การค้าขายตามแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย ยังไม่คึกคักแม้ริงกิตแข็งค่า

มารียัม อัฮหมัด และมาตาฮารี อิสมาแอ
2018.07.30
นราธิวาส
180730-TH-trade-border-1000.jpg ชาวมาเลเซีย ลงเรือข้ามฟากไปยังด่านเป็งกาลันกูโบ หลังจากมาซื้อหาสินค้าในตลาดตากใบ วันที่ 26 ก.ค. 2561
มารียัม อัฮหมัด/เบนาร์นิวส์

พ่อค้าแม่ขายชาวไทยที่ตลาดตากใบ ในนราธิวาส กล่าวว่า การค้าขายตามแนวชายแดนไทย-มาเลเซีย ยังไม่คึกคักมากนัก แม้ว่าเงินริงกิตมาเลเซียจะแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับเงินบาทไทยจากเมื่อสองปีก่อน ทั้งนี้เพราะทางการมาเลเซียควบคุมการเข้าออกของผู้ผ่านแดนและการค้าของหนีภาษีอย่างเข้มงวด จนกระทบถึงวงจรการค้าถูกกฎหมาย

ตลาดตากใบ หรือตาบา ซึ่งตั้งอยู่ตรงปากน้ำบางนรา เป็นหนึ่งในตลาดการค้าชายแดนที่สำคัญระหว่างไทย-มาเลเซีย นอกเหนือจากด่านสุไหงโก-ลก ด่านแว้ง ในนราธิวาส ด่านปาดังเบซาร์ ด่านนอก ในจังหวัดสงขลา ด่านเบตง จังหวัดยะลา และด่านวังประจัน ในจังหวัดสตูล ที่มีมูลค่ารวมกันหลายแสนล้านบาทในแต่ละปี

ชาวบ้านที่ทำมาหากินในพื้นที่กล่าวว่า หลังจากที่ ดร.มหาเธร์ โมฮัมหมัด ได้กลับมาเป็นผู้กุมบังเหียนรัฐบาลมาเลเซียอีกครั้ง เจ้าหน้าที่มาเลเซียได้มีการควบคุมความปลอดภัยอย่างเข้มงวด จนกระทบไปถึงระดับแรงงานขนของหนีภาษี

“ที่นี่ตอนนี้ถือว่าเงียบลง เพราะเงินมาเลเซียมีค่าลดลงมากเมื่อสองปีก่อน และล่าสุด เขาพึ่งเปลี่ยนรัฐบาล ทำให้เจ้าหน้าที่เคร่งในการตรวจสอบคนเข้าออก รวมทั้งของเถื่อนด้วย ทำยากขึ้น ทำให้คนรับจ้างแบกของตามชายแดนได้รับผลกระทบ” นายเจะดอเลาะ เจะบือราเฮง คนขับเรือของรัฐที่ให้บริการผู้โดยสารข้ามฟากจากตลาดตาบาไปยังด่านเป็งกาลันกูโบ รัฐกลันตัน มากว่าสิบปี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

ในปี 2559 เงินริงกิตได้อ่อนตัวลง สามารถแลกเปลี่ยนเป็นเงินไทยได้เพียง 7.50 บาท ต่อหนึ่งริงกิต ต่ำสุดในรอบสามสิบปี ส่วนในช่วงนี้ เงินริงกิตได้แข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ 8.50 บาท

น.ส.นุรอัยนี สะอุ แม่ค้าขายทุเรียน ด่านตากใบ จ.นราธิวาส กล่าวว่า เมื่อค่าเงินริงกิตถูกลงทำให้คนมาเลเซียเดินทางข้ามฝั่งมาซื้อของน้อยลงไปด้วย

“เพราะเงินมาเลเซียถูกลง คนมาเลเซีย ก็ออกมาน้อย อีกอย่างการเข้มงวดเรื่องเอกสารเข้าออกด่าน ก็ทำให้คนหายด้วย หลังจากนี้สักพักน่าจะดีขึ้น เงินริงกิตเริ่มขึ้น และการเปลี่ยนรัฐบาลผ่านช่วงไป สักพักมันน่าจะดีขึ้นกว่านี้” น.ส.นุรอัยนี กล่าวแก่เบนาร์นิวส์”

ในส่วนสินค้าหนีภาษีนั้น น.ส.นุรอัยนี กล่าวว่า การขนสินค้าหลบหนีภาษีส่วนใหญ่เป็นการกระทำโดยกองทัพมด โดยฝั่งมาเลเซียจะใช้เรือของชาวบ้านข้ามฝั่ง หากใช้เรือของรัฐก็ต้องจ่ายเงินให้เจ้าหน้าที่ แต่ช่วงนี้มีน้อยลง เพราะมาเลเซียมีรัฐบาลใหม่ เจ้าหน้าที่ยังทำตามนโยบายส่วนกลางอย่างเข้มงวด

ดร.ชนธัญ แสงพุ่ม ผู้ช่วยเลขาธิการ ศอ.บต. ผู้อำนวยการสำนักประสาน นโยบายการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม ศอ.บต. เปิดเผยว่า การค้าระหว่างชายแดนไทย-มาเลเซีย ในปี 2560 มีมูลค่า 564,657.28 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปี 2559 มูลค่า 63,237.41 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 12.61 โดยเป็นการส่งออกมูลค่า 312,551.93 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 21.02 และการนำเข้ามีมูลค่า 252,105.34 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.68 โดยไทยเป็นฝ่ายเกินดุลมูลค่า 60,446.59 ล้านบาท

สำหรับสินค้าที่สำคัญส่งออก ได้แก่ ยางพารา เครื่องคอมพิวเตอร์อุปกรณ์และส่วนประกอบ ผลิตภัณฑ์ยาง ไม้แปรรูปเครื่องยนต์ ในส่วนของสินค้านำเข้าที่สำคัญ เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบเทปแม่เหล็ก จานแม่เหล็กสำหรับคอมพิวเตอร์ เครื่องจักรที่ใช้ในอุตสาหกรรม และส่วนประกอบ สื่อบันทึกข้อมูล ภาพเสียง ส่วนประกอบคอมพิวเตอร์

แต่การค้าชายแดนนั้น เป็นที่ทราบกันว่า นอกจากการค้าขายสินค้าถูกกฎหมายแล้ว ยังมีกองทัพมดลักลอบนำสินค้าหนีภาษี เช่น บุหรี่ น้ำมันเชื้อเพลิง น้ำมันปาล์ม และเครื่องปรับอากาศเข้ามาจำหน่ายในประเทศไทยอีกด้วย ในขณะที่มีการส่งยาเสพติดจากชายแดนพม่าและลาวผ่านไทยไปยังมาเลเซีย

ส่วนสินค้าจากไทยที่มาเลเซียห้ามนำเข้านั้น เช่น ข้าวสารที่อนุญาตให้นำเข้าไม่เกินห้ากิโลต่อคน ซึ่งชาวมาเลเซียนิยมซื้อหาผลไม้ อาหาร และเครื่องนอน เป็นต้น

ชาวมาเลเซียนั่งเรือข้ามฟากจากฝั่งจากด่านตรวจคนเข้าเมืองฝั่งกลันตันมายังตลาดตากใบ วันที่ 26 ก.ค. 2561 (มารียัม อัฮหมัด/เบนาร์นิวส์)
ชาวมาเลเซียนั่งเรือข้ามฟากจากฝั่งจากด่านตรวจคนเข้าเมืองฝั่งกลันตันมายังตลาดตากใบ วันที่ 26 ก.ค. 2561 (มารียัม อัฮหมัด/เบนาร์นิวส์)

ปราบปรามขบวนการค้าของเถื่อนและยาเสพติด

ด้าน พล.ต.จตุพร กลัมพสุต ผู้บัญชาการ กองกำลังเฉพาะกิจปัตตานี กล่าวว่า ทางการไทยได้พยายามปราบปรามการค้าของเถื่อนและการค้ายาเสพติด เพราะมีความเชื่อมโยงกับขบวนการก่อเหตุรุนแรงในสามจังหวัดชายแดนใต้

"เราร่วมมือกับเจ้าหน้าที่มาเลเซียในการปราบปรามขบวนการยาเสพติดและกองทัพมด ทั้งหมดที่จะเข้ามาสนับสนุนหรือเอื้อประโยชน์กับขบวนการก่อความไม่สงบ ทำไปพร้อมกับนำกฎหมายมาบังคับใช้ สุดท้ายกลุ่มเหล่านี้จะหายไปหรือน้อยลง" พล.ต.จตุพร กล่าวแก่เบนาร์นิวส์

“กองทัพมดระหว่างชายแดน ถ้าเรานำกฎหมายมาบังคับใช้ สุดท้ายก็ขยับไม่ได้ แล้วมันก็จะหมด ซึ่งมันก็จะสามารถตัดท่อเลี้ยงขบวนการไปในตัว” พล.ต.จตุพร กล่าว และอธิบายว่า รัฐเคยพบหลักฐานว่ากลุ่มผิดกฎหมายให้เงินอุดหนุนกลุ่มขบวนการการผ่านองค์กรการกุศล

ส่วนเจ้าหน้าที่ประจำด่านตรวจคนเข้าเมืองของมาเลเซียรายหนึ่ง ได้กล่าวแก่เบนาร์นิวส์ ในระหว่างนั่งเรือข้ามเข้าฝั่งมายังอำเภอตากใบว่า ทางการมาเลเซียได้เข้มงวดกับทุกคนที่เดินทางไปมาระหว่างสองประเทศ ไม่เพียงแต่เฉพาะช่วงการเปลี่ยนรัฐบาลเท่านั้น

"เราเข้มงวดกับทุกคนที่ข้ามไปมาระหว่างฝั่งมาเลเซียกับฝั่งไทย ทุกคนที่เข้าออกต้องดำเนินการตามขั้นตอน เราข้ามมาก็ต้องใช้หนังสือเดินทาง แม้ว่าข้ามมาซื้อของกินเท่านั้น ก็ต้องทำให้ถูกกฏหมาย การดำเนินการแบบนี้เราทำมาตลอด ไม่ใช่เฉพาะช่วงที่มีการเปลี่ยนรัฐบาลเท่านั้น" เจ้าหน้าที่ ตม. รายเดียวกัน กล่าวโดยไม่ประสงค์จะออกนาม

“คนย่านนี้จะข้ามไปมาเพื่อซื้อของที่ด่านตากใบ อย่างวันนี้ ผมเองกับเพื่อนเจ้าหน้าที่ ตม. ก็ข้ามมาซื้อของกิน เพราะฝั่งไทยของจะถูกกว่า"

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง