอกันตอนที่แม่กลับมาบางครั้ง” ฟาเดียเล่าให้เบนาร์นิวส์ฟังถึงเรื่องราวของบิดาที่ตนได้รับฟังมาจากยาย
ตามวิถีมุสลิม การที่หญิงมุสลิมอย่าง ยาแม๊ะอ๊ะ มะนาหิง ได้สูญเสียสามี หมายถึง การที่ตนเองต้องไปทำงานนอกบ้านในพื้นที่ห่างไกลบ้านเรือนออกไป เพื่อหาเลี้ยงครอบครัว และต้องฝากลูกๆ ให้ญาติดูแล ประหนึ่งลูกๆ ต้องกำพร้าทั้งพ่อและแม่
“ยายบอกว่าแม่อยู่กับพวกเราไม่ได้ เพราะแม่ต้องทำงานหาเงินมาให้พวกเราไปโรงเรียน หาเงินให้พวกเรากินข้าว พอแม่มีเงินเยอะๆ แม่จะกลับมาอยู่กับพวกเรา ก็เลยต้องอดทน” ฟาเดียกล่าว
ยาแม๊ะอ๊ะ มะนาหิง แม่ของน้องฟาเดีย ต้องออกไปทำงานตั้งแต่ครั้งเพิ่งคลอดน้องฟาเดียได้เพียงหนึ่งเดือน และลูกๆ ทั้งสอง ได้อาศัยอยู่กับยาย คือ นางแวมีเนาะ สาเมาะ ที่มีอายุมากถึง 73 ปีแล้ว ในบ้านครึ่งไม้ครึ่งปูน ในตำบลยะหา อำเภอยะหา จังหวัดยะลา
นางแวมีเนาะ ยายของน้องฟาเดีย กล่าวว่า หลังจากที่นายอับดุลเลาะ พ่อของฟาเดลและฟาเดีย สุหลง ลูกจ้างผสมพันธ์ุวัวของทหารพัฒนาที่ 42 ถูกยิง เมื่อวันที่ 9 ม.ค. 2551 บนถนนสายบ้านซาปาเราะ-กาตอง ในอำเภอยะหา จังหวัดยะลา แม่ของเขาก็ต้องไปทำงานต่างท้องที่ห่างออกไปหลายสิบกิโล ทั้งที่ตัวเองเพิ่งคลอดลูกได้ไม่ถึงเดือน ซึ่งสถานที่ทำงานอยู่ในพื้นที่เสี่ยง และไม่สามารถไปกลับในวันเดียวได้ จนถึงปัจจุบัน
นางแวมีเนาะ เล่าว่า ครอบครัวได้เงินเยียวยามา 5 แสนกว่าบาท แม่เด็กได้เอามาสร้างบ้าน และเก็บไว้เป็นทุนการศึกษาพวกเขาทั้งสองคน เป็นเวลาร่วม 8 ปีแล้วที่พ่อของเขาเสียชีวิต เขาสองคนก็อยู่กับยายๆ ดูแลพวกเขามาตั้งแต่เด็กเล็กๆ ทำการบ้าน แต่งตัว ป้อนข้าว จนกระทั่งเข้านอน โชคดีหน่อยที่บ้านมีความมั่นคง จึงรู้สึกปลอดภัย เวลาฝนมาไม่ต้องโดนฝนสาดเหมือนคนอื่นๆ ที่ลำบากยิ่งกว่าพวกเรา
สูญเสียทั้งบิดามารดา
ไม่เพียงเท่านั้น ยังมีเด็กๆ อีกหลายคน ที่ต้องกำพร้าพ่อและแม่ในเวลาเดียวกัน ดังเหตุการณ์ที่เกิดกับน้องวันใหม่หรือ ด.ญ.ศิรภัสสร ช่วยเสน อายุ 2 ปี ที่ต้องสูญเสียทั้งพ่อและแม่ คือ นายศุภชัย ช่วยเสน และ นางศิริขวัญ แสงทอง ตั้งแต่อายุ 2 เดือน เนื่องจาก ถูกคนร้ายลอบยิงเสียชีวิต ในคืนวันที่ 8 ต.ค. 2555 ริมถนนสาย 42 บริเวณสำนักงานกองทุนสงเคราะห์การทำสวนยาง ในอำเภอโคกโพธิ์ จังหวัดปัตตานี
ตอนนี้ น้องวันใหม่ ได้มาอาศัยอยู่กับ นายอุทิศ แสงทอง ผู้เป็นตา และพี่ชายต่างบิดา อีก 2 คน คือ ด.ช.จารุกิตติ์ แสงทอง อายุ 9 ปี และ ด.ช.พงศธร แสงทอง อายุ 6 ปี ในอำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี
นายอุทิศ กล่าวว่า หลังเกิดเหตุร้าย น้องวันใหม่ถูกส่งไปดูแล ที่บ้านพักเด็กและครอบครัว จังหวัดปัตตานี กว่าสองอาทิตย์ เนื่องจากไม่มีใครดูแล เพราะไม่เหลือทั้งแม่และพ่อ ต่อมาญาติฝ่ายพ่อได้ติดต่อขอรับไปเลี้ยงได้ 2 ปี แต่ต่อมาตนเห็นสภาพหลานแล้ว รู้สึกแย่ จึงไปรับมาเลี้ยงเอง แม้ฐานะครอบครัวจะยากจน แต่ก็พอเลี้ยงหลานได้
น้องวันใหม่เป็นเด็กที่คลอดออกมาไม่มีทวารหนัก ก่อนที่พ่อแม่เขาจะเสียชีวิต ทั้งสองได้พาน้องวันใหม่ไปผ่าตัดเรียบร้อยแล้ว ก็ไม่ได้มีปัญหาอุปสรรคอะไร เป็นเด็กเลี้ยงง่าย น่ารัก ไม่ดื้อ
“แกรู้หมดว่าแม่เสีย แกรู้อะไรๆ รู้หมดว่ายังไงๆ แกยังพูดทุกวันเลยว่า ยายห้ามแล้วไม่ให้แม่ออกไป แกยังพูดเลยว่า แม่ไม่เชื่อยายถึงต้องมาตาย” นายอุทิศกล่าว
ความรุนแรงและความโหดร้ายของการต้องตกเป็นเด็กกำพร้า
ตามตัวเลขของศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ภาคใต้ ถึงสิ้นเดือนสิงหาคม ปีนี้ มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น 15,123 ครั้ง มีผู้เสียชีวิต 6,480 ราย และบาดเจ็บ 11,753 ราย
นางรอชิดะห์ ปูซู ประธานเครือข่ายผู้หญิงแสวงหาสันติภาพ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กล่าวเพิ่มเติมว่า “สิ่งที่น่าเป็นห่วง คือผู้หญิงและเด็กต้องตกเป็นเหยื่อของความรุนแรง จากสถานการณ์ความไม่สงบโดยตรงจำนวนมาก ทำให้ผู้หญิงและเด็กกำพร้าต้องอยู่ในสังคมอย่างโดดเดี่ยว และขาดผู้อุปการะดูแล”
นางแวมีเนาะ ยายของน้องฟาเดียเล่าว่า น้องฟาเดียที่ตกเป็นหนึ่งในเหยื่อความรุนแรง ยังคงได้รับความสะเทือนใจต่อเหตุการณ์อันเลวร้าย และคิดถึงแม่ที่ต้องไปทำงาน ซึ่งนานๆ ครั้ง กว่าจะได้กลับมาเยี่ยมตนเอง พี่ชาย และยายสักครั้งหนึ่ง
“ฟาเดียเป็นเด็กกำพร้า อายุ 13 วัน เมื่อพ่อเขาถูกยิงตาย คนพี่ อายุ 17 เดือน เขาอยู่กับยาย เวลาแม่เขาไปทำงานก็จะร้องไห้ พอพูดถึงพ่อของเขา รู้สึกลำบาก ไม่มีพ่อ แต่เด็กเขาไม่มีปัญหาอย่างอื่น” นางแวมีเนาะกล่าว
“ตอนเช้า ยายจะปลุกให้ตื่นนอน ก็จะไปอาบน้ำและแต่งตัวเอง พอเสร็จ ยายทอดไข่เจียว ให้กินข้าวก่อนไปรอรถ พอรถมา ยายก็พาไปส่งที่รถ เวลากลับมา ยายก็สอนการบ้าน ยายสอนผิดตลอด เพราะยายพูดภาษาไทยไม่เป็น ยายไม่เรียน แต่ยายก็ต้องสอนการบ้านให้” นางแวมีเนาะกล่าว
“หนูอยากเจอแม่ และให้แม่พานั่งเครื่องบินไปกรุงเทพ ไปเที่ยวสวนสยาม” เด็กหญิงฟาเดีย กล่าวเมื่อผู้สื่อข่าวเบนาร์นิวส์ถามว่า อยากได้อะไรเป็นของขวัญในวันเด็ก
*แก้ไขอายุปัจจุบัน ของเด็กหญิงฟาเดีย และ เด็กชายฟาเดล สุหลง