หมอกควันอินโด ส่งผลกระทบในหลายจังหวัดภาคใต้

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2015.10.23
TH-Haze-1000 ภาพถ่ายดวงอาทิตย์ผ่านหมอกควันที่ปกคลุมหนา ตอนใต้ของจังหวัดนราธิวาส วันที่ 23 ตุลาคม 2558
เอเอฟพี

วันศุกร์ที่ 23 ตุลาคม พ.ศ. 2558  ที่ ศูนย์แก้ไขปัญหาหมอกควันจังหวัดสงขลา ห้องประชุมสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดสงขลา นายอนุชิต ตระกูลมุทุตา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา ในฐานะประธานศูนย์แก้ไขปัญหาหมอกควันอินโดในภาคใต้ ร่วมประชุมคณะทำงาน เพื่อเฝ้าระวังสถานการณ์พร้อมแถลงข่าวสรุปสถานการณ์หมอกควันอินโด

สำหรับสถานการณ์มลพิษหมอกควันจากประเทศอินโดกระทบในภาคใต้ของไทย โดยฝุ่นละอองในภาคใต้ตอนล่างมีแนวโน้มสูงขึ้น ปริมาณฝุ่นละอองมีค่าเฉลี่ยที่ จ. ภูเก็ต อยู่ที่ 34 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ลดลงจาก 117 จ. พังงา 49 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ลดลงจาก 116  จ. สตูล 228 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ลดลงจาก 276 จ. สงขลา หมอกควันหนาแน่นสูงอยู่ที่ 278  ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ลดลงจาก 360 จ. ปัตตานี 168 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ลดลงจาก 211 จ. ยะลา 173 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้น 8 ไมโครกรัม ส่วน จ.นราธิวาส 138 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร เพิ่มขึ้น 16 ไมโครกรัม

นายอนุชิต ตระกูลมุทุตา รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา กล่าวว่า จากการติดตามสถานการณ์หมอกควันมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากเมื่อคืนที่ผ่านมา บางพื้นที่มีฝนตกหนัก และในช่วงวันที่ 23 - 29 ต.ค.58 คาดว่าจะมีฝนตก ร้อยละ 60 - 70 ของพื้นที่ และลมเปลี่ยนทิศจากตะวันตกเฉียงใต้ เป็นตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจะส่งผลดีต่อจังหวัดสงขลา และยังได้ดำเนินการเดินหน้าแจกจ่ายหน้ากากอนามัยแก่ประชาชน วันนี้จะแจกจ่ายอีกกว่า 60,000 ชิ้น

“สำหรับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากหมอกควัน ตั้งแต่วันที่ 22 ต.ค. 2558 จนถึงวันนี้ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสงขลาระบุว่า มีผู้ป่วยระบบทางเดินหายใจของ โรงพยาบาลหาดใหญ่ และ โรงพยาบาลสงขลา จำนวน 1,311 คน และ มีแนวโน้มจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ จากอาการของผู้ป่วยที่เฝ้าสังเกตุในช่วง 3 วัน ส่วนจำนวนผู้ป่วยตามโรงพยาบาลอื่นในพื้นที่ ยังคงมีประชาชนเข้ารับการรักษาตัว แต่ละโรงพยาบาล คาดว่ามีตัวเลขไม่ต่ำกว่า 300 - 500 รายแล้ว”

นายกฤษฎา บุญราช ปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า ได้สั่งการให้ผู้ว่าราชการจังหวัดปัตตานี นายวีรพงค์ แก้วสุวรรณ ให้นำรถบรรทุกน้ำฉีดพ่นละอองน้ำในพื้นที่ชุมชนที่มีประชาชนอาศัยหนาแน่น ให้แจ้งผู้บริหารสถานศึกษาพิจารณาประกาศหยุดเรียนได้ หากปรากฏคุณภาพอากาศ ในระดับสูงกว่า 350 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร

ส่วนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ก็ได้สั่งการให้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร พิจารณาดำเนินการจัดทำฝนหลวงในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบโดยทันที หากสภาพอากาศมีความเหมาะสมต่อการปฏิบัติการ

กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม เผยถึงภัยพิบัติของสภาพภูมิอากาศ

สถาบันทรัพยากรโลก (World Resources Institute หรือ WRI) ซึ่งเป็นกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ในกรุงวอชิงตันดีซี ประเทศสหรัฐอเมริกา กล่าว โดยอ้างอิงฐานข้อมูลดาวเทียม ที่รวบรวมโดย Guido van der Werf นักวิจัยแห่ง มหาวิทยาลัยวียูอ้มสเตอร์ดัม (VU University Amsterdam) ประเทศเนเธอร์แลนด์ และนำมาใช้เป็นฐานข้อมูลของ การปล่อยมลพิษไฟทั่วโลก (Global Fire Emissions Database​)

“การเกิดภัยพิบัติของสภาพภูมิอากาศในบริบทแห่งความเป็นจริงของโลก คือ นับจากไฟไหม้ป่าของอินโดนีเซีย ตั้งแต่เดือนกันยายน นับเวลา 26 วัน การคำนวนค่า จากเวลา 26 วัน ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก จากไฟไหม้ป่าในอินโดนีเซียนั้น วัดได้สูงกว่าค่าเฉลี่ยของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของเศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาทั้งประเทศ ในเวลา 26 วัน หากแต่ เศรษฐกิจในสหรัฐอเมริกาทั้งประเทศนั้น มีขนาดใหญ่กว่าประเทศอินโดนีเซียถึง 20 เท่า” WRI กล่าวเผยข้อเท็จจริง

ในปี 2556 สหรัฐอเมริกาถูกจัดอยู่ในอันดับที่สองของโลก ในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสู่ชั้นบรรยากาศ โดยประเทศจีน ขึ้นแท่นอันดับ 1 ตามด้วยอินเดีย อันดับที่ 3 และอินโดนีเซีย อยู่ในอันดับที่ 11 ตามแผนที่คาร์บอนทั่วโลก ซึ่งเป็นเว็บไซต์ที่รวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับ การปล่อยก๊าซเรือนกระจก

นักศึกษาไทยในประเทศอินโดนีเซีย ขอความช่วยเหลือ

เมื่อวันที่ 22 ตุลาคม 2558 นักศึกษาไทยที่กำลังเรียนในประเทศอินโดนีเซียได้โพสต์เฟสบุ๊ก ชื่อ Husna Chedao พร้อมเขียนข้อความ ขอความช่วยเหลือว่า “ช่วยมารับพวกหนูกลับบ้านหน่อย ตอนนี้อากาศหายใจเหลือห้าเปอร์เซ็นต์แล้ว คนในภาพคือคนจริง ไม่ใช่ตัวแสดง หากคุณคือพี่น้องมุสลิมเหมือนกัน ช่วยดุอาห์ให้พวกเราหน่อยนะ”

ผู้ใช้เฟสบุ๊กอีกหนึ่งราย ชื่อ Husna Chedao มีการโพสต์ภาพ พร้อมข้อความเป็นภาษารูมี “Bayarkan Pesawat Kami Mau Pulang Stop MasKer” แปลว่า ขอตั๋วเครื่องบินให้เราด้วย เราอยากกลับบ้าน[ที่ประเทศไทย] ได้โปรดแก้ปัญหาหมอกควันมากกว่าการสวมหน้ากากอนามัย

นายภานุ อุทัยรัตน์ เลขาธิการ ศอ.บต. กล่าวว่า “ได้ประสานไปยัง เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงจาการ์ตา ดูแลและให้ความช่วยเหลือนักศึกษาไทยในอินโดนีเซียที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยง ให้อพยพมายังที่ปลอดภัย โดยนักศึกษาไทยที่ไปเรียนในประเทศอินโดนีเซียเป็นประเภททุนมูฮัมมาดียะห์ และนักศึกษาทุนจากกระทรวงการศาสนาประมาณ1600 คน โดยเป็นนักศึกษาที่มาจากจังหวัดชายแดนภาคใต้จำนวน 1200 คน และจากภูมิภาคอื่นอีกกว่า 400 คน”

นาย ภาสกร ศิริยะพันธ์ เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงจาการ์ตา กล่าวว่า “สถานทูตได้ช่วยเหลืออพยพนักศึกษาไทยจำนวน 8 คน ออกจากเมืองปาลังการายา จังหวัดกาลิมันตันกลาง ซึ่งเป็นพื้นที่ได้รับผลกระทบจากมลพิษควันไฟป่าในอินโดนีเซีย โดยทั้งหมดได้เดินทางถึงเมืองบันจาร์มาซิน ทางตะวันออกเฉียงใต้ของเกาะกาลิมันตันแล้ว ทั้งหมดปลอดภัยดี และจะเดินทางโดยเครื่องบินมายังกรุงจาการ์ตาในวันพรุ่งนี้ (24 ต.ค. 2558)"

"ส่วนนักศึกษาไทยอีก 17 คน ซึ่งพาสปอร์ตยังอยู่กับทางมหาวิทยาลัย ทางสถานทูตได้ติดตามอย่างใกล้ชิด และพร้อมให้การช่วยเหลือทันทีที่ได้รับการประสานงาน โดยจัดสถานที่ให้พักในกรุงจาการ์ตา จนกว่าสถานการณ์จะกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ขณะที่อินโดนีเซียกำลังอพยพประชาชน เพราะเป็นไปได้น้อยมากที่จะเกิดฝนตกลงมาช่วยดับไฟป่า ในช่วงก่อนสิ้นเดือนพฤศจิกายนนี้” นาย ภาสกร เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงจาการ์ตา กล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง