กระทรวงต่างประเทศไทย โต้ข้อเรียกร้องของตะวันตก ในเรื่องการถกประชามติ

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2016.07.15
กรุงเทพ
TH-EU-thailand-620 กลุ่มนักศึกษาที่ต่อต้านรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ถูกปล่อยตัวจากเรือนจำกลางพิเศษ เมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2558
เบนาร์นิวส์

ในวันศุกร์ (15 กรกฎาคม 2559) นี้ กระทรวงการต่างประเทศของไทย ได้ออกแถลงการณ์ชี้แจงถึงบทความที่ชาติตะวันตกได้เขียนเผยแพร่ มีเนื้อความเรียกร้องให้ประเทศไทยอนุญาตให้ประชาชนสามารถพูดคุยถึงการลงประชามติร่างรัฐธรรมนูญได้อย่างเปิดกว้าง ว่า รัฐบาลไทยมีความจำเป็นต้องรักษาความสงบเรียบร้อยภายในชาติ ให้รอดพ้นจากการอ้างเสรีภาพเพื่อก่อความไม่สงบต่อสาธารณะ

“ถึงขณะนี้ ได้มีการแสดงความคิดเห็นที่เป็นการแสดงให้เห็นถึงข้อดีข้อเสียของร่างรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะโดยนักวิชาการ สื่อมวลชน พรรคการเมือง หรือสาธารณชน อย่างไรก็ตาม รัฐบาลมีความจำเป็นที่จะต้องรักษากฎระเบียบต่างๆ เพื่อป้องกันการก่อกวนความสงบของสาธารณะโดยการอ้างเสรีภาพ” เนื้อหาของแถลงการณ์ของกระทรวงต่างประเทศที่เผยแพร่ทางเวบไซต์ของกระทรวงฯ ท่อนหนึ่งกล่าวไว้

“ความสงบเรียบร้อยของสังคมและความสามัคคีของคนในชาติเป็นเรื่องสำคัญ ที่จะสามารถทำให้รัฐบาลดำเนินการตามโรดแม็ปได้ ดังนั้น รัฐบาลจึงได้ประกาศใช้กฎหมายหลายฉบับ เพื่อใช้รักษาความสงบเรียบร้อยของบ้านเมืองให้สำเร็จ” เนื้อหาของแถลงการณ์อีกท่อนหนึ่งกล่าวไว้

คณะผู้แทนการทูตของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ได้เผยแพร่บทความที่มีชื่อ “ข้อเรียกร้องให้มีการอภิปรายการลงประชามติได้อย่างเปิดกว้าง” ได้ถูกตีพิมพ์ในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ และโพสต์ทูเดย์ ในวันศุกร์นี้ (15 ก.ค.) โดยมีเนื้อหาสาระที่สำคัญว่า ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีอิสรภาพและเป็นประเทศที่มีความสามารถในด้านการค้า มีบทบาทที่สำคัญในการเสริมสร้างความร่วมมือ การค้า และค่านิยมสากล จึงสมควรก้าวผ่านช่วงแห่งการเปลี่ยนแปลงนี้ สู่ประชาธิปไตยที่ยั่งยืนโดยเร็ว

บทความดังกล่าว ได้รับการรับรองอย่างเป็นทางการจากหัวหน้าคณะผู้แทนทางการทูตของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย ที่ประกอบด้วย ออสเตรีย เบลเยียม สาธารณรัฐเช็ก เดนมาร์ก ฟินแลนด์ ฝรั่งเศส เยอรมนี กรีซ ฮังการี ไอร์แลนด์ อิตาลี ลักเซมเบิร์ก เนเธอร์แลนด์ โปแลนด์ โปรตุเกส โรมาเนีย สาธารณรัฐสโลวัก สเปน สวีเดน สหราชอาณาจักร พร้อมทั้งเอกอัครราชทูต และหัวหน้าคณะผู้แทนสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย เอกอัครราชทูตแคนาดาประจำประเทศไทย และเอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย

บทความของสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวในอีกท่อนหนึ่งว่า “แต่ล่าสุด เราพบเห็นการดำเนินการที่เป็นปัญหา ซึ่งรวมถึงการจับกุมนักเคลื่อนไหว การปิดสื่อฝ่ายตรงข้าม และการจำกัดเสรีภาพในการแสดงออก ในขณะที่จะประณามความพยายามใดๆ ในการใช้กระบวนการประชามติ เพื่อการสนับสนุนหรือยั่วยุให้มีความรุนแรง แต่เราก็เกรงว่าการห้ามการชุมนุมที่สงบจะเป็นอุปสรรคต่อการถกเถียงเรื่องรัฐธรรมนูญ และจะนำมาซึ่งความตึงเครียดต่อกัน”

ตามตัวเลขของศูนย์ทนายความเพื่อสิทธิมนุษยชน ในฐานะองค์กรที่ให้ความช่วยเหลือด้านกฎหมายแก่ผู้ที่ถูกดำเนินคดีจากการรณรงค์เกี่ยวกับประชามติฯ มีผู้ถูกดำเนินคดีฯ ทั้งหมดอย่างน้อย 113 คน ที่ถูกดำเนินคดี ก่อนการออกเสียงประชามติฯ ที่จะมีขึ้นในวันที่ 7 สิงหาคมนี้ สามารถแบ่งเป็นข้อหาตามคำสั่งหัวหน้า คสช. ฉบับที่ 3/2558 ที่ห้ามการชุมนุมทางการเมืองเกินห้าคน ได้ทั้งหมด 94 คน ข้อหาละเมิดมาตรา 61 ของ พ.ร.บ.ประชามติฯ ที่ห้ามการบิดเบือนเนื้อหา หรือชักจูงในการลงประชามติ 6 คน และกรณีที่ละเมิดทั้งสองข้อหาอีก 13 คน นับถึงวันที่ 12 กรกฎาคม 2559

ในเรื่องการดำเนินคดีนั้น พ.อ.ปิยพงศ์ กลิ่นพันธุ์ ได้กล่าวแก่เบนาร์นิวส์เมื่อวานนี้ว่า ในทุกๆ การจับกุมดำเนินคดี เจ้าหน้าที่ใช้กรอบกฎหมายปกติ และยืนยันว่าไม่มีการปฎิบัติใดๆ ที่นำไปสู่ความรุนแรง

ทางด้าน บทความคณะผู้แทนทางการทูตของประเทศสมาชิกสหภาพยุโรปประจำประเทศไทย กล่าวทิ้งท้ายว่า “เราเรียกร้องให้รัฐบาลไทยอนุญาตให้ประชาชนไทยสามารถร่วมการพูดคุยอย่างเปิดเผย การเสริมสร้างสัมพันธ์ต่อกัน และหามติร่วมกัน ซึ่งมีความจำเป็นในการสร้างสังคมที่แข็งแรงยั่งบืนในอนาคต”

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง