ชายแดนใต้: อุดมการณ์กลุ่มบีอาร์เอ็นไม่ลงรอยกับแนวคิดกลุ่มรัฐอิสลาม ผู้เชี่ยวชาญระบุ

เอมี ชู
2019.03.28
กัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย
190328-TH-MY-deepsouth-620.jpg สมาชิกของกองกำลังประชาธิปไตยซีเรีย (SDF) ที่นำโดยชาวเคิร์ดและได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ยกเปลหามคนเจ็บ เพื่อเคลื่อนย้ายชายที่ต้องสงสัยว่าเป็นนักรบของกลุ่มไอเอส (IS) ในซีเรียตะวันออก วันที่ 5 มีนาคม 2562
เอเอฟพี

ขณะที่หลายภูมิภาคในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่เป็นส่วนใหญ่ประสบกับปัญหา ในการจัดการกับกลุ่มหัวรุนแรงที่เดินทางกลับบ้านจากระบบเคาะลีฟะห์ที่ล้มเหลวของขบวนการกลุ่มไอเอสในตะวันออกกลาง แต่ภาคใต้ของไทยไม่ต้องประสบกับปัญหาล่อแหลมดังกล่าว เพราะเชื่อว่า ไม่มีชาวบ้านในพื้นที่ไปร่วมรบในซีเรียและอิรัก

ข้อมูลที่ได้จากนักเคลื่อนไหวชาวมุสลิมในพื้นที่ชายแดนภาคใต้ของไทย ที่มีชาวมุสลิมอาศัยอยู่เป็นส่วนใหญ่ ชี้ว่า การก่อความไม่สงบด้วยอาวุธที่ดำเนินไปอย่างต่อเนื่องโดยชาวมลายู ซึ่งเป็นชนกลุ่มน้อยที่ต่อสู้กับรัฐบาลที่มีชาวพุทธเป็นแกนนำ เพื่อทวงสิทธิในการปกครองตัวเองมากขึ้นนั้น เป็นเหมือนป้อมปราการที่ขัดขวางอิทธิพลของกลุ่มไอเอส (IS)

“ไม่มีใครจากภาคใต้ของไทยไปร่วมวงกับขบวนการกลุ่มไอเอส” สุไฮมี ดูละสะ จากเดอะปาตานี ซึ่งเป็นกลุ่มนักเคลื่อนไหวเพื่อสังคมในปัตตานี หนึ่งในจังหวัดชายแดนภาคใต้ที่มีปัญหา กล่าวกับเบนาร์นิวส์ ในระหว่างที่แวะเยี่ยมกรุงกัวลาลัมเปอร์สัปดาห์นี้

“ไม่มีความจำเป็นใด ๆ ที่ใครจะต้องไปร่วมกับ IS ในการต่อสู้เพื่อญิฮาด เพราะคนที่ได้รับแรงบันดาลใจให้ทำญิฮาดเพื่ออิสลาม เห็นว่า การเข้าร่วมขบวนการแนวร่วมปฏิวัติแห่งชาติมลายูปาตานี (บีอาร์เอ็น) ก็เท่ากับการทำตามแรงบันดาลใจนั้นแล้ว” นายสุไฮมีกล่าว

บีอาร์เอ็น เป็นกลุ่มผู้เห็นต่างที่ใหญ่ที่สุดในชายแดนภาคใต้ เพราะมีกองกำลังปฏิบัติการในพื้นที่มากและแข็งแกร่งที่สุด นับตั้งแต่ปี 2547 เป็นต้นมา ความรุนแรงเนื่องจากการก่อความไม่สงบในชายแดนภาคใต้ของไทยเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตร่วม 7,000 ราย

นายสุไฮมีกล่าวเสริมว่า “บีอาร์เอ็นเป็นป้อมปราการที่สกัดกั้น IS ในชายแดนภาคใต้ของไทยมาตลอด”

ในวันที่ 23 มีนาคม กองกำลังประชาธิปไตยซีเรีย (SDF) ที่นำโดยชาวเคิร์ดและได้รับการสนับสนุนจากสหรัฐฯ ได้ประกาศว่า “ระบบเคาะลีฟะห์” นานห้าปีของขบวนการกลุ่มไอเอสได้สิ้นสุดลง หลังจากที่นักรบพลเรือนติดอาวุธประสบความพ่ายแพ้ในซีเรีย

รายงานข่าวจากตะวันออกกลางและภูมิภาคอื่น ๆ กล่าวว่า นักสู้ชาวต่างชาติหลายพันคนยอมจำนนต่อกองกำลังประชาธิปไตยซีเรีย เนื่องจากรัฐบาลของหลายประเทศพิจารณาที่จะถอนสัญชาติของบุคคลเหล่านั้น

เจ้าหน้าที่กล่าวว่า ชาวเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จากมาเลเซีย อินโดนีเซีย และภาคใต้ของฟิลิปปินส์เป็นส่วนหนึ่งในบรรดานักสู้ชาวต่างชาติหลายร้อยคน ที่เดินทางไปยังซีเรียและอิรักเพื่อร่วมต่อสู้กับ IS

“พวกเราในปัตตานีไม่ยึดติดกับกลุ่มซาลาฟีญิฮาด เราเป็นมุสลิมที่เดินตามแนวความคิดของชาฟิอีย์ เราเชื่อในทางสายกลางวะสะฏียะห์” อัสมาดี บือเฮง ซึ่งเป็นสมาชิกของเดอะปาตานี กล่าวกับเบนาร์นิวส์

ในขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์และเจ้าหน้าที่ของไทยเคยกล่าวไว้ว่า ไม่มีหลักฐานที่แสดงว่ามี IS ในชายแดนภาคใต้ของไทย แต่มิใช่เพราะไม่มีความพยายามที่จะก่อตั้ง

เจ้าหน้าที่ระดับอาวุโสฝ่ายความมั่นคงของไทยกล่าวว่า ในเดือนธันวาคม 2558 กลุ่มผู้สนับสนุน IS ในประเทศไทยได้นำวิดีโอโฆษณาชวนเชื่อเกี่ยวกับขบวนการดังกล่าวมาโพสต์ทางระบบออนไลน์พร้อมซับไตเติลเป็นภาษาไทย นับเป็นครั้งแรกที่มีความพยายามที่จะสรรหานักสู้ในประเทศ เพื่อร่วมอุดมการณ์ที่นิยมความรุนแรงของตน

“กลุ่มผู้คล้อยตาม IS ภายในและภายนอกประเทศไทยมีความเชื่อมโยงกัน” แหล่งข่าวเดียวกันบอกกับ เบนาร์นิวส์ในเวลานั้น

แต่พลโทนักรบ บุญบัวทอง นายทหารระดับสูงซึ่งใช้คำย่ออื่นกับขบวนการนี้กล่าวว่า ในเวลานั้น “ไม่มีรายงานว่าชาวบ้านในพื้นที่ชายแดนภาคใต้เข้าร่วมกับกลุ่มไอซิส (ISIS)”

และในเดือนพฤศจิกายน 2560 อินเตอร์เนชั่นแนลไครซิสกรุ๊ป (International Crisis Group หรือเรียกย่อว่า ICG) ในกรุงบรัสเซลส์ได้พิมพ์เผยแพร่ผลการศึกษาวิจัยที่สรุปว่า กลุ่มผู้ก่อการร้ายตะวันออกกลางไม่ประสบความสำเร็จในการรุกรานเข้าไปในชายแดนภาคใต้ กลุ่ม ICG กล่าวว่า ขบวนการแบ่งแยกดินแดนชาวมาเลย์-มุสลิมในพื้นที่นั้น มีลักษณะที่แตกต่างอย่างยิ่ง จากอุดมการณ์หัวรุนแรงที่ IS ให้การสนับสนุน

ไม่ใช่ขบวนการญิฮาดสากล’

กลุ่มผู้ก่อความไม่สงบเพื่อแบ่งแยกดินแดนหลายกลุ่มในฟิลิปปินส์ตอนใต้ ให้คำปฏิญาณที่จะจงรักภักดีต่อ ไอเอส ในยุคสมัยที่ระบบเคาะลีฟะห์เฟื่องฟู จึงมีความแตกต่างจากกลุ่มบีอาร์เอ็น เพราะบีอาร์เอ็นไม่เห็นด้วยกับระบบดังกล่าว

“นี่เป็นขบวนการชาติพันธุ์นิยม ไม่ใช่ขบวนการญิฮาดสากล คนเหล่านี้ไม่เชื่อในระบบเคาะลีฟะห์ระดับโลก การต่อสู้ของเขาจึงเป็นระดับท้องถิ่น” ดอน ปาทาน นักวิเคราะห์อิสระและคอลัมนิสต์ของเบนาร์นิวส์ให้ความเห็น

เขาชี้ให้เห็นเพิ่มเติมว่า นอกไปจาก การต่อสู้ของบีอาร์เอ็น และแนวทางอิสลามสายกลางที่ชาวมุสลิมในภาคใต้ของไทยนิยมปฏิบัติตามแล้ว ภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมก็เป็นปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่งเช่นกัน

“ผมเห็นว่าภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมและทางประวัติศาสตร์ของชนชาวปัตตานีมีความสำคัญเท่า ๆ กัน และเป็นกำแพงธรรมชาติที่ขวางกั้นไม่ให้แนวคิดหัวรุนแรง หรือแนวคิดหัวรุนแรงที่เอนเอียงไปทางลัทธิซาลาฟีทะลักเข้ามาได้” ดอนกล่าวกับเบนาร์นิวส์

“พูดง่าย ๆ แล้ว ภูมิปัญญาที่สืบสานกันมาตลอดคือ ปัตตานีเป็นดินแดนของชาวมลายู เขาเหล่านี้มีประวัติศาสตร์ ตำนาน เทพนิยายของตัวเอง ซึ่งแตกต่างจากตำนานที่รัฐไทยสร้างสรรค์ให้” ดอน เสริม

ดอน ปาทาน ให้ข้อสังเกตต่อไปว่า ความพยายามในอดีตโดยกลุ่มหัวรุนแรงอื่น ๆ ซึ่งรวมถึงกลุ่มญะมาอะห์ อิสลามียะห์ (JI) ที่เป็นเครือข่ายของอัลกออิดะฮ์ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อสรรหาชาวมลายูปาตานีก็ประสบความล้มเหลวเช่นกัน

และทิ้งท้ายว่า “เมื่อ JI เป็นประเด็นร้อนแรงในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้หลังจากการระเบิดที่บาหลีในปี 2545 คนเหล่านั้น (ชาวมลายูในปัตตานี) มีโอกาสที่จะเข้าร่วมกับ JI แต่ก็ไม่มีใครทำ”

บุคคลที่มาเลเซียต้องการตัว

เจ้าหน้าที่ในมาเลเซีย ซึ่งมีพรมแดนติดกับชายแดนภาคใต้ของไทยเชื่อว่า แม้ไม่มีชาวมลายูในปัตตานีคนใดเดินทางไปซีเรีย แต่ก็เชื่อมีอย่างน้อยหนึ่งคนที่ได้รับอิทธิพลจาก IS

ในเดือนเมษายนของปีที่แล้ว เจ้าหน้าที่ตำรวจของมาเลเซียได้ระบุว่าชาวไทยในภาคใต้คนหนึ่งคือ นายอะแว แว-เอยา อายุ 37 ปี เป็นบุคคลที่ทางการมาเลเซียต้องการตัว ในข้อหาวางแผนก่อการร้ายในรัฐยะโฮร์ มาเลเซีย ทั้งยังเชื่อว่า ในเวลานั้น นายอะแวมีการติดต่อกับกลุ่มไอเอส ในซีเรียด้วย

เจ้าหน้าที่ตำรวจของมาเลเซียกล่าวว่านายอะแว และผู้ต้องสงสัยอีกสามคนที่อาจเชื่อมโยงกับกลุ่มไอเอส มีส่วนพัวพันในแผนลักพาตัวและสังหารเจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมทั้ง การโจมตีศาสนสถานที่ไม่ใช่ของชาวมุสลิม

เจ้าหน้าที่ฝ่ายไทย ซึ่งเคยควบคุมตัวนายอะแวไว้พักหนึ่งก่อนปล่อยตัวไป หลังจากที่สอบปากคำเขาในเดือนเมษายน 2561 ไม่เชื่อในข้อกล่าวหาของทางมาเลเซียว่า นายอะแวมีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มไอเอส

ช่องแสดงความคิดเห็น

แสดงความคิดเห็นโดยการกรอกแบบฟอร์มด้วยอักษรธรรมดา ความเห็นจะได้รับการอนุมัติ ตามเงื่อนไข Terms of Use ความคิดเห็นจะไม่แสดงในทันที อาร์เอฟเอจะไม่รับผิดชอบใดๆ ต่อเนื้อหาในข้อคิดเห็นนั้นๆ กรุณาให้เกียรติต่อความคิดเห็นของบุคคลอื่น และยึดถือข้อเท็จจริง