สาธิต หน่อทอง ลูกเรือประมงไทยในอินโดนีเซียได้รับการช่วยเหลือกลับบ้านวันนี้

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2019.11.15
กรุงเทพฯ
191115-TH-ID-fisherman-return-800.jpg นายสาธิต หน่อทอง โผกอดกับ นายพรเทพ หน่อทอง พี่ชาย (เสื้อสีน้ำเงิน) ที่หน้าสำนักงานกองบังคับปราบปรามการค้ามนุษย์ ที่สนามบินดอนเมือง หลังจากไม่ได้พบกัน 10 ปี
นนทรัฐ ไผ่เจริญ/เบนาร์นิวส์

ในวันศุกร์นี้ นายสาธิต หน่อทอง ลูกเรือประมงชาวไทย ซึ่งถูกหลอกไปเป็นแรงงานทาส และติดเกาะอยู่ในประเทศอินโดนิเซีย ได้รับการช่วยเหลือโดย มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) กลับสู่ประเทศไทยอย่างปลอดภัยแล้ววันนี้

นายสาธิต หน่อทอง ชาว อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ เดินทางถึงประเทศไทยโดยเที่ยวบิน QZ252 สายการบินแอร์เอเชีย ที่ท่าอากาศยานดอนเมือง เมื่อเวลา 20.15 น. หลังจากได้รับการช่วยเหลือจาก มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) กระทรวงการต่างประเทศ และสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงจาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซีย ในการดำเนินการส่งตัวกลับ

“เรือประมงเขามาชวนบอกว่าเงินดี โบนัสเยอะ ก็เลยไป อยู่บนเรือไม่ถึงปี งานหนักพักผ่อนน้อย ถ้านอนตื่นสายเขาก็จะสาดน้ำร้อนปลุก ก็คิดว่าต้องหนี ก็เลยลงเรือมาหาอย่างอื่นทำ งานแรกทำอินบล็อค แล้วก็ย้ายไปเรื่อยๆ มาทำงานก่อสร้างบ้าน ตอนแรกก็อยากกลับบ้าน แต่ยังไม่รู้วิธี เพิ่งมาคิดวิธีได้เร็วๆนี้นี่เอง” นายสาธิต กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

"พอคิดได้ว่า คิดถึงบ้าน อยากกลับก่อนเลยอันดับแรก มีเฟซบุ๊คก็เข้าไปแล้วติดต่อสถานทูตไทย ในอินโดนีเซีย ขอกลับบ้าน ก็เลยได้เจอกับแอลพีเอ็น ให้ข้อมูลว่า บ้านอยู่ไหนอยู่กับใคร ก็เลยได้กลับบ้าน ได้กลับมาเจอพี่ชายก็ดี ที่ผ่านมาก็บ่นๆถึงอยู่” นายสาธิต กล่าว หลังจากที่เมื่อล่าสุด เขาเพิ่งมีโทรศัพท์ใช้

นายสาธิต ระบุว่า รู้สึกดีใจที่ได้กลับบ้าน และขอบคุณทุกคนที่ให้การช่วยเหลือ แต่รู้สึกเหนื่อยจากอาการป่วย (จากโรคมาเลเรีย) อยากกลับบ้านก่อน ค่อยคิดว่าจะดำเนินการอย่างไรกับชีวิตต่อไป

เมื่อเดินทางมาถึงท่าอากาศยานดอนเมือง เจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับปราบปรามการค้ามนุษย์ (ปคม.) ได้พาตัวนายสาธิต มาทำประวัติที่สำนักงาน ซึ่งนายพรเทพ หน่อทอง พี่ชายของนายสาธิต ได้มารอเพื่อพบน้องชายครั้งแรกในรอบ 10 ปี โดยทันทีที่นายสาธิต พบกับนายพรเทพ ทั้งคู่โผเข้ากอดกัน และร้องไห้

นายพรเทพ หน่อทอง อายุ 56 ปี พี่ชายของนายสาธิต กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ไม่คิดว่าจะได้พบกับนายสาธิตแล้ว เนื่องจากนายสาธิตหายจากบ้านไปแล้ว 10 ปี โดยไม่ได้ติดต่อกลับมา การพบกันวันนี้จึงรู้สึกดีใจมาก

“เขาหายไปตอนปี 52 บอกว่าจะไปขายของที่ชลบุรี และระยอง ผมร้องไห้ทุกคืนเลย ไหว้พระทุกวันเลย คิดว่าคงไม่ได้เจอแล้ว แต่ก็อยากให้เขากลับมาก่อนที่ผมจะตาย ผมร้องไห้ เพราะสงสารเขา พอรู้ข่าวก็ดีใจสุดชีวิตเลย ตอนเขาหายไปแรกๆ ก็ไม่รู้จะทำยังไง พอคนไหนบอกเบาะแส หาตลอด 2-3 ปีแรก ก็คิดว่า สิ้นหวังแล้ว ก็ขอขอบคุณทุกคนที่ทำให้ผมได้เจอเขาอีกครั้ง” นายพรเทพ กล่าว

ทางเบนาร์นิวส์ได้ติดต่อสอบถามเจ้าหน้าที่ตำรวจกองบังคับปราบปรามการค้ามนุษย์ ในเรื่องการนำคนไทยกลับมาครั้งนี้ แต่เจ้าหน้าที่ไม่ขอให้ความคิดเห็นใดๆ

การพานายสาธิตกลับบ้านครั้งนี้ เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ลูกเรือประมงไทย ลาว เมียนมา และกัมพูชา จากประเทศอินโดนีเซีย โดยแอลพีเอ็น ซึ่งได้ส่งเจ้าหน้าที่เดินทางไปลงพื้นที่ในประเทศอินโดนีเซีย และนำข้อมูลจากลูกเรือไทยที่ติดอยู่ที่นั่น มาประสานตามหาครอบครัวในประเทศไทย เพื่อดำเนินเรื่องพาลูกเรือไทยกลับบ้าน

น.ส.ปฏิมา ตั้งปรัชญากูล ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) กล่าวว่า แอลพีเอ็นได้ส่งชุดปฏิบัติการเดินทางไปที่อินโดนีเซีย เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม 2562 ได้เข้าพบกับเจ้าหน้าที่ตำรวจ และเจ้าหน้าที่สำนักงานตรวจคนเข้าเมือง เพื่อไปพบกับคนไทยลุ่มดังกล่าว และดำเนินการช่วยเหลือ

“เราต้องการจะช่วยทุกคน เพราะทุกครอบครัว รอกลับบ้าน กระบวนการช่วยเหลือของเรา คือ เราไปตามหาคนไทยที่นั่น พอเจอก็จะซักประวัติเขา แล้วก็จะส่งข้อมูลให้กับสถานทูตฯ เราก็หาบ้านที่ไทยให้เขา หาชื่อผู้ใหญ่บ้าน คุยกับญาติ เพื่อให้มีคนที่ไทยยืนยันว่า เขาเป็นคนไทย ให้ญาติติดต่อศูนย์ดำรงธรรม เอาข้อมูลมาชนกัน ก็จะดำเนินการให้ออกหนังสือเดินทางชั่วคราว จองตั๋ว แล้วเราก็พาเขาไปรายงานตัวที่ ตม. และเดินทางกลับประเทศไทย”

“หลังจากนี้ เราจะพาเขาไปทำเอกสาร เพื่อเรียกร้องค่าเสียหาย โดยหาว่าเขาไปด้วยเรือลำไหน นายจ้างคือใคร และขอให้นายจ้างจ่ายค่าแรงคืนให้กับเขา” น.ส.ปฏิมา กล่าว

“ยังมีคนไทยที่ติดอยู่ อุปสรรคคือ พวกเขายังไม่สามารถหาคนรับรองได้ว่าเขาเป็นคนไทย บางคนไปตั้งแต่เด็ก ยังไม่ทำบัตรประชาชน เลยไม่มีเอกสารยืนยัน พวกเขาก็เลยต้องรอ ยังไม่สามารถกลับบ้านได้ ก็อยากให้เอาเขากลับมาก่อน ถ้าสามารถยืนยันได้ว่า เขาเป็นคนไทย แม้ไม่มีเอกสาร” น.ส.ปฏิมา กล่าวเพิ่มเติม

อย่างไรก็ตาม ยังมีลูกเรืออีกอย่างน้อย 6 คน ที่รอการช่วยเหลือกลับบ้าน ทราบชื่อคือ 1. นายสมชาย ด้วงเหมือน จ.สมุทรสาคร 2. นายรัตน์ อุตพันธุ์ จ.ศรีสะเกษ 3. นายเสรี จำปาทอง จ.ร้อยเอ็ด 4. นายปัญญา นงนุช จ.เพชรบูรณ์ 5. นายไพทูรย์ กลิ่นสกุล จ.สุพรรณบุรี และ 6. นายวิเชียร ทรัพย์ประเสริฐ จ.ชัยนาท

ทั้งนี้ ลูกเรือประมงไทยที่ติดอยู่บนเกาะในประเทศอินโดนีเซีย สามารถแบ่งได้เป็น 4 ประเภทดังนี้ 1.สมัครใจไปทำงาน แต่ถูกหลอกให้อยู่บนเรือ และถูกทิ้งไว้บนเกาะ 2.สมัครใจไปทำงาน แต่เรือโดนจับจึงถูกปล่อยทิ้ง 3.ถูกหลอกไปทำงานโดยการมอมยาหรือจับตัว และ 4.ปัญหาอื่นๆ

เกาะตวน เกาะเบนจิน่า และเกาะอัมบน ของประเทศอินโดนีเซีย ได้ชื่อว่าเป็นที่รวมแรงงานทาสยุคใหม่ ในปี 2557 แอลพีเอ็น และรายการข่าวสามมิติ เดินทางไปยังอินโดนีเซีย และได้เปิดเผยสภาพความเป็นอยู่ที่เลวร้ายของแรงงานประมงซึ่งติดอยู่ที่นั่น โดยระบุว่า พวกเขาถูกบังคับให้ทำงานเกินเวลา พักผ่อนน้อย ถูกโกงค่าแรง ถูกใช้กำลังทำร้าย หากมีการขัดขืน ลูกเรือบางรายที่มีอาการป่วยจนทำงานไม่ไหว หรือมีปัญหากับคนคุมเรือ อาจถูกโยนลงจากเรือให้เสียชีวิต ผู้ที่รอดกลับมาได้จำนวนมาก มีอาการทางจิต จากสภาพความเป็นอยู่ที่เลวร้ายดังกล่าว

กระทั่ง ในปี 2558 รัฐบาลไทยได้ร่วมกับแอลพีเอ็น นำไปสู่การช่วยเหลือลูกเรือชาวไทยกลับบ้าน โดยมีลูกเรือไทยอย่างน้อย 2,015 คน ได้เดินทางกลับ ขณะที่ พบว่ามีแรงงาน ชาวเมียน 1,000 คน ชาวกัมพูชา 100 คน และลาว 50 คน ที่ติดอยู่ที่นั่นเช่นกัน

ปัจจุบัน ไทยมีเรือประมงพาณิชย์ประมาณ 10,600 ลำ มีลูกเรือประมาณ 7 หมื่นคน ยังขาดแคลนลูกเรืออีกราว 4 หมื่นคน โดยรัฐบาลไทยยืนยันว่า ในปัจจุบัน แรงงานประมงที่ถูกละเมิดหรืออยู่ในกระบวนการค้ามนุษย์หมดไปแล้ว หลังจากที่รัฐบาลเข้มงวดในการดูแล ขณะที่แอลพีเอ็น สำรวจพบว่า นับตั้งแต่ปี 2557-2561 มีแรงงานประมงที่ถูกละเมิด 2,554 คน โดยมี 326 คน เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง