กองทัพบกไทย-อินเดีย เปิดการฝึก “ไมตรี 2018” สัปดาห์หน้า
2018.08.02
กรุงเทพ

กองทัพบกไทยและอินเดีย มีกำหนดการเปิดการฝึกผสม “MAITREE 2018" ในวันจันทร์ที่ 6 สิงหาคม 2561 เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดีระหว่างกองทัพบกทั้งสองประเทศ รวมทั้งเป็นการแลกเปลี่ยนประสบการณ์และเทคนิคในการปฏิบัติการทางยุทธวิธีของหน่วยในระดับกองร้อยทหารราบ ในการต่อต้านสงครามกองโจรและการก่อการร้าย
การฝึกผสมกองทัพบกไทยและกองทัพบกอินเดีย ภายใต้รหัสไมตรี 2018 ในปีนี้ นับเป็นการฝึกผสมครั้งที่สาม โดยทางกองทัพภาคที่ 1 เป็นเจ้าภาพ โดยกองพลทหารราบที่ 11 จะจัดการฝึกขึ้นในพื้นที่ฝึกในจังหวัดฉะเชิงเทรา ในระหว่างวันที่ 6-19 สิงหาคม 2561 โดยมีกำลังพลฝ่ายละ 50 นาย ร่วมการฝึก
พลตรีวรยุทธ แก้ววิบูลย์พันธุ์ ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 11 กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า การฝึกผสมภายใต้รหัสไมตรี จะจัดขึ้นทุกปี และหมุนเวียนกันไปในทุกกองทัพภาค และในสองปีที่ผ่านมา กองทัพภาคที่ 4 เป็นผู้เข้าร่วมการฝึก และในการฝึกปีนี้ ได้สลับหมุนเวียนมาฝึกที่กองทัพภาคที่ 1 และได้มอบหมายให้กองพลทหารราบที่ 11 เป็นผู้เข้าร่วมการฝึกกับกองทัพบกของอินเดีย ซึ่งแต่ละปีจะสลับกันฝึกในระหว่างสองประเทศ โดยปีที่ผ่านมาได้ทำการฝึกที่ประเทศอินเดีย และในปีนี้ ได้เปลี่ยนมาฝึกที่ประเทศไทย
“...และคาดหวังว่ากองทัพบกของไทย จะสามารถแลกเปลี่ยนค่านิยมทางทหาร และนำรูปแบบการฝึกต่างๆ มาปรับใช้ได้ และสามารถนำวิธีการปฎิบัติด้านต่างๆ มาทำร่วมกัน เพื่อสานสัมพันธ์ระหว่างสองกองทัพ” พลตรีวรยุทธกล่าว
เมื่อวันที่ 22-25 พฤษภาคม 2561 ได้มีการลงบันทึกข้อตกลงการประชุมวางแผนการฝึกผสมระหว่าง ทบ.ไทย กับ ทบ.อินเดีย รหัส MAITREE 18 (EPC) ณ บก.พล.ร.11 ค่ายสมเด็จพระนั่งเกล้า อ.เมือง จ.ฉะเชิงเทรา ไป โดยมี พลตรีวรยุทธ แก้ววิบูลย์พันธุ์ ผู้บัญชาการกองพลทหารราบที่ 11 เป็นหัวหน้าคณะฝ่ายกองทัพบกไทย และ พ.อ.วิเจ ซิงฮ์ เมตา (Colonel Vijay Singh Mehta, SM) ผู้บังคับหน่วยคุมอนที่ 19 (19 KUMAON) เป็นหัวหน้าคณะผู้แทนของฝ่ายกองทัพบกอินเดีย
“รูปแบบการฝึก เป็นแบบการฝึกภาคกองร้อยทหารราบ โดยจะฝึกตามหลักนิยมของทหารประเทศเจ้าภาพ และทำการแลกเปลี่ยนหลักนิยมของทหารมิตรประเทศ และแลกเปลี่ยนหลักนิยมของกันและกัน พัฒนาสัมพันธ์ ผู้ปฎิบัติระดับล่างจนถึงระดับบน” พลตรีวรยุทธกล่าว
พลตรีวรยุทธกล่าว นอกจากนี้ ยังมีการฝึกการสาธิตต่อต้านการก่อการร้ายสากลในรูปแบบของแต่ละประเทศ เพื่อแลกเปลี่ยนเทคนิคและพัฒนาขีดความสามารถของมิตรประเทศทั้งสอง
“ทั้งสองประเทศมีเป้าหมายในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ในการร่วมมือทางทหาร เพื่อการต่อสู้กับภัยคุกคามที่อาจจะเกิดขึ้น เรามีความสัมพันธ์ลึกที่แน่นแฟ้นที่เราต้องสานต่อ" เจ้าหน้าที่การทูตอินเดียผู้ไม่ประสงค์จะออกนาม กล่าวแก่เบนาร์นิวส์
ในส่วนรายละเอียดการฝึกปลีกย่อยอื่น ทั้งสองฝ่ายจะร่วมฝึกมวยไทย โยคะ การลาดตระเวน การหาข่าว การปิดล้อมและคุ้มครองพยาน การฝึกใช้อาวุธในเวลากลางวันและกลางคืน การเคลื่อนกำลังทางอากาศ เป็นต้น
ประเทศไทยและอินเดีย เปิดความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างเป็นทางการใน ปี พ.ศ. 2490 แม้ว่าจะมีความสัมพันธ์ทางวัฒนธรรมและศาสนามาอย่างยาวนาน
จากข้อมูลของทางการไทย ในปี 2546 สองประเทศได้มีความร่วมมือด้านความมั่นคงในกรอบคณะทำงานด้านความมั่นคง ไทย-อินเดีย (Thailand-India Joint Working Group on Security) เนื่องจากได้ตระหนักถึงความท้าทายจากปัญหาความมั่นคงและการก่อการร้าย โดยคณะทำงานด้านความมั่นคง ไทย-อินเดีย มีเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติเป็นหัวหน้าคณะของฝ่ายไทย และฝ่ายอินเดียมีปลัดกระทรวงการต่างประเทศเป็นหัวหน้าคณะ
ในความร่วมมือด้านความมั่นคงของไทยและอินเดียนั้น ประกอบด้วยการพูดคุยของบุคลากร การฝึกผสม การลาดตระเวนร่วมทางทะเล การแลกเปลี่ยนการฝึกในสถาบันต่างๆ ของทั้งสองฝ่าย และแลกเปลี่ยนการเยี่ยมเยือนระหว่างกันของเจ้าหน้าที่ทุกระดับ ตามข้อมูลของสถานทูตไทยในอินเดีย
สหรัฐฯเพิ่มความสัมพันธ์ด้านความมั่นคง ในภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก
ในขณะเดียวกัน นิคเค เอเชียนรีวิว รายงานเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมาว่า สหรัฐอเมริกากำลังพยายามขยายฐานเข้าสู่ภูมิภาคในแถบอินโด-แปซิฟิก โดยได้เตรียมจัดการประชุม ที่เรียกว่า "สองบวกสอง" ติดต่อกัน ซึ่งมีหัวหน้าฝ่ายกองการต่างประเทศและฝ่ายความมั่นคง ของประเทศออสเตรเลีย และประทศอินเดียเข้าร่วม อันเกี่ยวเนื่องกับการเติบโตของอิทธิพลจีนในภูมิภาค
ซึ่งการประชุมเจรจา "สองบวกสอง" ที่ประเทศอินเดีย จะมีขึ้นในวันที่ 6 กันยายน ในกรุงนิวเดลี เกิดขึ้นท่ามกลางความสนใจจากหลายฝ่าย เรื่องการขยายอิทธิพลของจีน ไปยังประเทศเพื่อนบ้าน เช่น เมียนมา ศรีลังกา และปากีสถาน อาทิ การลงทุนเทคโอเวอร์ท่าเรือในปากีสถาน นับเป็นการคว้าสิทธิระยะยาว ในการใช้ท่าเรือยุทธศาสตร์ดังกล่าว