รัฐบาลตอบโต้รายงานข่าว การใช้แรงงานทาสในภาคการประมง

ทีมข่าวเบนาร์นิวส์
2015.12.21
TH-shrimp-labor-1000 แรงงานข้ามชาติชาวพม่าทำงานในโรงงานแกะกุ้ง อำเภอมหาชัย จังหวัดสมุทรสาคร ภาพถ่ายเมื่อ 25 กุมภาพันธ์ 2553
เอเอฟพี

โฆษกรัฐบาล พร้อมเจ้าหน้าที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ชี้แจงแก่สื่อมวลชนในวันจันทร์ (21 ธ.ค.  2558) นี้ว่า ทางการไทยไม่ได้ปล่อยปละละเลยต่อรายงานข่าวที่ว่า มีการใช้แรงงานเยี่ยงทาสในอุตสาหกรรมประมง

ที่ทำเนียบรับบาล พล.ต.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวถึงรายงานของสำนักข่าวเอพี ว่าไม่ตรงต่อความเป็นจริง

“สำนักข่าวต่างประเทศได้รายงานเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. ที่ผ่านมาว่า ไทยค้าแรงงานทาสในโรงงานแกะกุ้ง เพื่อส่งโรงงานอาหารทะเลขนาดใหญ่ โดยเจ้าหน้าที่ของรัฐได้เพิกเฉยต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ซึ่งถือว่าไม่ตรงกับความเป็นจริง เนื่องจากเป็นการเข้าไปดำเนินการตามวาระแห่งชาติของไทย เพื่อให้ไทยพ้นจากอันดับค้ามนุษย์เทียร์ 3 และให้แรงงานที่เข้ามาทำงานถูกกฎหมาย” พล.ต.สรรเสริญ กล่าว

“ทั้งนี้ ในการรายงานข่าวมีบางส่วนที่ข้อมูลไม่ตรงกับความเป็นจริง อาทิ กระบวนการค้ามนุษย์แทบจะไม่ถูกดำเนินคดี ไทยเป็นผู้ผลิตกุ้งรายใหญ่ที่สุดในโลก เนื่องจากมีแรงงานถูก การยกตัวอย่างชาวพม่าแล้วเหมารวมทั้งประเทศ เป็นสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งขณะนี้ไทยกำลังทำตามหลักสากล” พล.ต.สรรเสริญ กล่าวเพิ่มเติม

ทางด้าน พล.ร.ท.จุมพล ลุมมิกานนม์ รองเลขาธิการทหารเรือ กล่าวว่า การเสนอข่าวของเอพีนั้น เป็นภาพเก่า และถูกนำไปขยายความเกินจริง

“จากการนำเสนอข่าวของสำนักข่าวต่างประเทศเมื่อวันที่ 14 ธ.ค. เป็นการนำข้อมูลเมื่อในช่วงเดือน 9 พ.ย. มารายงาน ซึ่งภาพที่เกิดขึ้นเป็นเหตุการณ์ในการปราบปราม โดยมีผู้สื่อข่าวเข้าร่วม แต่การรายงานเป็นการนำภาพบางส่วนไปขยายผิดจากความเป็นจริง เนื่องจากไม่ใช่การกักขัง แต่เป็นการเข้าเมืองผิดกฎหมายของแรงงาน” พล.ร.ท.จุมพล กล่าว

“ปัจจุบันพบมีแรงงานอายุต่ำกว่า 18 ปี 14 คดี คดีค้ามนุษย์ 3 คดี และพบว่ามีเจ้าหน้าที่เกี่ยวข้อง 16 คดี ซึ่งในการคุ้มครองแรงงานถือเป็นสิ่งสำคัญที่รัฐบาลให้ความสำคัญ โดยในส่วนของค่าแรงนั้น แม้กำหนดไว้ชัดเจน 300 บาท แต่ในความเป็นจริง แรงงานบางคนอาจจะทำประมงไม่ได้ จึงกำหนดค่าแรงให้ไปตามปริมาณงานที่ทำได้” พล.ร.ท.จุมพล กล่าวเพิ่มเติม

ทั้งนี้ พล.ต.ต.กรโชค คล้ายคลึง ระบุว่า ในการจับกุมที่เกิดขึ้นได้ดำเนินคดีผู้ที่เกี่ยวข้อง ในการค้าแรงงานทำงานล่วงเวลา โดยยืนยันว่า จะดำเนินคดีกับผู้ที่เกี่ยวข้องให้ถึงที่สุด

ทางด้านศูนย์บัญชาการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย (ศปมผ.) ได้ออกรายงานว่า ทาง ศปมผ. มีเป้าหมายในการตรวจโรงงานอุตสาหกรรมแปรรูปสัตว์น้ำ จำนวน 145 โรงงาน ให้แล้วเสร็จภายในเดือนธันวาคม 2558 นี้ และได้จัดชุดตรวจจำนวน 25 ชุด เข้าจู่โจมตรวจโรงงานจนถึงปัจจุบัน (18 ธ.ค. 58) จำนวน 105 โรงงาน ซึ่งได้พบความผิดในด้านต่างๆ ท้ังในด้านการเข้าเมืองผิดกฎหมาย และความผิดที่เข้าข่ายการค้ามนุษย์ ซึ่งอยู่ในระหว่างกระบวนการสอบสวน ซึ่งจะเป็นการถอนรากถอนโคนการทำผิดต่อแรงงาน และผลการตรวจ ได้พบความผิดทั้งในด้านแรงงานเข้าเมืองผิดกฎหมาย คดีแรงงานต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 14 คดี และการค้ามนุษย์ 3 คดี ส่วน การลงโทษการกระทำผิดของเจ้าหน้าที่ มีอีกถึง 16 คดี การตรวจทุกครั้งจะใช้ชุดตรวจที่เป็นผู้เชี่ยวชาญสหวิชาชีพ และไม่แจ้งล่วงหน้า

สหภาพยุโรปเรียกร้องให้ไทยแก้ปัญหาแรงงานทาส

เมื่อวันที่ 21 เมษายน ที่ผ่านมา ทางสหภาพยุโรป ได้ให้ใบเหลืองแก่ประเทศไทยเรื่องที่มีการปล่อยให้มีการทำประมงผิดกฎหมาย การขาดการรายงาน ไร้การควบคุม (หรือ ไอยูยู) และ โดยเมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนนี้ คณะรัฐมนตรีไทยได้อนุมัติพระราชกำหนดกฎหมายฉบับใหม่ที่เข้มงวด เพื่อควบคุมการทำประมงผิดกฎหมาย และหลีกเลี่ยงการถูกสหภาพยุโรป ห้ามนำเข้าอาหารทะเลมูลค่าปีละกว่าสามหมื่นล้านบาท และ เพื่อนำมาตรการแก้ปัญหาการทำประมงผิดกฎหมาย การขาดการรายงาน ไร้การควบคุม (หรือ ไอยูยู) มาปฏิบัติให้เกิดผล

อย่างไรก็ตาม ในช่วงที่ผ่านมาได้มีสำนักข่าวต่างประเทศ ได้รายงานเรื่องข่าวการใช้แรงงานเยี่ยงทาส จนเป็นสาเหตุให้ทางอียูออกมาเรียกร้องให้ไทยแก้ปัญหาในเรื่องนี้ด้วย โดยในวันศุกร์ที่ผ่านมา สำนักข่าวเอพีได้รายงานว่า นายการ์เมนู ข้าหลวงด้านการประมง สหภาพยุโรปได้ออกมาเรียกร้องให้ไทยแก้ไขปัญหาแรงงานทาส ในภาคการประมง แม้ว่า การประเมินผลการแก้ไขปัญหาไอยูยูของไทยจะทำได้ดีขึ้นก็ตาม

ซึ่งนายเสข วรรณเมธี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศ ได้ออกมาแถลงในวันอาทิตย์นี้ว่า ทางอียูได้รับทราบการแก้ไขปัญหาของไทยอยู่แล้ว และในเดือนมกราคม 2559 คณะผู้แแทนสหภาพยุโรปจะมาเยือนไทยอีกครั้ง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการหารือและความร่วมมือระหว่างไทยและสหภาพยุโรปเพื่อแก้ปัญหาไอยูยู และพัฒนาระบบการบริหารจัดการประมงของไทย

“ประเด็นค้ามนุษย์ในอุตสาหกรรมประมงเป็นอีกเรื่องหนึ่งที่สหภาพยุโรปให้ความสำคัญ ซึ่งการเดินทางมาเยือนไทยของคณะผู้แทนสหภาพยุโรป ในเดือนมกราคม 2559 จะเป็นโอกาสดีที่ไทยจะได้ชี้แจงความก้าวหน้าในการแก้ไขปัญหา ทั้งในด้านการปราบปราม และดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด ตลอดจนการปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวกับแรงงานต่างด้าว เพื่อให้แรงงานภาคประมงเข้ามาอยู่ในระบบ และได้รับการคุ้มครองทางกฎหมายด้วย” นายเสข กล่าว

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง