ไทยไม่ได้ปลอดภัยจากการคุกคามของไอเอส บรรดาผู้เชี่ยวชาญกล่าว

อิมราน วิตตาชิ และ เคท เบดดัลล์
2015.12.05
TH-ISIS-1000 พล.ต.ต. ทรงพล วัธนะชัย รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติของไทย พูดกับผู้สื่อข่าวที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ในกรุงเทพฯ วันที่ 4 ธ.ค. พ.ศ. 2558
เอเอฟพี

ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กล่าวว่า สัญญาณบ่งบอกถึงอิทธิพลของกลุ่มรัฐอิสลามกำลังปรากฏขึ้นในไทย ในขณะที่มีรายงานว่า ชาวซีเรีย 10 คน ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มไอเอสได้เดินทางเข้ามาในประเทศไทย

“มีความวิตกมากเกี่ยวกับการปรากฏตัวของกลุ่มไอซิล (ISIL) ในทางภาคใต้ของไทย รวมถึงความวิตกของเจ้าหน้าที่ด้านความมั่นคงหลายคนของไทย” นายซาคารี อาบูซา อาจารย์ที่เนชั่นแนล วอร์ คอลเลจ ในวอชิงตัน ดี.ซี. กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ โดยใช้ชื่อย่ออีกชื่อหนึ่งของไอเอส

แม้จะไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดว่ากลุ่มรัฐอิสลาม (IS) ได้ปรากฏตัวในพื้นที่สามจังหวัดใต้สุดของไทย ซึ่งพลเมืองส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม

“แต่สิ่งที่ผมและผู้ร่วมอาชีพบางคนได้เห็น ในหมู่คนไทยเชื้อสายมลายูในทางภาคใต้ของไทย มีการแชร์การโฆษณาชวนเชื่อและวิดีโอของกลุ่มไอซิลในสื่อสังคมกันมากขึ้นมาก” เขากล่าวเสริม

วิดีโอโฆษณาชวนเชื่อรูปแบบต่าง ๆ ของกลุ่มไอเอส พร้อมคำบรรยายภาษาไทย เริ่มปรากฏขึ้นในสื่อสังคมเมื่อต้นสัปดาห์นี้ และเจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสด้านความมั่นคงคนหนึ่งของไทยได้ยืนยันกับเบนาร์นิวส์ว่า ในอดีตไม่เคยมีวิดีโอของกลุ่มไอเอสที่มีคำบรรยายภาษาไทยมาก่อน และวิดีโอเหล่านั้นน่าที่จะถูกทำขึ้นในประเทศไทย

“การใส่คำบรรยายภาษาไทยในวิดีโอโฆษณาชวนเชื่อของกลุ่มไอเอส แสดงว่ากลยุทธ์ของกลุ่มไอเอสคือ ต้องการชักจูงชาวเชื้อสายมลายูในไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคใต้ของไทย” นายโรฮัน กูนารัทนา ผู้อำนวยการศูนย์นานาชาติเพื่อการวิจัยด้านความรุนแรงทางการเมืองและการก่อการร้าย ประจำสำนักวิชาวิทยาการ เอส. ราชารัตนาม ด้านวิเทศศึกษา ในสิงคโปร์ กล่าว

“ชาวมุสลิมในภาคใต้ส่วนหนึ่ง ได้สร้างความสัมพันธ์เชิงอุดมการณ์กับกลุ่มไอเอสแล้ว” เขาเสริม

ตามข้อมูลจากทางการของไทย ไม่มีหลักฐานว่ามีคนไทยเดินทางไปยังซีเรียหรืออิรัก เพื่อเข้าร่วมการต่อสู้ของกลุ่มไอเอส และยังไม่มีการจับกุมผู้ที่ให้การสนับสนุนกลุ่มไอเอสในประเทศไทย

ภัยคุกคามต่อชาวรัสเซียในไทย?

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันศุกร์ เจ้าหน้าที่ตำรวจของไทยได้ยืนยันว่า ไทยได้รับหนังสือแจ้งเตือนจากรัสเซียว่า ชาวซีเรีย 10 คน ที่อาจจะเชื่อมโยงกับกลุ่มไอเอส ได้แทรกซึมเข้ามาในไทยในช่วงระหว่างวันที่ 15-31 ต.ค.

ตามรายงานข่าว เอกสารลับสุดยอดที่รั่วออกมาจากสำนักงานตำรวจระบุว่า ชาวซีเรีย 10 คนที่รัสเซียส่งชื่อมาให้นั้น ได้เดินทางไปที่กรุงเทพฯ หรือพัทยาและภูเก็ต เมืองตากอากาศของไทย

“เรื่องเอกสารที่ออกมาที่ทุกคนสงสัยนั้น ผมสรุปได้อย่างนี้เลยว่า เป็นของจริง” พล.ต.อ. จักรทิพย์ ชัยจินดา บอกแก่ผู้สื่อข่าว และบอกว่า เป็นขั้นตอนทางธุรการปกติอยู่แล้ว ที่จะส่งเอกสารแจ้งเตือนภายใน

ตามรายงานข่าว ชาวซีเรียเหล่านั้นกำลังวางแผนโจมตีผลประโยชน์ของชาวรัสเซียในไทย

เมื่อหลายสัปดาห์ที่แล้ว รัสเซียได้เริ่มปฏิบัติการโจมตีทางอากาศ โดยการทิ้งระเบิดเป้าหมายกลุ่มไอเอสและกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในซีเรีย

แต่ดูเหมือนเจ้าหน้าที่ตำรวจจะไม่แน่ใจว่า ชาวซีเรียที่สงสัยว่าเชื่อมโยงกับกลุ่มไอเอส จะยังคงอยู่ในไทยหรือไม่

“เราไม่มีหลักฐานว่าคนเหล่านี้ยังอยู่ที่นี่หรือไม่” พล.ต.ต. ทรงพล วัธนะชัย รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ บอกแก่สำนักข่าวเอเอฟพี

อย่างไรก็ตาม กองตำรวจสันติบาลได้เพิ่มการรักษาความปลอดภัยรอบบริเวณสถานทูตรัสเซีย สหรัฐอเมริกา สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส เบลเยียม เยอรมนี สวีเดน และออสเตรเลีย

ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคง : ไม่น่าจะมีการก่อเหตุโดยมูจาฮิดิน

เมื่อค่ำวันพฤหัสบดี ในการพูดคุยเรื่องภัยคุกคามของไอเอสต่อภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในกรุงเทพฯ แอนโธนี เดวิส ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงของ IHS Jane’s Defense Weekly กล่าวว่า ความเป็นไปได้ที่จะเกิดการโจมตีโดยนักรบจีฮัดในกรุงเทพฯ ในอนาคตอันใกล้นั้น มี “ต่ำมาก”

แต่เขากล่าวว่า การที่ไทยเป็นประเทศจุดหมายปลายทางการท่องเที่ยวชั้นนำ ทำให้ไทยกลายเป็นแม่เหล็กดึงดูดการก่อการร้ายไปด้วย เพราะกรุงเทพกลายเป็นเมืองที่มี “เป้าหมายจำนวนมาก”

“โดยพื้นฐานแล้ว ทั้งโลกอยู่ที่นี่ นักท่องเที่ยวจากซีกโลกตะวันตก จากรัสเซีย จากจีน จากญี่ปุ่น ทุกคนอยู่ที่นี่ พร้อมด้วยธุรกิจต่างประเทศ และองค์กรนานาชาติ" เดวิส บอกแก่ผู้ฟังการบรรยายที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT)

“การก่อการร้ายในไทยไม่ใช่ประเด็นที่เป็นนามธรรมอีกต่อไปแล้ว”

เมื่อวันที่ 17 ส.ค. เหตุระเบิดที่ศาลพระพรหมเอราวัณ สถานที่สำคัญแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ และเป็นจุดหมายที่เป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยว ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 20 คน และบาดเจ็บอีกกว่า 120 คน เป็นเหตุก่อการร้ายที่ทำให้มีผู้เสียชีวิตมากที่สุดในไทยนับแต่ที่เคยมีมา

การต่อสู้ในภาคใต้

ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงต่างก็คอยจับตามองดูว่าการก่อความไม่สงบที่ระอุมานานแล้วในสามจังหวัดใต้สุดของไทย ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่นับถือศาสนามุสลิม อาจถูกหาผลประโยชน์โดยเครือข่ายผู้ก่อการร้ายระหว่างประเทศ

เป็นเวลาหลายปีแล้วที่กลุ่มแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายู (บีอาร์เอ็น) ซึ่งเป็นกลุ่มสำคัญที่ต้องการแบ่งแยกดินแดน และทำการต่อสู้กับรัฐบาลไทยในสามจังหวัดใต้สุดของไทย ได้สกัดกั้นการแพร่กระจายของอุดมการณ์มูจาฮิดีนข้ามประเทศในพื้นที่นั้น ผู้เชี่ยวชาญกล่าว

“มันเป็นลักษณะของกลุ่มบีอาร์เอ็นที่ทำหน้าที่เป็นป้อมปราการกลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงจากภายนอก” แอนโธนี เดวิส กล่าว

“เมื่อพูดถึงการก่อการร้ายของมูจาฮิดีนแล้ว บีอาร์เอ็นอยู่ฝ่ายเดียวกับประเทศไทย สำหรับบีอาร์เอ็นแล้ว มูจาฮิดีนเป็นภัยคุกคามร้ายแรงต่อแผนการทั้งหมดของกลุ่ม ต่อทุกสิ่งทุกอย่างที่บีอาร์เอ็นพยายามต่อสู้มาเป็นเวลาหลายทศวรรษ” เขากล่าวเสริม

ตามคำกล่าวของนายอาบูซา บีอาร์เอ็นเป็น “ยาต้านที่แรงที่สุดต่อไอซิล”

แต่เขาอธิบายว่า การใช้สื่อสังคมอย่างกว้างขวางและก้าวหน้าของกลุ่มไอซิลเป็นภัยคุกคามต่อบีอาร์เอ็น

“บีอาร์เอ็น เป็นกลุ่มที่ชอบอยู่ในที่มืด และไม่มีการรณรงค์ทางสื่อสังคม หรือที่จริงแล้ว เมื่อกลุ่มนี้เมื่อพูดกับสื่อหรือออกแถลงการณ์วิดีโอ... จะดูแข็งทื่อและจริงจัง”

ในทางตรงกันข้าม การโฆษณาชวนเชื่อของกลุ่มไอเอส “ดูไหลลื่น เตรียมการมาดี และปรับให้เหมาะกับกลุ่มเป้าหมายเป็นอย่างดี” เขากล่าว

“รัฐบาลคิดว่าจะได้ทั้งสองอย่าง คือ กันกลุ่มไอซิลออกไป โดยไม่ต้องผ่อนปรนทางการเมืองให้แก่บีอาร์เอ็น” เขากล่าวเสริม โดยอ้างอิงถึงความพยายามเมื่อเร็ว ๆ นี้ ของรัฐบาลทหารของไทย ในการเปิดการพูดคุยเพื่อสันติสุขอย่างเป็นทางการกับกลุ่มผู้ก่อความสงบ และกลุ่มย่อยหลายกลุ่มในภาคใต้ของไทย

นายกูนารัทนาเห็นด้วยว่า การจูงใจของกลุ่มไอเอสในสามจังหวัดใต้สุดของไทยมีจำกัด เนื่องจากเหตุจูงใจของกลุ่มผู้ก่อความไม่สงบในภาคใต้ของไทย คือ เรื่องอัตลักษณ์ของชนชาติมลายู

แต่การดึงดูดเชิงอุดมการณ์ที่เพิ่มมากขึ้นต่อกลุ่มนี้ “อาจเติบโตจนกลายเป็นความสัมพันธ์เชิงปฏิบัติการก็เป็นได้” หากทางการไทยไม่ดำเนินการอย่างจริงจังในการเข้าถึงคนในภาคใต้ทุกหมู่เหล่าให้รวมเป็นส่วนหนึ่งของประเทศไทย นายกูนารัทนา กล่าวเตือน

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง