เอ็นจีโอ: การค้ามนุษย์ในภาคการประมงลดลง

นนทรัฐ ไผ่เจริญ
2016.09.28
กรุงเทพฯ
TH-IUU-1000 เจ้าหน้าที่กรมประมง ออกตรวจการณ์ในแม่น้ำปัตตานี วันที่ 28 ก.ย. 2559
เบนาร์นิวส์

องค์กรเอ็นจีโอด้านแรงงานข้ามชาติ กล่าวว่า ในปี 2559 มีการค้ามนุษย์ในภาคการประมงลดลงอย่างมาก หลังจากอียูได้กำหนดให้ประเทศไทยแก้ไขปัญหาแรงงานทาส เพิ่มเติม นอกเหนือไปจากการแก้ปัญหาการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, unregulated and unreported fishing – IUU Fishing) ในปีที่ผ่านมา

ทั้งนี้ รัฐบาลได้เปิดให้มีการขึ้นทะเบียนแรงงานในภาคการประมง และมีการรายงานเข้า-ออก ของเรือที่ออกไปทำการประมง (port-in/port-out) ที่ต้องแสดงรายชื่อและความถูกต้องของลูกเรือด้วย

ซึ่งวันนี้ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้เป็นเจ้าภาพในประชุมนำเสนอผลการพัฒนานโยบายเพื่อส่งเสริมการประมงที่ยั่งยืนและแก้ไขปัญหาประมง IUU และแรงงานบังคับ โดยมีศูนย์บัญชาการแก้ไขปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) หน่วยงานรัฐบาลที่เกี่ยวข้อง และภาคเอกชนเข้าร่วม

นายสมพงศ์ สระแก้ว ผู้อำนวยการ มูลนิธิเครือข่ายส่งเสริมคุณภาพชีวิตแรงงาน ที่ได้ร่วมการประชุมในวันนี้ กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ปัญหาเรื่องแรงงานในภาคการประมงได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นกว่าเดิมแล้วบ้าง

“สภาพปี 2559 มีร้องเรียนเรื่องแรงงานไม่เยอะ ร้องเรียนเรื่องการค้ามนุษย์ ประมาณไม่เกิน 10 ราย แต่ก่อนหน้านั้นเยอะ ช่วงปี 2553-2557 ตกปีละหลายร้อยคนต่อปี แต่ช่วงปี 2558-2559 ถือว่ามีน้อย เฉพาะประมงนะ” นายสมพงศ์ กล่าว

“เราสมมุติฐานว่า ถ้าเข้มงวดมากขึ้น ปัญหาก็ลดลงเป็นลำดับ แต่ก็ยังห่วงใยว่า ถ้าการบริหารจัดการด้านแรงงานไม่ดีพอ และไม่ครอบคลุม ปัญหามันจะกลับมาใหม่ เช่น เปิดให้ลงทะเบียนแรงงานประมง แต่ว่า เซกเตอร์อื่นไม่เปิด ถ้ายิ่งทำให้แรงงานอยู่ในใต้ดินมากขึ้น ปัญหามันจะกลับมา ปัญหาการละเมิด บังคับแรงงาน บีบเข้าไปสู่การบังคับใช้แรงงาน” นายสมพงศ์ กล่าวเพิ่มเติม

จากข้อมูลกรมประมง และจากนายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมประมงแห่งประเทศไทย มีแรงงานประมงบนเรือประมาณ 140,000 คน แบ่งเป็นเมียนมา 70 เปอร์เซนต์ กัมพูชา 10 เปอร์เซนต์ ลาว 5 เปอร์เซนต์ ไทย 5 เปอร์เซนต์ และอื่นๆ 10 เปอร์เซนต์

ทางด้าน คุณสุธาสินี แก้วเหล็กไหล นักสิทธิแรงงาน เครือข่ายเพื่อสิทธิแรงงานข้ามชาติ (Migrant Workers Rights Network -- MWRN) กล่าวว่า แรงงานต่างด้าวยังไม่ได้รับความเป็นธรรมในการทำงาน

“ความที่มันไม่ตรงไปตรงมากับลูกเรือ คือ ค่าจ้างไม่เป็นไปตามสัญญาจ้าง ตามเอกสารสัญญาคือเดือนละ 9 พันบาท แต่ส่วนใหญ่จะได้รับ 5,000 ถึง 7,000 บาท ต่อเดือน ระยะเวลาทำงานก็ยาวนาน เพราะอยู่บนเรือทำงานตลอด ไม่มีเวลาพัก ขึ้นมาก็ต้องเก็บอวน เก็บปลา ออกเรือตั้งแต่ บ่ายสาม เข้ามาก็ 7-8 โมงเช้า” คุณสุธาสินี กล่าว

“ตามประกาศของ คสช.บอกว่าลูกเรือต้องมีเวลาพัก ออกเรือ 20-21 วัน และพัก 9 วัน แต่ความเป็นจริง ลูกเรือก็ไม่ได้พัก เพราะนายจ้างจะให้มาซ่อมอวน ซึ่งจะไม่ได้รับค่าจ้าง แต่นายจ้างก็จะหุงข้าวให้กิน เวลาเกิดอุบัติเหตุ คนงานก็ดูแลรักษาตัวเอง ความยากของลูกเรือ คือ เปลี่ยนนายจ้างไม่ได้” คุณสุธาสินี กล่าวเพิ่มเติม

นายมงคล สุขเจริญคณา ประธานสมาคมประมงแห่งประเทศไทย ได้กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า ยังมีปัญหาการลงทะเบียนของแรงงานต่างด้าว

“ปัญหาหลักเลย คือการไม่เปิดให้ลงทะเบียนแรงงานได้โดยสะดวก ปัญหาก็คือเนื่องจากว่าเรือประมงมีการเคลื่อนย้ายแรงงานตลอดเวลา แต่รัฐเปิดๆ ปิดๆ ทำให้ปัญหาใช้แรงงาน ส่วนใหญ่เป็นแรงงานผิดกฎหมายเกือบทั้งหมด มีแรงงานถูกกฎหมายไม่เกิน 10 เปอร์เซนต์” นายมงคลกล่าว

“เหตุผลคือรัฐไม่กำหนดนโยบายให้รอบด้าน ปัญหาของแรงงาน ปัญหาต้นตอสู่การค้ามนุษย์มาจากแรงงานผิดกฎหมาย เพราะถ้าคุณเปิดให้แรงงานถูกกฎหมาย คงไม่ค้ามนุษย์” นายมงคลกล่าวเพิ่มเติม

ศปมผ. กล่าวว่า อียูจะประเมินผลการแก้ไขปัญหา IUU ในต้นปี 2560

เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2558 กลุ่มประเทศสหภาพยุโรป หรือ อียูได้ออกใบเหลืองให้กับประเทศไทย เพราะทำการประมงโดยผิดกฎหมายและไม่มีการจัดการที่ดี และได้กำหนดเส้นตายในการแก้ไขปัญหาการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม (Illegal, unregulated and unreported fishing – IUU Fishing) ให้ได้มาตรฐาน ภายในหกเดือน ทั้งนี้ ได้มีคณะผู้เชี่ยวชาญด้านการประมงลงพื้นที่ ในสมุทรสาครสองครั้ง แต่ยังไม่ได้มีการตัดสินว่าจะปลดใบเหลือง หรือให้ใบแดงแก่ประเทศไทย

ทั้งนี้ ประเทศไทยได้ลงสัตยาบันต่ออนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยกฎหมายทางทะเล ค.ศ. 1982 และรับรองจะปฏิบัติตามข้อกำหนดขององค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ ในการทำประมงอย่างโปร่งใส แต่ยังคงปล่อยให้มีการทำการประมงผิดกฎหมาย ขาดการรายงาน และไร้การควบคุม มาอย่างยาวนาน

อียู ได้ให้คำแนะนำให้ทางการไทยแก้ไขปัญหาเพิ่มเติม โดยขยายขอบเขตไปยังการจัดการแรงงานในภาคประมงให้ถูกต้อง

ในวันนี้ พลเรือเอกบงสุข สิงห์ณรงค์ ประธานอนุกรรมการปราบปรามการบังคับใช้แรงงานและการค้ามนุษย์ในภาคประมง กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ว่า อียูจะประเมินผลความพยายามในการแก้ไขปัญาของเราในต้นปีหน้า

“ตามที่ได้ทราบมาจากการหารือครั้งที่ผ่านมา อียูจะประเมินเราในช่วงต้นปีหน้า เรื่องคณะประเมินที่จะเดินทางมายังประเทศไทยยังไม่ได้รับการประสาน ปัจจุบันนี้เราก็ส่งรายงานความก้าวหน้าไปให้เขาเป็นระยะๆ จะเป็นการตรวจสอบจากรายงาน” พลเรือเอกบงสุข กล่าว

ชาวเรือประมงยังไม่ได้รับการช่วยเหลือเต็มที่

จากตัวเลขของกรมประมงและสมาคมประมงแห่งประเทศไทย มีเรือขนาดใหญ่กว่า 10 ตันกรอสขึ้นไป ขอขึ้นทะเบียนทั้งหมดประมาณ 13,000 กว่าลำ เป็นเรือที่มีใบอาชญาบัตร 11,227 ลำ ไม่มีใบอาชญาบัตร 2,180 ลำ ส่วนเรือประมงพื้นบ้านหรือเรือขนาดต่ำกว่า 10 ตันกรอส มีประมาณ 28,000 ลำ

นายภูเบศ จันทนิมิ นายกสมาคมการประมง จังหวัดปัตตานี กล่าวว่า การช่วยเหลือแรงงานประมง และผู้ประกอบการประมง ที่ภาครัฐเคยบอกว่าจะทำการเยียวยาช่วยเหลือล่าสุดเจ้าหน้าที่ ยังบอกว่าอยู่ในขั้นตอนระหว่างดำเนินการและไม่มีความคืบหน้า และมีปัญหากฎหมายห้ามโอนทะเบียนเรือ

"ปัญหาของชาวประมงพบล่าสุด คือการโอนย้ายทะเบียนเรือ เมื่อมีการขายเรือเปลี่ยนเจ้าของ แต่ใบทะเบียน ไม่สามารถเปลี่ยนโอนให้กันได้ ทำให้เรือจำนวนมากเจอปัญหาด้านนี้ ก็อยากให้ภาครัฐได้เข้ามาดูปัญหาด้านนี้ด้วย" นายภูเบศ กล่าว

นายประยูร จันทรดี ชาวประมงพื้นบ้าน จังหวัดปัตตานี กล่าวว่า ตนเองสามารถออกทะเลได้บ้าง แต่ก็ต้องออกไปอย่างหลบๆ ซ่อนๆ เพราะแม้ว่ามีการจดทะเบียนแล้ว แต่ก็ยังมีปัญหาด้านอื่นๆ เช่น การกำหนดเขตพื้นที่การออกทำประมงของเรือประมงพื้นบ้านไม่เกิน 3 ไมล์ทะเล

"เราไม่รู้ว่าช่วงไหนบ้างมีสัตว์น้ำบ้าง ต้องออกเรือเรื่อยไป จนกว่าจะเจอ บางช่วงก็เจอสัตว์น้ำ ในบริเวณที่เลยเขตที่ภาครัฐกำหนด เท่ากับว่าเราเลยเขตโดยไม่รู้ตัว พอเจ้าหน้าที่มาเห็นก็ถูกจับเพราะทำผิดกฏหมาย" นายประยูร กล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง