การพาลูกเรือที่ตายแล้วกลับบ้าน ลำบากกว่านำคนเป็นกลับ: เอ็นจีโอระบุ

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2018.11.05
กรุงเทพฯ
181102-TH-fishermen-1000.jpg ยายของนายสมเกียรติ สีเมืองโข เช็ดภาพหลานชายในงานพิธีทำบุญอัฐินายสมเกียรติ ที่บ้านในจังหวัดสุรินทร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม 2561
เรดิโอฟรีเอเชีย ภาคภาษาลาว

อัฐิของนายสมเกียรติ สีเมืองโข แรงงานประมงชาวสุรินทร์ ที่เสียชีวิตบนเกาะเบนจิน่า อินโดนีเซีย เมื่อกว่าสามปีก่อน ถูกนำกลับมายังแผ่นดินเกิดเป็นศพแรก และศพเดียว จากจำนวนศพที่คาดว่ามีอยู่ราวสองร้อยศพ บนเกาะเบนจิน่า อัมบน และตวล ในอินโดนีเซีย ซึ่งกลุ่มเอ็นจีโอด้านแรงงานได้เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ว่า ความพยายามในการนำกระดูกผู้ตายกลับบ้าน เป็นไปด้วยความยากลำบาก เพราะยากต่อการพิสูจน์อัตลักษณ์

นายสมเกียรติ ไปทำงานบนเรือประมงโดยสมัครใจบนเรือประมงไทยลำหนึ่ง เมื่อ 5 ปีก่อน แต่ได้เปลี่ยนเรือไปไกลจนถึงเกาะเบนจิน่า ในปี 2557 น.ส.ปฏิมา ตั้งปรัชญากูล ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) ได้แฝงตัวไปสำรวจแรงงานในพื้นที่ พบคำให้การจากแรงงานว่า นายจ้างอินโดนีเซียทรมาน กักขัง และอาจจะฆ่าแรงงาน ที่มีทั้งชาวไทย เมียนมา ลาว และกัมพูชา จากนั้นในปี 2558 ได้เจอตัวนายสมเกียรติ ทว่านายสมเกียรติ ได้ตกเรือตายเสียก่อนที่จะได้กลับบ้าน

“เมื่อเฮาเอาน้องเฮามาแล้ว เฮาก้ออยากให้ศพที่อยู่นั่น อยากให้แบบว่าญาติเขาไปตามหา อยากให้กลับมาบ้านมาเมืองเขาเหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นคนไทย คนลาว คนพม่า” นางสาวสุขสันต์ สีเมืองโข พี่สาวของนายสมเกียรติกล่าวแก่เบนาร์นิวส์ ในงานทำบุญกระดูก ที่อำเภอกาบเชิง จังหวัดสุรินทร์ เมื่อวันที่ 6 ตุลาคม ที่ผ่านมา หลังจากที่ได้เดินทางไปทำพิธีฌาปณกิจกระดูกของน้องชายที่เกาะเบนจิน่า เมื่อวันที่ 27 กันยายน และนำกระดูกกลับบ้านเกิด

ความจริงแล้วนายสมเกียรติ ควรจะได้กลับประเทศไทยตั้งแต่ยังมีชีวิต ในปี 2558 แต่นายสมเกียรติ ไม่สามารถเดินทางกลับได้เพราะปัญหาเรื่องเอกสาร จนต้องเสียชีวิตลงเมื่อวันที่ 4 พฤษภาคม 2558 ซึ่งตามรายงานของข่าวสามมิติ ได้กล่าวว่าทางอินโดนีเซียระบุว่านายสมเกียรติตกเรือเสียชีวิต

“สมเกียรติแจ้งเรามาว่า เขากลับบ้านไม่ได้ เอกสารของเขาไม่ใช่คนไทย เขาใช้ Seaman Book หรือหนังสือคนประจำเรือ ในชื่อชาวกัมพูชาว่า ชัยยา บุนสัม หลังจากนั้นอาทิตย์นึงเขาก็เสียชีวิตลง การใช้เอกสารปลอม ทำให้แม้ต้องการกลับ ก็ทำไม่ได้ ต้องพิสูจน์สัญชาติก่อน” น.ส.ปฏิมา ตั้งปรัชญากูล ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN) กล่าวต่อเบนาร์นิวส์

กระดูกของสมเกียรติ เดินทางกลับบ้าน เพราะมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน (LPN)  ศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือลูกเรือประมง (SAC)  กลุ่มสหภาพลูกเรือประมงไทยและข้ามชาติ (TMFG)  และข่าวสามมิติ ได้ร่วมกันดำเนินโครงการ “พาลูกเรือกลับบ้าน” เพื่อนำกระดูกผู้เสียชีวิตกลับบ้าน จนสามารถประสานงานกับทางการไทย และตำรวจอินโดนีเซีย ให้พิสูจน์ดีเอ็นเอของสมเกียรติได้ชัดเจน

น.ส.ปฏิมา ได้กล่าวอีกว่า ณ ปัจจุบัน บนเกาะเบนจิน่า มีหลุมศพลูกเรือไทย 97 หลุม บนเกาะอัมบน 24 หลุม และเกาะตวน มีที่แห่งหนึ่งถูกเรียกบ่อร้อยศพ ซึ่งเชื่อว่าเคยฝังร่างไร้วิญญาณของลูกเรือทับถมกันมาแล้วกว่า 100 ร่าง เป็นชาวไทย พม่า ลาว และกัมพูชา ซึ่งไม่มีการบันทึกของตำรวจใดๆ ทั้งสิ้น มีเพียงการระบุชื่อหรือสัญชาติบนหลุมศพราวร้อยหลุมและอีกหลายหลุมไม่ระบุข้อมูลใดๆ ขณะที่นายชัยรัตน์ ราชปักษี อดีตลูกเรือ และผู้ก่อตั้งกลุ่มสหภาพลูกเรือประมงไทยและข้ามชาติ (TMFG) กล่าวเสริมว่า ยังมีคนตกเรือตกสำรวจอีก 400 ถึง 500 คน ที่อินโดนีเซีย แต่ยังไม่สามารถมารายงานตัวขอทำเรื่องกลับประเทศได้ เพราะบางคนหนีไปอยู่ป่าลึก บางคนหนีข้ามเกาะไปอยู่ตามบ้านคน

แต่การนำคนเป็น หรือกระดูกผู้ตายกลับบ้านนั้น กลับไม่สามารถทำได้โดยง่าย

“ถ้าจะกลับบ้าน กระบวนการตรงนี้ บริษัทเจ้าของเรือจะไม่รับผิดชอบ ลูกเรือ 90 เปอร์เซ็นต์ ในยุคนั้นใช้เอกสารปลอม ชื่อบนเรือเป็นชื่อนึง ทำให้กระบวนการยากลำบาก” น.ส.ปฏิมา กล่าว

นายสมัคร ทัพธานี เจ้าหน้าที่แอลพีเอ็น ให้ข้อมูลเรื่องกระบวนการช่วยเหลือลูกเรือประมงไทยกลับประเทศว่า แอลพีเอ็น จะเป็นผู้รับเรื่องจากญาติ จะประสานงานกับกระทรวงการต่างประเทศ เพื่อให้ดำเนินการตรวจพิสูจน์สัญชาติลูกเรือที่ต้องการกลับประเทศด้วยความร่วมมือของอินโดนีเซีย และทำหนังสือเดินทางชั่วคราวเป็นกรณีพิเศษ ประสานให้ลูกเรือเข้าไปอยู่ในการดูแลของสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองอินโดนีเซีย เพื่อรอการเดินทางกลับประเทศโดยเครื่องบิน อย่างไรก็ตาม ลูกเรือยังจำเป็นต้องจ่ายค่าดำเนินการให้กับรัฐบาลอินโดนีเซีย และไทยอีกเป็นเงินประมาณห้าหมื่นบาท

ส่วนการที่จะนำชิ้นส่วนศพผู้เสียชีวิตในอินโดนีเซียกลับประเทศนั้น นายชัยรัตน์ ราชปักษี อดีตลูกเรือ และผู้ก่อตั้งกลุ่มสหภาพลูกเรือประมงไทยและข้ามชาติ กล่าวว่า หากครอบครัวประสงค์จะนำกลับหรือตรวจพิสูจน์นั้น ต้องมีค่าใช้จ่ายการดำเนินการกว่า 1.5 แสนบาท มีขั้นตอน และกระบวนการที่ยากลำบากกว่าการนำคนที่ยังมีชีวิตอยู่

“ศพผู้เสียชีวิตไทย พม่า ลาว กัมพูชา ยังเหลืออยู่ การนำกลับคล้ายกันคือ ต้องมีญาติที่ระบุได้ว่าศพนั้นเป็นญาติจริงๆ อุปสรรคคือ ตอนไปลูกเรือไม่มีหลักฐาน ญาติต้องรู้ว่าคนชื่อนี้หายออกไปจากบ้าน ไปทำงานบนเรืออะไร อยู่บนเกาะไหน ชื่อที่ตามเอกสารเมื่ออยู่บนเรือชื่ออะไร เสียชีวิตแล้วถูกฝังที่ไหน ต้องมั่นใจจึงจะมีการขุดศพขึ้นมาตรวจดีเอ็นเอ เราไม่สามารถนำกลับได้เอง เพราะการนำศพหรืออัฐิกลับประเทศ หากผิดพลาด คือผิดกฎหมาย” นายชัยรัตน์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

“ตอนนี้มีญาติที่มาร้องกับทางแอลพีเอ็น 4 ถึง 5 ราย ที่แจ้งความประสงค์ให้ติดตาม เผื่อญาติตัวเองมาเสียชีวิตที่นั่น แต่ญาติเองก็ให้ข้อมูลแค่ว่า ลูกฉันไปลงเรือและหายไปหลายปีแล้ว ยังไม่ได้กลับมา ข้อมูลสุดท้ายอยู่ตรงนั้น แต่การไปช่วยเหลือจริงๆ ต้องพิสูจน์ให้ได้ว่าเขาไปทำงานจริงหรือเปล่า” นายชัยรัตน์ กล่าวเพิ่มเติม

แผนที่ เกาะเบนจินา เกาะอัมบน และเกาะตวล ของประเทศอินโดนีเซีย
แผนที่ เกาะเบนจินา เกาะอัมบน และเกาะตวล ของประเทศอินโดนีเซีย

เรื่องราวแรงงานทาส

ในปี 2557 แอลพีเอ็น และรายการข่าวสามมิติ เดินทางไปยังอินโดนีเซียและได้เปิดโปงสภาพความเป็นอยู่ที่เลวร้ายของแรงงานเหล่านั้น ซึ่งถูกบังคับให้ทำงานเกินเวลา พักผ่อนน้อย ถูกโกงค่าแรง ถูกใช้กำลังทำร้ายหากมีการขัดขืน ลูกเรือบางรายที่มีอาการป่วยจนทำงานไม่ไหว หรือมีปัญหากับคนคุมเรือ อาจถูกโยนลงจากเรือให้เสียชีวิต ผู้ที่รอดกลับมาได้จำนวนมากมีอาการทางจิต จากสภาพความเป็นอยู่ที่เลวร้ายดังกล่าว

ในปี 2558 ได้ช่วยเหลือลูกเรือชาวไทยกลับบ้าน 2,015 คน และแอลพีเอ็น ยังได้ช่วยประสานกับรัฐบาลประเทศเพื่อนบ้าน เพื่อนำพลเมืองของตนกลับ ได้แก่ ชาวเมียนมาราวหนึ่งพันคน ชาวกัมพูชา 100 คน และลาว 50 คน

ในกรณีของนายสมเกียรติ ได้แจ้งข้อมูลไว้กับแอลพีเอ็นและรัฐบาลไทยในตอนต้นปี 2558 ก่อนเสียชีวิต ทำให้การพิสูจน์ยืนยันอัตลักษณ์บุคคลทำได้ง่าย และญาติสามารถเรียกร้องให้บริษัทเจ้าของเรือที่นายสมเกียรติเคยทำงานอยู่ (ขอสงวนนามนายจ้าง) เป็นผู้จ่ายค่าใช้จ่ายในการดำเนินได้

นายสมบูรณ์ ตรัยศิลานันท์ รองอธิบดีกรมสวัสดิการ และคุ้มครองแรงงาน ซึ่งร่วมเดินทางไปร่วมพิธีเผาศพนายสมเกียรติที่เกาะเบนจิน่า เปิดเผยต่อเบนาร์นิวส์ว่า รัฐบาลพร้อมสนับสนุนการนำศพคนไทยที่เสียชีวิตระหว่างทำงานในต่างแดน แต่กรณีลูกเรือประมงนั้น มีความลำบากในการพิสูจน์ยืนยันอัตลักษณ์บุคคล

“การนำอัฐิกลับ สมมติว่ามีญาติของลูกจ้างหรือใครที่ไปตายที่ต่างประเทศ รัฐบาลยินดีช่วยเหลือ แต่ที่เกาะอัมบนหรือเบนจิน่า มีหลุมฝังศพกระจายอยู่ทั่ว เห็นป้ายหลุมศพเป็นชื่อคนไทย เขมร เมียนมา แต่ว่าไม่แน่ว่าชื่อคนไทย แต่ในหลุมอาจเป็นคนเขมร อาจสวมสิทธิ์ตั้งแต่ก่อนปี 2558” นายสมบูรณ์ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ทางโทรศัพท์

นายสมบูรณ์ กล่าวถึงการป้องกันปัญหาว่า “ตอนนี้ กรมการจัดหางานมีมาตรการหลายอย่าง เพื่อไม่ให้คนไปทำงานต่างประเทศแล้วโดนหลอก เรื่องประมง ปัจจุบัน ไทยมีศูนย์ควบคุมการแจ้งเรือเข้า-ออก (PIPO) มีเจ้าหน้าที่ประจำคอยตรวจเช็คความถูกต้องของทะเบียนเรือ ตรวจว่าลูกจ้างได้รับค่าจ้างผ่านธนาคารไหม ได้รับเวลาพักเต็มตามที่กฎหมายกำหนดไหม มีสัญญาจ้างแรงงานไหม ตรวจสอบหมดทุกอย่าง ก่อนที่จะออกไปทำงานในประเทศโน้น ประเทศนี้ การที่ลูกเรือจะหายคงเป็นไปไม่ได้แล้ว ต้องออกไป และกลับมาชื่อเดิมเท่าเดิม”

แต่ในรายงานเดือนมีนาคม ขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ หรือ ไอแอลโอ (ILO) กล่าวว่า การปฏิบัติที่ไม่เป็นธรรมและการหลอกลวงยังคงมีอยู่ในอุตสาหกรรมประมงของประเทศไทย

ด้าน นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมประมงแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบัน ไทยมีเรือประมงพาณิชย์ 10,600 ลำ มีลูกเรือประมาณ 7 หมื่นคน ยังขาดแคลนลูกเรืออีกราว 4 หมื่นคน ยืนยันว่า ในปัจจุบัน แรงงานประมงที่ถูกละเมิดหรืออยู่ในกระบวนการค้ามนุษย์หมดไปแล้ว หลังจากที่รัฐบาลเข้มงวดในการดูแล ขณะที่ แอลพีเอ็น สำรวจพบว่า นับตั้งแต่ปี 2557-2561 มีแรงงานประมงที่ถูกละเมิด 2,554 คน โดยมี 326 คน เป็นเหยื่อการค้ามนุษย์

น.ส.ปฏิมา ตั้งปรัชญากูล ผู้จัดการมูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน กล่าวทิ้งท้ายว่า โครงการ “พาลูกเรือกลับบ้าน” คงไม่อาจช่วยนำกระดูกกลับบ้านได้ทั้งหมด แต่สิ่งที่แอลพีเอ็นคาดหวังไว้ว่า หลังจากนี้ รัฐบาลไทยผลักดันให้อีกหลายศพที่เหลือได้กลับบ้าน แต่ก็ถือว่าเป็นภารกิจด้านมนุษยธรรมที่ทำให้ครอบครัว และญาติได้พบกับผู้เสียชีวิตอีกครั้งเป็นครั้งสุดท้าย

“ในส่วนของคนที่เสียชีวิตแล้ว เราอยากให้ติดตามหาญาติของเขา ที่สำคัญคือ ถ้าหากมีคนเสียชีวิตมากแบบนี้ รัฐบาลควรจะส่งเสริมดูแลชีวิตคนในเรือมากขึ้น” น.ส.ปฏิมา กล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง