ช่างเรือกอและเป็นห่วงศิลปะจะสูญหายในอีกสิบปีข้างหน้า

มารียัม อัฮหมัด และมาตาฮารี อิสมาแอ
2018.07.27
ปัตตานี และ นราธิวาส
180727-TH-kolek-artist-1000.jpg นายอับดุลเลาะ มะดิง ระบายสีชิ้นส่วนที่นั่งสำหรับใช้ในเรือกอและ ในสถานที่ทำงานริมฝั่งน้ำในอำเภอบางนรา จังหวัดนราธิวาส วันที่ 26 ก.ค. 2561
มารียัม อัฮหมัด/เบนาร์นิวส์

เรือกอและ ที่มีการระบายสีสดใสด้วยลวดลายไทย มลายู ชวา และอาจผสมลวดลายจีน อย่างสวยงามเป็นเอกลักษณ์ของภาคใต้ตอนล่าง อาจจะกลายเป็นเพียงสิ่งตั้งแสดงในพิพิธภัณฑ์ เพื่อให้ผู้คนชมดูเท่านั้นภายในอีกสิบปีข้างหน้า เพราะการเปลี่ยนแปลงของโลกที่ทำให้ความต้องการเรือกอและหมดไป รวมทั้งเด็กรุ่นใหม่ไม่ต้องการทำอาชีพต่อเรือกอและ หรือการวาดลวดลายอีกต่อไป

ในพื้นที่ชายฝั่งจังหวัดปัตตานีและนราธิวาส ที่นายมะกะตา สะแม ประธานประมงพื้นบ้านอำเภอเมือง ปัตตานี กล่าวว่า มีเรือกอและ รวมทั้งเรือท้ายตัด (มีลักษณะแบบเดียวกับเรือกอและ แต่ไม่มีหัว-หาง ท่อนท้ายตัดป้าน เพื่อให้สะดวกเมื่อติดตั้งเครื่องยนต์หางยาว) อยู่ราวหนึ่งพันลำ แต่ออกทะเลจริงเพียงราว 40 เปอร์เซ็นต์ ก็ยังไม่เป็นการง่ายนักที่จะหาแหล่งต่อทั้งสองแบบและช่างวาดลวดลาย เพราะไม่ค่อยมีผู้สืบสานและราคาเรือที่ค่อนข้างสูงด้วยเหตุผลประการหนึ่ง คือการที่ต้องใช้ไม้ตะเคียน ซึ่งเป็นไม้หวงห้าม

นายอับดุลเลาะ มะดิง ช่างระบายสีเรือกอและ ในอำเภอบางนรา จังหวัดนราธิวาส เล่าให้เบนาร์นิวส์ฟังว่า ตนเองเริ่มทาสีลวดลายไทย ลายกนก ผสมกับลายชวา และอื่นๆ บนเรือกอและจริงเป็นครั้งแรก เมื่อตอนอายุ 9 ขวบ โดยได้ค่าขนม 1,500 บาท จนกระทั่งปัจจุบันนี้ ตนอายุได้ 30 ปี ซึ่งทำมาเพราะความที่มีใจรัก แต่เด็กรุ่นใหม่กลับไม่มีใครชอบเหมือนตน

"ทุกวันนี้ เด็กๆ ไม่ค่อยสนใจ เพราะคนเปลี่ยนอาชีพ เดี๋ยวนี้ คนทำประมงมีไม่มากเหมือนในอดีต การเขียนลายหรือการทำเรือก็มีน้อยลง อีก 10 ปีข้างหน้า คิดว่าจะไม่มีแล้ว การใช้เรือกอและและการวาดลาย ไม่มีคนรุ่นใหม่สนใจ อาจจะต้องไปดูในพิพิธภัณฑ์ก็ได้" นายอับดุลเลาะ ซึ่งกำลังระบายสีลวดลายที่นั่งสำหรับเรือกอและจำลองที่ลูกค้าสั่งเพื่อเอาไปตั้งแสดง กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

จากสถิติของกรมประมง ในปี พ.ศ. 2548 การประมงเชิงพาณิชย์และการประมงพื้นบ้าน จับสัตว์น้ำได้เกือบ 4.5 ล้านตัน แต่กลับลดลงเหลือเพียงมากกว่า 2.5 ล้านตันไปเล็กน้อย ในปี พ.ศ. 2557 การที่ทรัพยากรธรรมชาติทางทะเลหร่อยหรอลง ได้ทำให้ชาวประมงพื้นบ้านบางส่วนต้องยุติการประกอบอาชีพไป เรือกอและ รวมทั้งเรือเรือท้ายตัด จำนวนมาก ถูกจอดทิ้งบนชายฝั่ง

แม้ว่ามีความกระเตื้องขึ้น หลังจากรัฐบาลไทยได้ปรับปรุงกฎหมายการประมงฉบับใหม่ เมื่อกลางปี 2560 โดยห้ามเรือใหญ่ใช้เครื่องมือทำลายล้างและห้ามเข้าใกล้ชายฝั่งเกิน 4 ไมล์ทะเล ทำให้ตัวอ่อนสัตว์น้ำไม่ถูกทำลายจนมีปริมาณเพิ่มขึ้น อันสืบเนื่องมาจากการที่อียูออกมาตรการให้ประเทศไทยจัดการกับปัญหาการทำประมงโดยผิดกฎหมาย ไม่มีการควบคุม และขาดการรายงาน (Illegal, unregulated and unreported fishing – IUU Fishing) เมื่อวันที่ 21 เมษายน 2558

"ในส่วนเรือเก่าๆ ที่มีอยู่ ก็ยากที่เขาจะมาเขียนลายใหม่ ทุกวันนี้ ตัวผมเองมีรายได้ในเดือนหนึ่งก็ประมาณ 15,000-20,000 บาท ต่อการเขียนเรือหนึ่งลำ ที่ใช้เวลาหนึ่งเดือน เท่ากับได้ค่าจ้าง 15,000-20,000 บาท ซึ่งเราก็สามารถอยู่ได้แล้ว" นายอับดุลเลาะ และอธิบายว่าเจ้าของเรือจะเป็นคนซื้อสีในการเขียนลวดลายเอง

"คนอื่นเขาเลือกทำอาชีพอื่น เพราะสามารถทำแล้วมีเงินมากกว่า แต่ผมเลือกทำอันนี้ เพราะต้องการอนุรักษ์ มีความภูมิใจเมื่องานเขียนลายที่ทำได้ออกสู่ตลาด" นายอับดุลเลาะกล่าวเพิ่มเติม

ลวดลายที่สวยงามจับใจบนหัวเรือกอและ ในอำเภอบางนรา นราธิวาส วันที่ 26 ก.ค. 2561 (มาตาฮารี อิสมาแอ/เบนาร์นิวส์)
ลวดลายที่สวยงามจับใจบนหัวเรือกอและ ในอำเภอบางนรา นราธิวาส วันที่ 26 ก.ค. 2561 (มาตาฮารี อิสมาแอ/เบนาร์นิวส์)

 

ทั้งนี้ ชาวประมงในนราธิวาส ยังคงนิยมใช้เรือกอและที่มีราคาในเรือนล้านบาทไปจนถึงหนึ่งล้านสองแสนบาท ส่วนชาวประมงในปัตตานี นิยมใช้เรือท้ายตัดในการทำประมง เพราะมีราคาถูกกว่า มีท่อนท้ายที่สั้นกว่า จุปลาได้มากกว่า เมื่อเทียบกับขนาดเรือยาวโดยรวม ซึ่งเรือกอและ/เรือท้ายตัดจะมีความยาวรวมไม่เกิน 15 เมตร

สำหรับการประมงในปัตตานี ตั้งแต่ช่วงกลางปีที่แล้วมานี้ เมื่อมีสัตว์น้ำในชายฝั่งปัตตานีเพิ่มมากขึ้น มีเรือประมงพื้นบ้านราวสองร้อยได้หวนกลับมาทำการประมงอีกครั้ง เป็นราวสี่ร้อยลำ นับตลอดชายฝั่งปัตตานีไปจนถึงนราธิวาส ตามคำบอกเล่าของ ประธานประมงพื้นบ้านอำเภอเมือง ปัตตานี ซึ่งคนหาปลาคนหนึ่งจะมีรายได้วันละ 400 ถึง 500 บาทต่อคน

ด้าน นายอะหมัด อาลี ช่างต่อเรือประจำบ้านรูสะมิแล ในอำเภอเมือง ปัตตานี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ ผลพวงดังกล่าว ทำให้ตนมีลูกค้าขอซื้อเรือท้ายตัดในขณะที่ตนเองกำลังต่ออยู่สองลำ ซึ่งเป็นกำลังการผลิตต่อปีเต็มที่ที่ตนทำได้ โดยมีราคาลำละ 420,000 บาท ไม่รวมค่าวาดลวดลายที่ต้องใช้ช่างโดยตรงอีกต่างหาก

"ช่างต่อเรือกอและหาได้ยาก น้อยคนจะทำ เพราะต้องรู้จักเรือกอและจริงๆ จึงสามารถต่อเรือกอและได้ พ่อผมเป็นช่างเรือกอและแต่ผมเองไม่สนใจในเรือกอและ จึงไม่สามารถต่อเรือกอและได้ ทำได้แต่เรือท้ายตัด พอพ่อหยุดผมก้อทำมาห้าปีแล้ว เดี๋ยวนี้ไม่ค่อยมีคนมาจ้างต่อเรือกอและด้วย ส่วนใหญ่เขาจะจ้างต่อเรือท้ายตัด เพราะราคาและประโยชน์การใช้งานที่ได้เปรียบกว่า" นายอะหมัด กล่าว

นายมะกะตา สะแม ประธานประมงพื้นบ้าน อ.เมือง จ.ปัตตานี กล่าวว่า เรือกอและจะต้องใช้ไม้ตะเคียน เพราะทนต่อน้ำเวลาปะทะกับคลื่นได้ดี ตะปูไม่หลุดจากเนื้อไม้ หลายครั้งเมื่อมีเรือออกไปในทะเล เจอพายุ เรือกอและจะกลับมาถึงฝั่งอย่างปลอดภัย ส่วนเรืออื่นจะคว่ำบ้างหรืออาจกลับมาไม่ถึงฝั่ง

"ทุกวันนี้ เรือกอและมีน้อยมาก เพราะหาไม้ตะเคียนไม่ได้ ถ้ามีราคาก็จะแพง เพราะเจ้าหน้าที่ปราบปราม ไม้ตะเคียนเป็นไม้อนุรักษ์ เรือท้ายตัดและเรือไฟเบอร์ จึงมาแทนที่เรือกอและ" นายมะกะตา กล่าวอย่างเป็นห่วง

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง