อานดี้ ฮอลล์ฟ้องอัยการและเนเชอรัลฟรุต ฐานแจ้งความเท็จ
2017.05.31
กรุงเทพฯ
ในวันพุธ (31 พฤษภาคม 2560) นี้ นายอานดี้ ฮอลล์ นักสิทธิแรงงานชาวอังกฤษได้มอบอำนาจให้ทนายความเข้าแจ้งความดำเนินคดีกับพนักงานอัยการ เจ้าหน้าที่ตำรวจ กรรมการบริษัท เนเชอรัลฟรุต และทนายความของบริษัทในความผิดฐานแจ้งความเท็จจากคดีที่บริษัท เนเชอรัลฟรุต ฟ้องร้องอานดี้ ฮอลล์ ในข้อหาหมิ่นประมาทผ่านการให้สัมภาษณ์พาดพิงบริษัทในปี 2556 และเตรียมยื่นเรื่องให้ผู้ตรวจการแผ่นดินตรวจสอบการทำหน้าที่ของอัยการสูงสุดในส่วนเกี่ยวข้องกับคดีหมิ่นประมาทดังกล่าวด้วย
นายนคร ชมพูชาติ หัวหน้าคณะทนายความของนายอานดี้ ฮอลล์ เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ว่า ในวันพุธนี้ได้ส่งตัวแทนของคณะทนายความไปยื่นฟ้องที่ศาลอาญาคดีทุจริตและประพฤติมิชอบกลาง เพื่อดำเนินคดีกับพนักงานอัยการ 9 คน และเจ้าหน้าที่ตำรวจ 1 คน และที่ศาลแขวงพระโขนง เพื่อดำเนินคดีกับบริษัท เนเชอรัลฟรุต กรรมการบริษัท ผู้รับมอบอำนาจ และทนายความของบริษัท
“ที่ฟ้องทั้ง 10 คนเป็นเจ้าพนักงานอัยการ คือฟ้องเท็จ ซึ่งถือเป็นความผิดต่อเจ้าพนักงาน และการแจ้งความเท็จ โดยพนักงานอัยการได้มีการเสนอฟ้องตามลำดับชั้นโดยไม่ดูข้อมูล จึงเห็นว่าเป็นความผิด ในส่วนของบริษัทเนเชอรัลฟรุตฟ้องในเรื่องแจ้งข้อความเป็นเท็จต่อเจ้าพนักงาน และฟ้องเท็จด้วย” นายนครกล่าว
“จริงๆ แล้ว เรื่องนี้อัยการสูงสุดต้องรับผิดชอบ แต่อัยการสูงสุดได้มอบหมายให้รองอัยการสูงสุดท่านหนึ่งทำหน้าที่แทน ส่วนอัยการสูงสุดอาจเข้าข่ายประมาท ไม่ตรวจสอบการทำงานของผู้ทำหน้าที่แทน ผมคิดว่าจะให้ผู้ตรวจการตรวจสอบอัยการสูงสุดก่อน ถ้าเข้าข่ายละเว้นการปฎิบัติหน้าที่จะให้ฟ้องอีกครั้งหนึ่ง หรือฟ้อง ปปช.” นายนครกล่าวเพิ่มเติม
ทั้ง 2 คดีศาล ได้รับฟ้องแล้วมีกำหนดนัดดังนี้ คดีที่ยื่นฟ้องบริษัทเนเชอรัลฟรุต คดีหมายเลขดำที่ อ.2248/2560 นัดไต่สวนมูลฟ้อง วันที่ 17 ก.ค. 2560 และคดีที่ยื่นฟ้องอัยการและตำรวจ คดีหมายเลขดำที่ อท.286/2560 นัดฟังคำสั่งในวันที่ 13 มิ.ย. 2560
ด้านนายอานดี้ ฮอลล์ นักสิทธิแรงงานชาวอังกฤษซึ่งเคยปฎิบัติงานในประเทศไทย ในฐานะผู้ฟ้องได้เปิดเผยผ่านแถลงการณ์ที่มีต่อสื่อมวลชนว่า การฟ้องทั้ง 2 คดีในวันพุธนี้ ไม่ได้เกิดจากการโกรธแค้นส่วนตัว แต่เป็นการฟ้องเพื่อให้เกิดความถูกต้องในกระบวนการทำงาน
“ผมได้ตัดสินใจฟ้องคดีทั้งสองนี้ด้วยความรู้สึกในหัวใจที่หนักอึ้ง เพราะไม่ได้กระทำด้วยความโกรธ หรือมีความปรารถนาที่จะแก้แค้นคู่กรณี เป็นเรื่องน่าเสียดายที่สิ่งต่างๆ ได้ดำเนินมาจนถึงขั้นนี้ อย่างไรก็ตาม การฟ้องคดีทั้งสองคดีนี้ เป็นความจำเป็นที่ผมต้องกระทำเพื่อการปกป้องตัวเองจากการดำเนินคดีที่มิชอบและการคุกคามทางกฎหมายที่ยังคงเกิดขึ้นกับผมต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด” นายอานดี้ระบุ
“หลังจากที่ผมถูกยื่นฟ้อง แรงงานข้ามชาติและนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยและทั่วโลกจำนวนมาก บอกผมว่า พวกเขาลังเลที่จะกล่าวแสดงความกังวลเกี่ยวกับการแสวงหาประโยชน์ หรือการทำรายงานเรื่องการแสวงประโยชน์อย่างเต็มที่ เนื่องจากกลัวผลกระทบทางลบที่เกิดขึ้นจากการกระทำนั้นๆ จึงมีความจำเป็นที่การดำเนินคดีทั้งสองนี้ จะช่วยให้มีพื้นที่สำหรับผู้ที่ตกเป็นเหยื่อการละเมิดสิทธิมนุษยชน” นายอานดี้ กล่าวในตอนหนึ่งของแถลงการณ์
การยื่นฟ้องทั้งสองคดีของนายอานดี้ในครั้งนี้ เนื่องมาจาก การที่นายอานดี้ถูกฟ้องร้องดำเนินคดีโดยบริษัท เนเชอรัลฟรุต เมื่อเดือนกรกฏาคม 2556 ข้อหาหมิ่นประมาทด้วยการให้สัมภาษณ์ที่นายอานดี้กล่าวต่อสำนักข่าวอัลจาซีรา ภาคภาษาอังกฤษ ในประเทศเมียนมา พาดพิงบริษัทเนเชอรัลฟรุต ว่าเป็นบริษัทที่ละเมิดสิทธิแรงงานชาวเมียนมาที่ทำงานให้กับบริษัท ซึ่งคดีนี้มีอัยการเป็นโจทก์ยื่นฟ้อง
โดยคดีหมิ่นประมาทดังกล่าวศาลฎีกาได้มีคำตัดสินยกฟ้องตามคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ไปแล้วเนื่องจากเห็นว่า การให้สัมภาษณ์หรือเหตุเกิดนอกราชอาณาจักร การฟ้องจึงไม่อยู่ในอำนาจของพนักงานอัยการที่จะสั่งฟ้อง อย่างไรก็ดีความผิดในทางแพ่งของคดีนี้ยังคงอยู่ในขั้นตอนการพิจารณาของศาลอุทธรณ์
ในวันนี้ เบนาร์นิวส์พยายามติดต่อไปหาตัวแทนของบริษัท เนเชอรัลฟรุต เพื่อขอความคิดเห็นเกี่ยวกับการฟ้อง และแนวทางการต่อสู้คดี แต่ไม่สามารถติดต่อ นายสมศักดิ์ โตรักษา ทนายความของบริษัท และหนึ่งในจำเลยที่ถูกฟ้องได้
คดีของอานดี้ ฮอลล์กับเนเชอรัลฟรุต
นอกจากคดีการให้สัมภาษณ์สำนักข่าวอัลจาซีราของนายอานดี้ ฮอลล์แล้ว บริษัท เนเชอรัลฟรุต ยังได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้องในความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 328 ข้อหาหมิ่นประมาทโดยการโฆษณา และพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ มาตรา 14 การนำเข้าข้อมูลเท็จสู่ระบบอินเตอร์เน็ต ต่อการที่นายอานดี้มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดทำรายงานชื่อ “สินค้าถูกมีราคาสูง” (Cheap Has a High Price) ซึ่งเผยแพร่สู่ระบบอินเตอร์เน็ตผ่านเว็บไซต์ฟินน์วอทช์ (www.finnwatch.org) จนส่งผลกระทบให้บริษัทได้รับความเสียหายด้านชื่อเสียง และรายได้ รายงานฉบับดังกล่าว อ้างว่าบริษัท เนเชอรัลฟรุต จำกัด ซึ่งตั้งอยู่ในจังหวัดประจวบคีรีขันต์ได้กระทำการละเมิดสิทธิแรงงานหลายข้อ เช่น การจ่ายค่าแรงต่ำกว่าค่าแรงขั้นต่ำ ไม่มีการจัดสวัสดิการที่เหมาะสม มีการสุ่มหักเงินเดือนแรงงานโดยไม่มีเหตุผล มีการใช้แรงงานผิดกฎหมาย และแรงงานเด็ก เป็นต้น
ในเดือนกันยายน 2559 ศาลอาญากรุงเทพใต้ได้พิพากษาว่านายอานดี้มีความผิดในคดีดังกล่าวจริง ศาลอาญากรุงเทพใต้ จึงมีคำพิพากษาให้ลงโทษจำคุกนายอานดี้เป็นเวลา 4 ปี แต่ลดโทษลงเหลือ 3 ปี และให้รอการลงอาญาเป็นเวลา 2 ปี เนื่องจากเห็นว่าที่ผ่านมานายอานดี้ได้ทำหน้าที่นักสิทธิซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสังคม อย่างไรก็ตาม นายอานดี้ต้องจ่ายค่าปรับเป็นเงิน 150,000 บาทด้วย ปัจจุบัน ศาลอุทธรณ์กำลังพิจารณาคดีนี้ตามที่บริษัท เนเชอรัลฟรุต และนายอานดี้ร้องอยู่
ขณะที่ความผิดทางแพ่งในคดีเดียวกัน ที่คดีความอยู่ในความรับผิดชอบของศาลจังหวัดนครปฐม นั้นต้องรอให้คดีหมิ่นประมาทที่ศาลอาญากรุงเทพใต้ตัดสินถึงที่สุด จึงจะเริ่มพิจารณาคดี