ตำรวจมาเลเซียจับกุมชาวไทย 6 ราย พร้อมยึดวัตถุระเบิด

ฮารีซ ลี และ มารียัม อัฮหมัด
2018.02.05
กัวลาร์ลัมเปอร์ และ ปัตตานี
180205-MY-TH-arrests-620.jpg เจ้าหน้าที่หน่วยกู้ระเบิดมาเลเซียร่วมการฝึกซ้อมการรักษาความปลอดภัย ในกรุงกัวลาลัมเปอร์ วันที่ 20 กรกฎาคม พ.ศ. 2560
เอพี

ทางการมาเลเซียกล่าวเมื่อวันจันทร์ว่า ในช่วงวันสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา เจ้าหน้าที่กู้วัตถุระเบิดได้ตรวจพบอุปกรณ์ผลิตวัตถุระเบิดจำนวนหลายรายการ ปืน กระสุนปืน และเมทแอมเฟตามีนอีกจำนวนหนึ่ง ในตอนเหนือของรัฐกลันตัน ซึ่งนำไปสู่การจับกุมชาวไทยหกราย

เจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐกลันตันของมาเลเซีย ได้แถลงการจับกุมชาวไทยจากจังหวัดชายแดนภาคใต้ 6 คน อายุระหว่าง 19-55 ปี ในจำนวนนั้นเป็นคู่สามี-ภรรยา 2 คู่ ซึ่งทั้งหมดมีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกัน หลังจากจัดกำลังเจ้าหน้าที่มาเลเซีย กวาดล้างอาชญากรรมที่บ้านพักแห่งหนึ่ง ในพื้นที่บ้านเกอเตอเรห์ เมืองโกตาบารู รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย เมื่อเสาร์ที่ 3 กุมภาพันธ์ 2561 ที่ผ่านมา

"การสืบสวนสอบสวนพบว่า วัตถุระเบิดพวกนี้ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับดาเอช (Daesh) และเราเชื่อว่าพวกเขาต้องการใช้ระเบิดเพื่อป้องกันตนเอง (จากเจ้าหน้าที่)" ฮาซานุดดิน ฮัสซัน หัวหน้าตำรวจรัฐกลันตัน กล่าวโดยใช้คำเรียกกลุ่มไอเอส กลุ่มหัวรุนแรงเป็นภาษามาเลเซีย "เรายังเชื่อว่า ผู้ต้องสงสัยคงมีปืนไว้ใช้ในการป้องกันตัว เพราะมีส่วนเกี่ยวข้องในการลักลอบค้ายาเสพติด"

ผู้ต้องสงสัยทั้งหกคนเดินทางเข้าประเทศมาเลเซียโดยผิดกฎหมาย และได้เช่าบ้านเมื่อกลางปีที่แล้ว ฮาซานุดดินกล่าว ขณะนี้ได้ถูกคุมขังจนถึงวันที่ 10 กุมภาพันธ์

เจ้าหน้าที่หน่วยปราบปรามยาเสพติดมาเลเซียได้บุกทลายเข้าไปในบ้านหลังแรก เมื่อเวลาประมาณ 2:30 น. ในวันเสาร์ ได้จับกุมคู่สามีภรรยา อายุ 23 และ 19 ปี และชายอายุ 39 ปี รายหนึ่ง เจ้าหน้าที่ตรวจพบปืนพกสั้น 3 กระบอก อุปกรณ์ผลิตวัตถุระเบิดจำนวนหลายรายการ ได้แก่ แบตเตอร์รี่ แผงวงจรไฟฟ้า เพาเวอร์แบ็งค์ ประทัดยักษ์ และอื่นๆ อีกหลายรายการ ซ่อนไว้ภายในบ้านพัก และยังตรวจพบยาเสพติดอีกหลายรายการ มูลค่า 150 ริงกิต หรือประมาณ 1,215 บาท

"เจ้าหน้าที่หน่วยกู้วัตถุระเบิดรัฐกลันตัน ได้ทำการตรวจสอบอุปกรณ์ระเบิดที่ประกอบขึ้นเอง” ฮาซานุดดินกล่าว

การบุกค้นครั้งที่สองเกิดขึ้นประมาณ 4:40 น. และนำไปสู่การจับกุมคู่สามี-ภรรยาอีกคู่หนึ่ง และหญิงอีกรายหนึ่ง ทั้งสามมีอายุระหว่าง 31 ถึง 55 ปี เจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตรวจยึดปืนพกกระบอกที่สี่ เครื่องกระสุนปืนจำนวน 164 นัด และยาเสพติดชนิดเมทแธมเฟตามีน มูลค่าประมาณ 100 ริงกิต หรือประมาณ 810 บาท และอุปกรณ์ผลิตวัตถุระเบิดจำนวนหนึ่ง ฮาซานุดดินกล่าว

"เราเชื่อว่า อุปกรณ์ที่ยึดมาได้ทั้งหมดนั้น น่าจะถูกลักลอบนำเข้าผิดกฎหมายผ่านชายแดนไทย – มาเลเซีย ทางรัฐกลันตัน" เขากล่าว

ตำรวจ: ผู้ต้องสงสัยให้คนในพื้นที่เช่าปืน

เจ้าหน้าที่ตำรวจเชื่อว่า ผู้ต้องสงสัยซื้อปืนพกมาในราคาประมาณกระบอกละ 5,000 ริงกิต (40,490 บาท) ถึง 6,000 ริงกิต (48,590 บาท) ก่อนจะลักลอบนำเข้ามาในมาเลเซีย ฮาซานุดดินกล่าว

"เราเชื่อว่า เขายังให้ชาวบ้านเช่าปืนด้วย แต่เราจะสืบต่อไปว่า พวกเขานำมาใช้ในทางผิดกฎหมายอื่นๆ หรือเกี่ยวข้องกับการค้ายาเสพติดหรือไม่" เขากล่าว

เจ้าหน้าที่หน่วยข่าวด้านความมั่นคงผู้ไม่ประสงค์จะออกนาม กล่าวแก่แบนาร์นิวส์ว่า บุคคลกลุ่มดังกล่าวรับสารภาพว่านำชิ้นส่วนเข้ามาเลเซียโดยผ่านทางแม่น้ำสุไหงโกลก และเชื่อว่าทั้ง 6 คน ได้อาศัยอยู่ในพื้นที่บ้านเกอร์เตอเรห์ ยาวนานเกือบ 1 ปี โดยไม่มีหนังสือเดินทางหรือเอกสารแสดงตนใดๆ

พื้นที่แถบชายแดนไทย – มาเลเซียที่ติดกับรัฐกลันตันและทางตอนเหนือของรัฐปะลิส รัฐเกอดะห์ (หรือ ไทรบุรี) และรัฐเประห์ เป็นทางผ่านแดนที่ขึ้นชื่อว่า เป็นทางผ่านที่ผู้ลักลอบขนอาวุธและยาเสพติดนิยมใช้แห่งหนึ่ง

นับตั้งแต่ปี 2547 มีประชาชนและเจ้าหน้าที่รัฐในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย ส่วนมากเป็นพลเรือนที่เสียชีวิตแล้วกว่า 7,000 คน โดยส่วนใหญ่จากสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่

เมื่อปี พ.ศ. 2558 รัฐบาลทหารไทยได้ดำเนินการเจรจาสันติสุขกับกลุ่มมารา ปาตานี กลุ่มที่อ้างว่าเป็นตัวแทนกลุ่มกบฏแบ่งแยกดินแดนทั้งหมดในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย โดยมีประเทศมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกนั้น ยังไม่มีการประกาศการจัดตั้งพื้นที่เขตปลอดภัย ซึ่งเป็นขั้นตอนสำคัญขั้นตอนแรกในการนำไปสู่การยุติความขัดแย้ง

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง